"ครูจิตวิทยา"ในโรงเรียน ฮีโร่..สแกนปัญหาเด็ก


เพิ่มเพื่อน    

        บ่อยครั้งที่เราเคยได้ยินแต่ หมอจิตวิทยา ล่าสุดมีการอบรมทักษะ ครูจิตวิทยา ขึ้นในพื้นที่ จ.นครราชสีมา หรือเมืองย่าโมที่เรารู้จักกันดี ซึ่งนำโดย รพ.จิตเวชโคราช จับมือ สพม.31 จัดอบรมความรู้และทักษะครูโรงเรียนระดับมัธยม ให้เป็นครูจิตวิทยาประจำโรงเรียน ยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยมัธยมเมืองย่าโมที่มีกว่า 60,000 คน เพิ่มประสิทธิภาพการเรียน ป้องกันและช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหา อาทิ ติดเกม, ซึมเศร้า, มีปัญหาภายในครอบครัว เชื่อมโยงกับ รพ.ในพื้นที่ รพ.เชี่ยวชาญ และผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด

      นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เผยว่า ผลดำเนินการในรุ่นแรกพบว่าได้ผลดีมาก ครูสามารถดำเนินการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี ผลการตรวจในปี 2561 พบเด็กปกติร้อยละ 80 โดยพบกลุ่มเสี่ยง เช่น มีพฤติกรรมและอารมณ์ผิดปกติ และสงสัยมีโรคทางจิตเวชแอบแฝงรวมร้อยละ 20 ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากครูจิตวิทยา เช่น ปรับแก้พฤติกรรมครอบคลุมร้อยละ 70 โดยมีเด็กที่ปรับพฤติกรรมเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น สงสัยอาจมีโรคทางจิตเวชแอบแฝง เช่น สมาธิสั้น ดื้อ เกเร ติดเกม ติดสารเสพติด เรียนรู้บกพร่อง ประมาณร้อยละ 5 ได้ส่งพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคต่อไป ขณะนี้เด็กอยู่ในระบบการดูแลรักษาแล้ว 1,817 คน เด็กเรียนหนังสือได้...จากการอบรมเพิ่มทักษะการดูแลเด็กในแง่ของจิตวิทยาให้กับคุณครูในโรงเรียน โดยเฉพาะการช่วยคัดกรองเด็กที่มีปัญหาเพื่อไปสู่การแก้ไข แต่ทว่าประเด็น ครูจิตวิทยาในโรงเรียน มีความสำคัญมากน้อยเพียงใด!!! มีมุมมองจากแพทย์จิตวิทยา ตลอดครูอาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา มาให้ข้อมูลไว้น่าสนใจ

(พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์)

      พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ จิตแพทย์ รองอธิบดีกรมอนามัย บอกว่า อันที่จริงแล้วโครงการอบรมครูจิตวิทยาในโรงเรียนมีนานหลายปีแล้วค่ะ เพียงแต่ว่าจะอยู่ในนามของครูแนะแนว และเหตุผลที่ได้มีการจัดอบรมดังกล่าวให้กับครูในโรงเรียนนั้น เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า เนื่องจากเด็กแต่ละคนนั้นมีความหลากหลาย ดังนั้นในฐานะครูผู้สอนก็จำเป็นต้องตระหนักในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้คำแนะนำกับเด็กนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลด้านสภาพจิตใจและร่างกายของเด็กควบคู่กันไป

      ที่ผ่านมาเวลาที่เด็กนักเรียนมีปัญหาทางด้านร่างกายและสังคม เช่น มีปัญหาเรื่องการขัดสนเงินทอง หน้าที่ของครูจิตวิทยาที่อยู่ในครูแนะแนว ก็มีตั้งแต่ช่วยหาทุนให้ รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องในสังคม ดังนั้น ถือเป็นโอกาสอันดีที่โคราชได้มีการจัดอบรมครูจิตวิทยาขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะนั่นจะทำให้คุณครูมีความรู้และเข้าใจเด็กได้ชัดเจนมากขึ้น และคอยช่วยเหลือเขา โดยเฉพาะการนำแพทย์ด้านจิตวิทยามาให้ความรู้กับคุณครูในโรงเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำมานานหลายปีแล้ว

      ทั้งนี้ ความรู้ทางด้านจิตวิทยาหลักๆ ในการดูแลเด็กนักเรียนนั้น ประกอบด้วย 1.พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจของเด็กในแต่ละช่วงวัย 2.การที่คุณครูจิตวิทยาจำเป็นต้องมีทักษะของการรับฟังปัญหาที่ดี เพื่อให้ข้อมูลกับเด็กๆ และช่วยให้เด็กตัดสินใจปัญหาได้อย่างมีสติ ชัดเจน อีกทั้งสามารถรับผิดชอบกับการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม 3.ครูจิตวิทยาต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจและอารมณ์ของเด็กๆ ในแต่ละช่วงวัย

        พญ.อัมพร บอกว่า สำหรับการอบรมครูจิตวิทยาในโรงเรียนจะสามารถแก้ไขปัญหาที่หลากหลายของเด็กในโรงเรียนได้ 100% หรือไม่นั้น อาจเป็นการคาดหวังที่มากเกินไป แต่สิ่งสำคัญที่เด็กจะได้รับจากการมีครูจิตวิทยาในโรงเรียนจะแสดงออกมาในรูปแบบของ การได้รับความช่วยเหลือ ในหลากหลายเรื่องมากกว่า เพราะอย่าลืมว่าการที่ครูมีทักษะทางด้านจิตวิทยาที่พร้อม จะสามารถช่วยเหลือศิษย์ได้อย่างถูกต้อง เพราะเรื่องบางเรื่องไม่ใช่แค่การปรึกษา หรือให้คำปรึกษาเท่านั้น แต่เด็กจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องเมื่อเกิดปัญหา เช่น การที่เด็กป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ถ้ามีคุณครูจิตวิทยาอยู่ใน รร. ก็จะทำให้มีการสังเกต ติดตาม สอบถามเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาหนักใจ หรือปัญหาสุขภาพด้านต่างๆ เพื่อให้เด็กได้รับการรักษาที่ดียิ่งขึ้นหรือเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งบางครั้งเด็กไม่จำเป็นต้องรับประทานยาด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะในรายที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงอาการเริ่มต้นหรือเป็นน้อยๆ ดังนั้นหมอขอสรุปว่า การมี ครูจิตวิทยา ในโรงเรียนเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ค่ะ แม้จะมีมานานแล้ว และก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรต้องมีต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ

(อ.ไพฑูรย์ ปานประชา)

      ด้าน อ.ไพฑูรย์ ปานประชา ข้าราชการบำนาญ นักวิชาการวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และนักบรรยายพิเศษด้านสังคมและวัฒนธรรมในองค์กรต่างๆ บอกว่า ถ้าพูดถึงการอบรมครูจิตวิทยาในโรงเรียนนั้นถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ประกอบกับในวิชาชีพครู หรือครูทุกคนนั้นก็ต้องเรียนวิชาจิตวิทยามาอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งให้เพื่อสอดคล้องและสามารถดูแลเด็กๆ ในแต่ละช่วงวัยได้ ที่ผ่านมามักจะอยู่รูปแบบของครูแนะแนว หรือครูที่ปรึกษาก็แล้วแต่ละโรงเรียน

        การที่ครูมีความรู้ด้านจิตวิทยานั้น จะทำให้ครูรู้จักคนอื่น รวมถึงตัวเราเอง ที่สำคัญจะทำให้รู้จักการวางตัวที่ดีเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าการที่พ่อแม่ส่งลูกมาเรียนหนังสือ ส่วนหนึ่งก็เพื่อฝากฝังให้ครูดูแลทั้งให้ความรู้ และสิ่งที่นอกเหนือจากเรื่องวิชาการแล้ว การที่เด็กๆ แต่ละช่วงวัยมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตก็จำเป็นต้องมีที่พึ่ง เพื่อช่วยให้เขาสามารถหาทางออกได้ เนื่องจากเด็กที่อยู่ในวัยเรียนถือเป็นช่วงวัยที่กำลังไขว้เขว และสับสนในตัวเอง หรือเด็กกำลังมึนงงกับตัวเอง ว่าเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เขามักจะมีปัญหาทางด้านสรีระร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ตรงนี้เด็กบางคนก็จะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง จึงเป็นหน้าที่ของครูจิตวิทยาเช่นกันในการให้คำปรึกษาและปลอบโยน เสมือนเราเป็นเพื่อนเขา เพื่อให้เด็กคล้ายความกังวล และเรียนหนังสือได้อย่างมีความสุข

(อ.รสสุคนธ์ ศรีทนานันธท์)

      ไม่ต่างจาก อ.รสสุคนธ์ ศรีทนานันธท์ ผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียน อุภัยภาดาวิทยาลัย จ.สุพรรณบุรี บอกว่า เห็นด้วยกับการอบรมและมีคุณครูจิตวิทยาในโรงเรียนค่ะ เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะปัจจุบันเด็กมีปัญหาติดเกม กระทั่งทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน ประกอบกับครูที่สอนในชั้นเรียน ไม่สามารถให้ความรู้แบบเจาะจงกับเด็กในเรื่องนี้ได้ พูดๆ ง่ายว่าให้คำปรึกษาได้ในระดับหนึ่ง หรือช่วยเหลือเด็กได้ในเบื้องต้น แต่ตามหลักแล้ว คุณครูทุกคนนั้นจะต้องได้รับการศึกษาวิชาจิตวิทยาในเด็กมาอยู่แล้ว และในส่วนของโรงเรียนเรายังไม่มีครูจิตวิทยาโดยตรง เนื่องจากเป็นโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก ที่สำคัญก็ยังสามารถรับมือปัญหาดังกล่าวได้ ตรงนี้ถ้ารัฐเข้ามามีส่วนช่วยเหลือและสนับสนุน ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เช่นกันค่ะ

      ที่สำคัญปัญหาในโรงเรียนของเราก็ยังไม่รุนแรงมากนัก และอย่างที่บอกไปตอนต้นว่า คุณครูที่สอนในโรงเรียนของเราได้รับการศึกษาวิชาจิตวิทยามาแล้วส่วนหนึ่ง เช่น เวลาที่เด็กมีปัญหาเรื่องการเรียนจากพ่อแม่หย่าร้างกัน และเมื่อได้มีการคุยกับเด็ก รวมถึงผู้ปกครองแล้ว ประกอบกับมีการติดสอบและติดตามผล ก็ทำให้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นค่ะ

(อ.ธนภรณ์ พรมชาติ)

      ขณะที่ อ.ธนภรณ์ พรมชาติ คุณครูจากโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ บอกว่า เห็นด้วยค่ะกับการอบรมครูจิตวิทยาในโรงเรียน เพราะทุกวันนี้อุปสรรคอย่างหนึ่งสำหรับการเรียนการสอน คือการที่เด็กสมาธิสั้นลง ไม่สนใจเรียน ส่วนหนึ่งก็มาจากเด็กติดเกม และมักแอบหลับในห้องเรียน ประกอบกับในโรงเรียนก็จะมีครูแนะแนว ซึ่งหน้าที่หลักๆ ก็จะให้ความรู้ในเชิงวิชาการกับเด็ก ยังไม่ถึงขั้นของการแนะนำหรือให้คำปรึกษาทางด้านจิตวิทยาโดยตรงค่ะ ดังนั้นจึงอยากให้มีครูจิตวิทยาในโรงเรียน เพื่อช่วยกันดูแลเด็กๆ ทั้งด้านร่างกายจิตใจควบคู่กับการเรียนค่ะ”.

 

 ครูจิตวิทยา ในสายตานักเรียน

(พิชยาพร ผ่องบุรุษ)

        พิชยาพร ผ่องบุรุษ นักเรียนชั้น ม.4 บอกว่า ส่วนตัวอยากให้มีครูจิตวิทยาในโรงเรียนค่ะ เพราะเรื่องปัญหาสุขภาพจิตในเด็กวัยเรียนเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากค่ะ เพราะเด็กแต่ละคนนั้นมีอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกัน และมีชีวิตครอบครัวที่ต่างกัน ดังนั้นพวกเราต้องการคนที่เข้าใจพวกเราค่ะ เพราะปัจจุบันในโรงเรียนจะมีครูแนะแนวที่ให้คำปรึกษาเรื่องการเรียน และการคบเพื่อน แต่ยังไม่ได้เจาะลึกเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก และโรคที่เกิดจากจิตวิทยาโดยตรงค่ะ

(รัตนาภรณ์ เหลืองอ่อน)

        รัตนาภรณ์ เหลืองอ่อน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 บอกว่า หนูเห็นด้วยและอยากให้มีครูจิตวิทยาในโรงเรียนค่ะ เพราะมีเพื่อนบางคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันค่ะ ส่วนตัวหนูก็มีความเครียดเกี่ยวกับการเรียน เพราะใกล้จบ ม.6 แล้ว ตรงนี้ถ้ามีครูจิตวิทยาโดยตรงในโรงเรียนก็จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมากในเด็กวัยรุ่น ที่ถือเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะจะสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับเด็กได้โดยตรงค่ะ

(ปุณณดา อุดมบุญถาวร)

        ปุณณดา อุดมบุญถาวร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 บอกว่า อยากให้มีคุณครูจิตวิทยาในโรงเรียนค่ะ เพราะเด็กแต่ละคนมักจะมีความเครียด และมีปัญหาในชีวิตที่แตกต่างกัน นั่นจึงทำให้มีปมด้อยในจิตใจที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงต้องการที่พึ่งด้านจิตใจ ส่วนตัวหนูมีความกดดันในเรื่องของทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วยค่ะ ซึ่งเวลาที่หนูมีปัญหาก็จะไปปรึกษากับคุณครูในโรงเรียนที่เคยสอนหนูมาก่อน โดยคุณครูก็จะบอกว่าให้หนูสู้ๆ เพราะยังมีคนที่เดือดร้อนกว่าเราอีกมาก และแนะนำให้เลือกทำงานพิเศษที่เบาลง เพื่อให้สามารถเรียน และมีเวลาทำการบ้าน เช่น การช่วยคุณอาพิมพ์งานเอกสารค่ะ ดังนั้นคิดว่าครูจิตวิทยามีความสำคัญกับเด็กๆ มากค่ะ ส่วนหนึ่งเพื่อทำให้เด็กมองเห็นทางออกในชีวิตได้ค่ะ ที่สำคัญยังสามารถทำให้การเรียนดีขึ้นด้วย เพราะเราจะรู้จักจัดสรรเวลาได้เหมาะสม เพื่อไปทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นได้ค่ะ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"