สภาสูงวิเคราะห์ ศึกตั้งรัฐบาล


เพิ่มเพื่อน    

 ตั้งรัฐบาลไม่มีทางตัน พรรคไหนมาช้าจะตกขบวน

ที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ลงมติเลือก พรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานวุฒิสภา รวมถึงได้ลงมติเลือก พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร อดีต สนช. และศุภชัย สมเจริญ อดีตประธาน กกต. เป็นรองประธานวุฒิสภา 

เก้าอี้ผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติได้ชื่อลงตัวครบแล้ว จากนี้ก็เข้าสู่โหมดการเตรียมเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พอได้นายกฯ แล้วก็เข้าสู่การฟอร์ม ครม.เต็มรูปแบบต่อไป

มีมุมวิเคราะห์การเมือง-การเลือกนายกฯ-การจัดตั้งรัฐบาลและบทบาทของ ส.ว.ต่อจากนี้ โดย 2 สมาชิกวุฒิสภาที่มีบทบาทสำคัญในสภาสูง เริ่มจากคนแรก เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นอดีต ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2543 - อดีตรองประธานสภาร่าง รธน. ปี 2550 - อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) - อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดย ส.ว.-เสรี ย้ำว่า สถานการณ์ในเวลานี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมาะสมที่สุดในการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ โดยยกหลายเหตุผลมาอธิบาย พร้อมกับวิเคราะห์การจัดตั้งรัฐบาลว่า สุดท้ายน่าจะดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย ไม่มีทางตัน

ลำดับแรก ส.ว.-เสรี กล่าวถึงบทบาทของ ส.ว.ชุดแรกตาม รธน.ฉบับปัจจุบันว่า บทบาทของ ส.ว.ชุดปัจจุบันแตกต่างจาก ส.ว.ที่ผ่านมา เพราะ รธน.ในอดีตให้อำนาจหน้าที่ ส.ว.ในด้านการกลั่นกรองกฎหมาย การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การตรวจสอบรัฐบาล การตั้งกระทู้ ญัตติสอบถามการทำงานของรัฐบาล

...สำหรับ รธน.ปัจจุบัน ยังให้อำนาจ ส.ว.ในการเสนอและติดตามการปฏิรูปประเทศและงานด้านยุทธศาสตร์ชาติ เป็นงานที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมเป็นมรรคเป็นผลต่อจากการปฏิรูปประเทศที่ทำมาก่อนหน้านี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อทำให้การปฏิรูปหลายเรื่องดำเนินการเดินหน้าต่อไป เพราะ รธน.บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีต้องรายงานความคืบหน้าการปฏิรูปให้วุฒิสภาทราบทุก 3 เดือน

นอกจากนี้หน้าที่สำคัญที่ให้มาเป็นพิเศษก็คือ การให้ ส.ว.มีส่วนร่วมที่สำคัญในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การใช้ดุลยพินิจของ ส.ว.ในการลงมติ ก็ต้องมีเหตุผล ว่าเหตุใดถึงโหวตเลือกบุคคลใดเป็นนายกฯ ทั้งหมดเป็นหน้าที่สำคัญของ ส.ว.ชุดปัจจุบันในช่วงเปลี่ยนผ่านของบ้านเมือง ที่คนเป็นผู้บริหารประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรีมีส่วนสำคัญ

เสรี-สมาชิกวุฒิสภา พูดชัดๆ ไม่อ้อมค้อมว่า เข้ามาเป็น ส.ว.ก็มีความตั้งใจที่จะเข้ามาทำงานหลายเรื่อง เรื่องแรกที่จะทำคือ จะเข้าไปโหวตเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่เป็นการตอบแทนที่ได้เข้ามาเป็น ส.ว. เพราะได้สมัครใจมาเป็น ส.ว.เพื่อจะไปเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ         

ส่วนเหตุผลที่เลือกพลเอกประยุทธ์ เพราะเห็นว่า ในการทำงานของพลเอกประยุทธ์ที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาวิกฤติของประเทศตั้งแต่ปี 2557 จนเกิดความสงบเรียบร้อย ประชาชนใช้ชีวิตแบบปกติสุขได้ตลอดมา อีกทั้งยังทำงานด้านต่างๆ เช่น การปฏิรูปประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำด้วยความตั้งใจ ทำอย่างมีเป้าหมาย ทำอย่างมียุทธศาสตร์ชาติ

...คนจะเป็นนายกฯ จะต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้ ทำเรื่องเหล่านี้มาและเมื่อเข้าไปเป็นนายกฯ ต้องทำเรื่องปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติต่อไปได้ พลเอกประยุทธ์จึงมีความเหมาะสมที่สุดจากรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคต่างๆ และคนที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชน ก็ปรากฏว่าพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียง popular vote สูงสุดของทุกพรรคการเมือง

หากถามว่า ที่พลังประชารัฐได้คะแนนสูงแบบนี้ เพราะตัวพรรคพลังประชารัฐเองหรือไม่ ก็ไม่ใช่ แต่ได้เพราะพลังประชารัฐเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐตอนเลือกตั้ง จนประชาชนเลือกพลเอกประยุทธ์

...ทำให้การเข้ามาของพลเอกประยุทธ์ในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ต่างจากการที่ประชาชนเลือกเข้ามา จึงแสดงให้เห็นว่าเสียงคนส่วนใหญ่ที่ประชาชนเลือกให้มาเป็นนายกฯ ก็คือพลเอกประยุทธ์ มันจึงมีเหตุมีผลในการเลือกนายกฯ ที่ต้องประกอบด้วยเหตุผลเหล่านี้ ไม่ใช่เลือกเพราะเขาเลือกให้มาเป็น ส.ว. ไม่ใช่แน่นอน

“การเลือกนายกฯ ก็อยู่ที่เหตุผล หลังจากที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ถูกเสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ ก็ถือว่าเป็นการเข้ามาตามระบบ และที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ได้ทำหน้าที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และยังทำเรื่องการบริหารประเทศในโครงการสำคัญๆ หลายโครงการ และยังมีเรื่องการปฏิรูปประเทศ แต่การปฏิรูปไม่ได้ทำแบบพลิกฝ่ามือได้ ต้องทำแบบเป็นกระบวนการ มีขั้นตอน และมีความต่อเนื่อง การจะปฏิรูปต่อไปจึงมีความสำคัญ

หากเปลี่ยนคน เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนทิศทางการทำงาน การปฏิรูปที่ทำกันมา 5 ปี ก็จะสะดุดหมด ซึ่งหากให้คนอื่นมา พรรคการเมืองมา การจะให้ประเทศเดินไปข้างหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติ ก็จะไม่เกิดขึ้น จึงเป็นจุดเด่น ข้อสำคัญที่ควรให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกต่อไป”

-ถ้า ส.ว.ทั้งหมด หรือเสียงส่วนใหญ่โหวตเลือกพลเอกประยุทธ์ไปในทางเดียวกันหมด ย่อมไม่พ้นถูกวิจารณ์ว่าร่วมกันสืบทอดอำนาจให้ คสช. เป็นการโหวตแบบต่างตอบแทนที่ดันให้ได้เป็น ส.ว.?

มีความพยายามใช้คำว่า สืบทอดอำนาจ มาลดความน่าเชื่อถือ ลดเครดิต ซึ่งการสืบทอดอำนาจคือการมีอำนาจแล้วอยู่ต่อไปโดยใช้อำนาจไม่ชอบธรรม ไม่เป็นที่ยอมรับ การสืบทอดอำนาจลักษณะนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ควรไปสนับสนุน แต่การที่พลเอกประยุทธ์ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐแล้วประชาชนลงคะแนนจนทำให้พรรคได้เสียงจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการสนับสนุนพลเอกประยุทธ์จึงเป็นการสนับสนุนตามระบบการเลือกตั้งตาม รธน. ไม่ใช่เรื่องการสืบทอดอำนาจ เพราะพรรคได้เสนอชื่อแล้วประชาชนลงคะแนนเลือกมา จะบอกว่าสืบทอดอำนาจได้อย่างไร

การพูดว่าสืบทอดอำนาจควรยกเลิก ยุติการพูดได้แล้ว เพราะประเทศได้มีการเลือกตั้ง ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ประชาชนลงคะแนนเลือกแล้ว หากอำนาจเดิมทำแล้วไม่ดี ประชาชนไม่พอใจ เขาก็ไม่เอาหรอก ไม่อย่างนั้นพลังประชารัฐคงไม่ได้คะแนนท่วมท้นขนาดนี้ การพูดว่าสืบทอดอำนาจจึงเป็นวาทกรรมเพื่อพยายามลดความน่าเชื่อถือ มันจบไปได้แล้ว มีแต่ระบบการเข้ามาสู่ตำแหน่งตามที่ รธน.บัญญัติไว้

ถามไปว่า หากพลเอกประยุทธ์ไม่ได้กลับมาเป็นนายกฯ สิ่งที่ทำไว้ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ, โครงการอีอีซี, โครงการใหญ่ๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง หรือการสานต่อเรื่องการปฏิรูปประเทศ จะมีปัญหาหรือไม่ เสรี-สมาชิกวุฒิสภา อดีต สปช.และ สปท. มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยในการพัฒนาประเทศ หากว่าเป็นคนอื่นมาเป็นรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ก็มีโอกาสที่อาจจะไม่มีการทำต่อ ถูกปล่อยทิ้งไว้กลางทาง แล้วไปสร้างโครงการใหม่ๆ องตัวเองอย่างที่เคยทำกันมา ก็ทำให้บ้านเมืองหยุดชะงัก ล้วในที่สุดคนเหล่านี้ก็จะมาแสวงประโยชน์จากโครงการที่เกิดขึ้นแล้วก็จะมีการตรวจสอบ ประชาชนก็จะไม่เอาคนพวกนี้ ก็จะมีการไปดึงประชาชนออกมาสู้รบกันอีก ก็จะกลับไปวังวนเดิมที่บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย ชั่วโมงนี้เราก็ต้องเลือกบุคคลที่จะเข้ามาแล้วทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า เดินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

                เสรี-สมาชิกวุฒิสภา-อดีต ปธ.กรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าวอีกว่า ที่พรรคการเมืองบางขั้วบอกว่าควรต้องปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับการโหวตนายกฯ นั้น คนที่พูดเรื่องปิดสวิตช์ ส.ว.เป็นเรื่องของความไม่ชอบส่วนบุคคลไป เล่นการเมืองแบบนี้เป็นการเล่นการเมืองแบบขาดความรับผิดชอบ เป็นเรื่องความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่ชอบพลเอกประยุทธ์ แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จะเอาแต่พวกของตัวเอง แล้วทำลายล้างกัน เป็นกระบวนการต่อสู้แย่งชิงอำนาจโดยไม่รับผิดชอบต่อบ้านเมือง ไม่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองโดยรวม

การที่บอกจะมาปิดสวิตช์ ส.ว.ก็คงทำได้แค่รูปแบบเดียว คือ ส.ส.ไปรวมเสียงกันให้ได้ เกิน 376 เสียงก็ทำไป เป็นสิทธิ์ของ ส.ส. แต่หากคะแนนไม่ถึงแล้วจะมาบอกว่า ส.ว.ไม่ควรเลือกคนนั้น ต้องเลือกคนนี้ แบบนี้เป็นการเสนอแนวทางในลักษณะแทรกแซงก้าวก่ายแทรกแซงกัน ควรต้องยอมรับดุลยพินิจของ ส.ว.แต่ละคนที่จะมีเอกสิทธิ์ในการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม จนถึงช่วงปลายสัปดาห์การตั้งรัฐบาลก็ยังไม่นิ่ง บางพรรคการเมืองยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน เรื่องดังกล่าวจะส่งผลต่อการโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่ เสรี-ส.ว. มองการจัดตั้งรัฐบาลไว้ว่า การเลือกนายกฯ จะต้องได้เสียง 376 เสียง คนที่จะอยู่ซีกรัฐบาลก็ต้องคิดเองแล้วว่าโอกาสของคนที่จะตั้งรัฐบาลได้อยู่ซีกไหน ส.ว.เราเอง ก็ต้องพูดทำความเข้าใจกันถึงเหตุผลในการเลือกบุคคลเป็นนายกฯ

อย่างผมเองตั้งใจแล้วและมีเหตุผลที่จะเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ผมก็ต้องพูดกับ ส.ว.ด้วยกันให้เขาเข้าใจ เรื่องนี้ไม่ต้องไปกลัวข้อครหา หากว่าเรามีเหตุผล ไม่ต้องมากล่าวหา ให้ร้ายกันว่าสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ หากมีเหตุผลที่ตอบสังคมได้ในการโหวตนายกฯ ไม่ต้องไปกลัวอะไรทั้งสิ้น อีกทั้งหาก ส.ว.ทำคะแนนเป็นปึกแผ่นได้ การเลือกนายกฯ ก็ขาดเสียงอีกแค่ 126 เสียง คะแนนเสียงเหล่านี้ก็มาจากพลังประชารัฐ 115 เสียง และพรรคอื่นๆ เช่น พรรคเล็ก ก็ร่วม 12 เสียง คะแนนตรงนี้มันเห็นอยู่แล้วว่าซีกพรรคพลังประชารัฐมีโอกาสตั้งรัฐบาลได้มากกว่าวิธีการอื่น พรรคการเมืองอื่นก็ต้องตัดสินใจ

...หากโหวตแล้วเสียงยังอาจไม่เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ ตอนตั้งมองดูแล้วอาจเกรงว่าจะอยู่ไม่ได้ เพราะอาจเป็นเสียงข้างน้อย แต่พอตั้งแล้ว เสียงข้างน้อยก็อาจอยู่ได้ พรรคการเมืองอื่น ถ้ามีเหตุผลจะเข้ามาสนับสนุนการตั้งรัฐบาลจะเข้ามาทีหลังก็เกิดขึ้นได้อีก แต่ละพรรคการเมืองวันนี้คิดอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้อาจคิดอีกอย่างก็ได้ มันไม่ตายตัว ก็มารวมทีหลังได้อีก เพราะตอนนี้บางพรรคอาจบอกว่าได้พูดไปแล้ว รับปากไปแล้ว จะไม่หนุนพลเอกประยุทธ์ แต่หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ได้รับเสียงจากสมาชิกรัฐสภาจนเป็นนายกฯ ไปตั้งรัฐบาลได้แล้ว พรรคอื่นก็สามารถมาร่วมทีหลังได้ และที่บอกเป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ จะอยู่ไม่ได้ก็ไม่จริง เพราะจะอยู่ไปได้ระดับหนึ่ง จนกระทั่งอาจไปมีการไปตัดสินเรื่องสำคัญๆ ของประเทศ เช่น กฎหมายงบประมาณ ช่วงนั้นก็ไปดูสถานการ์ตอนนั้นอีกที ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เป็นเสียงข้างน้อยแล้วจะอยู่ไม่ได้เลย มันไม่ใช่ มันยังอยู่ได้ แต่หากสามารถรวมเสียง ส.ส.ตั้งรัฐบาลได้ตั้งแต่ช่วงนี้เลยมันก็จะสร้างความเชื่อมั่นได้ คือถ้ามันเกิน 250 เสียงได้มันก็ดี แต่ถ้าเสียงไม่ถึงจริงๆ แต่ถ้าโหวตนายกฯ แล้ว ได้เสียงเกิน 376 เสียง ก็ยังตั้งรัฐบาลได้อยู่ แล้วค่อยไปปรับกระบวนการเชิญพรรคอื่นมาร่วมภายหลังได้อีก

...แต่สุดท้ายเกิดเสียง ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาลไม่ถึง 250 เสียง แล้วรัฐบาลทำเรื่องสำคัญไม่ได้ในสภาฯ เพราะเสียงไม่ถึง นายกรัฐมนตรีก็ยุบสภาฯ แล้วให้ประชาชนไปตัดสิน มันก็เกิดขึ้นได้อีก แต่จะไม่เกิดตอนนี้หรอก มันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายจะถึงทางตันจนรัฐบาลจะทำอะไรไม่ได้ อยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ รัฐบาลตั้งแล้วอยู่ได้ แต่หากติดขัดบางเรื่องก็ไปแก้ไขเอา

“หากว่าถ้าเกิดตั้งรัฐบาลแล้ว ไม่มาร่วมตั้งแต่แรก ก็อาจตกขบวนได้ พรรคการเมืองก็ต้องไปคิดเรื่องเหล่านี้ เพราะหากไม่มาร่วมตอนนี้ เขาก็ไปตั้งคนอื่นมาเป็นรัฐมนตรี คุณก็จะตกขบวน แต่ละพรรคการเมืองก็ต้องไปไตร่ตรองว่าจะยืนอยู่ตรงไหน แต่ดูแล้วเรื่องนี้ไม่มีทางตัน”

เสรี-ส.ว. กล่าวถึงการทำงานของ ส.ว.ชุดแรกตาม รธน.ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นทำงานว่า ก็มีช่วงนี้ที่จะเจอแรงเสียดทาน ถูกสร้างแรงกดดันจากซีกพรรคการเมือง มาเรียกร้องให้ ส.ว.ทำอะไรต่างๆ เพราะ ส.ว.จะต้องไปมีส่วนร่วมในการโหวตนายกฯ เลยทำให้ถูกบางฝ่ายกล่าวอ้าง ถูกพาดพิงให้เสียหาย ก็เพื่อกดดันให้ ส.ว.ขาดอิสระ และเลือกตามที่พรรคการเมืองต้องการ ซึ่งบทบาทสำคัญตอนนี้ของ ส.ว.คือการเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.ต้องรู้ว่าจะเลือกใครที่เหมาะสมไปทำหน้าที่เป็นนายกฯ เพื่อเข้าไปสร้างประโยชน์ให้บ้านเมือง โดย ส.ว.ต้องอิสระ อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล ในการตอบสังคมให้ได้ว่าเลือกใครเป็นนายกฯ เพราะเหตุผลใด เช่น ทำไมเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็ต้องตอบประชาชนให้ได้ ถ้าตอบไม่ได้ ก็ถูกกล่าวหาว่ามาตอบแทนกัน แต่หาก ส.ว.ตอบได้ ชาวบ้านรับได้ ก็เป็นเรื่องของการทำหน้าที่อันสมบูรณ์

เราต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่างานของ ส.ว.ไม่เหมือนกับ ส.ส. เพราะที่มาต่างกัน โดย ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง แต่ ส.ว.มีที่มาต่างกัน เพราะเขาไม่ต้องการให้มาจากฐานเสียงเดียวกัน เลยให้มีที่มาต่างกัน และข้อสำคัญคือ ส.ส.กับ ส.ว.มันเป็นคนละสภา ในส่วนของงานรัฐสภา ซึ่งการทำหน้าที่ของทั้ง 2 สภา ก็แยกจากกัน มีอิสระจากกัน ส.ว.จึงไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีทั้ง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง-มาจากการสรรหา ซึ่งก็มีปัญหาเกิดขึ้นในทุกรูปแบบที่ผ่านมา รธน.ฉบับปัจจุบันจึงกำหนดรูปแบบที่มา ส.ว.แบบนี้ มันก็เหมาะกับช่วงเวลานี้ ที่บ้านเมืองเป็นแบบนี้เลยให้ ส.ว.มาแบบนี้ ซึ่งเป็นไปตามกติกาของ รธน.ที่ผ่านการทำประชามติมาแล้ว ต้องเข้าใจตรงนี้

ไม่ควรมาพูดจาว่า ส.ว.จะเข้ามาสืบทอดอำนาจ มาตอบแทนบุญคุณ มันไม่ใช่เรื่องพวกนี้แล้ว เพราะเป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาตาม รธน. ส.ว.ก็เดินมาตาม รธน.ทั้งสิ้น จะมาใช้วาทกรรมพูดให้เสียหาย ให้ประชาชนเข้าใจผิด ควรเลิกได้แล้ว และต่างฝ่ายต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป

เสรี-ส.ว. ที่เป็นอดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2543 เล่าถึงปัญหาการทำงานของ ส.ว.ในช่วงที่ผ่านมา โดยกล่าวสรุปว่า ตอนปี 2539 มาเป็น สสร.ยกร่าง รธน. ปี 2540 ที่ยกร่าง รธน.โดยเน้นเรื่องการปฏิรูปการเมือง การให้มีองค์กรอิสระต่างๆ จนเกิดองค์กรต่างๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง จนต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ว.ทั่วประเทศในปี 2543 ฝ่ายการเมืองมีการเข้าไปยึดวุฒิสภา เพื่อเข้าไปยึดองค์กรอิสระ ทั้งที่ รธน.ปี 2540 เป็น รธน.ที่ดี แต่เวลามีการนำไปใช้ คนใช้กลับใช้อำนาจเกินขอบเขต เลยไปก้างล่วงอำนาจอื่นๆ ทำให้กลไกตรวจสอบการบริหารประเทศทำงานไม่ได้

ตอนผมเป็น ส.ว. ปี 2543 ทำหน้าที่อยู่ 6 ปีกว่า ก็เห็นปัญหามากมาย เช่น กระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติถูกแทรกแซงไม่เป็นอิสระ ฐานเสียง ส.ว.กับ ส.ส.มาจากฐานเดียวกัน เลยถูกเรียกว่าสภาผัวเมีย ซึ่งพอถูกแทรกแซงมันก็ไปเยอะ ทั้งที่จริงเรื่องผัวเมีย มีจริงๆ ไม่กี่คู่ แต่ถูกตั้งฉายาเพราะความไม่เป็นอิสระของ ส.ว. องค์กรอิสระการเลือกก็มีการบล็อกไว้หมด องค์กรอิสระกลายเป็นของพรรคการเมืองไปหมด

.....................................

ทำไมต้อง 'บิ๊กตู่' เป็นนายกฯ? รบ.เสียงปริ่มน้ำก็อยู่ยาวได้

                ด้าน วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองโชกโชน ผ่านมาแล้วหลายตำแหน่ง เช่น อดีต ส.ว.สรรหาปี 2554, อดีต สปช., อดีต สปท. ได้วิเคราะห์การตั้งรัฐบาลที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ว่า สุดท้ายฝ่ายพลังประชารัฐน่าจะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และหากรวมเสียง ส.ส.ได้ไม่มากก็ต้องเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แต่ก็สามารถอยู่ได้หากสร้างผลงานให้ประชาชนยอมรับ

                ส.ว.-วันชัย เริ่มด้วยการพูดถึงบทบาทของ ส.ว.ว่า ส.ว.ชุดปัจจุบันหน้าที่หลักๆ ก็เหมือนกับในอดีต เพียงแต่ชุดปัจจุบันมีภารกิจที่เพิ่มขึ้นมาสองเรื่องหลักคือ หนึ่ง-การโหวตเห็นชอบนายกรัฐมนตรี สอง-การติดตามการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ

...ผมคิดว่าการให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีพร้อมกับ ส.ส. ทำให้การเมืองเกิดความพอดี เกิดการถ่วงดุลกัน เวลามีวิกฤติทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมาก็จะมาจากเหตุ เช่น มีการชุมนุมทางการเมือง  มีการประท้วงจนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล รวมถึงเกิดการรัฐประหาร แต่ รธน.ปัจจุบันออกแบบให้ ส.ว.เข้ามามีส่วนในการถ่วงดุลอำนาจในรัฐสภา จะเห็นได้ว่ามีการให้ผู้นำเหล่าทัพเข้ามาเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งมานั่งอยู่ในสภา ได้มาเห็น มาดู มารู้ได้ด้วยตาว่าการเมืองเกิดอะไรขึ้น มันถึงขั้นต้องทำปฏิวัติรัฐประหารหรือไม่ เพื่อที่เวลาคิดแก้ปัญหาใดๆ ในฐานะเป็นผู้นำเหล่าทัพ จะได้พูด ได้ชี้แจง แสดงเหตุผลในที่ประชุมรัฐสภาให้ปรากฏ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังใช้กองทัพเพื่อทำรัฐประหาร

...และที่สำคัญเวลาที่การเมืองมีการแย่งชิงอำนาจกัน ปกติแล้วก็เป็นเรื่องของนักการเมือง พรรคการเมืองเพียวๆ รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่างๆ ทำให้รัฐบาลเกิดความไม่มีเสถียรภาพ ไม่รู้ว่าจะมีการต่อรองการล้มอำนาจกันเมื่อใด เป็นเรื่องของการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ 

...แต่ปัจจุบัน ส.ว. 250 คนมีสิทธิ์ในการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีได้ด้วย ก็จะเกิดการถ่วงดุลเพราะแม้จะต่อรองกันอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ถ้า ส.ว.ที่เขามีส่วนในการโหวตนายกฯ เขาไม่เล่นกับพวก ส.ส.ด้วย ไม่เอาด้วย ก็ทำให้ไม่สามารถรวมเสียงกันได้เกิน 376 เสียง ก็ทำให้การต่อรองก็อาจจะไร้ผล จึงทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจไม่ให้มีการสวิงไปจากฝ่ายการเมืองมากเกินไป

 ...ส.ว. 250 คนจะต้องทำภารกิจในการช่วยกันประคับประคอง ดูแลการเมืองให้มันเปลี่ยนผ่านไปด้วยความสงบเรียบร้อย ทำให้การโหวตนายกรัฐมนตรีจึงมีส่วนสำคัญที่ ส.ว.ชุดปัจจุบันที่จะทำภารกิจนี้  และเมื่อถึงเวลาครบห้าปีก็ถูกปิดสวิตช์อยู่แล้ว ที่มีการออกมาพูดเรื่องจะให้ปิดสวิตช์ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ การปิดสวิตช์ ส.ว.มันไม่ใช่ไปเปิดปิดแบบนั้น ปิดได้ง่ายๆ แต่มันเปิดโดยประชาชน เพราะในเมื่อประชาชนเขาออกเสียงประชามติให้ ส.ว.มีภารกิจหน้าที่โหวตนายกฯ ดังนั้นจะปิดได้ก็ต่อเมื่อแก้ไขรธน. หาก รธน.ยังใช้อยู่ไม่ได้ถูกแก้ไข สวิตช์นี้ก็ยังเปิดใช้ได้ตลอดไปในช่วงห้าปี และพอผ่านไปห้าปีแล้วสวิตช์นี้ก็ปิดเองอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเรียกร้องอะไร พอถึงเวลาครบห้าปีสวิตช์ก็ถูกปิด

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเป้าหมายสำคัญให้ ส.ว.มาช่วยดูแลการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน อย่าปล่อยให้การเมืองสวิงสวายกันเกินไป อย่าปล่อยให้มีการเล่นการเมืองกันมากเกินไปจนบ้านเมืองกลับไปมีปัญหาแบบเดิม ให้ ส.ว.ช่วยถ่วงดุลเอาไว้

ถามถึงว่าการโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว.จะมีหลักการพิจารณาอย่างไรในการลงมติ วันชัย-ส.ว. กล่าวว่า การทำงานต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกันอยู่แล้วสำหรับการทำงานในสภา เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันโดยเฉพาะการโหวตเลือกนายกฯ

...เรื่องการโหวตนายกฯ มุมมองส่วนตัว ถ้าไล่ดูรายชื่อแคนดิเดตที่เสนอตัวเป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา จากเพื่อไทยคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัยเกษม นิติศิริ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  พรรคพลังประชารัฐ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล

“หากให้ผมเปรียบเทียบแต่ละคน ผมว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์การเมืองในขณะนี้”

...เหตุผลก็เพราะท่านมาจากฝ่ายความมั่นคง มีประสบการณ์การบริหารประเทศมาตลอดห้าปีที่ผ่านมา อีกทั้งมาจากการเลือกตั้งที่ประชาชนให้คะแนนเสียงมากที่สุด เพราะฉะนั้นมันลงตัวพอดี ผ่านการทำงานมาห้าปี และเรื่องความมั่นคงมองดูแล้วก็มีประสบการณ์เข้าถึงกับฝ่ายความมั่นคงได้ ขณะเดียวกันในด้านการผ่านการเลือกตั้ง ก็มีคะแนนเสียงโหวตมาอันดับหนึ่ง สองส่วนนี้จึงเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้ เหมาะกับรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้

...ประการต่อมา หากเปรียบเทียบชื่อต่างๆ คือคุณหญิงสุดารัตน์, ชัยเกษม, ชัชชาติ, พลเอกประยุทธ์, ธนาธร, อภิสิทธิ์และอนุทิน ผมว่าพลเอกประยุทธ์มีประสบการณ์ในการทำงานที่เหนือกว่าคนเหล่านี้ คนอื่นๆ เช่นอภิสิทธิ์แม้จะเคยเป็นนายกฯ มาแล้ว แต่ก็ไม่เคยผ่านสถานการณ์วิกฤติขนาดนี้ และต้องเป็นไปตาม รธน.เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนในการก่อกำเนิดเกิดขึ้น

“พลเอกประยุทธ์เหมาะที่จะสานต่องานต่างๆ เหล่านี้ ทั้งยังเรื่องบุคลิกลักษณะอื่นๆ หากให้ผมตัดสินใจเลือกโดยไม่ได้เกี่ยวกับคนอื่นๆ ผมเลือกพลเอกประยุทธ์ ไม่มีเหตุผลที่จะให้ไปเลือกคนอื่นเลยในสถานการณ์อย่างนี้”

ถามถึงว่าหากผลโหวตเสียง ส.ว.ที่ต้องลงมติแบบเปิดเผย ถ้า ส.ว. 250 คนเทเสียงเลือกพลเอกประยุทธ์หมด ก็ย่อมถูกวิจารณ์ว่าต่างตอบแทน วันชัย กล่าวตอบว่า เสียงวิจารณ์ก็เรื่องปกติ แต่การเลือกเราจะเอาสิ่งที่สนองความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ อยู่ๆ จะให้ผมไปเลือกคุณอภิสิทธิ์ ธนาธร แล้วประชาชนเลือกเขามากี่ล้านเสียง ก็น้อยกว่าพลเอกประยุทธ์ เพราะฉะนั้นมันตอบคำถามได้อยู่แล้ว รวมถึง ส.ส.ส่วนใหญ่เขาเลือก เราเองก็ควรต้องสนับสนุนบุคคลที่ประชาชนส่วนใหญ่เขาเลือก

สถานการณ์อย่างนี้ สิ่งที่ปูฐานมาแบบนี้ ก็ต้องพลเอกประยุทธ์ ใครจะว่าจะนินทาก็ช่าง มันก็มีทั้งสองมุม ในสถานการณ์อย่างนี้พลเอกประยุทธ์เหมาะสมที่สุด

สภาสูงเชื่อถึงปริ่มน้ำก็อยู่ได้

วันชัย-ส.ว. กล่าวอีกว่า จนถึงขณะนี้มองว่าสุดท้ายแล้วตั้งรัฐบาลได้สำเร็จแน่นอน ใครจะมองว่าเสียงปริ่มน้ำยังไงก็แล้วแต่ โดยส่วนตัวมองว่าเสียงปริ่มๆ ก็ดี เพราะเราก็เคยเห็นรัฐบาลที่มีเสียงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาแล้ว ก็อยู่ไม่ได้ ถ้าทำงานแล้วมัวแต่เอาประโยชน์พวกพ้อง เอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญ แม้จะมีเสียง ส.ส. 300 เสียงก็พังในที่สุด

ดังนั้นแม้จะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แต่หากทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนแบบจริงจัง สุดลิ่มทิ่มประตู ไม่โกงกิน ไม่ทุจริต ผมเชื่อเหลือเกินมันจะทำให้ตัวเองเกิดความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และทำให้ตัวเองต้องมองซ้ายมองขวาในสภาด้วย ว่าถ้าเราไม่ทำงานให้เต็มที่เต็มกำลัง เผลอๆ ในสภาก็จะคว่ำเอา การเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจะทำให้เกิดความระมัดระวัง ทำให้ขยันทำงาน เพื่อมาเป็นเกราะในการระมัดระวังป้องกันตัวเองได้ดีที่สุด

ผมเชื่อเหลือเกินว่าในสถานการณ์เวลานี้ที่กำลังตั้งรัฐบาล ถ้าโหวตแล้วได้เป็นนายกฯ (พลเอกประยุทธ์) ผมเชื่อว่าพวกพรรคการเมืองอื่นๆ ก็จะมาขอร่วมรัฐบาลด้วย ตอนนี้อาจจะมีการตั้งท่า เพราะไม่รู้พลเอกประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ จริงหรือไม่ แต่หากผลโหวตของสมาชิกรัฐสภาได้เกิน 376 เสียง ถึงเวลานั้นก็เข้าสู่การฟอร์มจัดตั้งรัฐบาล ยังมีโอกาสเจรจากับคนกลุ่มต่างๆ ได้ถึงตอนนั้น หลังผลโหวตนายกฯ ออกมาโดยได้เสียงหนุนเกิน 376 เสียง ผมเชื่อว่าก็จะมีอำนาจการต่อรองและอำนาจดึงดูด อีกทั้งคนก็อยากมาทำงานด้วย

วันชัย-ส.ว. วิเคราะห์ว่า ผลการออกเสียงเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันเสาร์ที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็พอจะรู้แล้วว่าฝ่ายไหนจะได้เป็นรัฐบาล แล้วพรรคร่วมรัฐบาลจะมีพรรคการเมืองใดบ้าง และจะมีพรรคไหนมาเติมอีกภายหลัง เพราะก็มีบ่อยครั้งพอตั้งรัฐบาลไปเมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี ก็มีเสียงมาเติมภายหลัง หรือไม่หลังการโหวตได้ประธานสภาเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีฝ่ายต่างๆ เข้าไปร่วมด้วยอีก ผมเชื่อเหลือเกินว่าโดยพื้นฐานคนเป็น ส.ส.คงไม่มีใครที่อยากคิดเป็นฝ่ายค้านตลอดระยะเวลาร่วม 4-5 ปี  พรรคที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายค้านต่างๆ ผมเชื่อว่าทุกพรรคอยากเป็นรัฐบาลด้วยกันทั้งสิ้น

-การเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำก็อาจมีข้อกังวล โดยเฉพาะจากนักธุรกิจ นักลงทุนที่มองว่าถ้าเป็นลักษณะแบบนั้นรัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพ อยู่ได้ไม่นาน?

ผมว่าคนตั้งรัฐบาลเขาก็คงไม่ได้คิดตั้งรัฐบาลแบบปริ่มๆ อย่างที่ผมบอก คนตั้งรัฐบาลผมก็เชื่อว่าเขาก็จะพยายามตั้งให้ได้เกิน 280 เสียงขึ้นไป ส่วนหากจะถามว่าจะมาได้ถึงขนาดนั้นหรือไม่ ผมก็เชื่อว่าจะมาและจะมี ยิ่งสถานการณ์แบบนี้ ซีกเพื่อไทยเองถามว่าจะอยู่กันแบบนี้ตลอดสี่ปี แล้วจะได้ประโยชน์อะไรกับตัวเขาเองและกับพรรค และคนในพื้นที่เขาเอง อีกทั้งยิ่งปล่อยให้วันเวลา ขนาดพลเอกประยุทธ์ที่อยู่มาด้วยการรัฐประหารอยู่มาห้าปี ยังทำให้เสียงหนุนเปลี่ยนมาได้ขนาดนี้ แล้วหากพลเอกประยุทธ์อยู่ไปอีกสี่ปี ผมว่าจะไม่กินคะแนนมากไปกว่านี้หรือ ทั้งที่มาทั้งการเมืองและการทหารผสมผสานกันด้วย มันจะไม่กลืนไปมากกว่านี้หรือ หากจะมายืนตายสู้กันไปอย่างนี้ แล้วจะแห้งตายไปหรือเปล่า

ผมว่าคนที่เขาเป็น ส.ส.เขาคิดได้เอง คุณสังเกตดูช่วงเลือกตั้งก็มีหลายกลุ่มในเพื่อไทยแตกทัพมาอยู่กับพลังประชารัฐตั้งเยอะ แต่บางกลุ่มเขามาไม่ได้เพราะมองว่าหากเปลี่ยนอาจไม่ได้รับเลือก แต่ตอนนี้ได้รับเลือกตั้งแล้ว มันไม่มีข้อผูกมัดอะไร ผมก็เชื่อว่าความต้องการเป็นอิสระของเขาอาจทำให้กล้าตัดสินใจอะไรมากขึ้น แต่ตอนเลือกตั้งเขาอาจต้องอาศัยชื่อเครดิตพรรคในการลงเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ได้รับเลือกตั้งแล้วก็มีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง ความคิดทางการเมืองของแต่ละคนแต่ละพื้นที่ก็อาจเปลี่ยนได้

 วันชัย-ส.ว. กล่าวอีกว่า การเมืองต่อจากนี้ไปผมมองว่า บ้านเมืองจะเรียบร้อยขึ้นและจะนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยตามความต้องการของประชาชน เพราะว่าเราเคยมีประชาธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว ในที่สุดเราก็เห็นการโกงบ้านโกงเมือง จนเกิดการชุมนุมการประท้วง บ้านเมืองวุ่นวายจากการเป็นประชาธิปไตยจ๋า เราเห็นมาแล้ว ในขณะเดียวกันเราก็เห็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ เราก็เห็นมาแล้ว ซึ่งสังคมโลกอาจมองในแง่มุมหนึ่ง แต่คนในสังคมบางส่วนก็มองว่าสงบดี แต่บางส่วนอาจมองว่าอึดอัด แต่อย่างไรก็ตามบ้านเมืองต้องเป็นประชาธิปไตย ซึ่งก่อนเป็นประชาธิปไตย คสช.เขาเคยบอกไว้ว่า เอาแบบผสมผสานดีไหม เอาประชาธิปไตยส่วนหนึ่ง เอามาจากฝ่ายความมั่นคงอีกส่วนหนึ่ง ผมจึงมองว่ามันเกิดความลงตัว

ที่สำคัญพลเอกประยุทธ์ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากประชาชน มันเลยเกิดภาพว่าคนที่มาจากรัฐประหาร คนส่วนใหญ่ต้องการให้เป็นนายกฯ ต่อไป และหากท่านสามารถประนอมอำนาจฝ่ายเลือกตั้ง ฝ่ายการเมือง และฝ่ายที่มาจากรัฐประหารให้พอดีกันได้ ก็จะทำให้เกิดความลงตัว ทำให้การเมืองเดินไปด้วยความสงบเรียบร้อย อาจต้องปรับ ครม.กันบ้าง แล้วในที่สุดผ่านไปสักพักก็จะเกิดความลงตัวพอดี

-ไม่เชื่อว่าอาจเกิดปัญหาในการตั้งรัฐบาล เช่น ประชาธิปัตย์เสียงแตกกันเอง มาไม่ครบ 52 เสียง?

ก็เป็นไปได้ แต่รัฐบาลเสียงข้างน้อยผมเชื่อว่าไม่มีใครตั้ง เพราะตั้งแล้วก็ไปไม่รอด ไม่เกิดประโยชน์อะไร ก็อาจจะมีเสียงเอาด้วยไม่เอาด้วยกับการร่วมรัฐบาล ก็เหมือนกับทุกพรรคการเมือง บางส่วนอาจจะมาด้วย แต่บางส่วนไม่มา ที่เป็นเรื่องปกติ

-มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ส.ว.ชุดปัจจุบันเป็นฐานการเมืองเพื่อช่วย คสช.สืบทอดอำนาจ  จะเป็นแรงเสียดทานในการทำงานตลอดห้าปีจากนี้หรือไม่?

คงไม่สร้างแรงเสียดทานใดๆ หากเราทุกคนที่เป็น ส.ว.ตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีตามที่ รธน.บัญญัติไว้  อย่าสักแต่ว่ามาเป็น ส.ว.เพื่อเกียรติยศ ถ้าเข้ามาแล้วตั้งใจทำงานจะช่วยลดแรงเสียดทานที่ใครมาครหานินทาลงได้

ผมคิดและมั่นใจโดยความเห็นส่วนตัวว่าคนที่เขาเลือกคนมาเป็น ส.ว. เขาก็ต้องเลือกจาก หนึ่ง- เป็นคนดี สอง-เป็นคนมีความรู้ความสามารถ สาม-ต้องเข้ามาและทำงานได้ และประการสุดท้ายเป็นคนมีแนวคิดเหมือนกัน ไปด้วยกันได้ เพราะถ้านำคน 250 คน โดยต่างคิดต่างพวก ต่างกลุ่ม ต่างเหล่าแล้วนำมารวมกัน ก็อาจจะมามัวแต่นั่งทะเลาะกัน จิกตีกัน งานก็ไม่เดิน

ดังนั้นข้อครหาว่าเป็นพวกกันบ้าง กลุ่มเดียวกันบ้าง เป็นเรื่องปกติ เพราะเพื่อไทยก็ต้องเป็นคนที่มีแนวคิดเหมือนกัน เช่นเดียวกับประชาธิปัตย์ก็ต้องเป็นคนที่มีแนวคิดเหมือนกัน แนวคิดของ คสช.ก็ต้องเป็นคนที่มีแนวคิดในกลุ่มหรือแวดวงที่มีแนวคิดคล้ายกัน หากไปเอาคนที่ต่างแนวคิดก็จะทำให้มามัวแต่ทะเลาะกัน งานก็ไม่เดิน ข้อครหานินทาที่ถามมาจึงเป็นเรื่องปกติทางการเมือง

                วันชัย-ส.ว. กล่าวถึงการสร้างผลงาน ส.ว.ต่อจากนี้ว่า ในระยะเวลาหกเดือนต้องทำผลงานให้ปรากฏ โดยที่หากบ้านเมืองมีอะไรไม่ดีไม่ถูกต้อง แม้จะเป็นพวกเดียวกันก็ต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์ กล้าพูดแสดงความคิดเห็น อะไรที่หากถูกต้องก็ต้องสนับสนุน หากเห็นว่าเป็นพวกเดียวกันแล้ว แต่ทำอะไรผิด ทำอะไรไม่ถูกต้องในลักษณะที่เล่นพรรคเล่นพวก แล้วเราก็พลอยเฉยๆ ไป ผมว่าอย่างนี้ก็จะถูกข้อครหานินทาได้ เพราะฉะนั้นอะไรไม่ถูกต้อง อะไรทำแล้วไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศชาติ ส.ว.ในฐานะผู้แทนปวงชาวไทยตามที่ รธน.บัญญัติไว้ ต้องกล้าแสดงออกแม้จะเป็นพวกเดียวกันก็ตาม  แม้จะเป็นบุคคลที่แต่งตั้งเรามาก็ตาม เราต้องกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน สิ่งนี้จะช่วยลดข้อครหา พวกตัวเองทำผิดไม่ถูกต้องแล้วก็ยังนั่งเฉยๆ ผมว่าแบบนี้ก็จะทำให้คนติฉินนินทาและทำให้ข้อครหานั้นกลายเป็นความจริงไปได้

รัฐธรรมนูญให้ ส.ว.ตั้งกระทู้ถามได้ หากเห็นว่ารัฐบาล รัฐมนตรีคนไหน รวมถึงนายกรัฐมนตรี ทำอะไรแล้วเป็นที่เคลือบแคลง เป็นที่สงสัย เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ หากต้องตั้งกระทู้ก็ต้องทำ หากอะไรที่ต้องทำเป็นญัตติ โดยอาศัยความร่วมกันทั้งสภา ก็ต้องเป็นญัตติ อะไรที่ต้องทำในลักษณะการอภิปรายทั่วไป ก็ต้องอภิปรายทั่วไป อย่ามองเป็นพวกเดียวกันแล้วนั่งเฉย แล้วมาเล่นแต่ฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายตรงข้ามว่าอะไรเราก็ซัดเขาโครมๆ ปกป้องแต่พวกเดียวกัน ไปๆ มาๆ เราก็จะกลายเป็นกลุ่มบุคคลที่ไร้ราคา เป็นบุคคลไม้หลักปักขี้เลน

 ส.ว.ต้องเป็นหลักของบ้านเมือง ทั้งการทำให้การเมืองเดินไปด้วยความเรียบร้อยและทำให้หลักประชาธิปไตยเข้มแข็งต่อไป ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ฝ่ายบริหารที่มาจากฝ่ายการเมืองเกิดความเข้มแข็ง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด อย่าเอาพวกเป็นสำคัญ

-บทบาท ส.ว.ชุดปัจจุบันในช่วงห้าปีต่อจากนี้ จะเป็นลักษณะสภาพี่เลี้ยง?

จะเป็นทั้งพี่และเพื่อน คำว่าพี่ก็คือ เป็นสภาที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ ส่วนคำว่าเพื่อนก็คือ ช่วยกันประคับประคองการเมือง ก็จะเป็นทั้งพี่และเพื่อนในการช่วยกันประคับประคองทางการเมือง มองว่า ส.ว.ชุดปัจจุบันไม่ได้เป็นพี่เลี้ยงหรือทำตัวเป็นสภาสูง แต่คราวนี้เป็นทั้งพี่และเพื่อน ในการช่วยกันกลั่นกรองและประคับประคองทางการเมืองให้มันเดินไปได้ด้วยความเรียบร้อย คืออย่างที่ผมบอกเรามีสิทธิ์ในการโหวตให้คนเป็นรัฐบาล แต่เราไม่มีสิทธิ์ล้มรัฐบาล ส่วน ส.ส.มีสิทธิ์ล้มรัฐบาล แต่ตั้งรัฐบาลด้วยตัวเองยากมาก

เมื่อถามถึงท่าทีทางการเมืองว่าหากตั้งรัฐบาลเสร็จ สภาเปิด ถ้าจะมีบางพรรคการเมืองรณรงค์เรียกร้องให้มีการแก้ไข รธน. ในฐานะสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งจะมีแนวทางพิจารณาอย่างไร วันชัย-ส.ว. ให้ทัศนะว่ารัฐธรรมนูญต้องใช้ไปสักระยะ เมื่อใช้ไปแล้วหากเห็นพ้องต้องกันทั้งรัฐสภาว่ามีปัญหา เพราะกติกากำหนดไว้ว่าต้องเห็นพ้องต้องกัน การที่จะมีบางพรรคการเมืองชอบหรือไม่ชอบเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่กติกาเขียนไว้ว่าการแก้ไขต้องเป็นความเห็นชอบด้วยกันของทั้ง ส.ส.และ ส.ว. และฝ่ายค้าน รวมถึงประชามติของประชาชน ถ้าทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกัน ผมคิดว่าถ้าแก้ได้ก็ต้องแก้ไข แต่การเห็นพ้องต้องกันต้องเกิดจากทั้งหมดเห็นแล้วว่ามีปัญหาจริงๆ หากเป็นลักษณะฝ่ายหนึ่งเห็นว่ามีปัญหา  แต่อีกฝ่ายมองว่าไม่เป็นปัญหา แบบนี้การแก้ไขก็ยาก การให้ใช้ไปสักระยะจะเป็นตัวชี้ว่าจะแก้ไขได้หรือแก้ไขไม่ได้ ควรแก้ไขหรือไม่.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

..................................................................

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"