รู้ยัง 'เมกะโปรเจ็กต์ เขา โกงอย่างไร'


เพิ่มเพื่อน    

ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์บทความเรื่อง "เมกะโปรเจค “เขา” โกงอย่างไร โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

โครงการขนาดใหญ่ทั้งของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจไม่ว่าจะเป็น “การจัดซื้อจัดจ้าง – การร่วมลงทุนภาครัฐกับเอกชน – หารายได้จากทรัพยากรของรัฐ เช่น สัมปทาน” เป็นการลงทุนที่จำเป็นเพื่อพัฒนาประเทศ แต่ก็เป็นที่หมายตาของ “คนละโมบ” ที่จ้องกอบโกย โดยมักมีพฤติกรรมฉ้อฉลคล้ายกัน แต่รายละเอียดจะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของโครงการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ การแข่งขันและสถานการณ์การเมือง โดย “เครือข่ายคนโกง” จะพยายามเข้าแทรกแซงในทุกขั้นตอนหลักๆ

1.เขียนโครงการ เพื่อให้เกิดการลงทุนหรือทำโครงการและเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ

2.เขียนทีโออาร์ เช่น ล็อคสเปคสินค้า ทำให้ผู้แข่งขันบางรายได้เปรียบ ทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรมด้วยการปิดบังข้อมูลบางอย่าง หรือกำหนดเงื่อนไขการเปิดซองและพิจารณาคุณสมบัติผู้ร่วมประมูล กำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ลดการแข่งขัน

3.ขั้นตอนประมูล

3.1 ฮั้วประมูล ในลักษณะที่เป็นการกำหนดตัวผู้ชนะประมูล เพื่อให้ได้ราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อรัฐ เพื่อแบ่งเค้กหรือจัดสรรงาน กรณีที่มีงานของรัฐที่ต้องมีการประมูลอยู่จำนวนมาก

3.2 เขียนสัญญา (Main Contract) เมื่อได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะสามารถสอดแทรกรายละเอียด หรือเงื่อนไขต่างไปจากทีโออาร์ เปิดช่องให้มีการแก้ไขสัญญาในอนาคต ซ่อนปมเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทำกำไร หรือเอาเปรียบรัฐมากขึ้นจนอาจเสียค่าโง่ก็ได้

4.บริหารสัญญาระหว่างดำเนินการตามสัญญาหรือระหว่างการก่อสร้าง เช่น เปลี่ยนแบบ เพิ่ม-ลดงาน ผลักภาระงานให้เป็นของรัฐ ขยายเวลาดำเนินงาน การยอมรับงานคุณภาพต่ำกว่าที่ควรเป็น หากเป็นโครงการประเภท Turn Key หรือ Design and Built ยิ่งมีความเสี่ยงสูง

5.บริหารสัญญาตลอดอายุสัมปทาน/โครงการ เช่น สร้างเงื่อนไขเพื่อขยายอายุสัมปทาน เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขผลประโยชน์ ตีความสัญญาใหม่ ดังที่เคยเกิดขึ้นเช่น กรณีกรรมสิทธิ์เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ กรณีแปลงค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือเป็นภาษีสรรพสามิต เป็นต้น

“ซ่อนโกง” อย่างไร ?

ก่อนจะไปถึงการป้องกัน ขอเอาเรื่องจริงที่เป็น “ตัวอย่างสมมุติ” มาเล่าสู่กันฟังให้เห็นภาพว่ายังมีกลโกงอีกแบบที่เป็น “การซ่อนปมในสัญญา” ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร..แต่ความจริงแล้ว มันคือความสูญเสียขนาดใหญ่ที่นำมาสู่การจ่าย “ค่าโง่” มูลค่ามหาศาล ดังตัวอย่าง “โครงการรถไฟความเร็วสูง”

ถ้า – “รัฐ” ยอมให้ “เอกชน” คู่สัญญา เสนอเพิ่ม หรือ กำหนด “จุดที่ตั้ง” และ “จำนวน” สถานีผู้โดยสาร

ผลที่ตามมา – เอกชนคู่สัญญาจะเลือกทำเลที่ตัวเองได้ประโยชน์ และวางจำนวนสถานีให้ถี่ขึ้น โดยอ้างว่าเพื่อให้บริการผู้คนจากแหล่งชุมชนหรือย่านการค้าอุตสาหกรรมตามรายทางได้มากขึ้น
ฉากทัศน์กลโกงที่เป็นไปได้ 

1) เอกชนจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาที่ดินที่ตัวเองได้กว้านซื้อรอไว้บริเวณรอบๆ สถานี เช่นทำศูนย์การค้า ขายตึกแถว หมู่บ้านจัดสรร ทำสถานีรถโดยสาร โดยรัฐต้องเข้าไปสนับสนุนสาธารณูปโภค

2) เมื่อมีสถานีมากขึ้น ระยะห่างระหว่างสถานีสั้นลง ทำให้รถไฟมีข้อจำกัดในการเร่งความเร็วสูงสุดในจังหวะออกตัวรถ และลดความเร็วลงเพื่อเข้าสถานี จึงเป็นข้ออ้าง “ขอลดสเปค” รถไฟจากเดิมที่ต้องทำความเร็วสูง 250 กม. ต่อชั่วโมง ลงเหลือ 180 กม. ต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วปานกลาง นั่นหมายความว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถไฟสมรรถนะสูง

3) เอกชนได้ประโยชน์ทันทีจากการซื้อรถไฟ “สเปคต่ำ” กว่าเดิม ซึ่งราคาถูกลง แถมยังลดค่าดำเนินการ (Operation Cost) เช่น การซ่อมบำรุง ค่าใช้จ่ายในการเดินรถได้อีกมาก

ใครเสียประโยชน์ 

1) ประชาชนเสียประโยชน์ เพราะการมีสถานีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ ย่อมทำให้รถไฟใช้เวลาเดินทางนานขึ้นจากการใช้ความเร็วต่ำลง และต้องจอดพักตามสถานีรายทางมากขึ้น ซึ่ง “ผิดวัตถุประสงค์” การมี “รถไฟความเร็วสูง” ที่ต้องการให้คนเดินทางระยะไกล ด้วยเวลาน้อยที่สุด

2) ประเทศเสียประโยชน์ระยะยาว เพราะคำอธิบายว่า เพิ่มสถานีให้ถี่เพื่อบริการผู้โดยสารได้มากขึ้น ในระยะสั้นนั้น อาจดูดีเพราะมีคนได้ใช้งานตามรายสถานีมากขึ้นจริง แต่อย่าลืมว่า ในวันข้างหน้าเมื่อสังคมและการเดินทางสัญจรเปลี่ยนไป คนต้องการเดินทางระยะยาวมากขึ้น การเพิ่มสมรรถนะรถไฟจะทำได้ยาก

3) เป็นการเอาเปรียบผู้ร่วมประมูลรายอื่นที่เสนอราคาตรงไปตรงมาตามทีโออาร์

นี่เป็นตัวอย่างสมมุติที่อธิบายตามหลักการลงทุนและการตลาดครับ

สุดท้าย ประชาชนโดนหลอก?!? - - อย่าเพิ่งด่วนสรุปนะครับ

โกงมากๆ อย่าคิดว่าประชาชนโง่ !

เมื่อเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะโดยหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหน่วยงานใด รัฐบาลชุดไหนก็ตาม ท้ายที่สุด ประชาชนตกเป็น “ผู้จ่าย” ดังหลายๆ กรณี ที่กลายเป็นกรณีพิพาททั้งระหว่าง “รัฐ” หรือ “รัฐวิสาหกิจ” และ “เอกชน” คู่สัญญา ดังบทเรียนจาก 2 คดี “ดอนเมืองโทลเวย์”

คดีแรก ค่าโง่ 4 พันล้านบาท ที่ต้องจ่ายให้เอกชนเจ้าของสัมปทาน “ทางด่วน ปากเกร็ด – บางปะอิน” เหตุเพราะรัฐให้ขยายดอนเมืองโทลเวย์จากดอนเมืองไปรังสิต เขาจึงฟ้องว่าเป็นการให้บริการแข่งขันกับเขา ทำให้ลูกค้าเขาลดลง รัฐต้องชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากที่เขา “คาดการณ์ไว้” แม้จะมีผู้ทักท้วงว่าทางด่วนสองเส้นนี้มีต้นทางและปลายทางห่างกันไกลหลายกิโลเมตร

คดีที่สอง ค่าโง่ 1.2 พันล้านบาท ที่ต้องจ่ายให้ทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ เหตุเพราะรัฐไม่ยอมให้เขาปรับขึ้นค่าทางด่วนตามข้อตกลง

ยุคนี้ประชาชนรู้เท่าทันและข้าราชการที่ดีก็มีมาก เขาไม่ยอมให้ใครโกงง่ายๆ อีกแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่า ยิ่งมี “พลเมืองดี” ตื่นรู้สู้โกงมากขึ้นเท่าไหร่ พวกที่คิดจะโกงโครงการขนาดใหญ่จึงยิ่งพยายามวางแผนเป็นขั้นตอน ครอบงำผู้มีอำนาจ และผู้เกี่ยวข้องระดับต่างๆ ให้ได้มากที่สุด แผนและโครงการต้องซับซ้อนเข้าใจยาก

บางกรณีใช้นโยบายระดับสูงที่เรียกว่า “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” บางครั้งอาจใช้อำนาจบิดเบือน อ้างความลับราชการ ความลับทางการค้า ความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หนักหน่อยก็แก้ไขหรือออกกฎกติกาใหม่เสียเลย

กฎหมายกับดุลยพินิจ - ปิดช่องโกง

ตามกฎหมาย หน่วยงานใดจะทำสัญญาให้ต่างไปจาก“ทีโออาร์”และ “มติครม.” ที่อนุมัติโครงการนั้น ไม่ได้ ! 

จะแก้ไขสัญญาในสาระสำคัญ และไม่ได้เกิดประโยชน์คุ้มค่ากับรัฐ ทำไม่ได้ !

แต่ที่ผ่านมาเกิดปัญหาเพราะ “มีการสมรู้ร่วมคิด” บิดเบือนอำพราง ซึ่งอาจเกิดจาก

1.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ไปรู้เห็นหรือรับประโยชน์จากเอกชน

2.คณะกรรมการหรือผู้มีอำนาจอาจอนุมัติไปโดยไม่รู้ตื้นลึก ไม่ได้ใส่ในเรื่องนั้นหรือเกรงใจใครบางคน แต่ที่แย่กว่านั้นคือมีผลประโยชน์ร่วมด้วย

3.ฝ่ายเอกชนคู่สัญญาที่มีความพร้อมหลายด้าน ได้วางแผนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับไป ซึ่งคนนอกดูเนื้อหาที่ถูกแก้ไขอาจมองไม่ออกว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญที่ทำให้รัฐเสียหายได้ และกว่าจะรู้ก็สายเกินไป

แนวทางป้องกันการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ที่ได้ผล

วิธีที่นิยมทั่วโลก คือ อย่าไว้ใจมนุษย์ปุถุชน วางระบบที่ดี ยอมรับการตรวจสอบ เช่น]

1.ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างโปร่งใสเพื่อให้เกิดการตรวจสอบร่วมกัน

2.ใช้ “ข้อตกลงคุณธรรม” ให้ตัวแทนประชาชนมีส่วนร่วมรู้เห็นตั้งแต่แรก และเป็นการบังคับให้ผู้เกี่ยวข้องต้องทำงานอย่างรับผิดชอบ มีวินัย ตรงไปตรงมา

3.การแก้ไขแบบหรือสาระในสัญญา ควรได้รับความเห็นชอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ หรือสถาบันวิชาชีพที่สังคมยอมรับ เช่น สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สมาคมวิศวกรที่ปรึกษา เป็นต้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"