สพฐ.เผยช่วย นร.ยากจนมีโอกาสทางการศึกษาแล้ว 5.1 แสนคนทั่วประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     วันที่ 30 พ.ค. ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผช.เลขาฯ กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมชี้แจงการดำเนินงานจัดทำข้อมูลระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน ประจำภาคเรียนที่ 1/2562 ผ่านระบบวีดีโอทางไกล โดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ว่า ความสำเร็จของโครงการเงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข (conditional cash transfer - CCT) ของโรงเรียนสังกัด สพฐ. ที่ได้ดำเนินการร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในปีการศึกษาที่ผ่านมา สามารถช่วยนักเรียนยากจนพิเศษได้รับเงินอุดหนุนเพื่อบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียน จำนวน 510,040 คนทั่วประเทศ แต่ก็ยังมีเด็กขาดโอกาสและยังไม่ได้รับการคัดกรองอีกจำนวนมาก จึงขอความร่วมมือถึงผู้อำนวยการสำนักเขตพื้นที่การศึกษา และผู้เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ กำกับติดตาม รายงานเรื่องนี้ให้ทันตามกำหนดระยะเวลา เพราะทาง กสศ. มุ่งหวังตั้งใจจะดูแลนักเรียนทุกคนให้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในทางการศึกษา ซึ่งเงินจำนวน 1,600 บาทต่อคน ถือว่ามีคุณค่าและประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งหมดจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนทุกคนอย่างเสมอภาค
    " เรื่องของการคัดกรองเด็กเป็นเรื่องของโอกาสทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติและยังเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการร่วมกัน ส่วนปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมา พบโรงเรียน 2,310 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่ไม่ได้เข้าไปดำเนินการกรอกข้อมูลในระบบคัดแยกเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ ส่งผลให้ผู้เรียนกว่า 30,000 คน เสียโอกาสไป ”ผช.เลขาฯ กพฐ. กล่าว
    ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2562 กสศ. ได้มีการขยายกลุ่มเป้าหมายการให้ทุนอุดหนุนช่วยเหลือเพิ่มเติม จากเดิมให้ทุนเฉพาะกลุ่มนักเรียนชั้น ป.1-ม.3 แต่ปีนี้จะขยายผลลงไปตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2-3 จนถึง ม.3 ผ่านการทดลองนำร่องก่อนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.10 จังหวัด ได้แก่ 1.เชียงใหม่ 2.เชียงราย 3.ขอนแก่น 4.ร้อยเอ็ด 5.กาญจนบุรี 6.นนทบุรี 7.สระแก้ว 8.สุราษฎร์ธานี 9.ภูเก็ต และ10.ยะลา เพื่อทดลองให้ระบบการทำงาน การบันทึกข้อมูลเกิดความลงตัวมากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.บางส่วนจะเป็นพี่เลี้ยงขยายไปยังโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ทั่วประเทศ 200 โรงเรียน มีนักเรียน 20,000 คน เพื่อช่วยเหลือเรื่องระบบคัดกรองต่างๆ ให้เด็กได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนต่อไป 
    นพ.สุภกร กล่าว่าต่อว่า ในปีการศึกษา 2561 พบว่า มีนักเรียนที่พลาดโอกาสรับทุน 2 กลุ่ม คือ 1.นักเรียนไม่ขอรับเงินอุดหนุนจำนวน 83,947 คน และ 2.สถานศึกษาบันทึกข้อมูลยังไม่ครบ จำนวน 34,742 คน ทั้งหมดรวมแล้วกว่า 118,689 คน ส่งผลให้นักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์นักเรียนยากจนพิเศษเสียโอกาสได้รับเงินอุดหนุนสร้างโอกาสทางการศึกษานี้ไป ดังนั้น หากในปีการศึกษา 2562 ครูแก้ไขทบทวนหรือคัดกรองแล้วพบว่า เด็กเป็นไปตามเกณฑ์สามารถเติมชื่อเข้ามาใหม่ได้ และทาง กสศ.จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนต่อไป จึงขอความร่วมมือให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้คำแนะนำแก่ครูและสถานศึกษาร่วมกันกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อไม่ให้มีนักเรียนเสียโอกาสแม้แต่คนเดียว
    " ผมเชื่อว่าในระยะยาว หากทุกฝ่ายร่วมกันทำระบบให้มีความน่าเชื่อถือจะส่งผลดีถึงภาพรวมนักเรียนทั้งประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสำนักงบประมาณ คณะรัฐมนตรี และสภาฯ ในขั้นตอนต่อไป และอาจทำให้นักเรียนยากจนในสังกัด สพฐ. จำนวน 1.2 ล้านคน ได้รับความช่วยเหลือด้วย  ซึ่ง กสศ.ได้ปรับปรุงระบบการทำงานให้ดีขึ้น เพื่อลดเวลาและภาระการทำงานของครู จากการบันทึกข้อมูลของครู  4 แบบฟอร์ม เหลือ 1 แบบฟอร์ม ส่วนการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน 1 ครั้ง ข้อมูลดังกล่าวจะใช้ได้ 3 ปี ที่สำคัญครูที่ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลนักเรียนทุนเสมอภาคทางการศึกษาจะได้ค่าเดินทางในการลงพื้นที่ นอกจากนี้ ปีการศึกษา 1/2562 จะมีการคัดกรองเฉพาะนักเรียนใหม่ชั้น ป.1 ป.4 ม.1 เท่านั้น และขอเชิญชวนครูทั่วประเทศดาวน์โหลดจดหมายข่าว ได้จาก www.eef.or.th. เพื่อติดตามข่าวสารหรือสายด่วน 02-079-5475 กด 1" ผู้จัดการ กสศ. กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"