คำขอต่อรัฐบาลบิ๊กตู่2


เพิ่มเพื่อน    

             เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทยก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ด้วยคะแนน 500 เสียง

                ถือว่าเป็นการสิ้นสุดความอึมครึมมาตลอดเกือบสองเดือน ตั้งแต่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่  24 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา นับเป็นการเลือกตั้งที่ใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลยาวนานที่สุดกว่า 2 เดือน ซึ่งความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเศรษฐกิจไปทุกภาคส่วน ทั้งภาคการค้า อุตสาหกรรม และตลาดหลักทรัพย์ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นที่มีการสำรวจออกมา ล้วนเป็นขาลงไปทุกดัชนี

                ทั้งนี้ การที่ได้นายกฯ คนเดิมกลับมา ก็เป็นเรื่องการันตีได้ระดับหนึ่งว่า นโยบายทางด้านเศรษฐกิจน่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะทีมงานบริหารคือทีมเดิม ซึ่งเชื่อว่าภาคเอกชนจะขานรับและเร่งเครื่องเดินหน้าทำธุรกิจอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องห่วงว่าจะต้องเจออะไรที่เปลี่ยนแปลงแบบ 360 องศา

                แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเจอ ก็คือเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล ที่อยู่ในภาวะที่หมิ่นเหม่และมีความก้ำกึ่งกับเสียงของขั้วฝ่ายค้าน สังเกตจากคะแนนเสียงที่ได้รับการโหวตเป็นนายกฯ นั้น แม้จะได้คะแนนถึง 500 เสียง แต่เมื่อตัด ส.ว.ออกไป 250 คน ก็จะเหลือเพียง 250 ส.ส. ซึ่งชนะคะแนนเสียงขั้วฝ่ายค้ายเพียง 6 คะแนนเท่านั้น

                ฉะนั้นต้องบอกไว้ก่อนว่า การบริหารประเทศสมัยที่ สองของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน เพราะแค่ยกหนึ่งในการเจรจาต่อรอง แบ่งเค้กกระทรวงก็แทบจะเอาตัวไม่รอด เจอเขี้ยวเล็บของบรรดานักการเมือง เจรจาบีบเค้นกันจนสนิทกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเลยทีเดียว

                ไม่พอเท่านั้น การที่เป็นรัฐบาลผสม ที่เกิดมาจากหลากหลายพรรค หลากหลายพวก ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเจอกับอะไรที่สาหัสสากรรจ์ มากกว่าการเป็นรัฐบาลสมัยแรกมาก เพราะต่อจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเข้าสู่สังเวียนการเมืองเต็มตัว ซึ่งทุกอย่างจะต้องจัดการทั้งมุ้งภายในและมุ้งพรรคร่วม ที่ล้วนแล้วแต่เขี้ยวลากดินและพร้อมที่จะสร้างเงื่อนไขมากมายในการต่อรองผลประโยชน์

                ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปก็คือ การมีเสียง ส.ส.เพียงปริ่มน้ำ จะส่งผลต่อการผลักดันกฎหมายต่างๆ มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากคุมไม่ได้ อายุของรัฐบาลก็คงจะอยู่ได้ไม่นานนัก นี่คือสิ่งที่หลายฝ่ายและภาคเอกชนค่อนข้างมีความกังวลและอยากเห็นฝีมือบิ๊กตู่ จะจัดแถวนักการเมืองได้เหมือนกับการออกคำสั่งลูกน้องในค่ายทหารได้หรือไม่

                ล่าสุด ในการตั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ล่าสุด ต่างก็เห็นพ้องตรงกันว่า เศรษฐกิจในปี 2562 จะลดลงแน่นอน เพราะส่งออกไตรมาสแรกของปีนี้ติดลบ 1.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 6.7%  แถมไทยเรายังมีปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้า ซึ่งส่งผลให้การจัดสรรและเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ล่าช้าออกไปด้วย เพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังอาจขยายตัวชะลอลงกว่าที่คาด

                ดังนั้น ภาคเอกชนจะมีการจัดทำข้อเสนอสมุดปกขาวเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้ทราบถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ โดยเนื้อหาของสมุดปกขาวในครั้งนี้ คือ การเรียกร้องให้ทำอย่างไรก็ได้ให้คนมีเงินนำเงินออกมาใช้ให้มากที่สุด เกิดการกระตุ้นในประเทศให้มีและหมุนเวียนในประเทศ เช่น การลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงนี้ซบเซา รวมถึงการทบทวนความจำเป็นปลดล็อกมาตรการแอลทีวี ที่ต้องดำเนินการอย่างสมดุลไม่ให้มีการเก็งกำไร กระตุ้นสินค้าเกษตร ขยายตลาด พร้อมมีมาตรการทางการเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอี ส่วนมาตรการผลักดันราคาสินค้าเกษตร จะประกันรายได้หรือรับจำนำก็ได้ แต่ขอให้ควบคุมดูแลและปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน. 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"