แบ่งพรรค แยกก๊ก ชิงรัฐมนตรี วังวนน้ำเน่า ปชช.เอือมระอา


เพิ่มเพื่อน    

 

        พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2562 เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2562 เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

                1.นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 2.นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง 3.นายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง จึงแต่งตั้งให้ผู้มีนามดังกล่าวเป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามความในมาตรา 116 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

                ขณะที่นายชวนให้สัมภาษณ์ภายหลังรับพระบรมราชโองการว่า สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ​จะส่งหนังสือเชิญประชุมสภาฯ และประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อเรียกประชุมในวันที่ 5 มิ.ย. มีวาระสำคัญ เวลา 09.00 น. ให้ 4 ส.ส.​ที่ยังไม่ได้กล่าวปฏิญาณตน กล่าวปฏิญาณตนต่อที่ประชุมสภาฯ ก่อนปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ เวลา 11.00 น. มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระสำคัญ คือ เลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยจะใช้หอประชุมใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ สำหรับการประชุมสภาฯ​ จะนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 6 มิ.ย. มีวาระสำคัญ ตั้งคณะกรรรมาธิการพิจารณายกร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ฉบับใหม่ รวมถึงกำหนดวันประชุมสภาฯ ในสมัยประชุมด้วย

                "เสาหลัก" นิติบัญญัติผ่านกระบวนการพร้อมทำหน้าที่ กำหนดวาระสำคัญ เลือกนายกรัฐมนตรี เตรียมไปลุ้นในวันที่ 5 มิ.ย. จะได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยหรือไม่ รอทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ทั้ง 750 คน เป็นผู้ตัดสิน ร่วมโหวตตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท้ายที่สุดขั้วพรรคพลังประชารัฐบวกพรรคพันธมิตรการเมือง ผนึกกำลังสมาชิกวุฒิสภา คงยากจะพลิกโผ สำเร็จลุล่วงทั้งตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก และ นายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ

                ในส่วนของพรรคเพื่อไทยกับพรรคพันธมิตรรวมทั้งสิ้น 7 พรรค กำลังเฟ้นหาตัวนายกรัฐมนตรีมาลงแข่งขันเช่นกันพอเป็นพิธี แต่เป้าหมายหลัก สิ่งที่ต้องเตรียมตัวจัดองคาพยพทำหน้าที่ในสภาฯ ในฐานะฝ่ายค้านมากกว่าประเด็นการจัดตั้งรัฐบาล ซีกพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำกำลังเดินหน้า เร่งเครื่อง

                การจัดตั้งรัฐบาล การแบ่งเค้กโควตารัฐมนตรีที่ต้องกระจายไปยังกลุ่มต่างๆ ทั้งจากพรรคพลังประชารัฐเอง และพรรคพันธมิตรร่วมรัฐบาล นาทีนี้มีข่าวออกมาไม่สู้ดี 3 พรรคหลักกับอีกหนึ่งก๊ก ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และกลุ่มสามมิตรใน พปชร. ที่ยังตั้งท่า "แยกเขี้ยว กดดัน" ต่อรองกันไปมา ยังไม่ลงตัว

                เริ่มจากพรรคพลังประชารัฐ แม้จะมีการมอบหมายให้ ‘อุตตม สาวนายน’ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับ ‘สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์’ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ประสานหลักในการพูดคุยกับพรรคพันธมิตรในขั้วพรรคพลังประชารัฐ แต่ในพรรคยังมีผู้ยิ่งใหญ่จากขั้วของ 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่มีเสียงร่ำลือมีส่วนในการตัดสินใจต่อโผ ครม.ไม่น้อย 

                พรรคพลังประชารัฐยังมีหนึ่งกลุ่มที่ทรงอิทธิพล กลุ่มสามมิตรของก๊วน 3 ส. สมคิด จาตุศรีพิทักษ สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มี ส.ส.กว่า 30 คนในมือ ออกอาการงอแงเมื่อผลการพูดคุยผู้มากบารมีในพรรคพลังประชารัฐ ที่ตั้งวงถกกันในทางลับหลายต่อหลายรอบยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะถูกตัดโควตาในกระทรวงที่หมายตาเอาไว้หลายที่

                พรรคประชาธิปัตย์ 52 ส.ส. ปัญหาภายในสองก๊กหลัก ระหว่างก๊ก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้ากับอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้านทานกระแสยึดพรรคเป็นผลสำเร็จ โดยมีทั้งแกนนำมากบารมีที่คนในพรรคให้ความเกรงใจให้การสนับสนุนอยู่ ผนวกกับ ส.ส.ในกลุ่มที่ต่างเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ก๊ก ถาวร เสนเนียม ที่ว่ากันว่ามีทั้ง ส.ส.และทีมงานให้การสนับสนุนไม่น้อยเช่นกัน เรื่องการเจรจาแบ่งโควตากระทรวงสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ แม้นาทีนี้จะเอนน้ำหนักมาทางขั้วของหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน แต่อีกขั้วก็อยู่ในสถานะที่ก็ไม่อาจมองข้าม จะไม่จัดสรรให้บ้างก็ไม่ได้เช่นกัน

                ยิ่งมีข่าวระยะหลัง ผู้มากบารมีพรรคพลังประชารัฐยอมประชาธิปัตย์เกินไป ถึงขนาดยอมยกกระทรวงเกรดเอ ที่จากเดิมไม่ยอมปล่อยเด็ดขาดอย่าง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ตีตราจองต้องได้นั่งรัฐมนตรีว่าการเท่านั้น ไม่นับรวมเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยอีกหลายตำแหน่งที่ต้องกระจายไปในหลายกระทรวง ต้องอยู่ในความดูแลของประชาธิปัตย์เท่านั้น

                ทำให้ขั้วของ "สามมิตรออกอาการไม่สบอารมณ์" โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมศักดิ์หมายปองเอาไว้ หวังจะเข้าไปสานต่อนโยบายที่ได้พูดไว้ตอนหาเสียง ปั้นเป็นผลงานโบแดง สร้างชื่อให้ทั้งกลุ่มการตัวเองและรัฐบาล เลยออกมาเขย่าย้ำเตือนกระทรวงเกษตรฯ ต้องอยู่ในพลังประชารัฐและสามมิตรเท่านั้น

                ฟากฝั่งภูมิใจไทยด้วยจำนวน ส.ส. 51 ที่นั่ง ก็หมายตากระทรวงเกรดเอ ที่ต้องการส่งคนของตัวเองไปนั่งระดับรัฐมนตรีว่าการเท่านั้น ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และก็ไม่รวมรัฐมนตรีช่วย ที่แว่วเสียงจะได้มากถึง 4 กระทรวงหลัก ก็ยื่นคำขาดเช่นกัน ห้ามใครมาแตะ ห้ามเปลี่ยนแปลงเป็นอันขาด

                ผลการเจรจาอันยืดเยื้อ กระทรวงเกรดเอดึงกันไปดึงกันมา ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ กลายเป็นปัญหาพันกันไปกันมา บางกระทรวงถ้ายกให้พรรคนี้ก็กลัวคนในพรรคจะไม่พอใจ ครั้นจะดึงกลับมาดูแลเองเอาไว้เป็นโควตากลางของพลังประชารัฐก็ต้องมีกระทรวงไปแลกอีก ซึ่งแต่ละที่ก็เริ่มมีการวางคนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าดึงกลับมา ปัดคนเก่าออก ก็จะสร้างความไม่พอใจให้คนภายในด้วยกันเองอีก

                กลายเป็นภาวะงูกินหาง อยู่ในช่วงอึมครึม ที่ผู้มีบารมีในพรรคพลังประชารัฐกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ตกอยู่ในสปอตไลต์ ทั้งกลุ่มก๊กในพรรคพลังประชารัฐจับตา รวมไปถึงคนต่างพรรคที่เฝ้ารอดูว่าจะได้ตามข้อตกลงหรือไม่

                เพียงแค่ตั้งต้นก็เริ่มส่อเค้าไปไม่สวย ขณะเดียวกัน ประชาชนที่เบื่อหน่ายการเมืองมานาน เจอภาวะแบบนี้ยิ่งหน่ายการเมืองไปอีก ถอยหลังไปยึดอำนาจ 2557 ท่ามกลางคำประกาศกร้าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้ามาปฏิรูปการเมือง มีการเขียนรัฐธรรมนูญ เขียนกฎหมายลูกกันใหม่ แต่ท้ายที่สุดได้เหล้าเก่าในขวดใหม่ หรือไม่ก็ได้ ส.ส.หน้าใหม่เข้ามา แต่บางคนก็มุ่งแต่ความดังมากกว่าความสนใจในการทำหน้าที่ ส.ส.อย่างแท้จริง

                ภาวะรัฐบาลเกือบ 20 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล มีปัญหาซ้อนปัญหา ถูกตั้งคำถามจะสามารถประคับประคองไปได้นานแค่ไหน

                เพียงเริ่มต้นสร้างความเอือมระอาให้ประชาชน นักการเมืองอาศัยช่องทางเลือกตั้งเป็นทางผ่าน ไม่สนใจที่จะปฏิรูปตัวเอง ปฏิรูปพรรค วังวนน้ำเน่า วงจรอุบาทว์หวนกลับ

                ยังไม่ทันได้ทำงาน แต่นักการเมืองตั้งต้นด้วยความขัดแย้ง แบ่งพรรค แยกก๊ก แก่งแย่งช่วงชิงตำแหน่ง ต่อรองผลประโยชน์กันเสียแล้ว!!.

 

                                 ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"