สภาสูงชิงเก้าอี้ฝุ่นตลบ! บิ๊กเนมหวังรองประธาน


เพิ่มเพื่อน    


    สภาสูงฝุ่นตลบ ชิงเก้าอี้รองประธานวุฒิสภา 2 ตำแหน่ง ชื่อตัวเต็ง-ตัวเสียบล้วนบิ๊กเนม   เพื่อนร่วมรุ่นบิ๊กตู่ก็อยู่ในกระแส "เสรี" การันตีหมดยุคแบ่งโควตา แย่งอำนาจ 
    การเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาอีก 2 คน ในการประชุมวุฒิสภานัดแรก วันศุกร์ที่ 24 พ.ค.นี้ เวลา 17.30 น. ที่ห้องประชุมใหญ่สำนักงานทีโอที แจ้งวัฒนะ มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของ ส.ว.ทั้ง 250 คน หลังมีสัญญาณจากฝ่ายการเมืองในซีก คสช. ว่าต้องการสนับสนุนให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ส.ว. และอดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับมาเป็นประธานวุฒิสภาอีกรอบ เพราะทำงานเข้ากับ คสช.ได้เป็นอย่างดี แต่จะมีการเปลี่ยนตัวบุคคลที่จะเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2  โดยมีกระแสข่าวว่าฝ่ายการเมืองในรัฐบาลคสช.จะไม่หนุนนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และนายพีระศักดิ์ พอจิต สองอดีตรองประธาน สนช. กลับมาเป็นรองประธานวุฒิสภา เพราะต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง และต้องการให้ ส.ว.คนอื่นขึ้นมาทำหน้าที่แทนนายสุรชัยและนายพีระศักดิ์ แต่หาก ส.ว.จะยังหนุนนายสุรชัยและนายพีระศักดิ์อยู่ ก็ปล่อยให้เป็นฟรีโหวต 
    เรื่องดังกล่าวทำให้ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มี ส.ว.ที่สนใจเสนอตัวเพื่อชิงตำแหน่งรองประธาน ส.ว.มีการเคลื่อนไหวเพื่อขอเสียงสนับสนุนจากเพื่อนส.ว.ในกลุ่มต่างๆ เช่น นายสุรชัย ก็มีกระแสข่าวว่ายังคงเคลื่อนไหวขอเสียงหนุนจาก ส.ว.ทั้งหมด โดยมี ส.ว.กลุ่มอดีต สนช.และอดีต ส.ว.รุ่นเดียวกันหลายคนช่วยเคลื่อนไหวขอเสียงให้ เพื่อช่วยให้นายสุรชัยกลับมาเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 อีกครั้ง ขณะที่นายพีระศักดิ์ แม้จะถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะสายนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่มีบทบาทในการตั้งรัฐบาลพลังประชารัฐอยู่ในเวลานี้ แต่นายพีระศักดิ์ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวใดๆ เพราะมองว่าได้ทำหน้าที่รองประธานสนช.มาหลายปีแล้ว ต้องการเปลี่ยนให้คนอื่นขึ้นมาบ้าง เว้นแต่มีเพื่อน ส.ว.ด้วยกันเองสนับสนุน จึงทำให้เก็บตัวเงียบ 
    ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่ากลุ่ม ส.ว.ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหลายกลุ่มมีการคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ ว่าใครที่มีความเหมาะสมจะเป็นรองประธานวุฒิสภา ซึ่งก็มีหลายชื่อที่ถูกเอ่ยถึง เช่นพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีต สนช.และอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายศุภชัย สมเจริญ อดีตประธานกรรมการการเลือกตั้ง, พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตสนช. เพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ข่าวว่ามีบทบาทช่วยพรรคพลังประชารัฐในการหาเสียงภาคใต้ จนได้รับแรงหนุนจากกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ พรรคพลังประชารัฐให้เป็นรัฐมนตรีมาแล้ว รวมถึง พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร อดีต สนช. เพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 กับ พล.อ.ประยุทธ์เช่นกัน ขณะเดียวกัน กลุ่ม ส.ว.ก็กำลังจับตาดูว่าจะมีอดีตรัฐมนตรี ครม. พล.อ.ประยุทธ์คนใดที่สนใจจะลงชิงรองประธานวุฒิสภาหรือไม่ ซึ่งหากลงมาชิงด้วย ก็ถือว่ามีโอกาสสูงที่อาจจะได้รับแรงหนุนจาก ส.ว. 
    "เวลานี้ ส.ว.แต่ละคนที่สนใจจะลงชิงรองประธานวุฒิสภา ต่างก็เริ่มมีการแนะนำตัว พูดคุยกับ ส.ว.ด้วยกันเองแล้ว โดยคาดว่าทั้งหมดจะนิ่งและจะมีการเคาะออกมาในช่วงเย็นวันพุธที่ 22 พ.ค. หรือเช้าวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค. เพื่อให้ทุกอย่างนิ่งก่อนการประชุมวุฒิสภานัดแรกในเย็นวันศุกร์ ถึงตอนนั้นก็จะรู้แล้วว่าแนวโน้ม ส.ว.จะเลือกใครเป็นรองประธานวุฒิสภาทั้ง 2 ตำแหน่ง ที่ผ่านมา ส.ว.ที่มาจากสายอดีต ส.ว.ปี 2549 อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และฝั่งของ ส.ว.ที่มาจากสายจังหวัด ยังไม่มีการหารือร่วมกันอย่างเป็นทางการ มีเพียงการต่อสายโทรศัพท์พูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันเท่านั้น ขณะที่รายชื่อบุคคลที่คาดว่าจะถูกเสนอให้ดำรงตำแหน่งประธานส.ว. คือนายพรเพชร ไม่มีพลิก ส่วนรองประธานวุฒิสภา หากนายสุรชัยได้รับแรงหนุนต่อเนื่อง ก็มีโอกาสคัมแบ็ก แต่ทั้งหมดยังไม่นิ่ง ต้องรอช่วงวันพุธ-พฤหัสบดีนี้ทุกอย่างจะลงตัว" แหล่งข่าวจากวุฒิสภาระบุ
    ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา  กล่าวถึงกรณีการเปิดประชุม ส.ว. เพื่อเลือกประธานวุฒิสภา จำนวน 1 คน และ รองประธาน ส.ว. จำนวน 2 คน วันที่ 24 พฤษภาคมว่า ขณะนี้สมาชิกที่มารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภายังไม่ได้นัดรวมตัวเพื่อหารือถึงประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ เชื่อว่าการเลือกตำแหน่งดังกล่าว จะไม่มีภาพของความขัดแย้งหรือแบ่งโควตาเหมือนที่เคยเป็นมาในยุคของวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง ส่วนกรณีที่ปรากฏมีชื่อของนายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นตัวเต็งในการรับเลือก เพราะนายพรเพชรถือเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม สำหรับตำแหน่งอื่น หรือบุคคลอื่นที่จะลงสมัครเพื่อให้ที่ประชุม ส.ว.เลือกตั้ง ยังไม่ทราบว่ามีบุคคลใดเสนอตัวอีกบ้าง อย่างไรก็ตาม บุคคลที่จะได้รับพิจารณาจากสมาชิกนั้น ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติหลักคือ มีประสบการณ์ในการทำงานประธานที่ประชุมเพื่อให้การควบคุมการประชุมเป็นไปอย่างเรียบร้อย และมีหลักการในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงเป็นที่ยอมรับของสมาชิก
     "บทบาทของ ส.ว.หลังจากนี้จะถูกจับตาจากสาธารณะและสังคม ดังนั้นภาพที่หลายฝ่ายคาดว่าจะแบ่งโควตา แย่งตำแหน่ง อาจไม่เกิดขึ้น เนื่องจากจะกระทบภาพลักษณ์ของการทำงานตั้งแต่แรกต้น อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาจะมีความราบรื่น" นายเสรีกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"