ฝ่ายแค้นไล่บี้ส.ว. ชงตั้ง‘กมธ.’สอบ


เพิ่มเพื่อน    

 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติด่วนตั้งกมธ.ตรวจสอบการได้มาซึ่ง ส.ว. ขณะที่ "ชวน" เผยยังไม่เห็น เผยขั้นตอนต้องตรวจสอบก่อน ถ้าไม่เกี่ยวกับสภาผู้แทนฯ ก็ไม่บรรจุในระเบียบวาระ ด้าน "วิษณุ" พร้อมชี้แจง ท่องพระราชนิพนธ์ ร.5 สุจริตคือเกราะบังศาสตร์พ้อง ปัญญาประดุจดั่งอาวุธ กุมสติต่างโล่ป้อง อาจแกล้วกลางสนาม 

    เมื่อวันพุธ ที่รัฐสภาชั่วคราว อาคารทีโอที สำนักงานใหญ่ แจ้งวัฒนะ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (พท.), พรรคอนาคตใหม่ (อนค.), พรรคประชาชาติ (ปช.), พรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.), พรรคเพื่อชาติ (พช.), พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ร่วมแถลงถึงการยื่นญัตติด่วนเพื่อขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา ตรวจสอบการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยพรรคที่เป็นตัวแทนเสนอยื่นญัตติดังกล่าวคือ พรรค พท., พรรค อนค.  และพรรครวมพลังปวงชนไทย 
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. กล่าวว่า ประเด็นที่เราอยากให้มีการตวจสอบคือ 1.การคัดเลือก ส.ว. มีคณะกรรมการสรรหาหรือไม่ แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จะออกมาเปิดเผยรายชื่อ แต่ก็เป็นการเปิดเผยรายชื่ออย่างไม่เป็นทางการ 2.คณะกรรมการดังกล่าวมีระเบียบและวิธีการสรรหาอย่างไร เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยถูกเปิดเผย 3.มีสมาชิก ส.ว.หลายท่านที่เป็นเครือญาติ และพวกพ้องของผู้มีอำนาจ เป็นการได้มาโดยชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ และ 4.งบประมาณ 1,300 ล้านบาท ได้ถูกนำไปใช้ตามระเบียบวิธีการใช้งบประมาณหรือไม่
    นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค. กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้มีความพยายามในการร้องเรื่องนี้ไปหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้นเวลานี้ช่องทางเดียวที่เราเหลืออยู่คือต้องให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
    ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรค พท. กล่าวว่า เราจะนำเรื่องนี้ส่งต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เพื่อให้บรรจุญัตติโดยด่วน เพื่อที่เราจะได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบโดยเร็วต่อไป
    ด้านนายชวนเผยว่า ยังไม่เห็นญัตติดังกล่าว และเมื่อมีการยื่นญัตติ กระทู้ถาม ได้มอบหมายนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้จัดการ และตรวจสอบเบื้องต้นว่าญัตติหรือกระทู้ดังกล่าว เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของสภาผู้แทนฯ ที่จะดำเนินการได้หรือไม่ ดังนั้นญัตติของฝ่ายค้านก็จะต้องรอพิจารณาว่าเกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนฯ หรือไม่ ถ้าเกี่ยวข้องก็สามารถดำเนินการได้ หรือถ้าไม่เกี่ยวข้องก็จะไม่บรรจุในวาระ 
    ประธานรัฐสภากล่าวว่า ในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเรื่องใดก็ตาม โดยทั่วไปรัฐบาลจะขอมีส่วนร่วมในการเป็นกรรมาธิการด้วย ดังนั้นจึงยังจะต้องดูว่าเรื่องใดที่จำเป็นต้องส่งให้รัฐบาลไปพิจารณาว่าจะต้องตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่ จึงต้องรอดูในรายละเอียด
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้จะมีการยื่นหรือไม่ ตนไม่ทราบ และถ้ายื่นมาก็ต้องไปชี้แจง ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่เคยมอบหมายให้ตนไปชี้แจง และ คสช.เองก็คงไม่รู้ว่าจะมีการยื่นแบบนี้ ถ้าถึงเวลาก็คงจะมอบหมายตน ก็พร้อมไปชี้แจง 
    "ทุกอย่างมันตรงไปตรงมา สุจริตคือเกราะบังศาสตร์พ้อง ปัญญาประดุจดั่งอาวุธ กุมสติต่างโล่ป้อง อาจแกล้วกลางสนาม ดังนั้น ไม่มีปัญหา" รองนายกฯกล่าว
    นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ขั้นตอนดังกล่าวเป็นการดำเนินการของ ส.ส.ที่จะกล่าวหา ส.ว.ต่อสภา ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็สามารถกล่าวหาได้ แต่เชื่อว่าจะไม่ทำให้การทำงานของ ส.ว.ต้องสะดุดลง เพราะจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่านายชวนจะรับญัตติดังกล่าวไว้พิจารณาในประเด็นใดบ้าง และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับเรื่องของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีให้ต้องเป็นโมฆะด้วย เพราะขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านพ้นเสร็จสิ้นไปแล้ว
    เขากล่าวว่า การตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ว.นั้น หากบุคคลใดต้องการจะตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ว.ก็คงจะต้องใช้ช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่การอภิปรายในสภา ซึ่งจะใช้ช่องทางไหนนั้น มี แต่ตนไม่บอก แต่หาก ส.ว.ต้องการที่จะตรวจสอบกันเองนั้น สามารถใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 โดยลงชื่อและยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
    วันเดียวกันนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด ขอให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้การกระทำของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เป็นอันใช้บังคับมิได้ โดยมีนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้แทนรับเรื่อง
    นายเรืองไกรกล่าวว่า การคัดเลือกให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ต้องกำหนดวิธีการแล้วจึงจะดำเนินการหาบุคคลได้ แต่เท่าที่ทราบ เรื่องนี้ประชุมกันมา 6 ครั้ง 3 ครั้งเป็นทางการ อีก 3 ครั้งไม่เป็นทางการ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ มีครั้งหนึ่งไปประชุมที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ นั่นใช่สถานที่ราชการหรือ ไม่ควรจะไปอย่างนั้น การที่ไม่ประชุมตามขั้นตอน จึงไม่มีระเบียบคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ออกมาในราชกิจจาฯ ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ส่วนของ กกต. ตนไม่ท้วงเพราะทำถูก ออกระเบียบมาเกือบ 200 หน้า มี พ.ร.ฎ. แต่ในส่วน 194 คนไม่มีเลย จึงเรียกร้องให้อัยการสูงสุดต้องตรวจดู 
    "พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบ ท่านบอกเองบ้านเมืองต้องการให้เคารพกฎหมาย ท่านก็ต้องเคารพกฎหมาย การกระทำที่ไม่ชอบตามมาตรา 269 ทำให้เป็นอันใช้บังคับมิได้ แต่ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ กฎหมายให้มาร้องอัยการสูงสุดก่อน" นายเรืองไกรกล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"