ถอนทุนหลังตั้งรัฐบาล


เพิ่มเพื่อน    

 หลังตั้ง รบ.มีแบ่งเค้ก-ถอนทุน รัฐบาลช่วยชาติคือทางออก

                ช่วงสุดสัปดาห์หน้านี้จะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง จากนั้นจะตามด้วยการเตรียมเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติโหวตเห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยถึงขณะนี้หลายฝ่ายยังมองว่าฝ่ายขั้วพรรคพลังประชารัฐ-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตั้งรัฐบาลแข่งกับขั้วเพื่อไทย ยังคงกุมความได้เปรียบทางการเมืองเหนือขั้วเพื่อไทยอยู่หลายขุม 

                ฟังเสียงความเห็นจากนักการเมือง นักเลือกตั้ง นักวิชาการกันมามากแล้วเรื่องการตั้งรัฐบาล การเลือกนายกฯ ลองมาอ่านความคิดข้อเสนอแนะที่เป็น เสียงสะท้อนจากภาคประชาชน กันบ้าง ว่าเขามองการเมืองไทย การตั้งรัฐบาลต่อจากนี้อย่างไร

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 มองความเคลื่อนไหวการชิงเสียง ส.ส.และกระแสข่าวการต่อรองของพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาลและการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคการเมืองต่างๆ ในเวลานี้ว่ามีแนวโน้มที่จะมีการเจรจาต่อรอง ที่สุดท้ายจะนำไปสู่การเมืองแบบเดิมๆ คือการเจรจาแบ่งโควตาแบ่งอำนาจ ในลักษณะการแบ่งเค้กจัดสรรผลประโยชน์ในการตั้งรัฐบาล แล้วจากนั้นสิ่งที่จะตามมาก็คือการถอนทุนที่ใช้ไปในการเลือกตั้ง

“มองดูแล้วรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิด หากว่ายังจะเดินไปแบบการเมืองแบบเดิมๆ ทำแบบเก่าต่อไปอีก มันก็เข้าลักษณะการฮั้วอำนาจแบ่งเค้ก ยิ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมามีการใช้เงินค่าใช้จ่ายกันไม่น้อย เห็นชัดว่าใช้กันมหาศาล สิ่งที่จะเข้ามาก็คือการถอนทุน แบ่งเค้กแบ่งอำนาจกัน เพื่อเข้าไปถอนทุน เพราะทุนที่ใช้ไปก่อนหน้านี้ก็มาจากนายทุนใหญ่ๆ ที่ได้จ่ายเงินสำรองให้ไปก่อน”

อดุลย์ กล่าวต่อว่าจากสถานการณ์ที่ปรากฏ จากการเฝ้าติดตามการจัดตั้งรัฐบาลด้วยความกังวลและเอาใจช่วย เพราะจากสถานการณ์ที่เราได้ยินและปรากฏเป็นข่าว จากตัวเลขความพยายามรวมเสียง ส.ส.ตั้งรัฐบาลเวลานี้ดูแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนจะเป็นขั้วเพื่อไทยหรือพลังประชารัฐก็คงไม่สามารถตั้งรัฐบาลที่มีเสียง ส.ส.แบบสะเด็ดน้ำได้เลย มีโอกาสจะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำทั้งสองฝ่าย ทำให้ประชาชนเป็นกังวลเช่นเดียวกับฝ่ายธุรกิจก็กังวล คือการตั้งรัฐบาลคงตั้งได้ แต่ถึงจุดหนึ่งจะไปได้สักกี่น้ำ มีโอกาสคลอนแคลนที่ไม่รู้เรือจะล่มเมื่อใด ประชาชนที่กำลังเฝ้าจับตาอยู่เวลานี้ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะมาแก้ปัญหาให้พวกเขากันอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ความยากลำบากในการใช้ชีวิต ความยากจนที่เดือดร้อนกันไปทั่ว

...เมื่อเป็นแบบนี้ไม่เข้าใจว่าทำไมแต่ละฝ่ายไม่เสียสละ สิ่งที่ทุกคนรังเกียจและไม่อยากให้เข้ามายุ่ง ก็คือการเข้ามาครอบงำของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่มีต่อพรรคการเมืองในเครือ เขาควรเสียสละไม่ควรมายุ่งเพราะประเทศชาติปั่นป่วนมานานแล้ว ขณะเดียวกันฝ่าย คสช.โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวกที่ทำงานมาห้าปีแล้ว บอกจะมาแก้ปัญหาคืนความสุขให้ประชาชน ผ่านมาห้าปีแล้วก็ยังทำไม่ได้ ประชาชนไม่มีความสุข ก็สมควรแก่เวลาที่ควรต้องวางมือ ปล่อยให้คนอื่นที่มีความสามารถเข้ามาทำงานแก้ปัญหาประเทศ เพราะทำมาแล้วห้าปีไม่สำเร็จแล้วมาอยากจะทำต่อ การบริหารบ้านเมืองไม่ใช่ว่าเรียนหนังสือสอบตกแล้วสอบซ่อม บ้านเมืองประเทศชาติไม่ใช่แบบนั้น เมื่อเห็นชัดเจนว่านายกฯ ประยุทธ์ประสบความล้มเหลวก็ควรให้โอกาสคนอื่น

...โดยปกติในสถานการณ์ทั่วไป แม้จะมีคนทำงานแก้ปัญหาผลักดันประเทศไปได้ระดับหนึ่ง ประชาชนก็ยังเรียกร้องให้นำคนเก่งกว่าเข้ามาทำแทน เพราะเชื่อว่าจะมีคนทำหน้าที่ได้ดีกว่า แต่เมื่อเห็นชัดว่ารัฐบาล คสช.ล้มเหลว ก็ต้องเสียสละวางมือให้คนอื่นได้มาทำบ้าง

...เชื่อว่าคนที่มาใหม่จะทำหน้าที่ได้ดีกว่าพลเอกประยุทธ์ เพราะหากทำงานด้วยใจที่มีต่อประเทศชาติ ประชาชน ไม่มีอะไรแอบแฝง บ้านเมืองต้องไปได้ แต่ที่ผ่านมากับรัฐบาลชุดนี้ เวลามีการทำโครงการใหญ่ๆ ออกมาก็ต้องมีข้อครหาแฝงมาว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบ มีความไม่โปร่งใส บางเรื่องพอมีการตรวจสอบได้มีการแจ้งให้คนที่มีอำนาจรับรู้ แต่ก็ไม่ได้มีการแก้ไข กลับวางเฉย กลายเป็นว่าตรวจสอบไม่ได้ หนักกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยซ้ำ อันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น

...ในช่วง คสช.เข้ามาใหม่ๆ บอกว่าจะล้างเรื่องพวกนี้ แต่กลับไม่รักษาคำพูด โครงการใหญ่ๆ ควรต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศเป็นผู้ดำเนินการ ก็ยังไม่สาย หากรัฐบาลขืนทำแบบนี้ โครงการที่ทำให้ประเทศเสียค่าโง่แบบโฮปเวลล์ก็อาจเกิดขึ้นได้อีก เหล่านี้คือสิ่งที่เราเห็นชัดว่ากำลังจะเกิดขึ้น

การทำการเมืองทุกคนที่เข้ามาก็มุ่งหวังอยากเป็นรัฐบาล ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่สำคัญที่สุดต้องทำให้ประชาชนมีความอุ่นใจมั่นใจ เชื่อถือว่าคุณเข้ามาแล้วต้องทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน

...มองดูแล้วรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิด หากว่ายังจะเดินการเมืองแบบเดิมๆ ทำแบบเก่าต่อไปอีก มันก็เข้าลักษณะการฮั้วอำนาจแบ่งเค้ก ยิ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมามีการใช้เงินค่าใช้จ่ายกันไม่น้อย เห็นชัดว่าใช้กันมหาศาล แล้วสิ่งที่จะเข้ามาก็คือการถอนทุน แบ่งเค้กแบ่งอำนาจกัน เพื่อเข้าไปถอนทุน เพราะทุนที่ใช้ไปก่อนหน้านี้ก็มาจากนายทุนใหญ่ๆ ที่ได้จ่ายเงินสำรองให้ไปก่อน แล้วโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่ทำกันต่อจากนี้ก็ต้องตอบแทนให้กัน โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าประเทศจะเสียหายเท่าไหร่ ประชาชนที่เป็นผู้จ่ายภาษีเขาจะเสียหายเท่าใด

...มันจะเข้าลักษณะแบบนี้อีกแล้ว เลวร้ายยิ่งกว่าเดิมอีก มันไม่น่าจะเกิดแล้ว ควรพอเสียที ได้เวลาที่พรรคการเมืองไม่ใช่มานั่งต่อรองผลประโยชน์ตั้งรัฐบาล แต่ควรนำสิ่งที่แต่ละพรรคการเมืองมีที่ดีที่สุด มารวมกองไว้ด้วยกันเพื่อรวมกันเป็นรัฐบาล จะได้ร่วมมือกันนำพาประเทศชาติให้พ้นวิกฤติการเมือง ที่แต่ละฝ่ายต่อสู้แก่งแย่งอำนาจกันมา เพื่อจะได้นำพาประเทศชาติที่กำลังลำบากในเวลานี้ก้าวพ้นความยากลำบาก พยุงสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปก่อน รัฐบาลที่จะเข้ามาสิ่งที่ต้องทำก็คืออย่าทำให้มันแย่กว่านี้  อย่าให้ตกต่ำกว่านี้

เท่าที่เห็นที่พยายามจะตั้งรัฐบาลปริ่มน้ำเวลานี้ อะไรก็ไม่ยอมกัน ไม่เสียสละกัน แล้วคนที่ลำบากคือใคร ก็คือประชาชน แต่พวกนักการเมืองไม่ลำบาก แล้วแบบนี้ประเทศจะไปรอดได้อย่างไร

หวัง ปชป.ไม่ร่วมสังฆกรรม พปชร.

-มองการจัดตั้งรัฐบาลของขั้วพลังประชารัฐอย่างไร โดยเฉพาะท่าทีพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นตัวแปร หลังจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค?

การที่พรรคประชาธิปัตย์เลือกจุรินทร์มาเป็นหัวหน้าพรรค ทำให้ดูแล้วยังมีความหวังว่าพรรคจะไม่สูญพันธุ์ เพราะหลักการ ปชป.คือการต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ เป็นหลักการของปชป.มาตลอด พรรค ปชป.ได้หัวหน้าพรรคที่มีความเหมาะสม ทำให้พรรคจะเดินไปในแนวทางที่ถูกต้อง ฟื้นคืนชีพได้ เหมือนเช่นนกฟีนิกซ์ที่แม้ตายไปก็สามารถฟื้นขึ้นมาได้ ส่วนการที่พรรค ปชป.จะไปรวมตัวเป็นขั้วที่สามตั้งรัฐบาลก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกพรรคการเมืองที่เคยไปสัญญาไว้ตอนหาเสียง รับปากอะไรไว้ก็ต้องทำตามนั้น แม้จะยากลำบากก็ต้องทำตามนั้น คำว่าขั้วที่สาม จึงเป็นอะไรก็ได้ที่จะทำให้การสืบทอดอำนาจหยุดไป หายไป ในนามคณะกรรมการญาติพฤษภาฯ 35 เราสนับสนุนทุกรูปแบบ

หากพรรค ปชป.ไปร่วมสนับสนุนการตั้งรัฐบาลเพื่อสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ประชาชนที่เลือกพรรค ปชป.คงผิดหวังมาก เพราะคนที่เป็นแฟนคลับ ปชป.ไม่ได้เป็นแฟนคลับแค่ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา  เห็นได้จากตอนก่อนวันเลือกตั้งท่ามกลางกระแสการเมืองต่างๆ ที่รุนแรง แต่ก็ยังมีประชาชนร่วมสี่ล้านเสียงเลือก ปชป. ก็เพราะเขารู้จักจิตวิญญาณ ปชป.ว่าเคารพรักษากฎหมายและต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบมาถึงตอนนี้ ประชาชนที่เลือกพรรค ปชป.เพราะมั่นใจว่าเป็นสถาบัน หากไปทำอะไรที่เหมือนกับลืมจิตวิญญาณของตัวเองก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ต้องยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา

ผมเชื่อว่าคนที่รักในพรรค ปชป.โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แม้แต่ผมเองก็ไม่ปฏิเสธว่าทุกครั้งผมก็เลือก ปชป.ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ปชป. เพราะผมเชื่อว่าพรรค ปชป.เห็นหัวคนจนและพรรค ปชป. ถือว่าความยุติธรรมมาโดยตลอด เพราะคนส่วนใหญ่ในพรรคเป็นนักกฎหมาย 

...เป็นห่วงว่าประชาธิปัตย์จะไม่รักษาพื้นฐานวัฒนธรรมองค์กรและจิตวิญญาณของตัวเองไว้ ก็อาจทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไป หลังประชาชนให้บทเรียนพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา อาจจะทำให้พรรค ปชป.ไปแล้วไปเลย หากไม่สามารถกู้ชื่อกลับมาได้ด้วยการคงความเป็น ปชป. จิตวิญญาณพรรคเอาไว้ เรื่องการไม่เอาเผด็จการ หากพลเอกประยุทธ์ยังไม่รู้จักพอจะเป็นนายกฯ ต่อให้ได้ ก็เป็นเลยผมสนับสนุน แต่ทุกอย่างก็ไปว่ากันในสภา แต่ทุกคนต้องยึดมั่นว่าเมื่อถึงเวลาแล้วฝ่ายที่ยึดมั่นวาจะคงความเป็นประชาธิปไตยก็ต้องรักษาคำพูดจิตวิญญาณนั้นไว้ ทุกคนไปเลือกตั้งภายใต้กติกาที่พิศดาร  โดยที่ทุกคนต้องการให้สุดท้ายมีการไปแก้ไขกันที่รัฐสภา ก็ควรทำ หากพลเอกประยุทธ์ไม่ยอมรู้จักพอ  ยังติดใจอยากเป็นนายกฯ ต่อ ก็เป็นไปเลย โดยใช้เสียง ส.ว. 250 เสียงมาช่วย แต่ก็อยากรู้ว่าจะอยู่ได้นานขนาดไหน

-ในฐานะออกเสียงเลือกประชาธิปัตย์ทุกครั้ง ไม่อยากให้พรรคไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ?

แน่นอน รวมถึงพรรคภูมิใจไทยและพรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับพลเอกประยุทธ์ ถ้าพลเอกประยุทธ์ยอมพอเพียง เลิก ยอมยุติบทบาท อีกทั้งทักษิณไม่มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในประเทศ  ห้าพรรคใหญ่ คือพลังประชารัฐ เพื่อไทย อนาคตใหม่ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ก็ควรรวมกันตั้งรัฐบาลช่วยชาติ เพราะ ส.ส.ทั้งหมด 500 คนประชาชนเลือกมา พรรคเหล่านี้ก็ควรไปหาทางทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ก็ควรมาคุยกัน ตั้งรัฐบาลช่วยชาติขึ้นมา เพราะอุปสรรคตัวที่เป็นปัญหาของทั้งสองฝ่าย  พลเอกประยุทธ์-ทักษิณไม่มาเกี่ยวข้องแล้ว โดยไม่ต้องให้พวก ส.ว. 250 คนมายุ่งวุ่นวาย ไม่ถึงกับต้องปิดสวิตช์ ส.ว. แต่หากทั้ง 500 คน มาคุยกันได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปใช้เสียง ส.ว. เพราะหาก ส.ส.ทุกพรรคคุยกันได้มันก็เกิน 376 เสียงที่จะโหวตนายกฯ ได้แล้ว ก็มาตั้งรัฐบาลช่วยชาติที่เป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านในตัว ในลักษณะที่หากพรรคการเมืองใดที่คุมกระทรวงต่างๆ หากพบว่าได้ทำเรื่องไม่ถูกต้อง ก็คัดค้านท้วงติงเสนอแนะได้

....หากทักษิณพอ แล้วอีกฝั่งคือพลเอกประยุทธ์ก็พอเช่นกัน เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างพอ คู่ขัดแย้งก็ไม่มี มันก็ปลดล็อกได้ แล้วให้ ส.ส.ในสภา 500 คนมาว่ากันเอง คุยกันได้อยู่แล้ว อาจจับมือกันได้เพราะข้อขัดแย้งไม่มีแล้ว

ฝ่ายเสื้อแดงที่ไม่เอาพลเอกประยุทธ์ เมื่อพลเอกประยุทธ์ปลดระวางไปแล้ว เงื่อนไขข้างต้นก็หมดไปเมื่อ พลเอกประยุทธ์พอแล้ว ไม่อยู่แล้ว เช่นเดียวกับฝ่ายที่หนุนพลเอกประยุทธ์ที่ไม่เอาทักษิณ หากทักษิณไม่อยู่ไม่เกี่ยวข้องแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ก็คุยกันได้

เตือนใช้วิธีสร้างงูเห่า ปชช.รังเกียจ

-ถ้าพลังประชารัฐพยายามดิ้นตั้งรัฐบาล คือรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 250 เสียง แต่ไม่ถึง 260 เสียง เลยต้องใช้วิธีดึง ส.ส.พรรคขั้วตรงข้ามมาอยู่ด้วย ที่เรียกว่างูเห่า ซึ่งอาจมีการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้?

การกระทำลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประชาชนรังเกียจ เพราะเป็นเรื่องสกปรก และข้อสำคัญที่สุด ต่อให้เขาทำได้แบบนั้น ก็ไม่สามารถนำพาประเทศชาติก้าวไปข้างหน้าได้ เพราะรัฐบาลก็จะอยู่แบบไม่มีความแน่นอน ซึ่งพวกนักการเมืองที่ยอมทำตัวเป็นงูเห่าก็จะทำได้แค่ยุคนี้เท่านั้น ไปลงเลือกตั้งอีกก็คงกลับมาไม่ได้ ประชาชนจะมีแต่สาปส่ง เพราะหากทำแบบนั้นถามว่าประชาชนจะตรวจสอบพวกนี้ไม่ได้หรือว่าไปเอาเงินกันมาจากไหน

ถ้าตั้งรัฐบาลกันแบบนี้การยอมรับจะไม่เกิดขึ้น เพราะปัญหาเดิมก็ยังอยู่ เนื่องจากรัฐบาล คสช.ที่ตอนนี้ได้กลายเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองไปแล้วยังคงมีอำนาจอยู่ต่อ แล้วแบบนี้เมื่อไหร่ปัญหาจะจบ  ปัญหาที่เขาสร้างขึ้นมาโดยนำตัวเองเข้ามาเป็นตัวปัญหา คู่ขัดแย้ง แล้วเมื่อไหร่ปัญหาประเทศชาติเหล่านี้จะจบ

 อดุลย์ ยังกล่าวถึงบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 รายชื่อที่ประกาศออกมาล่าสุด โดยเฉพาะกับบทบาท ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ว่า ตอนนี้ยังไม่อยากพูดถึงผลลัพธ์การทำงานของทั้งหมดว่าต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น แต่เห็นว่าควรต้องมีการสะสางที่มาของ ส.ว.ทั้งหมดให้ชัดเจนว่า แต่ละคนถูกคัดสรรเข้ามาอย่างไร ก็เช่นเดียวกับที่มีการตั้งรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง เมื่อเข้าไปทำงาน หากรัฐมนตรีทำไม่ดีก็ไปไล่เขาออกได้ ถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ หรือประชาชนเรียกร้อง ก็ต้องพิจารณาตัวเอง  ก็เหมือนกันหาก ส.ว.ทำหน้าที่ได้ไม่ดี ก็ต้องพิจารณาตัวเองซึ่งหากเป็นแบบนั้น จะไม่ใช่แค่ ส.ว.บางคนแต่จะโดนทั้งหมด

 ผมเชื่อว่ากระแสประชาชนที่กำลังไม่พอใจ ก็เป็นเรื่องของการที่นำคนใกล้ชิดมาเป็น ส.ว. ซึ่งโดยปกติก็มีเรื่องแบบนี้ แต่ก็ไม่มีมากอย่างที่เห็นในรายชื่อ ส.ว.ที่ประกาศออกมา ที่เข้ามากันเป็นแถบโดยอธิบายสังคมไม่ได้ และที่สำคัญก็คือ ไม่เข้าใจว่าเหตุใดกรรมการสรรหา ส.ว.ชุดพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ถึงคิดสัปดนไปเอาตัวเองมาเป็น ส.ว.ด้วย ไม่เคยได้ยินเรื่องแบบนี้ในโลก คือเป็นกรรมการสรรหาด้วยแล้วก็เอาตัวเองมาเป็น ส.ว.ด้วย

ส.ว.ที่จะอยู่ห้าปี ที่เข้ามาด้วยมิติสำคัญคือเพื่อมาโหวตเลือกนายกฯ ถามว่าไม่ละอาจใจต่อแผ่นดินที่ได้อาศัย กินเงินเดือนที่เป็นภาษีประชาชน เข้ามาเพื่อตอบแทนคนคนเดียว โดยเอาผลประโยชน์ชาติไปแลกกับสิ่งที่จะโหวต ก็ต้องถามว่ายังมีความเป็นมนุษย์อยู่หรือไม่ ไม่ละอายที่ทำแบบนี้หรือ

อดุลย์-ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา35 มองเส้นทางการกลับมาเป็นนายกฯ รอบสองของพลเอกประยุทธ์ว่า กระบวนการต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญได้เปิดช่องให้พลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ เพราะหากการตั้งรัฐบาลต่อรองกันไม่จบ พลเอกประยุทธ์ก็ยังเป็นนายกฯ อีกต่อไปเรื่อยๆ แต่ความเป็นรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ต่อจากนี้ หลังจากมีสภา มีฝ่ายค้านแล้ว มันไม่ง่ายเพราะไม่มีอะไรคุ้มครองแล้วจะรู้เองว่าการฝืนทำในสิ่งที่ไม่ควรทำผลลัพธ์คืออะไร พลเอกประยุทธ์ อยากเป็นก็เป็นไป แล้วจะรู้เองว่าการเป็นนายกฯ ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา กับการเป็นนายกฯ ต่อจากนี้ มันไม่เหมือนกันอีกต่อไป การเอา ส.ว. 250 เสียงมาช่วยโหวตให้ได้เป็นนายกฯ รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ แต่บอกได้เลยว่าการทำแบบนั้นก็จะต้องรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากประชาชนแน่นอน ถ้า ส.ว. 250 คนลงมติกันแบบไม่ฟังเหตุผล ดันพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ถ้าทำแบบนั้นก็จะสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจตัวจริง ก็ต้องรอดูกัน

สิ่งที่ผมอยากเรียกร้องทุกฝ่ายคือเสียสละเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่เอาตัวเอง พรรคการเมืองเป็นหลัก  อะไรที่ทำให้บ้านเมืองดีขึ้น เจริญก้าวหน้าขึ้น ก็ทำ การช่วยชาติมีได้หลายทาง พวกนักเลือกตั้ง พรรคการเมืองทั้งหลายบัดนี้คงรู้ซึ่งแก่ใจแล้วว่า ตอนที่ถูกเอาอำนาจประชาธิปไตยไป ผลของมันก็คือการลำบากแบบนี้ ดังนั้นอะไรที่เคยพูดไว้กับประชาชนก็ต้องรักษาไว้ ไม่ใช่ปากว่าตาขยิบ

ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ย้ำถึงทางออกการตั้งรัฐบาลว่า เรื่องการตั้งรัฐบาลต่อจากนี้ หากขั้วที่เป็นคู่ขัดแย้งคือขั้วของเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร ที่พยายามครอบงำพรรคการเมืองต่างๆ ภายในเครือ ที่ควรหยุดความวุ่นวาย ปล่อยให้พรรคในเครือของนายทักษิณเป็นตัวของตัวเอง ได้เป็นอิสระเสียที และอีกขั้วคือ ขั้วพลเอกประยุทธ์ ซึ่งแทนที่เข้ามาจะแก้ปัญหาแต่กลับมาเป็นคู่ขัดแย้งแล้วยังจะมีข้อครหามากมาย ก็ควรพอเสียที ถ้าเป็นแบบนี้ฝ่ายที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็น เพื่อไทย พลังประชารัฐ อนาคตใหม่ ประชาธิปัตย์ ก็รวมตัวกัน เพราะไม่มีข้อขัดแย้งแล้ว ตัวปัญหาทั้งคู่ ออกไปแล้ว บ้านเมืองก็เดินหน้าต่อไปได้ อาจใช้เวลาสักสองปีทำให้ประเทศชาติรอด เพราะประเทศไทยมีคนเก่งมีความสามารถเยอะ แต่เขาไม่อยากเปลืองตัวเข้ามาเพราะมันเหม็น แต่หากสองฝ่าย (ทักษิณ-พลเอกประยุทธ์) นี้เลิกยุ่งเกี่ยวด้วย ผมว่าคนเก่งๆ คนนอกพรรค พร้อมจะเข้ามาช่วยประเทศชาติ

...ตอนนี้แม้พรรคเล็ก 11 พรรคจะไปร่วมจับมือกับพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล แต่ก็ยังทำให้ฝ่ายพลังประชารัฐ ก็ยังเป็นเสียงปริ่มน้ำ แม้จะมี ส.ว. 250 คนที่มาร่วมโหวตนายกฯ ทำให้อาศัยเสียง ส.ส.อีกแค่ 126 เสียง ซึ่งพอโหวตนายกฯ แล้ว แม้ต่อให้ยังตั้งรัฐบาลเกิน 250 เสียงไม่ได้ พลเอกประยุทธ์ก็ยังเป็นนายกฯ รักษาการอยู่ต่อไปอีก

ผมมองว่าการตั้งรัฐบาลที่กำลังดำเนินอยู่ตอนนี้ แต่ละฝ่ายต้องเสียสละอำนาจที่ตัวเองมี อย่าต่อรอง ต้องทำเพื่อประเทศชาติประชาชน และแข่งกันแสดงฝีมือ การตั้งรัฐบาลไปทำงานในฝ่ายบริหารไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคการเมืองที่ร่วมกันตั้งรัฐบาล เพราะคนในแต่ละพรรคก็ไม่ใช่ว่าจะเก่งหมดทุกอย่าง ไปดึงคนจากคนนอกพรรคมาทำงานก็ได้ พวกผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา ดึงมาช่วยกัน มาเป็นรัฐบาลช่วยชาติ ไม่ใช่ทำแบบเดิมๆ แบ่งเค้ก แบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีกันตามโควตา โควตาแต่ละพรรคการเมืองที่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ได้ปฏิเสธตรงนั้น แต่อยากให้นำคนนอกที่มีความสามารถมาทำงานในฝ่ายบริหาร เพราะคนนอกเขาไม่ได้เป็นคนของพรรค ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่เขาอาจทำงานโดยไม่ได้คำนึงว่าเขาทำงานตรงนี้เพื่อวันข้างหน้าจะได้ไปหาเสียง หากพ้นหน้าที่ เสร็จหน้าที่ก็กลับบ้าน โดยใจของเขามีอย่างเดียวคือยึดประเทศชาติประชาชนเป็นหลัก เหมือนกับบริษัทเอกชนจ้างซีอีโอเก่งๆ มาทำงาน สู้ตายทำให้บริษัทมีผลกำไร ถึงเวลาครบสัญญาหากไม่จ้างต่อเขาก็กลับบ้าน โดยระหว่างนั้นแต่ละพรรคการเมืองก็อาจมีข้อตกลงบางอย่างเพื่อทำให้ทุกอย่างเข้าที่ เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เข้าหลักสากล แล้วก็ให้มีการเลือกตั้งกันหลังจากนั้น ถ้าเป็นแบบนี้บ้านเมืองก็ไปได้

ก่อนหน้านี้ อดุลย์ เสนอแนวทางการตั้งรัฐบาลว่า ไม่ว่าจะเป็นขั้วไหนจัดตั้งรัฐบาลก็ควรตั้งรัฐบาล-หาคนมาเป็นรัฐมนตรีบนหลักการ รัฐบาลช่วยชาติ ซึ่งแนวคิดดังกล่าว เป็นอย่างไรเขาขยายความชัดๆ ไว้ว่า

...หลักการรัฐบาลช่วยชาติคือ แต่ละพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคที่จะตั้งรัฐบาล เขาก็ไม่ได้มีคนที่มีความเชี่ยวชาญครบทุกด้าน โดยเฉพาะการเข้าไปแก้ปัญหาด้านต่างๆ จึงจำเป็นต้องดึงคนนอกพรรคที่มีฝีมือ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนที่ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพราะไม่อยากต้องมาตอบแทนพรรคการเมือง แต่สามารถทำงานได้โดยยึดหลักผลประโยชน์ประเทศชาติ การฟอร์มคณะรัฐมนตรีจึงไม่ควรใช้หลักต้องยึดตามโควตาของแต่ละพรรคการเมือง แต่ควรดึงคนนอกพรรค คนสาธารณะที่คนรู้จักกันดีว่ามีฝีมือ คนซื่อสัตย์ คนที่ทำงานโดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนมาทำงาน โดยอาจให้ประชาชนเปรียบเทียบได้ เช่น พรรคการเมืองที่ร่วมตั้งรัฐบาล เสนอชื่อออกมาว่าจะให้ใครเป็นรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แล้วฝ่ายประชาชนก็เสนอชื่อไป อย่างเช่น สมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลัง แบบนี้ทุกคนต่างก็บอกว่าโอเค เรื่องโกงไม่มี เรื่องวาระซ่อนเร้นไม่มี ทำเพื่อประชาชนอย่างเดียว โดยพรรคการเมืองที่ร่วมตั้งรัฐบาล เช่น พลังประชารัฐ ก็ลองเสนอชื่อออกมาเพื่อให้ประชาชนเปรียบเทียบดู ใครเก่งกว่าก็ผลักดันคนนั้น เวลานี้เราต้องหาคนที่เก่ง ซื่อสัตย์ เชี่ยวชาญ ทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ ก็ให้เขามาทำงาน นี่คือรัฐบาลช่วยชาติ เอาคนเก่งๆ คนนอกพรรคก็ได้มาช่วยกันทำงานให้บ้านเมือง หรืออย่างด้านการศึกษา หลายคนก็บอกว่ามีคนของพรรคอนาคตใหม่ที่เก่งด้านการศึกษา เป็นที่ยอมรับ ก็ดึงมาให้ช่วยงานด้านการศึกษา หรือด้านความมั่นคง กลาโหม ก็ดึงคนที่เป็นอดีตทหารอาชีพ มองการณ์ไกลอย่างพลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท (องคมนตรี-อดีต ผบ.ทบ.) ก็ทาบทามให้มาเป็น รมว.กลาโหม คือ ตั้งรัฐบาล ตั้งคนมาเป็นรัฐมนตรีโดยนำคนที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผลประโยชน์แอบแฝง

ถามถึงว่า ก็ไม่ได้ถึงกับไม่เห็นด้วยหากพลังประชารัฐจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อดุลย์ ย้ำว่า พรรคการเมืองเมื่อประชาชนเลือกมาก็ถือว่าเป็นคนที่ประชาชนคัดสรรเลือกมา แต่สำคัญที่สุด อย่าเข้ามาเพื่อปั่นราคา ต่อรองผลประโยชน์เพื่อถอนทุน มันไม่ไหวแล้ว ความคิดแบบนี้ต้องเลิก

...ส่วนการจะกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบของพลเอกประยุทธ์ มองว่าอะไรที่สัญญาไว้ก็ต้องทำ อย่าผิดคำพูด ต้องไม่โกงและขจัดการโกง ต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจเวลานี้มันแย่กว่าตอนที่ คสช.เข้ามาเสียอีก ต้องทำให้ดีดั่งเดิมหรือดีกว่าปัจจุบัน ต้องกล้าใช้คนเก่ง ไม่ใช่เอาแต่พรรคพวก เอาแต่พรรคพวกพี่น้องแล้วมาสร้างความวุ่นวายแบบตอนนี้มันไม่ไหว แล้วพอคนเตือนว่ากำลังมีปัญหาก็ไม่ฟัง ไม่อย่างนั้นหากกลับมาเป็นนายกฯ รอบสองก็ไม่รู้จะเป็นนายกฯ กึ่งเผด็จการแบบตอนนี้ หรือจะมาเป็นนายกฯ ที่ฟังเสียงประชาชน

ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เห็นว่า แม้การกลับมาเป็นนายกฯ รอบสองของพลเอกประยุทธ์จะไม่ได้อยู่ในสถานะของหัวหน้า คสช. ไม่มีอำนาจตามมาตรา 44 แล้ว แต่หากเขาทำอะไรทุกอย่างเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ สาธารณะ ประชาชน ก็จะเป็นเกราะป้องกันให้เอง แต่หากยังทำแบบที่ผ่านมาห้าปี การกลับมารอบสองก็คงอยู่ได้ไม่นาน จะอยู่ได้หรือไม่ได้อยู่ที่ประชาชนจะบอก เช่น หากทำดี เขาก็จะบอกอยากให้อยู่ต่อไปอีก แต่หากว่ายังคงบริหารแบบที่ผ่านมา ประชาชนก็จะบอกแบบที่บอกตอนนี้ว่าควรพอเสียที เกินพอแล้ว หากมั่นใจว่าเข้ามาแล้วจะไม่เป็นแบบเดิม ทำในสิ่งที่ควรทำตั้งแต่วันแรกที่รัฐประหาร ประชาชนก็จะบอกให้อยู่

 เพราะหากมองย้อนกลับไป ตอนปีแรกของ คสช.-พลเอกประยุทธ์ ประชาชนเห็นว่าบ้านเมืองสงบ ไม่มีเรื่องวุ่นวาย แล้วปีแรกไม่มีข่าวเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบ ประชาชนเขาก็พอใจ แต่พอขึ้นปีสอง ประชาชนก็ยังรับได้ บ้านเมืองสงบ แม้การคืนความสุข พลเอกประยุทธ์จะไม่สามารถทำได้ตามที่พูดไว้ แต่ประชาชนก็ยังพอรับกันได้ แต่พอขึ้นปีที่สาม เริ่มปรากฏเรื่องข่าวทุจริต ประชาชนก็เริ่มรับไม่ได้แล้ว

-ที่บอกรัฐบาล คสช.มีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส ทุจริต มีข้อมูลอะไรที่บ่งชี้เช่นนั้น?

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้ร่วมกับองค์กรตรวจสอบภาคประชาชนตั้งแต่เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐบาล คสช. เราก็พบว่าเกือบทุกกระทรวงมีเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ บางเรื่องก็จับได้คาหนังคาเขาตามที่ปรากฏทางสื่อ แต่ปรากฏว่าเรื่องไหนที่เป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวข้องกับคนรอบข้างหรือพรรคพวก พบว่าตัวพลเอกประยุทธ์กลับไม่จัดการแก้ไข ทำให้ประชาชนไม่ยอมรับตรงนี้ เพราะบางเรื่องประชาชนเห็นชัดว่ามันไม่ถูกต้อง ไม่โปร่งใส แต่นายกฯ กลับเมินเฉย ไม่ใช่แค่ไม่ลงโทษ แต่ปรามก็ยังไม่ทำ แล้วประชาชนจะยอมรับได้ยังไง

...ขณะเดียวกันที่ผ่านมาซึ่งบ้านเมืองสงบ แต่ก็ไม่ใช่เพราะเกิดจากความสามารถของ คสช. เพราะ คสช.เข้ามาแล้วบอกว่าจะทำให้บ้านเมืองเกิดความสมานฉันท์ แต่ทุกวันนี้เห็นชัด คสช.กลายเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองเสียเอง ที่ผ่านมาบ้านเมืองสงบก็เพราะประชาชนเขารักในหลวง ช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2558 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระประชวร ประชาชนก็ไม่มีความประสงค์ให้พระองค์ทรงไม่สบายพระราชหฤทัย ประชาชนทุกคนถึงได้ยอมมาตลอด และช่วงสองปีที่ผ่านมาที่ คสช.เริ่มเป็นคู่ขัดแย้งก็เงียบมาตลอดเพราะประชาชนรักในหลวงรัชกาลที่ 10 ต่างเฝ้ารอคอยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประชาชนต่างรอคอย เลยไม่สร้างปัญหาให้บ้านเมือง จนผ่านพ้นช่วงดังกล่าวมาแล้ว ก็อยากถามฝ่ายการเมืองว่าแล้วทำไมถึงไม่ตอบสนองกับประชาชน ทำไมไม่คืนความสุขให้ประชาชนบ้าง ไม่เสียสละกันบ้างเลยด้วยการหาคนเก่งเข้ามาทำงาน หรือหากอยากเป็นต่อไปอีก แล้วยังเป็นแบบเก่าที่ผ่านมา ผมบอกตรงๆ ว่าผมเป็นห่วง เพราะต่อไปประชาชนจะไม่ทนเหมือนเดิมอีกแล้ว ตอนนี้เห็นชัดว่ามีหลายอย่างอาจนำพาบ้านเมืองไปสู่ความวุ่นวาย อันเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่พึงปรารถนา

-มีข่าวว่ารัฐมนตรีในยุค คสช.บางคนก็จะได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีอีก ทั้งที่บางคนก็มีปัญหาเป็นจุดอ่อน บางคนเช่น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายสมคิด รองนายกฯ, พลเอกอนุพงษ์  เผ่าจินดา มท.1 กลุ่มนี้มองว่าควรได้กลับมาอีกหรือไม่?

จริงๆ อดีตรัฐมนตรีบางคนก็ใช้ได้ เช่น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง, พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ไม่มีข้อครหาเรื่องการทำงาน ที่พวกเราไปสอบแล้วไม่มีเรื่องด่างพร้อย ภาคประชาชนถึงไม่กล้าพูดเต็มปากว่ารัฐบาลขี้โกง เพราะยังมีบางคนไม่ได้เป็นแบบนั้น คือไม่มีเรื่องด่างพร้อย ทำให้พวกเราจะไปเหมาเข่งว่าเป็นรัฐบาลชี้โกงเราจึงพูดไม่ได้ แต่หากถามว่ารัฐบาลที่ผ่านมาด่างพร้อยโกงไหม ก็ต้องบอกว่าโกงมากที่สุด โกงกว่าที่ผ่านมา เฉพาะที่ตรวจสอบมาก็โกงกว่าของเดิมแล้ว

จริงๆ สำหรับผม ผมคิดว่าถ้าอย่างเรื่องนาฬิกาที่ได้รับไม่ใช่เป็นสาเหตุใหญ่ แม้จะแสดงถึงพฤติกรรมที่เป็นที่กังขา แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เป็นข้อครหาที่ปรากฏชัดว่าแต่ละคนก็วางโครงการไว้เยอะ และยังปรากฏข่าวความร่ำรวยแบบนี้โดยที่คนตรวจสอบไม่ได้ ผมถึงบอกว่าคนเหล่านี้ควรยุติบทบาทได้แล้ว และบอกตรงๆ ว่าหากเป็นไปได้ หากจะมีการใช้งานอะไรต่อไป ก็อยากวิงวอนว่า พอเถอะครับ พอแล้ว ผมคงไม่อธิบายว่าเป็นยังไง แต่ขอใช้คำนี้แทน จะใช้งานอีกได้อย่างไร เพราะอย่างเรื่องเศรษฐกิจก็เห็นชัดว่าที่ผ่านมา ห้าปี ทำให้เศรษฐกิจแย่ลงกว่าเดิม แล้วจะใช้อีกหรือ หรือเรื่องความมั่นคง นอกจากใช้มาตรา 44 ที่บางเรื่องไม่มีเหตุมีผล และยังเข้าข่ายรังแกคน เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงเลย แต่กลับนำไปใช้เพื่อประเคน แบ่งรายได้ให้นายทุน หรือที่กระทรวงมหาดไทย ก็เกี่ยวข้องกับข้อครหา เช่น การทำโรงไฟฟ้าขยะ ทั้งหมดดูแล้ววุ่นวายไปหมด มีผลประโยชน์แฝงอยู่ตลอด

ตอนนี้ตรวจสอบไม่ได้ แต่วันใดที่ลงจากอำนาจ คือถ้ายอมลงดีๆ ถือว่าเสียสละให้กับประเทศ แล้วไปช่วยชาติด้านอื่น ก็จบแค่นั้น แต่ถ้าเป็นแบบนี้ สักวันหนึ่งเมื่อมีการตรวจสอบกันได้ แล้วภาคประชาชนจะยอมหรือ ก็ไม่ยอมแน่นอน หากขืนยังจะเดินต่อ และจะตรวจสอบเข้มกว่าเดิมด้วยซ้ำ

-มองทางลงของพลเอกประยุทธ์อย่างไร มีโอกาสถูกประชาชนออกมาเรียกร้องให้ออกจากตำแหน่งได้หรือไม่?

เป็นไปได้สูง เพราะอย่างที่เราทราบกัน สิ่งที่จะเป็นปัญหาและจะนำไปสู่ความรุนแรงจากการกระทำของพลเอกประยุทธ์กับพวกที่พยายามจะฝืนเอาอำนาจไว้กับฝ่ายตัวเองต่อไป ลักษณะแบบนี้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมันอาจไม่ใช่ ลักษณะแบบม็อบ ซึ่งม็อบยังพอคุยกันได้ แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่มีคนไม่พอใจในพื้นที่จุดต่างๆ กระจายไปทั่ว จะเป็นบ่อเกิดของการจลาจล หรือ chaos

 ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีการเตือนสังคมออกมาแล้วว่าให้ระวัง หากไม่มีการระงับให้บางฝ่ายถอยลงมาบ้าง มันอาจไปถึงขั้น chaos อันเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครควบคุมได้ เพราะความไม่พอใจของประชาชนไม่ได้อยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันเกิดจากสภาพเศรษฐกิจเวลานี้ที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ประชาชนหาเช้ากินค่ำก็ยังไม่พอกิน หาค่ำก็ยังไม่พอกินพรุ่งนี้ตอนเช้า

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ มันไม่ได้ทำให้บ้านเมืองขยับไปข้างหน้า มีแต่ฉุดรั้งทำให้ทุกอย่างถอยหลังลงคลอง จนสุดท้ายปัญหาทุกอย่างก็ไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนก็ยากจนต่อไป เห็นชัดๆ ว่าถ้าประชาชนเขาต้องหิว ต้องอดมื้อกินมื้อ แต่เขาทราบว่าคนที่บอกให้เขาอดทน บอกให้ทนหิว ทนความลำบาก แต่กลับเป็นคนที่โกงเสียเอง หลอกลวงประชาชนเขา ก็เหมือนกับพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง ถามว่าประชาชนจะทำใจได้ไหม แล้วถึงเวลานั้นอะไรจะเกิดขึ้น ผมถึงเป็นห่วง เพราะเวลานี้เศรษฐกิจโลกก็ย่ำแย่ ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกแม้แต่ประเทศใหญ่ๆ ก็อยู่ในสภาพตัวใครตัวมัน ลำบากกันเป็นแถว แล้วประเทศไทยจะทำกันแบบที่ผ่านมาอีกต่อไปหรือ จะไม่มีใครยอมเสียสละเอาประเทศชาติ เอาประชาชนให้รอดก่อนหรือ อย่าให้ประชาชนลำบากกว่านี้เลย ความหมายของผมคือแบบนี้

บิ๊กตู่คัมแบ็กอยู่ไม่เกิน 1 ปีครึ่ง

อดุลย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เห็นคนที่อยู่ในฝ่ายขั้วจัดตั้งรัฐบาลที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์บอกว่าตั้งเป้าหมายทางการเมืองไว้ว่า รัฐบาลอาจอยู่ได้ประมาณหนึ่งปีครึ่ง แต่ผมไม่เชื่อว่าจะอยู่ได้นานถึงขนาดนั้น ถ้ายังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการเป็นรัฐบาล ในเรื่องการแบ่งเค้ก ถอนทุน โกง และไม่สร้างความเป็นธรรมให้บ้านเมือง ผมไม่เชื่อว่าจะอยู่ได้ถึงหนึ่งปีครึ่ง กระแสเรียกร้องด้านต่างๆ จากสังคมจะแรงกว่าที่ผ่านมาในยุค คสช.อีกหลายเท่า เพราะประชาชนอดทนมานานแล้ว

ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวย้ำปิดท้ายการสนทนาถึงการตั้งรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้ว่า ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคใหญ่ทั้งห้าพรรค ทั้งเพื่อไทย พลังประชารัฐ อนาคตใหม่ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ให้พิจารณาแนวทางว่าถ้าหากทำให้ทักษิณ ชินวัตร ไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศไทยและฝ่าย คสช. โดยพลเอกประยุทธ์และพวกเสียสละออกไปยืนข้างนอก ถ้าทำได้เช่นนั้นพรรคการเมืองทั้งหมดที่ได้ ส.ส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็สามารถที่จะนำพาประเทศชาติไปได้ เพราะคู่ขัดแย้งหมดไป และผมอยากเรียกร้องให้เป็นแบบนั้น ให้ ส.ส.ทั้ง 500 คนได้คุยตกลงกันเอง โดยที่ ส.ว.ก็ทำหน้าที่ของตัวเองไปในเรื่องการกลั่นกรองกฎหมาย โดยการตั้งรัฐบาลของ ส.ส.ทั้งหมดต้องดึงคนเก่งๆ มาทำงานมาช่วยชาติ อยู่สักสองปีก็ยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่หลังมีการแก้ไขกติกาต่างๆ เช่นแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้มาตรฐาน โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขทุกประเด็น ให้แก้ไขเฉพาะประเด็นที่มีปัญหาเป็นอุปสรรคต่อบ้านเมืองก็ปรับปรุงแก้ไขทีละปม โดยเฉพาะที่เป็นประเด็นปัญหาจริงๆ อย่างพวก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก็แก้ไขปรับปรุง หากเป็นแบบนี้ก็ทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้.

...........................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"