ศาลรธน.ถกพ่อฟ้าถือหุ้นสื่อ23พค.


เพิ่มเพื่อน    

    ลุ้นระทึก! ศาล รธน.เตรียมถกปมสมาชิกภาพ ส.ส. "ธนาธร" ถือหุ้นสื่อ 23 พ.ค.นี้ "ทวี" ซัด กกต.มีเจตนาแฝงปล่อย ส.ส.ขาดคุณสมบัติเข้าสภา หวังใช้เสียงเลือกประธานสภา-นายกฯ "ศรีสุวรรณ" จ่อบุกร้อง กกต.สอบ "เสี่ยเอก" ให้ "อนค." ยืมเงิน 110 ล้านบาท "ช่อส้มหวาน" แจง "พ่อฟ้า" ปล่อยกู้ไม่ขัด พรป.พรรคการเมือง ยันเงินกู้ไม่ใช่บริจาค เล็งขูดเงินสมาชิกพรรคคนละ 200 บาทใช้หนี้ลูกพี่
    เมื่อวันที่ 20 พ.ค. มีรายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญเตรียมพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 กรณีถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นบริษัทที่ระบุวัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่าประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ 
    "การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 พ.ค.นี้ จะเป็นการพิจารณาว่าจะรับคำร้องของ กกต.ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ถ้าศาลมีมติรับคำร้องไว้พิจารณาก็จะส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้อง และนัดพิจารณาคดีครั้งแรกหลังจากนั้นราวต้นเดือน มิ.ย. ส่วนนายธนาธรจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 82 วรรคสองของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ส.ส.ซึ่งถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ ส.ส.ซึ่งถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง" แหล่งข่าวระบุ
    พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ "tawee sodsong"  เรื่อง กกต.ขาดความชอบธรรม เจตนาให้ผู้ขาดคุณสมบัติเป็น ส.ส.เข้าสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี
    โดยระบุว่า "กกต.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 224 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ กกต.ให้มีอำนาจควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ได้กำหนดกรอบเวลาตามมาตรา 121 ที่บัญญัติว่า ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกมาประชุมเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นจะมีการเลือกประธานสภาและนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่ปัญหามีว่าจำนวน ส.ส.  498 คนที่ กกต.รับรองให้เข้าสภา มีหลักฐานปรากฏแก่ กกต.และมีผู้ร้องว่าคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนประมาณ 50-60 คน ซึ่งเป็นจำนวน ส.ส.ที่อาจเท่ากับหรือมากกว่าพรรคซึ่งชนะอันดับที่ 4 ในการเลือกตั้งครั้งนี้เสียอีก โดยบุคคลเหล่านี้ปรากฏกับ กกต.ว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามที่ไม่สามารถยื่นการสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ที่กำหนดว่า บุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร"
ซัด กกต.มีนัยปล่อย ส.ส.
    "การวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.จึงถือเป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของ กกต.โดยตรงที่ต้องวินิจฉัย ซึ่งในหลักการ กกต.จะต้องดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครทุกรายให้ชัดเจนจึงจะประกาศให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ก่อนวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (24 มีนาคม 2562) แต่ กกต.ได้ปฏิบัติหน้าที่ไม่เคร่งครัดจนเป็นเหตุให้ผู้สมัคร ส.ส.ที่ขาดคุณสมบัติได้รับการเลือกตั้งและ กกต.ก็ได้ประกาศรับรองให้บุคคลเหล่านั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมอยู่ในจำนวน 498 คนด้วย ทั้งๆ ที่มีผู้ร้องคัดค้านและมีข้อมูลหลักฐานความปรากฏกับ กกต. ก่อนที่ กกต.จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง" พ.ต.อ.ทวีกล่าว
    เลขาฯ พรรคประชาชาติกล่าวว่า กกต.ต้องเร่งส่งสำนวนให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งหรือศาลรัฐธรรมนูญทำการวินิจโดยด่วนที่สุด ไม่ควรให้ ส.ส.ที่มีความปรากฏว่าขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ส.ไปใช้อำนาจในการลงมติเลือกประธานสภารัฐสภา หรือนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้ประธานสภาและนายกรัฐมนตรี ที่ได้มาจากการดำเนินการกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น ซึ่งอาจเปรียบได้กับการให้ผู้ไร้ความสามารถหรือผู้เสมือนไร้ความสามารถ หรือบุคคลวิกลจริตไปเป็นผู้จัดการมรดกโดยที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจกระทำการดังกล่าวได้
    กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญของประเทศในขณะนี้ ควรที่คณะกรรมการการเลือกตั้งควรรีบสรุปสำนวนคนที่เข้าข่ายไม่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งหรือศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทำการพิจารณาในประเด็นคุณสมบัติโดยด่วน เพราะการพิจารณาคดีที่ผ่านมานั้นใช้เวลาไม่นานก็จะสามารถทราบคำสั่งหรือคำพิพากษาแล้ว
    "การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรีหลังเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อไร และเลือกนายกฯ เมื่อไร ดังนั้นควรที่ กกต.ต้องเร่งส่งสำนวนให้ศาลพิจารณาและพิพากษาโดยด่วน หากศาลพิพากษาว่าขาดคุณสมบัติ จะได้จัดการเลือกตั้งเป็นการด่วนเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งมาโดยชอบด้วยกฎหมายไปปฏิบัติหน้าที่เลือกประธานสภาและนายกรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งที่ สนง.กกต. ได้ใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งเมื่อรวมถึงค่าใช้จ่ายทุกรายการแล้วมีมากกว่า 8,414 พันล้านบาท เป็นไปตามกฎหมายและเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ" เลขาฯ พรรคประชาชาติกล่าว
    นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol ระบุว่า "ผมตอบแทน กกต.ไม่ได้!!! ว่าทำไมมีเรื่องร้องขอให้ตรวจสอบ ส.ส.ร่วม 60 คน ที่ถือหุ้นหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน แต่ทำไมรีบยื่นถอดถอนเฉพาะเรื่องของนายธนาธรเพียงคนเดียว! ดังนั้นภายใต้มาตรฐานเวลาตรวจสอบแบบเดียวกัน จึงเป็นหน้าที่ กกต.ต้องตอบเองว่าทำไม?"
    ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงกรณีนายธนาธรได้รับเชิญให้ไปขึ้นเวทีบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ อะไรคืออนาคตของพรรคอนาคตใหม่ ในการบรรยายตอนหนึ่งกล่าวถึงการบริหารการเงินของพรรคอนาคตใหม่  เพื่อให้พรรคสามารถเดินหน้าในช่วงการเลือกตั้งได้ ปัจจุบันได้ให้เงินพรรคยืมไปแล้วราว 110 ล้านบาทว่า เป็นข้อที่น่าสงสัยว่า เป็นการกระทำที่ขัดหรือฝ่าฝืน ม.66 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง  2560 หรือไม่ 
    นายศรีสุวรรณกล่าวว่า เนื่องจากรายได้ของพรรคการเมืองตาม ม.62 ของกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้ระบุให้บุคคลใดหรือให้พรรคการเมืองใดสามารถกู้ยืมเงินมาใช้ในกิจกรรมของพรรคการเมืองได้ นอกจากเงินทุนประเดิมของพรรค เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรค เงินจากการจำหน่ายสินค้าและบริการของพรรค เงินที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรค เงินที่ได้จากการรับบริจาค เงินอุดหนุนจากกองทุนพรรคการเมือง ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคเท่านั้น
    "หากการดำเนินการของนายธนาธรเป็นการขัดหรือฝ่าฝืนกฎหมายข้างต้น ก็อาจจะมีความผิดตาม ม.124 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ซึ่งมีบทกำหนดโทษไว้ คือ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี  หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 5  ปี ส่วนพรรคอนาคตใหม่ก็จะมีบทลงโทษตาม ม.125 คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกําหนด 5  ปี และให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กําหนดไว้ตาม ม.66 ให้ตกเป็นของกองทุนพรรคการเมือง" นายศรีสุวรรณกล่าว
    เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวว่า จะนำความไปร้องให้ กกต.ไต่สวน สอบสวน และวินิจฉัย ในวันอังคารที่ 21 พ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ณ สำนักงาน กกต. ศูนย์ราชการฯ อาคาร B ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กทม.
แจง 'ธนาธร' ปล่อยกู้ถูก กม.
    ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวชี้แจงกรณีเงินที่นายธนาธรให้พรรคกู้ยืมว่า ตามที่มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าตัวเลขที่ออกมามันไม่ตรงกันนั้น ทั้ง 250 ล้านบาท 90 ล้านบาท  และ 110 ล้านบาท ตนขออธิบายว่าจำนวนเงินที่เป็นวงเงินสูงสุดที่นายธนาธรกำหนดให้กู้นั้น อยู่ที่เพดาน  250 ล้านบาท แต่การดำเนินกิจกรรมจนถึงวันเลือกตั้งกู้ไป 90 ล้านบาท และจนถึงวันนี้ก็มีการกู้เพิ่มไปอีกนิดหน่อย เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายของพรรคตัวเลขจึงอยู่ที่ 110 ล้านบาท นี่คือสาเหตุที่ตัวเลขไม่ตรงกัน  แต่เป็นความคืบหน้าของการกู้เงิน ซึ่งนายธนาธรคิดดอกเบี้ยแบบเงินกู้ระยะยาว เพราะพรรคการเมืองไม่ใช่องค์กรแสวงหาผลกำไร และนายธนาธรก็ไม่คิดแสวงหาผลกำไรจากการให้กู้ครั้งนี้ 
    น.ส.พรรณิการ์กล่าวว่า จากสถานการณ์ช่วงปลายปีที่ผ่านมามีความไม่แน่นอน ไม่รู้ว่ากฎหมายลูกต่างๆ จะออกมาเมื่อไหร่ เราจึงไม่รู้ว่าการระดมทุนนั้นอะไรจะทำได้หรือไม่ได้ ยังไม่มีความชัดเจน จึงทำให้การระดมทุนของเราไม่เป็นไปตามแผนหลายอย่าง เพราะติดเรื่องกฎหมาย ทำให้หารายได้ไม่ทันกับรายจ่ายที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง รายจ่ายและเจ้าหนี้ของเรามีหลายราย เช่น การไปเช่าสำนักงานใน 77จังหวัด การซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นของพรรค เราเลยคิดว่าแทนที่จะมีเจ้าหนี้มากมายหลายเจ้า จึงขมวดเจ้าหนี้มาเป็นรายเดียวคือนายธนาธร และนำเงินไปจ่ายเจ้าหนี้รายอื่นๆ เพื่อบริหารจัดการได้ง่าย 
    โฆษกพรรค อนค.กล่าวว่า การกู้เงินครั้งนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพรรคแล้ว  และพรรคจะเป็นผู้จ่ายเงินทั้งหมดคืนนายธนาธร โดยขณะนี้เรากำลังวางแผนการเงินอยู่ว่าจะคืนเงินทั้งหมดให้เร็วที่สุดได้เมื่อใด ซึ่งเบื้องต้นมีข้อเสนอว่าอาจมีการเพิ่มอัตรค่าสมาชิกของพรรคจากคนละ 100  บาทเป็น 200 บาท เพื่อให้พรรคเราเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งการที่นายศรีสุวรรณจะไปยื่นเรื่องนี้กับ กกต. เราไม่มีปัญหาเพราะพร้อมจะชี้แจงได้ทั้งหมด 
    "ที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ขัดกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่นั้น ยืนยันว่า พ.ร.ป.ดังกล่าวระบุเฉพาะที่มารายได้ของพรรคการเมือง ไม่ได้ระบุรายจ่าย และนี่คือการกู้เงิน ซึ่งในการเป็นหนี้ของพรรคเป็นรายจ่าย ไม่ใช่รายได้" โฆษกพรรค อนค.กล่าว
    ถามว่านายธนาธรเป็นหัวหน้าพรรคให้กู้จะเข้าข่ายครอบงำพรรคหรือไม่ น.ส.พรรณิการ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะเป็นการให้กู้เงิน ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ของกฎหมาย พรรคการเมืองบางพรรคไปบิดเบือนว่าเรื่องนี้ผิดกฎหมาย นายธนาธรบริจาคเงินให้พรรคเกินกำหนด นี่ไม่ใช่เงินบริจาค แต่เป็นเงินกู้ ซึ่งนายธนาธรก็บริจาคให้พรรค 10 ล้านตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้มีปัญหาอะไรในเรื่องนี้เลย
    "นี่เป็นเงินคนละก้อนกัน คุณธนาธรให้พรรคกู้และต้องจ่ายคืน ในระยะยาวและดอกเบี้ยต่ำ แต่มีดอกเบี้ยและต้องจ่ายคืนทุกบาททุกสตางค์ ซึ่งทุกข้อสงสัยเราพร้อมชี้แจงไม่มีปัญหา" น.ส.พรรณิการ์กล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"