“ศรีวราห์” ติว ตร.ทั่วประเทศ พร้อมรับมือสถานการณ์การชุมนุม


เพิ่มเพื่อน    

      เข้าสู่โหมดการเมืองอย่างเต็มตัว สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตอย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่ปัญหาเรื้อรังที่ยังวุ่นไม่จบคือสูตรคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบปาร์ตี้ลิสต์ การจัดตั้งรัฐบาลแคนดิเดต “ลูงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ความเสถียรภาพจะมั่นคงแค่ไหน งานเลี้ยงยังไม่เริ่ม แว่วว่าที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ต่อรองขอจัดสรรปันส่วนเก้าอี้กระทรวงเกรดพรีเมียมกันแล้ว        

                ขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่าง “จ่านิว”  นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์,  น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ “โบว์ คนอยากเลือกตั้ง”, นายนคร มาฉิม สมาชิกพรรคเพื่อไทย และประชาชนประมาณ 120 คน เข้าร่วมกิจกรรมที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คัดค้านการสืบทอดอำนาจ เป็นการเขียนจดหมายแสดงความเห็นว่าเหตุผลที่ ส.ว.ไม่สมควรมีส่วนร่วมในการโหวตนายกรัฐมนตรี ที่จะรวบรวมให้ได้ 10,000 ฉบับ เพื่อไปยื่นให้แก่ ส.ว.ในวันที่มีการโหวตเลือกนายกฯ เพราะไม่เห็นด้วย ส.ว.มาจากการสรรหาของ คสช. จะกลายเป็น “ส.ว.พวกพ้อง” เป็นสะพานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย ถือเป็นการสืบทอดอำนาจที่ขัดรัฐธรรมนูญ

                ต่างฝ่ายต่างหาความชอบธรรมให้กับตัวเองและพวกพ้อง สถานการณ์ความมั่นคงยังไม่นิ่ง ถึงแม้ช่วงหลัง 4-5 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเข้าควบคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ กลุ่มฮาร์ดคอร์ กลุ่มหัวรุนแรง ถูกกฎหมายเล่นงานบางส่วนเผ่นหนีออกนอกประเทศ แต่ถึงแม้ตัวจะอยู่ต่างแดน ยังเคลื่อนไหวใต้ดิน โดยใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ต ยุยง ปลุกปั่น สร้างความกระด้างกระเดื่องเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเฝ้าจับตาส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มเดิมๆ

                ถึงแม้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นแล้วตามระบอบประชาธิปไตย แต่คลื่นใต้น้ำยังกระเพื่อมเป็นระลอกๆ หน่วยงานความมั่นคงของตำรวจและทหารลงพื้นที่เฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด โดยเฉพาะแกนนำคนสำคัญๆ การเมืองไทยอยู่คู่กับการเมืองนอกสภาทุกยุคทุกสมัย สารพัดม็อบหาความชอบธรรมอ้างประชาธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ยิ่งม็อบการเมืองเมื่อปี 53 เป็นอีกครั้งที่ถูกจารึก ฉิบหายวอดวาย หลายชีวิตต้องจบลงกลางถนน ทรัพย์สินถูกเพลิงเผาวอด เศรษฐกิจความน่าเชื่อถือการลงทุนเสียหายยับเยิน ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์แบบนั้นกลับมาหลอกหลอนอีก

                ทุกครั้งที่ความเห็นต่างเกิดการแบ่งฝ่ายแบ่งขั้ว นักการเมืองหรือแกนนำกลุ่มก๊วนจะนำประชาชนมาเป็นกำบังสู้ตามท้องถนน ถึงแม้การชุมนุมเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในสังคมประชาธิปไตย เป็นการชุมนุมสาธารณะ เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่การชุมนุมก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะการชุมนุมที่ต่อเนื่องยาวนาน มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก“ตำรวจ” เป็นองค์กรหลักที่ต้องเข้าไปอำนวยความสะดวก ควบคุมป้องกันและปราบปรามเหตุหรือสัญญาณอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

                ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา เกิดการชุมนุมสาธารณะขนาดใหญ่ มีผลกระทบต่อการเมือง สังคม เศรษฐกิจ กว่า 4 ครั้ง เช่นเป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อขับไล่รัฐบาล   พ.ศ.2548 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มเสื้อเหลือง ปี 2551 เป็นการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) อีกครั้งปี  2552 เป็นการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง และปี 2552 เป็นการชุมนุมโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ตำรวจเป็นองค์กรหลักที่บังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ เกิดการประจันหน้ากระทบกระทั่งกับกลุ่มผู้ชุมนุม

                ม็อบจบแต่กระบวนการทางกฎหมายไม่จบ นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการกฎหมายอาญากับผู้ชุมนุมแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติเองก็ถูกแจ้งความดำเนินคดีกลับใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม มีผู้ได้รับบาดเจ็บล้มตาย ถูกฟ้องศาลปกครองเอาผิดย้อนหลัง ซึ่งมีหลายเคสหลายกรณีให้ศึกษา ยิ่งสถานการณ์การเมืองปัจจุบันยังไม่นิ่งรัฐบาลใหม่ยังไม่คลอด ต่างฝ่ายต่างช่วงชิงเพื่อกุมอำนาจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่ดูแลด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ เป็นประธานการอบรมมาตรฐานการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ให้กับตำรวจทั่วประเทศ ทั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 (บช.ภ.1-9) เพื่อเตรียมความพร้อมและรองรับภารกิจในการดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ

                พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ฉบับนี้ มุ่งที่จะรองรับทั้งในด้านการคุ้มครองผู้ชุมนุมสาธารณะให้ได้รับความปลอดภัย คุ้มครองป้องกันและให้ความสะดวกแก่ประชาชนผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมและการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การใช้กฎหมายในทางปฏิบัติจึงต้องสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ขณะเดียวกันก็คุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ดูแลคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะ ให้เจ้าหน้าที่ได้มีเครื่องมือที่ถูกต้องชอบธรรม มีความเหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับการดูแลการชุมนุมสาธารณะโดยเฉพาะ

                ยิ่งการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ปักหลัก พักค้างคืน กฎหมายฉบับนี้จึงมีบทบัญญัติให้อำนาจฝ่ายตุลาการ คือศาลมีอำนาจในคดีแพ่งเพื่อแก้ปัญหาโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ผู้รักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในส่วนแพ่ง จะต้องมีมาตรการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งให้อำนาจศาลในการมีคำสั่งยึดทรัพย์สิน สิ่งของ เครื่องมืออุปกรณ์ทั้งหลายในการชุมนุม ทั้งเต็นท์ เวที เครื่องเสียง รถบรรทุกที่ใช้ในการกระทำความผิด 

                ในการอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำ “คู่มือการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่การดูแลการชุมนุมสาธารณะ มีแหล่งรวบรวมกฎหมายต่างๆ ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะ กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทั้งของไทยและต่างประเทศ เพื่อความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาทักษะข้าราชการตำรวจ ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการชุมนุมฯ ให้สามารถดูแลการชุมนุมด้วยความสงบเรียบร้อย ปลอดภัยไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

                “บิ๊กปู” พล.ต.อ.ศรีวราห์ รอง ผบ.ตร.ฝ่ายความมั่นคง ยืนยันว่า การข่าวยังไม่พบสัญญาณการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมการเมืองที่จะออกมาชุมนุม และกลุ่มหัวรุนแรงจะออกมาก่อเหตุ แต่เป็นการเตรียมความพร้อมและรองรับภารกิจในการดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นการยกระดับความรู้ พัฒนาทักษะของข้าราชการตำรวจ ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการชุมนุมสาธารณะให้สามารถดูแลการชุมนุมด้วยความสงบและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

                เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการชุมนุมจะต้องผ่านการอบรม และต้องตรวจสอบอุปกรณ์ ยานพาหนะ ที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการชุมนุม เช่น รถน้ำ และอุปกรณ์ต่างๆ ว่ามีความพร้อมเสมอ ยืนยันการอบรมไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาล เป็นไปตามปกติของห้วงเวลาในการอบรบเพื่อความพร้อมในทุกสถานการณ์ ไม่พบการข่าวด้านความมั่นคงว่าจะมีการชุมนุม แต่หากเป็นการข่าวในสื่อโซเชียล ตำรวจก็เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยมีประวัติการกระทำผิดในที่ชุมนุม เช่น การใช้อาวุธ และผู้ที่ก่อเหตุความรุนแรง การชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่สามารถกระทำได้ แต่หากฝ่าฝืนกฎหมายตำรวจก็จะบังคับใช้กฎหมายทันที

                ถึงแม้ “บิ๊กปู” พล.ต.อ.ศรีวราห์ จะยืนยันการข่าวฝ่ายความมั่นคงจะไม่พบการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมหรือกลุ่มหัวรุนแรง แต่ถ้าสถานการณ์การเมืองยังเป็นอย่างนี้ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียผลประโยชน์เอาประเทศเป็นตัวประกัน โอกาสจะมีแกนนำทางการเมืองจะนำประชาชนออกมาเดินเรียกร้องตามท้องถนนเป็นไปได้สูง ตำรวจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติย่อมประเมิณสถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือให้ทันท่วงทีไม่มีอะไรแน่นอน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"