ประชาธิปัตย์ในวันพรุ่งนี้


เพิ่มเพื่อน    

 

         เรียบร้อยโรงเรียน "อู๊ดด้า"

                ความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เหมือนพรรคการเมืองอื่นจริงๆ

                ถูกด่า ถูกค่อนแคะเยอะ

                เหยียดหยามว่า เป็นพรรคอนุรักษนิยม ล้าหลัง

                เป็นพรรคหนุนเผด็จการ สมุนอำมาตย์

                หนุน คสช.สืบทอดอำนาจ

                ไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตย

                แต่....เลือกหัวหน้าพรรควานนี้ (๑๕ พฤษภาคม) เป็นไงครับ 

                บรรยากาศประชาธิปไตยจ๋า

                มีการเลือกเป็นระบบ เป็นเรื่องเป็นราว

                ย้อนกลับดูวันเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฝ่ายประชาธิปไตยเขาซิครับ

                มีแต่ข่าวนายใหญ่จิ้ม นายใหญ่สั่ง

                จนถึงวันนี้ทิศทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ยังอิมพอร์ตจากดูไบ 

                กลับมาที่ พรรคประชาธิปัตย์

                มีผู้เสนอตัวชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ๔ คน

                ๑.จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

                ๒.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

                ๓.กรณ์ จาติกวณิช

                ๔.อภิรักษ์ โกษะโยธิน

                การนับคะแนนจากโหวตเตอร์ ๓๐๙ คน

                กลุ่มแรกสัดส่วน ส.ส.จำนวน ๕๒ คน คิดเป็นคะแนน ๗๐% 

                คือให้น้ำหนักโหวตเตอร์จาก ส.ส. มากกว่าสมาชิกพรรค

                ผล จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้คะแนนนำเป็นอันดับ ๑ ได้ ๒๕ คะแนน

                ตามด้วย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ๒๐ คะแนน กรณ์ จาติกวณิช ๕ คะแนน และอภิรักษ์ โกษะโยธิน  ๒ คะแนน

                ส่วนกลุ่มที่สอง ๓๐% จากสมาชิกพรรค ๒๕๗ คน มาจากรักษาการกรรมการบริหารพรรค อดีตหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค อดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมาชิก อบจ. สมาชิกเทศบาล หัวหน้าสาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ตัวแทนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ตัวแทนสมาชิกสภาเขต และอดีตผู้สมัคร ส.ส.

                ผล...เทคะแนนให้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เช่นกัน

                ครับ...นี่คือการเลือกหัวหน้าพรรคที่ฝ่ายประชาธิปไตยตะโกนว่าเป็นพวกเผด็จการ

                ที่น่าสนใจนับจากนี้คือ ประชาธิปัตย์จะเดินไปทางไหน

                ร่วมรัฐบาล?

                หรือจะเป็นฝ่ายค้านลอยไปลอยมา ไม่ร่วมขบวนการสืบทอดอำนาจ คสช. ตามแรงยุของพวกเสพติดมวลชน

                บทเรียนจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาน่าจะสอนให้ประชาธิปัตย์รู้ว่าควรไปทางไหน

                จะกอบกู้พรรคด้วยการปิดพรรคไม่เข้ากับใคร

                เพื่อไทยก็ไม่เอา พลังประชารัฐก็ไม่ไป

                หรือจะเข้าถ้ำเสือ ไปดึงฐานเสียงจากพลังประชารัฐกลับ

                ทางเลือกน่าจะมีอยู่แค่นี้

                หรือคิดว่ารัฐบาลหน้าเสียงปริ่มน้ำอยู่ได้ไม่กี่เดือน ต้องเลือกตั้งใหม่ การอยู่กับเผด็จการจะทำให้ประชาธิปัตย์เสียรังวัดหนักเข้าไปอีก

                ก่อนอื่นประชาธิปัตย์คงจะรู้ดีว่า คนที่เลือกพรรคเพื่อไทย ไม่มีทางที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์

                ส่วนคนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐ เกือบครึ่งคือคนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์

                ถ้ามองโจทย์นี้ออก การฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

                ไม่ใช่ดูถูก พรรคพลังประชารัฐ มีแนวโน้มเป็นพรรคเฉพาะกิจสูงมาก เพราะโครงสร้างพรรคอ่อนแอ  รวมกลุ่มร้อยพ่อพันแม่มากเกินไป

                แต่ละมุ้งมีประวัติที่ไม่โสภานัก

                สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

                สุชาติ ตันเจริญ

                วิรัช รัตนเศรษฐ

                สมศักดิ์ เทพสุทิน

                ฯลฯ

                เห็นชื่อชั้นนักการเมือง ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่ ประชาธิปัตย์จะกอบกู้พรรคคืนมา

                ถ้ายังเห็นอะไรไม่ชัด ลองไปศึกษาความเป็นประชาธิปัตย์ในรัฐบาลหม่อมน้อง-หม่อมพี่ ช่วงปี  ๒๕๑๘-๒๕๑๙ แล้วจะเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ควรเดินไปข้างหน้าอย่างไร

                ๑๘ เสียงพรรคกิจสังคม ส่งให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลสหพรรคได้อย่างเหลือเชื่อ

                หากพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เป็นรัฐบาลที่ ๒๐ พรรค ก็ไม่น่าวิตกเกินเหตุ เพราะรัฐบาลสหพรรคของหม่อมน้องมีถึง ๑๖ พรรค

                ไม่มากไม่น้อยกว่ากันเท่าไหร่

                แต่ที่ต้องเรียนรู้คือการบริหารจัดการ

                ถ้ามองแค่เผินๆ รัฐบาลสหพรรค แถมพรรคนายกฯ มีแค่ ๑๘ เสียง จะไปอยู่ยืดได้อย่างไร

                เมื่อลงไปดูในรายละเอียด จะพบว่าอยู่มาได้อย่างไรตั้ง ๙ เดือนเศษ

                เลือกตั้งปี ๒๕๑๘ ไม่ใช่ปีวิกฤติของประชาธิปัตย์ เพราะได้รับเลือกเป็นลำดับที่ ๑ มี ๗๒ เสียง แต่เลือกตั้งปีถัดไป มาเป็นกอบเป็นกำถึง ๑๑๔ เสียง

                จะบอกว่าหม่อมพี่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กอบกู้พรรคคงไม่ได้ แต่เป็นเกมที่ต้องเดินบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยอิทธิพลของกองทัพ

                บทบาทของประชาธิปัตย์ในอดีต น้อยคนที่จะพูดถึง

                แม้แต่คนในประชาธิปัตย์คงลืมไปแล้วว่า การฟาดฟันกับพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นพรรคคนละสายพันธุ์ โดยเฉพาะพรรคธรรมสังคม ของ ทวิช กลิ่นประทุม และ พรรคชาติไทย โดยพลตรีประมาณ อดิเรกสาร นั้น สาหัสแค่ไหน

                 ๙ เดือนเศษของรัฐบาลคึกฤทธิ์ บนวิกฤตการณ์การเมืองทั้งในและนอกประเทศ นักการเมืองรุ่นหลังควรดูเป็นแบบอย่าง

                ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติจากสงความเวียดนาม

                การเผชิญกับลัทธิคอมมิวนิสต์

                ความขัดแย้งกันเองในพรรคร่วมรัฐบาล

                เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลหม่อมพี่         

                ยกมาชัดๆ ก็กรณีจอมพลประภาส จารุเสถียร และจอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับเข้าประเทศไทย

                กรณีของจอมพลประภาส ลักลอบเดินทางเข้าประเทศเดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ ก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ส่วนรัฐบาลก็แตกเป็นสองฝ่าย

                ประชาธิปัตย์ยืนยันให้ส่งตัวกลับออกไป

                แต่ชาติไทยกับธรรมสังคมยืนกราน จอมพลประภาสมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะเดินทางเข้า-ออก ประเทศไทยในฐานะคนไทยคนหนึ่ง

                การกลับมาของจอมพลถนอมหลังจากนั้นกลายเป็นว่า รัฐมนตรีของประชาธิปัตย์ ไม่ได้คัดค้านมากนัก เพราะมองเห็นว่า พลังของนักศึกษา ประชาชน ได้อ่อนแอลง

                แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้คิดแบบนั้น

                มีการบีบให้ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของพรรคประชาธิปัตย์ลาออก เพื่อรับผิดชอบ

                เพราะเห็นว่าไม่มีความจริงใจ

                และไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะผลักดันจอมพลประภาสกลับออกไปได้

                ทั้งๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง

                เกมนี้พรรคประชาธิปัตย์รู้ดีว่า พรรคชาติไทยกับพรรคธรรมสังคม ไม่ให้ความร่วมมือ

                แถมคนในประชาธิปัตย์ยุคนั้นตั้งข้อสังเกตว่า การเดินทางเข้ามาของจอมพลประภาสนั้น เป็นแผนของพรรคชาติไทย ร่วมมือกับกลุ่มทหารลูกน้องเก่าจอมพลประภาส เพื่อทำการปราบฝ่ายซ้าย

                และทำรัฐประหาร โดยใช้จอมพลประภาสเป็นเครื่องมือ

                ๑๘ กันยายน ๒๕๑๙ จอมพลถนอม เดินทางเข้ามาอีกคน

                เป็นผลจากการหยั่งเชิงผ่านทางพรรคชาติไทย

                และรัฐมนตรีจากพรรคชาติไทยแสดงความเห็นอกเห็นใจจอมพลถนอมในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่บ่อยครั้ง

                เมื่อจอมพลถนอมบวชเณรเข้ามา พรรคชาติไทยและพรรคธรรมสังคม โดยการสนับสนุนของกองทัพแสดงท่าทีเปิดเผยว่า จอมพลถนอมมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะอยู่ในประเทศไทย

                สุดท้าย "วีระ มุสิกพงศ์" ขณะนั้นเป็น ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายในสภาวิจารณ์รัฐบาลของตัวเองอย่างรุนแรง ว่าขาดความจริงใจในการผลักดันจอมพลถนอมออกนอกประเทศ

                ม.ร.ว.เสนีย์ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเห็นแล้วไร้ทางออกในการแก้ปัญหา

                แต่อย่างน้อยก็ประกาศให้เห็นว่า ไม่ได้ไหลไปตามเกมของจอมพล

                และทำในสิ่งที่ถูกที่ควร

                นั่นคือบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในดงทหาร และรัฐประหาร

                แม้จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่วันนี้ ถึงเวลาที่ประชาธิปัตย์ต้องตัดสินใจเข้าไปอยู่ในดงทหาร และพรรคร่วมรัฐบาลคนละสายพันธุ์อีกครั้ง

                หรือจะยืนอยู่คนละข้างอย่างชัดเจน

                แต่โจทย์ที่เพิ่มขึ้นมาคือ ทหารยุคนี้กับปี ๒๕๑๘-๒๕๑๙ ไม่เหมือนกัน

                เช่นกัน...ยุคนี้มีระบอบการเมืองโคตรโกง ที่คนยุคปี ๒๕๑๘-๒๕๑๙ ไม่เคยเห็น

                ฉะนั้นจึงเหลือเพียง ๒ ทางเลือก

                เข้าไปร่วมรัฐบาล ที่ถูกสมุนคนโกงบอกว่า เป็นเผด็จการสืบทอดอำนาจ

                ซึ่งประชาธิปัตย์ยังมีโอกาสทำในสิ่งที่ถูกต้อง อย่างเช่นคนของพรรคเคยทำในอดีต

                หรือจะไปร่วมรัฐบาลกับสมุนคนโกง ที่ประชาธิปัตย์ไม่มีทางทำอะไรได้เลยนับแต่ย่างเท้าเข้าไปร่วมกับคนโกงบริหารประเทศ.

 ผักกาดหอม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"