สงครามการค้าฉุด “ส่งออก”


เพิ่มเพื่อน    

 

                สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาส 1/2562 ออกมาเรียบร้อยแล้ว พบว่าขยายตัวเพียง 2.8% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 17 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2557 โดยสภาพัฒน์ระบุถึงเหตุผลหลักๆ ของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวว่า มาจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ดูเหมือนจะรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ เป็นผลให้การส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี ขยายตัวติดลบถึง 3.6% อีกด้วย

                นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการเมืองภายในประเทศ ที่แม้จะมีการเลือกตั้งไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล จนกลายเป็นการยืดเยื้อต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้ส่วนหนึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และประชาชนในประเทศบ้าง จนกลายเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม

                ด้วยปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ เป็นผลให้ “สภาพัฒน์” ตัดสินใจทบทวนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2562 ใหม่ โดยลดลงมาอยู่ที่ 3.6% จากคาดการณ์เดิมที่ 4% ด้วยเหตุผลข้างต้นเป็นหลัก คือ ปัญหาสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนเริ่มสะท้อนที่ภาคการส่งออกของไทยที่มีการขยายตัวแบบติดลบให้เห็น

                "สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ไม่มากเท่าที่ควร เป็นผลจากการลงทุนของภาครัฐ และการใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจที่ยังทรงตัวเท่าเดิม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง โดยอาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่มากเท่าที่ควร คือ ในช่วงเลือกตั้ง ที่ทำให้การตัดสินใจในเชิงธุรกิจต้องรอความนิ่งจากการเมืองก่อน ดังนั้นหากการเมืองนิ่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ คิดว่าบรรยากาศต่างๆ จะกลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณของปี 2563 ที่จะเข้าสู่กระบวนการด้านรัฐสภา และประกาศใช้ได้ทันในเดือน ต.ค.2562"

                ขณะที่ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” มองว่า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทยนั้น มาจากปัจจัยหลักของการชะลอตัวลงของภาคการส่งออกสินค้า ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก พร้อมมองอีกว่า ในระยะต่อไป เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากปัจจัยเสี่ยงหลักจากภาคต่างประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐและจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการใช้จ่ายภาคเอกชน

                ต้องยอมรับว่า ปัจจัยเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่มีผลต่อการขยายตัวของภาคการส่งออก ซึ่งมีผลมาถึงภาพรวมเศรษฐกิจของไทยด้วย แม้ว่าหลายฝ่ายจะประเมินว่าไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาดังกล่าว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีผลกระทบทางอ้อม ที่มีทั้งแง่บวกและแง่ลบเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

                ภาคเอกชนอย่าง “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มอี (TMB Analytics)” ได้ทำการประเมินภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2562 โดยระบุว่า มีโอกาสขยายตัวได้เพียง 1.5% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 4.3% สืบเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังเติบโตได้ แต่ก็เป็นแรงส่งที่ไม่แรงเพียงพอที่จะทำให้ภาพการค้าของโลกดีขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าภาคการส่งออกของไทยในปีนี้ไม่อาจพึ่งพาตลาดส่งออกหลักได้

                สอดคล้องกับ “ธนาคารโลก (World Bank)” ที่ประเมินว่า ปัจจัยเสี่ยงเรื่องความตึงเครียดทางการค้าของตลาดโลก ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้น ถือเป็นประเทศที่มีความท้าทายสำคัญต่อภาคการส่งออกของหลายประเทศในภูมิภาค ซึ่งรวมถึง “ไทย” ด้วย โดยธนาคารโลกมองว่า ในปี 2562 นี้ ภาคการส่งออกของไทยจะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 5.7% จาก 5.9% ในปีก่อนหน้า และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.5% ในปี 2563 อีกด้วย

                นั่นอาจเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ปีนี้ภาคการส่งออกของไทยคงจะ “เหนื่อย” หน่อย และอาจจะเป็นแรงส่งที่ไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเหมือนในช่วงก่อนๆ การหันพึ่งพาปัจจัยเสริมจากภายในประเทศ ผ่านการกระตุ้นต่างๆ คงเป็นอีกทางเลือกที่รัฐบาลเร่งดำเนินการ เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ยังสามารถขยายตัวอยู่ได้.

 

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"