กินน้ำมันกัญชา หามส่งห้องฉุกเฉิน


เพิ่มเพื่อน    


    อายุรเพทย์ รพ.วิชัยยุทธโพสต์เตือนอันตรายจากการใช้น้ำมันกัญชาเกินขนาด เผยพบผู้ป่วยใช้ 40 หยดจนประสาทหลอนต้องส่งห้องฉุกเฉิน เชื่อเคสนี้จะทวีจำนวนมากขึ้น อธิบดีกรมการแพทย์วอนผู้ใช้ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ชี้ไม่ใช่ยาครอบจักรวาลรักษาได้ทุกอย่าง
    เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ และหัวหน้าห้องฉุกเฉิน รพ.วิชัยยุทธ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกรณีพบผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากการใช้น้ำมันกัญชาเกินขนาดจนต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินของ รพ. ว่า ตั้งแต่มีข่าวประโยชน์ของกัญชาในการรักษาสารพัดโรค ซึ่งบางโรคยังไม่มีข้อมูลยืนยันผลการรักษาทางการแพทย์ เริ่มมีคนไข้เข้าห้องฉุกเฉินในเวลากลางดึก เนื่องจากกินน้ำมันกัญชาเกินขนาดหลายคนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุดมีผู้ป่วยชายไทยอายุ 28 ปี มีปัญหานอนไม่หลับ และดื่มแอลกอฮอล์ทุกวัน ไม่เคยใช้กัญชามาก่อนในชีวิต เพิ่งไปรับน้ำมันกัญชาครั้งแรกมา 1 ขวด ขนาด 5 มิลลิลิตร เที่ยงคืนแล้วยังนอนไม่หลับ จึงทดลองหยดน้ำมันกัญชาใต้ลิ้น 1 หยด รอสักพักไม่หลับ หยดต่ออีก 2 หยด เริ่มรู้สึกผ่อนคลาย จึงหยดต่อไปเรื่อยๆ รวมแล้วประมาณ 40 หยด ใช้ไปประมาณ 2 มิลลิลิตร
    ตอนตี 3 เริ่มมีประสาทหลอน เห็นนรกมาเอาตัว เห็นภาพภรรยาเป็น 2 คน พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง พูดฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง แขนขาเกร็ง ลุกยืนเดินไม่ได้ มีคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ภรรยาเรียกรถฉุกเฉินมาส่งโรงพยาบาล ตรวจเลือดเม็ดเลือดขาวในเลือดขึ้นสูง 20, 100 ได้ให้น้ำเกลือและให้นอนพักใน รพ. รักษาแบบประคับประคอง เพราะไม่มียาต้านพิษกัญชาโดยตรง คนไข้อาการดีขึ้นเอง แต่หลังจากนอนตื่นขึ้นมา จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ครบถ้วน คนไข้รายนี้ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับน้ำมันกัญชา ยิ่งทำให้ผลข้างเคียงของน้ำมันกัญชาโดยเฉพาะจากสารเคมี THC เพิ่มสูงขึ้น
    ขณะนี้ทุกวันจะมีคนไข้หลายคนขอใบรับรองแพทย์จากหมอ เพื่อยืนยันว่าป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับและโรคอื่นๆ เพื่อไปขอรับกัญชา ถึงแม้จะไม่มีรายงานว่ากินน้ำมันกัญชาเกินขนาดทำให้ถึงตาย แต่ก็ทำให้ป่วยถึงขั้นเข้า รพ.ได้ ในอนาคตเชื่อว่าจะมีคนไทยที่กินน้ำมันกัญชาเกินขนาดมาเข้า รพ.แบบฉุกเฉินมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าถ้ากินน้ำมันกัญชาเกินขนาดอาจเกิดผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันตรายมากหากต้องขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร ถ้าจะทดลองใช้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เริ่มวันแรก 1 หยด ค่อยๆ ปรับช้าๆ ใช้เวลาหลายๆ วัน ปรับขึ้นทีละ 1-2 หยด ไม่ใช่ใช้มากตั้งแต่วันแรกอย่างผู้ป่วยรายนี้
    อันตรายอีกอย่างหนึ่งของการหยดน้ำมันหลายๆ หยดใต้ลิ้นในเวลาเดียวกัน (ไม่เฉพาะแต่น้ำมันกัญชา) แล้วล้มตัวลงนอน คือการสำลักน้ำมัน เพราะน้ำมันเบากว่าน้ำ น้ำมันอาจเล็ดลอดไหลลงหลอดลมและปอด โดยเฉพาะคนสูงอายุ โดยคนที่สำลักไม่รู้ตัว การสำลักน้ำมันปริมาณน้อยๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดปอดอักเสบจากการสำลักน้ำมัน (Lipoid pneumonia) เมื่อเป็นปอดอักเสบแล้วรักษายาก 
    "ผมเห็นด้วยกับข้อบ่งชี้ของโรคที่เมื่อรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่ได้ผล ให้ใช้น้ำมันกัญชาได้ 1.โรคมะเร็งระยะสุดท้าย 2.คลื่นไส้อาเจียนจากการรับยาเคมีบำบัด 3.ปวดเรื้อรังจากโรคมะเร็ง 4.กล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคเอ็มเอสปลอกปลายประสาทอักเสบ และ 5.โรคลมชักดื้อยาในเด็ก จากประสบการณ์ของผมในการดูแลรักษาคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้น้ำมันกัญชาหลายคน พบว่าน้ำมันกัญชาสามารถช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนและปวดได้บ้าง แต่ไม่สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยมะเร็งขั้นสุดท้ายได้ ไม่ควรใช้น้ำมันกัญชากับคนที่ป่วยด้วยโรคที่ปัจจุบันมียารักษาได้ผลอยู่แล้ว อย่างเช่นโรคติดเชื้อเอชไอวี จะเป็นอันตรายกับผู้ป่วยหากหยุดยาต้านไวรัสแล้วเปลี่ยนมากินน้ำมันกัญชาแทน เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาอีกด้วย" นพ.มนูญระบุ
    ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเปิดการอบรมกัญชาการแพทย์รุ่น 2 กับแพทย์และเภสัชกร ว่า ได้เน้นย้ำเรื่องการสั่งจ่ายและการใช้กัญชาทางการแพทย์ หลังเกิดปัญหาคนทดลองใช้กัญชาจนเกิดอาการวูบ หัวใจเต้นเร็ว และได้รับรายงานว่ามีผู้ป่วยมีอาการจากพิษของกัญชา ทั้งหัวใจเต้นเร็ว  วูบ และอยากทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ผู้ที่ใช้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่ให้การรักษาอยู่ร่วมด้วย เนื่องจากองค์ความรู้ของการใช้กัญชายังไม่แน่ชัดถึงความเหมาะสมในการใช้ ทำให้บางคนมีอาการได้รับผลข้างเคียงจากฤทธิ์ของกัญชา เพราะกัญชายังจัดเป็นยาเสพติดประเภท 5 อยู่ 
    นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า การอบรมใช้กัญชาทางการแพทย์เน้นการดูแลใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคลมชักในเด็ก, แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด บรรเทาอาการปวด กรณีที่ไม่สามารถใช้ยาแก้ปวดอื่นได้ และปลอกประสาทเสื่อมเท่านั้น ไม่ได้สามารถรักษาได้ทุกโรค เพราะกัญชาไม่ใช่ยาครอบจักรวาลรักษาได้ทุกอย่าง และไม่ได้รักษาได้ถึง 39 โรคอย่างที่มีการแชร์และส่งต่อในระบบไลน์ 
    นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถานบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี กล่าวว่า กัญชายังเป็นยาเสพติดประเภท 5 แน่นอนว่าย่อมมีฤทธิ์ทั้งกดประสาทและกระตุ้น ทำให้ผู้ได้รับกัญชามีตั้งแต่นอนหลับ สลบไสล ตื่นตัว กังวล หัวใจเต้นเร็ว มีอาการทั้งทางกายและใจครบ การใช้น้ำมันกัญชาเพื่อหยดรักษาในขณะนี้ ควรทำภายใต้กรอบการดูแลของแพทย์ ไม่ใช่ทดลองใช้ตามลำพัง เพราะฤทธิ์ของกัญชาในการใช้ในแต่ละคน การแสดงอาการแตกต่างกัน บางคนอาจไม่มีอาการมาก บางคนรุนแรง ซึ่งเมื่อมีอาการเกิดขึ้นแล้ว ใจสั่น หวิว วูบ ควรรีบพบแพทย์ทันที และต้องแจ้งแพทย์ด้วยว่าเพิ่งใช้กัญชามา เพื่อให้สามารถถอนพิษกัญชาได้อย่างรวดเร็ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"