พลังและภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น   รูปธรรมที่จังหวัดกระบี่และพัทลุง


เพิ่มเพื่อน    

พลังและภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น   รูปธรรมที่จังหวัดกระบี่และพัทลุง

               ชุมชนท้องถิ่นถือเป็นสังคมฐานรากที่สำคัญของประเทศชาติ  หากแต่ละชุมชนท้องถิ่นมีการรวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง  โดยไม่หวังพึ่งพิงการสนับสนุนจากภายนอกเพียงอย่างเดียว  จะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งพาตัวเองได้  ดังตัวอย่างรูปธรรมจากชุมชนต่างๆ ในจังหวัดกระบี่และพัทลุง

ทางเลือก-ทางรอดของคนตัดยางหวะ จ.พัทลุง   สร้างธนาคารอาหาร-กองทุนช่วยเหลือกันในภาวะยางราคาตกต่ำ

                เกษตรกรส่วนใหญ่ในภาคใต้มีพืชเศรษฐกิจหลัก  2 อย่าง  คือ  ยางพาราและปาล์มน้ำมัน  ถือเป็นพืชทองคำที่ทำรายได้ให้เกษตรกรมายาวนานหลายสิบปี  จนถึงยุคที่สถานการณ์เปลี่ยนไป   ยางพาราและปาล์มน้ำมันมีราคาตกต่ำ  ไม่คุ้มทุนและค่าแรงงาน  หลายคนต้องนอนเอามือก่ายหน้าผาก  มองไม่เห็นหนทางว่าจะนำพาครอบครัวไปทิศทางใด  เพราะต้องหาเงินมาใช้จ่ายรายวัน   ต้องหาเงินให้ลูกเรียน  ผ่อนส่งรถปิคอัพ  หนี้ ธ.ก.ส.  และอื่นๆ อีกจิปาถะ

                แต่ที่ ตำบลคลองใหญ่  อ.ตะโหมด  จ.พัทลุง  ชาวบ้านที่นี่ได้รวมตัวกันเป็น เครือข่ายคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยจังหวัดพัทลุงมาตั้งแต่ปี 2557  เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องในยามที่ยางพารามีราคาดำดิ่งลงเรื่อยๆ  เช่น  จัดตั้งกองทุนข้าวสารให้สมาชิกนำไปหุงกินก่อนแล้วค่อยผ่อนชำระ  ส่งเสริมธนาคารอาหารข้างบ้าน  ปลูกผัก  เลี้ยงสัตว์  เอาไว้กินเอง  เพื่อลดรายจ่าย  รวมทั้งส่งเสริมการออมเงิน  และมีกองทุนให้ให้สมาชิกที่เดือดร้อนหยิบยืมเงินไปใช้จ่ายในยามจำเป็น  ฯลฯ  โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกในการขับเคลื่อน

(ดรณ์ พุมมาลี)

                ดรณ์  พุมมาลี  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองใหญ่  เล่าว่า  สภาองค์กรชุมชนตำบลคลองใหญ่จัดตั้งขึ้นในปี 2552  ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551  มีเป้าหมายเพื่อให้ชาวบ้านในตำบลต่างๆ ทั่วประเทศรวมตัวกันจัดตั้งสภาฯ  (1 ตำบล  1 สภาฯ)  เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง  โดยมี พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ รองรับ  ตนจึงชักชวนให้กลุ่มต่างๆ ในตำบลมาร่วมกันจัดตั้งสภาฯ  รวมทั้งหมด  7 กลุ่ม  มีสมาชิกสภาฯ 28 คน  (มาจากตัวแทนกลุ่มๆ ละ 4 คน)  เพื่อนำปัญหาต่างๆ ในตำบลมาพูดคุยกันและช่วยกันหาทางออก  มีการประชุมสภาฯ เดือนละ  2  ครั้ง  ถือเป็นสภาของประชาชนอย่างแท้จริง

                ส่วนสภาพปัญหาในตำบลนั้น  ดรณ์บอกว่า  ชาวบ้านในตำบลคลองใหญ่  ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางรายย่อย  มีสวนยางไม่เกินรายละ 15 ไร่  และหลายครอบครัวไม่มีสวนยางเป็นของตัวเอง  ต้องรับจ้างกรีดยาง  หรือเรียกว่า “คนตัดยางหวะ”  มีรายได้เป็นรายวัน  ประมาณวันละ 300-400 บาท   ในช่วงฤดูฝนหรือวันที่ฝนตกจะกรีดยางไม่ได้  ซึ่งใน 1 ปีจะตัดยางไม่ได้ประมาณ 4 เดือน  ทำให้ไม่มีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว   หลายครอบครัวต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบมาใช้จ่าย  และต้องส่งดอกเบี้ยและเงินกู้เป็นรายวัน  เฉพาะดอกเบี้ยตกร้อยละสิบต่อวัน   ถ้ากู้เงินมา 1,000 บาท  จะต้องจ่ายดอกเบี้ยวันละ 100  บาท  วันไหนไม่มีเงินก็ต้องปิดประตูหน้าต่าง  ปิดไฟหลบอยู่ในบ้าน  หรือไปหลบซ่อนอยู่ในสวนยางทั้งวัน  เพราะกลัวพวกมอเตอร์ไซค์เงินกู้จะมาข่มขู่ทวงเงิน 

                “ผมเห็นเหตุการณ์แบบนี้เป็นประจำ  เห็นแล้วก็เศร้าใจ  โดยเฉพาะคนตัดยางหวะ  หากวันไหนไม่ได้กรีดยาง  ก็จะไม่มีเงินมาซื้อข้าวกิน  จึงคิดตั้งกองทุนข้าวสารขึ้นมา  โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีพูดคุย  เริ่มตั้งแต่ปี 2557  โดยชวนคนตัดยางหวะ  6-7 คนมานั่งคุยกัน  ถามข้อมูลว่าแต่ละครอบครัวกินข้าววันละเท่าไหร่  เดือนละเท่าไหร่  แล้วเอาข้าวสารจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง  5 กระสอบมาเป็นกองทุนฯ ให้คนตัดยางยืมไปกินก่อน  รวมทั้งมีพระสงฆ์ที่เห็นโครงการเอาเงินมาช่วยอีก 10,000 บาท ใครเอาข้าวไปแล้ว  เมื่อมีเงินก็เอามาคืน  เพื่อหมุนเวียนไปซื้อข้าว”  ดรณ์เล่าความเป็นมาของกองทุนข้าวสาร 

                หลังจากนั้นกองทุนฯ จึงเก็บค่าสมาชิกรายละ 50 บาท  เพื่อเป็นทุนซื้อข้าวเปลือกมาสี  รวมทั้งกองทุนฯ ยังสนับสนุนให้ชาวนาในตำบลปลูกข้าวอินทรีย์  ไม่ใช้สารเคมี  เพื่อให้ชาวบ้านได้กินข้าวที่ปลอดภัย  มีคุณภาพ  แล้วกองทุนฯ จะรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อนำมาสีในราคากิโลกรัมละ 18 บาท

                ชัยวัฒน์   สระทองวี  ผู้จัดการกองทุนข้าวสาร  เล่าเสริมว่า  ตนเองทำนาปลูกข้าวอินทรีย์ในเนื้อที่ 10 ไร่  ปีหนึ่งทำได้ 2 ครั้ง  ได้ข้าวเปลือกประมาณ  16 ตัน  เมื่อมีกองทุนข้าวสารขึ้นมา  ตนจึงซื้อเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก  2 เครื่องมาสีข้าว  และรับจ้างสีข้าวให้กองทุนฯ  มีรายได้กิโลกรัมละ 3 บาท  สามารถสีข้าวสารได้สูงสุดวันละประมาณ 600 กิโลกรัม  กองทุนฯ ขายให้สมาชิกราคา กก.ละ 30 บาท  (ขายทั่วไป กก.ละ 40 บาท)  สมาชิกสามารถเอาข้าวไปกินได้ก่อน  แล้วชำระเงินภายใน 15 วัน 

                “ส่วนผู้ที่ด้อยโอกาส  ผู้สูงอายุ  คนพิการ  จะลดราคาข้าวให้ 50 %   นอกจากนี้หากครอบครัวสมาชิกกองทุนฯ รายใดเสียชีวิต  กองทุนฯ จะมอบข้าวสารให้ 1 กระสอบ  เพื่อนำไปหุงเลี้ยงแขกในงานศพ  ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้สมาชิกกองทุนฯ”  ชัยวัฒน์บอก

(สมาชิกส่วนหนึ่งของกองทุนข้าวสาร)

                ปัจจุบันกองทุนข้าวสารมีสมาชิกทั้งหมด 93 ราย (ครอบครัว)  มีเงินหมุนเวียนประมาณ  40,000 บาท  มีข้าวเปลือกสำรองประมาณ 1 ตัน  โดยรับซื้อข้าวเปลือกอินทรีย์จากชาวนาในตำบลคลองใหญ่  ราคา กก.ละ 18 บาท  ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกข้าวพันธุ์ขาวไข่มุก  เพราะเหมาะกับสภาพพื้นที่   หุงขึ้นหม้อ  เมล็ดข้าวนิ่ม  ข้าวไม่แข็งตัวเมื่อปล่อยทิ้งไว้

                ดรณ์  เล่าต่อว่า  เมื่อมีข้าวแล้วก็ต้องมีกับข้าวกินด้วย   ในปี 2559 จึงทำเรื่อง “ธนาคารอาหารข้างบ้าน”  โดยชักชวนให้สมาชิกกองทุนข้าวสารใช้ที่ว่างข้างบ้านหรือสวนยางมาเป็นแปลงปลูกผัก  โดยเฉพาะผักพื้นบ้าน  เช่น  เหรียง  มันปู  หมุย  ดีปลี (พริก) มะเขือ  ขมิ้น  ฯลฯ  ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลในตำบลมีผักพื้นบ้านที่กินได้กว่า 90  ชนิด  ภายหลังจึงได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดสร้างโรงเรือนเพื่อปลูกผักอินทรีย์  ขนาด 2 X 12 เมตร  จำนวน  7 โรง  มีสมาชิกโรงละ 7 คน   มีผักสวนครัวต่างๆ  เช่น  ผักกาด  คะน้า  โขม  ถั่วหนัง  พริก  กะเพรา  ฯลฯ  โดยสมาชิกช่วยกันปลูกและดูแล  ใครขาดเหลือก็มาเก็บเอาไปกิน  หากเหลือก็ขายเป็นรายได้  เฉลี่ยต่อโรงประมาณ  1,600-2,000 บาทต่อรอบการเก็บ 30-45 วัน

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เลี้ยงปลา  เป็ด  ไก่  แบบธรรมชาติ  ไม่ใช้สารเคมี  เพื่อเป็นแหล่งอาหารของครอบครัวและชุมชน  ทำให้แต่ละครอบครัวสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารได้อย่างน้อยวันละ 100-200 บาท  หรือเดือนละ  3,000-6,000   บาท

                นอกจากข้าวปลาและอาหารแล้ว  เครือข่ายคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย จ.พัทลุง  ยังร่วมกันจัดตั้ง ธนาคารเครือข่ายคนกรีดยางฯ ขึ้นมา  ในปี 2559 เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกเก็บออมเงินเอาไว้ใช้  ไม่ต้องเสียเวลาไปฝากที่ธนาคารในอำเภอ  แต่ฝากกับธนาคารในชุมชนที่ชาวบ้านจัดตั้งขึ้นมาเอง  เปิดให้ฝากเงินเดือนละ 2 ครั้ง  ฝากเงินขั้นต่ำคนละ 10 บาท  ใครมีมากก็ฝากมาก  ตอนนี้มีเงินฝากทั้งหมดประมาณ  30,000 บาท  มีสมาชิกทั้งหมด  93 ราย

(ธนาคารเครือข่ายคนกรีดยาง ฯ)

                กองทุนหยิบยืม  เริ่มจากเงินที่เหลือจากการทำบุญงานศพบิดาของดรณ์ในปี 2559  จำนวน 9,000 บาท  (รวมกับเงินที่เหลืออีกจำนวนหนึ่งที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  นำมาช่วยชุมชนเรื่องภัยพิบัติ) นำมาเป็นเงินกองทุนเพื่อให้สมาชิกเครือข่ายคนกรีดยางฯ หยิบยืมไปใช้ในยามจำเป็น  หรือนำไปปลดหนี้นอกระบบ  รายละไม่เกิน 2,000 บาท  โดยไม่มีดอกเบี้ย  ชำระคืนภายใน 1 เดือน  ที่ผ่านมาช่วยเหลือสมาชิกและปลดหนี้นอกระบบไปแล้วประมาณ 20 ราย  ปัจจุบันมีเงินกองทุนประมาณ 30,000 บาท

                “ตอนนี้สมาชิกเครือข่ายคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยฯ ของเรามีข้าวกิน  มีอาหารและผักที่ปลอดภัย  มีสุขภาพดีขึ้น  นอกจากนี้ยังช่วยลดรายจ่าย  เพิ่มรายได้  แม้ว่าราคายางจะไม่ดีขึ้น  แต่เราก็ยังมีกองทุนต่างๆ  และมีเงินเก็บออมเอาไว้ใช้และช่วยเหลือกันในยามจำเป็น”  

                ดรณ์บอกถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตำบลคลองใหญ่  และเสริมว่า ตอนนี้เรากินอิ่มและนอนอุ่นแล้ว  แต่เป้าหมายต่อไป  คือ  “ทุนจะต้องมี  และหนี้จะต้องลด”  ซึ่งทุนในที่นี้หมายถึงทุนทางปัญญา  คือจะต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในตำบลให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด  เช่น  หากมีที่ดินว่างตรงไหนก็จะนำมาสร้างเป็นธนาคารอาหาร  และจะส่งเสริมการออมเงินให้มากขึ้น  เพื่อให้มีเงินกองทุนนำไปส่งเสริมอาชีพและการแปรรูปผลผลิตต่างๆ  ในตำบล  ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น  ไม่ใช่จะรอให้ยางราคาดีขึ้นเพียงอย่างเดียว  และเมื่อมีเงินก็เอาไปปลดหนี้ในระบบ  เช่น           หนี้ ธ.ก.ส.  เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัวและตำบลอย่างครบวงจร

                วันนี้สถานการณ์ยางพาราได้เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง  ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้รับซื้อยางพารารายใหญ่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ  รวมทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาจะทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์จากยางพาราของจีนลดน้อยลง  ส่วนอุตสาหกรรมทั่วโลกที่เคยใช้ยางพาราก็หันไปใช้ยางสังเคราะห์ซึ่งมีราคาถูกกว่า  ทำให้ตลาดยางตีบตันและราคาไม่มีโอกาสที่จะขึ้นสูงเหมือนในอดีตได้อีก  

                ตัวอย่างการปรับตัวของเครือข่ายคนกรีดยางรายย่อยฯ จ.พัทลุง  จะเป็นต้นแบบให้ชาวสวนยางในพื้นที่อื่นๆ  ได้นำไปปรับใช้  ไม่ต้องพึ่งพิงการปลูกพืชชนิดเดียว  แต่ใช้พื้นที่ที่มีอยู่มาสร้างแหล่งอาหารที่หลากหลาย  มั่นคงและปลอดภัย  แม้ว่าราคายางจะตกต่ำ  แต่รายจ่ายในครอบครัวก็จะลดลง   และยังมีกองทุนต่างๆ เอาไว้ช่วยเหลือจุนเจือกัน...เป็นทางเลือกและทางรอดของเกษตรกรสวนยางในวันนี้..!!

 

วิถีคนคลองเขม้า  ใช้สภาองค์กรฯ พัฒนาชุมชน

                ตำบลคลองเขม้า  อ.เหนือคลอง  จ.กระบี่  มีประชากรทั้งหมดประมาณ 5,600 คน  จำนวน 1,431 ครัวเรือนประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม  ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  เช่น  ทำสวนปาล์ม  ยางพารา  สวนผลไม้  เลี้ยงวัวเลี้ยงแพะ  และทำประมงพื้นบ้าน  เป็นอีกตำบลหนึ่งที่ผู้นำในชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมา  เพื่อใช้สภาองค์กรชุมชนฯ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชน 

(รุ่งโรจน์ ตั้งมั่น)

                รุ่งโรจน์  ตั้งมั่น  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองเขม้า  เล่าว่า  สภาฯ จัดตั้งในปี  2552 โดยมีสมาชิกสภาฯ  จำนวน  18  คน  มาจากกลุ่มต่างๆ ในตำบล  รวม 11 กลุ่ม   เช่น  เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อมและป่าชายเลน     กลุ่มประมงพื้นบ้าน  กลุ่มเกษตรผสมผสาน  กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง  กลุ่มทำพริกแกง  กลุ่มธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน ฯลฯ  มีการประชุมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง  เพื่อรายการผลงานดำเนินการของกลุ่มต่างๆ  ตลอดจนเป็นเวทีพูดคุย  แก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน  นอกจากนี้ยังประสานงานการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกับ อบต.คลองเขม้า และหน่วยงานราชการต่างๆ ในจังหวัด

                เช่น  จัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลคลองเขม้าขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558  เนื่องจากตำบลคลอง เขม้ามีพื้นที่ติดป่าชายเลนและชายฝั่งทะเล  อยู่ไม่ไกลจากสนามบินนานาชาติกระบี่  เป็นเส้นทางไปสู่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดกระบี่  จึงมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางผ่านไปมา,  จัดทำโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีของดี  อาหารอร่อยตำบลคลองเขม้า  และจัดทำตลาดชุมชน ‘ตลาดนัดบ้านต้นทวย’ เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าอาหารต่างๆ และอาหารทะเลสดๆ

(ตลาดนัดต้นทวย)

                “ต่อไปเรามีแผนงานที่จะยกระดับตลาดชุมชนให้เป็นตลาดอาหารฮาลาลที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ  เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในแถบนี้นับถือศาสนาอิสลาม  แต่ปัจจุบันยังไม่มีตลาดฮาลาลที่ได้มาตรฐาน  ยังมีการขายอาหารทั่วไป  หากมีตลาดที่ขายอาหารถูกต้องตามหลักศาสนาก็จะทำให้มีพี่น้องมุสลิมมาซื้อสินค้ามากขึ้น”  ประธานสภาฯ บอกถึงแผนงานที่จะทำต่อไป  โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างของบประมาณสนับสนุนจาก อบต.คลองเขม้าจำนวน 16 ล้านบาท  เพื่อนำมาสร้างตลาด

อนุรักษ์ป่าชายเลนสร้างความมั่นคงทางอาหาร-สร้างบ้านมั่นคง

                นอกจากแผนธุรกิจชุมชนแล้ว  สภาองค์กรชุมชนตำบลยังขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน  รวมทั้งทรัพยากรสัตว์น้ำต่างๆ  สมนึก  ครบถ้วน   ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อมและป่าชายเลน   ซึ่งเป็นสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองเขม้าบอกว่า  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  เครือข่ายอนุรักษ์ฯ ได้ร่วมกับชาวบ้านและโรงเรียนในตำบลปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมเพื่อทดแทนต้นไม้ที่ถูกนายทุนบุกรุกพื้นที่  เช่น  แสม  โกงกาง  รวมแล้วกว่า  1 แสนต้น

                “ช่วงก่อนปี 2545  มีนายทุนมาบุกรุกที่ดินหัวไร่ปลายนาที่อยู่ติดกับป่าชายเลนบริเวณหมู่ที่ 4  เนื้อที่หลายสิบไร่เพื่อทำบ่อกุ้ง   ชาวบ้านจึงร่วมกันต่อสู้และร้องเรียนกับทางราชการ  ใช้เวลา 3-4 ปีจนได้พื้นที่คืนมา  หลังจากนั้นชาวบ้านจึงร่วมกันฟื้นฟูป่า  และช่วยกันปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติม  เพื่อให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์กุ้ง  หอย  ปู  ปลา  เพราะเป็นแหล่งอาหารและเป็นอาชีพของชาวบ้าน  หลังจากนั้นชาวบ้านจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น  กลุ่มประมงพื้นบ้าน  เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติฯ”  สมนึกเล่าความเป็นมาของการปกป้องผืนป่าชายเลน  และบอกว่า  ชาวบ้านยังได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์กุ้ง  ปลา  และหอยจุ๊บแจง  รวมทั้งยังมีธนาคารปู  เพื่อฟักไข่ปูก่อนปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำ  เพื่อให้เจริญเติบโตต่อไป

(ป่าชายเลนคลองเขม้า)

                ปัจจุบันผืนป่าชายเลนและที่ดินหัวไร่ปลายนาที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลมีเนื้อที่รวมกันทั้งหมดประมาณ  658  ไร่    ฝันฤดี  พลีตา  เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองเขม้าบอกว่า  สภาฯ มีแผนงานที่จะจัดทำทางเดินเพื่อเป็นแหล่งชมป่าชายเลนระยะทางประมาณ 40 เมตร  นอกจากนี้ยังส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน  ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจล่องเรือในคลองเขม้า  เพื่อชมป่าชายเลน  ดูการจับปลา  การทำประมงพื้นบ้าน  ฯลฯ

                “นอกจากนี้ในตำบลคลองเขม้ายังมีปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย  บ้านเรือนมีสภาพทรุดโทรม  ชาวบ้านบางส่วนปลูกสร้างบ้านในพื้นที่ป่าชายเลน  แต่ทางราชการยังอนุญาตให้ชาวบ้านอยู่ต่อไปได้  ทางสภาฯ จึงมีแผนงานที่จะนำที่ดินหัวไร่ปลายนาบางส่วนมาทำโครงการบ้านมั่นคง  เพื่อรองรับผู้ที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยจำนวน 19 ครอบครัว  จากผู้ที่เดือดร้อนทั้งตำบลกว่า 100 ครอบครัว  ส่วนที่เหลือจะดำเนินการต่อไป”  ฝันฤดีบอกถึงแผนงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลคลองเขม้าที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในเร็วๆ นี้

 

                พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ.2551 ตามมาตรา 26 ระบุภารกิจของสภาองค์กรดังต่อไปนี้ (1) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของชุมชนและของชาติ  (2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน

                (3)เผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกองค์กรชุมชน  รวมตลอดทั้งการร่วมมือกันในการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน  (4) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขและการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  (5) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนอันเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

                (6) จัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจก่อให้ เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย  คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหรือเป็นผู้อนุญาตให้ภาคเอกชนดำเนินการต้องนำความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย

                (7) ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรชุมชนในตำบลเกิดความเข้มแข็ง  และสมาชิกองค์กรชุมชน  รวมตลอดทั้งประชาชนทั่วไปในตำบลสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน  ฯลฯ

                ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งและพัฒนากิจการของสภาองค์กรชุมชนตำบล  โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้

(ผู้สูงอายุที่บ้านพักคนชรามัสยิดบ้านทุ่ง ต.เขาคราม จ.กระบี่)

ความสุขและภูมิปัญญาของผู้สูงวัย  รูปธรรมจากจังหวัดกระบี่-พัทลุง

 

                ในปี 2560  ประเทศไทยมีผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป  จำนวน 11.7 ล้านคน  หรือร้อยละ 16.9   ของประชากรทั้งประเทศ  และคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี 2564  โดยจะมีประชากรผู้สูงวัยถึงร้อยละ 20  ของประชากรทั้งประเทศ 

                ขณะที่กระทรวงการคลังเปิดเผยข้อมูลว่า  ในปีงบประมาณ 2557 งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมกรณีชราภาพอยู่ที่ประมาณ 2.7 แสนล้านบาท  หรือร้อยละ 2.1 ของ GDP.  และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นประมาณ 7 แสนล้านบาท  หรือราวร้อยละ 3 ของ GDP. ในอีก 10 ปีข้างหน้า

                นอกจากนี้ปัญหาที่จะติดตามมานอกจากเรื่องงบการคลังของประเทศ  รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บแล้ว   ผู้สูงวัยที่มีฐานะยากจน  ไม่มีลูกหลานดูแล  หรือถูกทอดทิ้ง  ไม่มีที่อยู่อาศัย  ไม่มีรายได้  จะทำให้ผู้สูงวัยเกิดความเปลี่ยวเหงา  ซึมเศร้า  ขาดกำลังใจในการใช้ชีวิต  เหมือนต้นไม้ที่ขาดน้ำ  จึงเหี่ยวเฉา  โรยรา  รอวันร่วงโรยสู่ผืนดิน

                อย่างไรก็ตาม  ยังมีผู้สูงวัยในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศที่ได้รับการสนับสนุน  ส่งเสริม  ให้ผู้สูงวัยเหล่านี้ได้เตรียมตัวรับมือสภาวะที่จะเกิดขึ้น  โดยทำกิจกรรมต่างๆ  ร่วมกัน  เช่น  ออกกำลังกาย  พบปะ  พูดคุย  ทำให้ไม่เปลี่ยวเหงา       มีสวัสดิการ  มีที่อยู่อาศัย  มีรายได้  และนำภูมิปัญญาความรู้ที่มีออกมาถ่ายทอด  หรือนำมาทำประโยชน์ให้กับชุมชนได้  จึงทำให้ผู้สูงวัยเหล่านี้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  และมีพลังใจที่จะใช้เวลาในช่วงที่เหลืออยู่สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่ชุมชนและสังคมต่อไป

‘สวนปาล์ม’ สร้างสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่

                สวัสดิการผู้สูงอายุในสังคมไทย  เริ่มต้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.  พิบูลสงคราม  ราวปี พ.ศ.2496  ได้มีการสร้างสถานสงเคราะห์คนชรา  หรือ ‘บ้านพักคนชราบ้านบางแค’ ขึ้นเป็นแห่งแรก  (ปัจจุบัน  คือ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค) หลังจากนั้นจึงมีการจัดตั้งบ้านพักคนชราขึ้นในจังหวัดต่างๆ  ทั่วประเทศ  รวมทั้งมีบริการในรูปแบบต่างๆ เช่น  ศูนย์บริการผู้สูงอายุ  และที่สังคมรู้จักกันดีมากที่สุด  คือ  การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีอายุ 60-90 ปีขึ้นไป  ในอัตราเดือนละ 600-1,000 บาทตลอดชีพ

                ขณะเดียวกัน  ภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายต่างๆ เล็งเห็นว่า  การจัดสวัสดิการผู้สูงอายุของภาครัฐยังไม่ทั่วถึง  มีข้อจำกัด  จึงเสนอแนวคิด การจัดสวัสดิการผู้สูงอายุโดยชุมชน ขึ้นมา  เพื่อให้ชุมชนและลูกหลานที่อยู่ใกล้ชิดได้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนของตนเอง   โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.สนับสนุนแนวคิดและงบประมาณในปี 2543-2545  จำนวน  80 ล้านบาท  เพื่อจัดสรรให้ผู้สูงอายุในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ  รวม 76  จังหวัด   จังหวัดละ 1 ล้านบาท  นำไปจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุในจังหวัดนั้นๆ 

เช่น  นำไปส่งเสริมกิจกรรมการรวมกลุ่มต่างๆ  ของผู้สูงอายุ   ส่งเสริมการรวมกลุ่มสร้างอาชีพ  ทำเครื่องจักสาน  ทอผ้า  ทำนา  ทำสวนปาล์ม  ยางพารา  เลี้ยงปลา  เลี้ยงไก่  แปรรูปผลิตภัณฑ์  ทำน้ำพริก  เครื่องแกง  ทำสบู่  สมุนไพร  ฯลฯ  แล้วนำผลกำไรมาจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ   รวมทั้งสงเคราะห์แบบให้เปล่าสำหรับผู้ที่เดือดร้อนและมีฐานะยากจน  

                ตัวอย่างที่จังหวัดกระบี่  ในปี 2545  ผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่อำเภอต่างๆ 8 อำเภอ  ได้ส่งตัวแทนอำเภอละ 2 คนเข้ามาเป็นคณะทำงานผู้สูงอายุ จ.กระบี่  และร่วมกันบริหารจัดการกองทุน 1 ล้านบาท  โดยมีมติร่วมกันว่าจะแบ่งเงินออกเป็น  3 ส่วน  คือ  นำเงินจำนวน 850,000 บาท (85%) ไปซื้อสวนปาล์มเนื้อที่ 20 ไร่เศษที่ อ.คลองท่อม,  เงิน 100,000 บาทจัดเป็นสวัสดิการมอบให้แก่ผู้สูงอายุที่ยากไร้ (10%)  และ  50,000 บาท (5%) เป็นค่าบริหารจัดการ

                คณะทำงานผู้สูงอายุให้เหตุผลที่ซื้อสวนปาล์มว่า  เนื่องจากสวนปาล์มเป็นการลงทุนที่ยั่งยืน  เก็บเกี่ยวได้เดือนละ 2 ครั้งตลอดทั้งปี  สวนปาล์มมีอายุเก็บเกี่ยว 20-30 ปี  และดูแลรักษาง่าย  ขณะที่สวนปาล์มที่ซื้อมีอายุ  4 ปี  สามารถเก็บผลปาล์มขายได้แล้ว  ผลกำไรจากสวนปาล์ม  100 %  จะนำมาจัดสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ  ผู้ด้อยโอกาส  30 %, ค่าบำรุง  ดูแลสวนปาล์ม 30 %,  ค่าบริหารจัดการ  20 %  และนำไปสมทบกองทุน 1 ล้านบาท  จำนวน 20 %

                ที่ผ่านมาสวนปาล์มผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่สามารถขายผลผลิตได้เฉลี่ยปีละ 100,000 บาท  นำผลกำไรมาช่วยสวัสดิการผู้สูงอายุ  เด็กกำพร้า  ผู้ยากไร้  ซ่อมแซมสาธารณประโยชน์  และพัฒนาชุมชน  ปัจจุบันมีเงินกองทุนสวนปาล์มประมาณ 1.4 ล้านบาท  และมีแผนงานในปีนี้ จะสร้างบ้านพักในสวนปาล์มเพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน  ไม่มีที่อยู่อาศัยจำนวน 5 หลัง   ใช้งบประมาณ 150,000 บาท   โดยให้ผู้สูงอายุช่วยกันดูแลสวนปาล์ม  และมีพื้นที่ให้ทำการเกษตร  เช่น  ปลูกผักสวนครัว  เลี้ยงไก่  เพื่อเป็นอาหารหรือนำไปขายเป็นรายได้เลี้ยงดูตัวเอง

ความสุขของผู้สูงอายุที่บ้านทุ่ง

          ตำบลเขาคราม  อ.เมือง  จ.กระบี่  ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม  มีครัวเรือนทั้งหมดประมาณ  1,170  ครัวเรือน  ประชากรประมาณ11,000 คนเศษ  มีผู้สูงอายุประมาณ  1,000 คนเศษ  หรือเกือบร้อยละ 10 ของประชากรทั้งตำบล  และมีแนวโน้มจะมีผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา 

          ดังนั้นหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  อบต.เขาคราม  สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)  รวมทั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาคราม  จึงมีโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงวัย  เช่น  มีอาสาสมัครดูแลผู้สูงวัย  ให้คำแนะนำด้านการดูแลรักษาสุขภาพ  การกินอาหาร  การออกกำลังกาย  ฯลฯ  เพื่อให้ผู้สูงวัยเหล่านี้มีสุขภาพกายและใจที่ดี

สุวรรณ  มุคุระ  เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาคราม  บอกว่า  นอกจากหน่วยงานในท้องถิ่นจะมีกิจกรรมต่างๆ แล้ว ในตำบลเขาครามยังมีปัญหาผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานดูแล  ไม่มีที่พักอาศัย   ดังนั้นในปี 2551 ชุมชนจึงร่วมกันบริจาคเงินครัวเรือนละ 200  บาท  คนที่มีฐานะดีก็บริจาคมาก  เพื่อจัดสร้างบ้านพักให้แก่ผู้สูงวัย    โดยใช้พื้นที่ของมัสยิดบ้านทุ่ง  หมู่ที่ 1 ตำบลเขาคราม  สร้างบ้านพักจำนวน 10 ห้อง  ใช้งบประมาณรวม 1.2 ล้านบาท (จากเงินบริจาคของชุมชนและการจัดงานเลี้ยงน้ำชา)  ทำให้ผู้สูงอายุในตำบล  โดยเฉพาะหญิงหม้ายมีที่อยู่อาศัย  และมีกิจกรรมต่างๆ ทำร่วมกัน 

 

(คุณยายยามิอ๊ะ ถวายเชื้อ)

          คุณยายยามิอ๊ะ  ถวายเชื้อ  หญิงหม้ายอายุ 72 ปี  เล่าด้วยสีหน้ามีความสุขว่า  มาอยู่ที่บ้านพักคนชราตั้งแต่เปิด  เพราะอยู่ติดกับมัสยิด  ทำให้ละหมาดได้สะดวก  (ละหมาดวันละ 5 ครั้ง)  อยู่ที่นี่ยังมีลูกหลานมาเยี่ยมบ่อยๆ  บางครั้งก็พากลับไปเยี่ยมบ้าน  แต่ตนอยากอยู่ที่นี่  เพราะมีเพื่อนๆ อยู่ด้วยกัน  รวมทั้งหมด  13 คน (10 ห้อง)  ทำให้ได้พูดคุยกัน  ทำกับข้าวกินด้วยกัน  ใครมีอะไรก็เอามาแบ่งกันกิน  ทำให้ไม่เหงา 

“เราอยู่ที่นี่เหมือนกับครอบครัวเดียวกัน  ช่วยกันทำงาน  ปลูกผักเอาไว้กิน  ถ้าเหลือมากๆ ก็ขาย  มีรายได้เล็กน้อยๆ  ก็เอาเงินมาซื้อของทำขนมกินกัน  และเอาไว้เลี้ยงคนที่มาละหมาด” คุณยายยามิอ๊ะเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม 

          ส่วนผู้สูงอายุคนอื่นๆ ก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  ไม่รู้สึกเปลี่ยวเหงา  เพราะอยู่ที่บ้านพักแห่งนี้จะมีกิจกรรมให้ทำร่วมกันตลอด  เช่น  เรียนวิชาศาสนาอิสลาม  ละหมาดร่วมกัน  ช่วยกันปลูกผักและรดน้ำ  โดยใช้พื้นที่ว่างหน้าบ้านพัก  ปลูกผักกาดเขียว  มะเขือ  พริก  มะนาว  กะเพรา  ฯลฯ  เมื่อผักโตก็เก็บมาทำอาหารหรือขาย 

          ทำขนมร่วมกันทุกวันพฤหัส  บางคนช่วยนวดแป้ง  บ้างก็หยิบโน่นทำนี่   บ้างก็พูดคุยหยอกล้อกัน   ทำให้บ้านพักแห่งนี้ไม่เงียบเหงา   เช่น  ทำขนมด้วงทอด  มีหน้าตาคล้ายกับหนอนด้วงตัวใหญ่  ใช้แป้งข้าวเหนียวมานวดกับมะพร้าวขูดแล้วทอดน้ำมัน  เมื่อสุกจะมีสีเหลืองเหมือนกล้วยทอด  จะคลุกน้ำตาลทรายหรือไม่คลุกก็ได้  เป็นของว่างกินกับน้ำชา  นอกจากนี้ยังมีข้าวเหนียวแดง  ช่วยกันทำแล้วแจกกันกิน  และยังเผื่อแผ่ไปถึงคนที่มาละหมาดด้วย 

ส่วนคนที่ได้กินก็อิ่มอร่อย  คนที่ทำก็มีความสุขใจ  ที่ได้เอื้อเฟื้อ  และแบ่งปัน...!!

สภาองค์กรชุมชนฯ เชื่อมโยงการพัฒนาชุมชน

                นอกจากความสุขของผู้สูงวัยที่มัสยิดบ้านทุ่งแล้ว  สุวรรณ  มุคุระ  เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาครามบอกว่า  สภาฯ ยังมีบทบาทในการเชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ ในตำบล  รวม  41 กลุ่มให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนร่วมกัน  เช่น  เชื่อมโยงกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง  กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่ง  และกลุ่มประมงท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนกัน  ซึ่งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้เป็นสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาคราม  โดยจะมีการประชุมสภาประมาณ 2-3 เดือนครั้ง  หรือตามสถานการณ์และความจำเป็น

                สุธีร์  ปานขวัญ  ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงบ้านไหนหนัง  ต.เขาคราม  ซึ่งเป็นสมาชิกสภาองค์กรชุมชนฯ บอกว่า กลุ่มเลี้ยงผึ้งจัดตั้งขึ้นมาในปี 2557 มีสมาชิก 39 คน  ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะเลี้ยงผึ้งในสวนของตัวเอง  มีรังผึ้งรวมกันทั้งหมดประมาณ 520 รัง  ปีหนึ่งจะเก็บน้ำผึ้งได้ 1 ครั้ง  คือในช่วงเดือนเมษายน   ส่วนใหญ่จะขายเป็นน้ำผึ้งให้แก่โรงแรมต่างๆ ประมาณปีละ 700-800 ลิตร  ขนาดบรรจุ  700 cc. ราคาขวดละ 500 บาท 

นอกจากนี้ยังนำน้ำผึ้งมาผลิตเป็นสบู่  แชมพูสระผม  ลูกอม  และผสมในขนมต่างๆ  ทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เสริมนอกจากการทำสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน  รวมกันประมาณปีละ 150,000  บาท  และจะแบ่งผลกำไรจากกลุ่มปีละ 10 %  หรือประมาณ 15,000 บาท  เพื่อนำไปสนับสนุนกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่ง  ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ เช่น  การปรับพื้นที่เปิดทางน้ำเข้า-ออกเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลน  การปลูกไม้ชายเลนในบ่อกุ้งร้าง  ปล่อยสัตว์น้ำวัยอ่อน  และเฝ้าระวังไม่ให้มีการบุกรุกหรือทำลายป่าชายเลน  รวมทั้งดูแลป่าชุมชนที่อยู่ติดกับป่าชายเลนด้วย

(ป่าชายเลนบ้านไหนหนัง ต.เขาคราม จ.กระบี่)

“ป่าชุมชนและป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำต่างๆ  ทั้งกุ้ง  หอย  ปู  ปลา  ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านมีอาชีพ  มีรายได้ และมีอาหารเลี้ยงดูครอบครัว  นอกจากนี้ป่าชุมชนและป่าชายเลนยังเป็นแหล่งหาน้ำหวานของผึ้งโพรงที่พวกเราเลี้ยง  เช่น  ดอกตะบูน  ลำพู  แสมขาว หวายลิง  เมื่อป่าสมบูรณ์  อาหารของผึ้งก็จะมีมาก  น้ำผึ้งก็จะได้มาก  เราจึงนำรายได้จากการเลี้ยงผึ้งมาสนับสนุนกลุ่มอนุรักษ์  เพราะแต่ละอาชีพในตำบลต้องพึ่งพาและช่วยเหลือกัน”  ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งกล่าวในตอนท้าย

ภูมิปัญญาผู้สูงวัยที่ตำบลโคกม่วง  อ.เขาชัยสน  จ.พัทลุง

 

          เทศบาลตำบลโคกม่วง  อ.เขาชัยสน  จ.พัทลุง  มีประชากรทั้งหมดประมาณ 15,000 คน  มีผู้สูงอายุประมาณ 1,400  คน  เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย  เช่น  มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยและคนพิการ  เพื่อให้ผู้สูงอายุและคนพิการอยู่กับครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีความสุข

                ปิยนารถ  หนูพลับ  นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ  เทศบาลตำบลโคกม่วง  เล่าว่า  เทศบาลฯ เริ่มสนับสนุนกิจกรรมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2553  เช่น  สนับสนุนชมรมผู้สูงอายุ   การดูแลสุขภาพ  การออกกำลังกาย  การอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น  เช่น  ความรู้ด้านสมุนไพร  หมอพื้นบ้าน  งานหัตถกรรมและจักสาน  ฯลฯ  โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยและคนพิการขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ  โดยเทศบาลสนับสนุนงบประมาณปีละ 50,000 บาท

                “นอกจากนี้เทศบาลยังสนับสนุนเรื่องโรงเรียนครอบครัว  โดยจัดกิจกรรมให้ผู้สูงวัย  ลูกหลาน  และพ่อแม่มาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน  เช่น  การถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านสมุนไพร  โดยให้ผู้สูงวัยที่มีความรู้พาเด็กและเยาวชนไปศึกษาสมุนไพรที่มีอยู่ในตำบลว่ามีอะไรบ้าง  มีประโยชน์อย่างไร  ใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง  ทำให้เด็กๆ และพ่อแม่ได้รับความรู้  และให้ความเคารพนับถือผู้สูงวัย  ขณะที่ผู้สูงวัยก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า  เป็นการเชื่อมโยงครอบครัวและชุมชนเข้าด้วยกัน  ซึ่งจะทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่น  มีความสุข  ช่วยลดและป้องกันปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวด้วย”  ปิยนารถยกตัวอย่าง

(เครื่องนวดสมุนไพรภูมิปัญญาท้องถิ่น)

                ตัวอย่างกิจกรรมผู้สูงอายุที่จัดขึ้นมา  เช่น  โครงการ ‘เสียงเพรียกจากครอบครัว’  จะจัดขึ้นทุกๆ 2 เดือน  โดยใช้สวนสาธารณะหน้าเทศบาลเป็นลานจัดกิจกรรม  มีกิจกรรมต่างๆ  เช่น  บริการนวดแผนโบราณ  ความรู้ด้านสมุนไพร  การจักสานเครื่องมือหาปลาด้วยไม้ไผ่  เครื่องใช้ในครัวเรือน  เช่น  เสื่อ  กระจาด  ทัพพีตักข้าว  ตักแกง  ฯลฯ  โดยผู้สูงวัยที่มีความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ จะมาสาธิตและให้บริการ  รวมทั้งนำสินค้าที่ผลิตเองมาจำหน่าย  ทำให้มีรายได้และเกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตัวเอง

นอกจากนี้ยังกิจกรรมบันเทิงและสันทนาการ  เช่น  การออกกำลังกาย  การร้องเพลง  รำวง  ฯลฯ  มีอาหารและขนมพื้นบ้านให้ทุกคนได้อิ่มหนำ  ซึ่งกิจกรรมแต่ละครั้งจะมีผู้สูงวัยทั้งตำบลเข้าร่วมงานประมาณ 300-400 คน  ทำให้ผู้สูงอายุได้มาพบปะ  สังสันท์  ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างมีความสุข

คุณตาสมบูรณ์  ทิพย์นุ้ย  อายุ 72 ปี  ประธานชมรมหมอพื้นบ้าน  เทศบาลตำบลโคกม่วง  เล่าว่า  ชมรมฯ เริ่มก่อตั้งในปี 2545   โดยเริ่มจากงานวิจัยสมุนไพรท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หลังจากนั้นจึงนำความรู้มาถ่ายทอดให้คนที่สนใจ  โดยเทศบาลให้การสนับสนุน 

เช่น  ออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ร่วมกับ รพ.สต.เดือนละ 1 ครั้ง  เพื่อแนะนำให้ชาวบ้านปลูกและใช้สมุนไพรเพื่อพึ่งตนเอง  ช่วยบำรุงร่างกายสตรีหลังคลอด  รักษาโรคแผลพุพองในเด็ก  โรคตานขโมย  รวมทั้งบริการนวดให้แก่ผู้ที่มีอาการปวดเมื่อย  ฯลฯ   ปัจจุบันมีสมาชิกชมรมหมอพื้นบ้าน 8 คน  และมีหมอพื้นบ้านในตำบลอีกประมาณ 10 คนที่มีความรู้ด้านนี้  ส่วนใหญ่จะได้ความรู้มาจากครอบครัว  โดยถ่ายทอดสืบต่อกันมานานหลายชั่วอายุ

ตัวอย่างสมุนไพรพื้นบ้านที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน  เช่น  ผักเสี้ยนผี  นำมาดองกับน้ำมะพร้าว  กินกับน้ำพริก มีสรรพคุณ  ไล่ลมในท้อง  แก้ท้องอืด  ท้องเฟ้อ,  พลูคาว  นำมากินแก้ช้ำบวม  รักษาโรคมะเร็ง, หางไหล  นำมาต้ม  แล้วอมน้ำแก้เจ็บปวดฟัน  ใช้ไล่แมลง  นอกจากนี้ยังนำสมุนไพรต่างๆ มาต้มรวมกันในหม้อดินเพื่อกินเป็นยาบำรุงกำลัง  และขับล้างสารพิษ  เช่น  มะแว้ง  หญ้าหนวดแมว  กำแพง 7 ชั้น  ใบยอ  พังโหม ฯลฯ

“ความรู้ด้านสมุนไพรพื้นบ้านนี้  นับวันมีแต่จะหมดไป  เพราะเดี๋ยวนี้มียาสมัยใหม่เข้ามา  ทำให้ใช้สะดวก  คนก็ไม่อยากจะใช้ยาพื้นบ้าน  เพราะเห็นว่าเป็นของโบราณ  เป็นเรื่องของคนแก่   แต่สมุนไพรและยาพื้นบ้านนี้มันเป็นของที่ไม่ต้องซื้อหา  ปลูกเอาก็ได้  หรือขึ้นไปเก็บบนควน (เขา) พวกเราจึงอยากจะรักษาเอาไว้  และถ่ายทอดให้ลูกหลานได้ศึกษาหาความรู้  แม้จะไม่ใช้ก็ไม่เป็นไร  แต่อย่าไปทำลายมัน”  คุณตาสมบูรณ์เล่าด้วยความภาคภูมิใจ

 

อย่างไรก็ตาม  นอกจากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สมาชิกชมรมฯ มีอยู่แล้ว  ขณะนี้เทศบาลตำบลโคกม่วงได้นำความรู้ด้านสมุนไพรและสรรพคุณของต้นไม้ต่างๆ ที่ปลูกเอาไว้ในสวนสาธารณะหน้าเทศบาลมาติดตั้งแถบ QR Code ที่ลำต้น  เมื่อใช้โทรศัพท์มือถือสแกน QR Code  ข้อมูลต่างๆ ของต้นไม้และสรรพคุณด้านสมุนไพรก็จะปรากฏขึ้นมาที่หน้าจอโทรศัพท์  เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อเติมความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้อยู่คู่กับชุมชนตลอดไป

ทั้งหมดนี้เป็นรูปธรรมการใช้พลังและภูมิปัญญาของชุมชนและท้องถิ่นมาพัฒนาและแก้ไขปัญหาของตัวเอง  เพื่อก้าวเดินไปสู่ชุมชนเข้มแข็งและพึ่งพาตัวเองได้...!! 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"