วัดฝีมือ “รัฐบาล” ฟื้นเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อน    

 

    ปี 2562 เป็นอีกหนึ่งปีที่เศรษฐกิจไทยมีความ ท้าทายอย่างมาก จากปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศ เรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าในตลาดโลกให้ปั่นป่วน จนส่งผลต่อภาพรวมการส่งออกของประเทศไทยที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายมีการคาดการณ์ว่าภาพรวมตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้อาจจะเติบโตไม่ดีนัก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่ตัวเลขการส่งออกของไทยจะขยายตัวติดลบ

                ที่ผ่านมา “กระทรวงการคลัง” ยอมรับว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากดดันการเติบโตของเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงจากนอกประเทศ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศอย่าง “สถานการณ์การเมือง” ที่แม้จะมีการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว แต่การจัดตั้งรัฐบาลยังคงยืดเยื้อก็เป็นอีกประเด็นที่เข้ามากดดันบ้าง แต่เชื่อว่าหลังจากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจก็น่าจะช่วยทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนดีขึ้น และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศจะเดินหน้าได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

                โดยจากปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศที่เข้ามากดดัน ได้สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2562 ที่ขยายตัวเพียง 2.8% ขณะที่ไตรมาส 2/2562 ยังต้องติดตามสถานการณ์และปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งหมดว่าภาพรวมจะมีทิศทางเป็นอย่างไร แต่ก็ยอมรับว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงจำเป็นต้องเตรียมมาตรการเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ไว้รอเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาเมื่อเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ เพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงไปมากกว่านี้

                ด้านภาคเอกชน อย่าง “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC)” มองว่าการได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะช่วยทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงได้บางส่วน และยังเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเข้ามาบริหารประเทศได้ในไม่ช้า ซึ่งตรงนี้เองจะส่งผลให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น อย่างน้อยในระยะสั้น

                ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาจากขั้วการเมืองเดิมก่อนการเลือกตั้งนั้น ถือเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา แต่ในอีกมุมหนึ่งก็จะทำให้เกิดการสานต่อนโยบายในการบริหารประเทศให้มีความต่อเนื่องมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ที่เน้นลงทุนด้านระบบขนส่งทั้งระบบถนน ระบบราง ท่าเรือ และอากาศยาน รวมถึงโครงการสร้างและพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะกลายเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

                นอกจากนี้ อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ สถานการณ์ด้านการเมืองในระยะข้างหน้า ที่ยังมีความท้าทายอยู่อีกหลายเรื่อง นั่นเพราะเสียง ส.ส. ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่มีจำนวนใกล้เคียงกัน อีกทั้งฝ่ายรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมือง ซึ่งอาจทำให้การประสานผลประโยชน์ระหว่างพรรคทำได้ยาก ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายจับตาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลว่าอาจจะไม่มั่นคงในระยะข้างหน้า

                โดยเฉพาะเรื่อการประสานนโยบายต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลนี้ ท้ายที่สุดจะกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ เพราะแต่ละพรรคการเมืองก็มีนโยบายที่แตกต่างกัน ซึ่งนี่เองจะนำไปสู่มิติเรื่องความท้าทายและความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินนโยบาย นั่นเพราะหลายนโยบายของหลายพรรคการเมืองส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่ต้องอาศัยงบประมาณจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะต้องเป็นงบประมาณแบบผูกพันต่อเนื่อง นั่นเองอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ต้องสร้างความชัดเจนด้านนโยบายเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด เพื่อลดความไม่แน่นอน และยังต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบของนโยบายต่างๆ ด้วย

                หลายปัจจัยในประเทศไทยขณะนี้ อาจกลายเป็น “ความท้าทาย” ในการกำหนดทิศทางการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ เพราะไม่เพียงเศรษฐกิจมหภาคที่ยังต้องติดตาม แต่ยังมีปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของคนในประเทศ เศรษฐกิจฐานรากที่ยังรอการพิจารณามาตรการช่วยเหลือดูแลจากรัฐบาลอยู่เช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่า ขณะนี้สถานการณ์ค่าครองชีพถีบตัวขึ้นสูง จนแทบจะสวนทางกับรายได้ที่ได้รับในปัจจุบัน ทั้งหมดจะกลายเป็นประเด็นวัดกึ๋นของรัฐบาลชุดใหม่!.

 

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"