จุดตายของ 'ธนาธร'


เพิ่มเพื่อน    

               ถามหน่อย....คิดอย่างไร

                กับคำพูดที่ว่า....

                ถ้าไม่รักสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ควรอยู่ในประเทศไทย

                ที่ตั้งคำถามเพราะบางคนบอกว่า เป็นการสร้างความเกลียดชัง

                บ้างก็ว่า เป็นการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เล่นงานฝ่ายตรงข้าม

                หรือไม่ก็เป็นการปลุกล่าแม่มด

                ไม่พอใจประเทศไทย หรือชังชาติ แล้วจะอยู่ไปทำไม

                ที่จริงไม่ว่าใครก็ตาม ไม่มีสิทธิ์ขับไล่ไสส่งให้คนนั้นคนนี้ไปอยู่ต่างประเทศ

                ยกเว้นไปโดยสมัครใจเพื่อโอกาสที่ดีกว่า

                หรือพวกหนีคดี

                แต่เรายังได้ยินอยู่เรื่อยๆ

                เพราะอะไร?

                วานนี้ (๒๑ มิถุนายน) "บิ๊กแดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ พบปะพูดคุยกับนักศึกษาวิชาทหาร ที่กองบัญชาการกองทัพบก

                "...ผมได้ถามทุกคนและเขาก็บอกว่าได้ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยแล้ว แต่อยากให้โรงเรียนสอนประวัติศาสตร์มากขึ้น

                เพราะตระหนักดีว่ามีชาติไทยได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีสถาบันพระมหากษัตริย์

                ผมเชื่อว่านักศึกษาวิชาทหารกำลังจะเติบโตมาและผ่านการเลือกตั้ง เขาสามารถยอมรับด้วยตัวของเขาเอง

                จากที่ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เขาก็บอกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญยิ่งกับสังคมไทย

                ใครก็ตามที่ไม่นึกถึงแผ่นดินเกิด ไม่นึกถึงบุญคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ควรที่จะอยู่ในประเทศ

                นี่คือคำพูดของนักศึกษาวิชาทหาร..."

                ครับ..."บิ๊กแดง" ไม่ได้พูด แต่นักศึกษาวิชาทหารกล่าว

                ประเด็นอยู่ตรงไหน     ?

                ประเทศอยู่รอดมาได้เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำในการปกป้องมาแต่โบราณ

                ไทยหวิดตกเป็นเมืองขึ้นของนักล่าอาณานิคมจากตะวันตก ทุกคนคงรู้แค่คร่าวๆ แต่ในรายละเอียดนั้น ประวัติศาสตร์มีให้ศึกษา...คนรุ่นหลังศึกษากันบ้างหรือเปล่า

                ที่จริงก็เกิดขึ้นไม่นานมานี่เอง ไม่ต้องถอยไปยุคสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

                วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ สยามต้องเสียมณฑลบูรพา พระตะบอง, เสียมราฐ, ศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อปี ๒๔๔๙

                เสียหัวเมืองมลายู รัฐกลันตัน ตรังกานู ปะลิส และไทรบุรี ให้อังกฤษ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ เพื่อแลกกับอังกฤษยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

                การยอมเสียอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิตให้มีลมหายใจอยู่ต่อไปนั้น มันไม่ได้ง่าย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบล้วนตกเป็นเมืองขึ้นของนักล่าอาณานิคมทั้งสิ้น

                คนรุ่นหลังรู้หรือไม่ว่า การสร้างทางรถไฟสายใต้นั้นเสี่ยงที่จะถูกอังกฤษยึดภาคใต้ไปทั้งภาค หลังจากที่เสียหัวเมืองมลายูไปแล้ว

                แต่เพราะพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้สร้างทางรถไฟเป็นช่วงๆ และให้เปิดใช้เฉพาะส่วนที่เชื่อมกรุงเทพฯ ก่อนที่จะเชื่อมกับมะละกาอาณานิคมของอังกฤษ

                เพื่อให้อิทธิพลจากส่วนกลางของไทยลงไปกระจายทั่วตั้งแต่เพชรบุรีลงมาถึงสงขลาก่อนที่จะปล่อยให้อังกฤษขยายอิทธิพลเข้ามาทำการค้าขายโดยทางรถไฟ และฉวยโอกาสยึดภาคใต้ของไทย

                เพราะมณฑลนครศรีธรรมราชในขณะนั้นซึ่งขยายไปถึงสงขลา ยังถือว่าไกลหูไกลตาจากเมืองหลวงมาก

                และเมื่ออิทธิพลจากกรุงเทพฯ ขยายไปทั่วแล้ว การเชื่อมทางรถไฟจากมะละกาของอังกฤษซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายถึงจะเกิดขึ้น

                ใครที่พยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์สมควรอยู่ประเทศไทยหรือไม่ มันก็มีคำตอบอยู่ในตัวมันเอง

                และส่วนใหญ่ไม่มีใครไล่ มีแต่พวกหนีไปเองทั้งนั้น

                สำหรับพวกที่ยังอยู่ ก็ควรจำไว้ ไม่มีใครใช้ ม.๑๑๒ เล่นงานใครได้ หากใครคนนั้นไม่มีแนวคิดโค่นล้มสถาบัน

                ครับ...เรื่อง "ธนาธร" กับหุ้นสื่อ ยังคงเข้าทำนอง โกหกครั้งแรก ก็ต้องโกหกไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น

                ปากกล้าขาสั่นบอกชี้แจงได้หมด แต่เลื่อนศาลมาแล้ว ๒ รอบ และศาลท่านก็ปรานี

                แต่ยังคงมีความพยายามบิดเบือนประเด็น สร้างความเข้าใจผิดกันไม่หยุดหย่อน

                นักกฎหมายใหญ่ ปิยบุตร แสงกนกกุล กำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ทางนิติศาสตร์ เอาคดีความมาเทียบเป็นบัญญัติไตรยางศ์

                คดีหนึ่งจบใน ๗ วัน อีกคดีก็ต้องจบใน ๗ วันด้วย

                ไม่งั้น ๒ มาตรฐาน

                โดยไม่ดูว่าคดีมีรายละเอียดต่างกันหรือไม่

                ๔ กรณีที่ "ปิยบุตร" ยกมา            

                ๑.กรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ กกต.ยื่นคำร้องในวันที่ ๑ พ.ค.๒๕๖๐ ใช้เวลา พิจารณา ๓๘๖ วัน ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ

                ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาว่าจะสั่งให้หยุดหรือไม่หยุดอีก ๗๐ วัน สุดท้าย ศาลมีคำวินิจฉัยว่า นายดอนไม่ผิด

                ๒.กรณี ๔ รัฐมนตรี กกต.ยื่นคำร้องในวันที่ ๒๓ ม.ค.๒๕๖๑ ใช้เวลา ๓๕๕ วัน ถึงส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญ

                ศาลรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาพิจารณาอีก ๗๕ วัน ก่อนวินิจฉัยว่าไม่ต้องหยุด และจนถึงตอนนี้ก็ยังรอคำวินิจฉัยอยู่ว่า ผิดหรือไม่

                ๓.กรณีนายธนาธร ยื่นคำร้องต่อ กกต.ในวันที่ ๒๕ มี.ค.๒๕๖๒ 

                กกต.ใช้เวลา ๖๑ วัน ส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญ

                ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง ๗ วันพิจารณารับคำร้อง และมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ในวันที่ ๒๓ พ.ค.

                ๔.กรณี ๔๑ ส.ส. มีการยื่นเรื่องในวันที่ ๔ มิ.ย.๒๕๖๒ ให้ประธานสภา ซึ่งประธานสภาใช้เวลา ๘  วัน ก่อนยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

                ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง ตอนนี้ก็ยังรอคำตอบอยู่ว่า ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวหรือไม่

                ผ่านไป ๙ วันแล้ว

                และ "ปิยบุตร" ถามศาลรัฐธรรมนูญว่า จะใช้บรรทัดฐานแบบใดกันแน่ ในเมื่อข้อเท็จจริงคล้ายกันทั้ง ๔ กรณี เหตุใดกรณีของนายธนาธรจึงเร็วผิดปกติ

                หน้าจืดแต่เจ้าเล่ห์ไม่เบา!

                จำได้ว่ากรณี ๔๑ ส.ส. มีการอธิบายซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ช่องทางการยื่นศาลรัฐธรรมนูญที่ต่างกันนั้น ส่งผลถึงระยะเวลาพิจารณาคดีของศาลเช่นกัน

                กรณีของ "ธนาธร" นั้น ผ่านไปทาง กกต. และ กกต.ใช้เวลาไต่สวน ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ

                แต่กรณี ประธานรัฐสภา ไม่มีการไต่สวน แค่ตรวจสอบว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ ถ้าเข้าเกณฑ์ก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ

                กระบวนการมันต่างกัน

                แล้วทำไมนักกฎหมายใหญ่จากตูลูสถึงยังเอามาบิดเบือนให้น้องฟ้าเข้าใจผิดกันอีก

                ระยะเวลาพิจารณาคดีมันไม่ใช่บัญญัติไตรยางศ์ 

                เอาแต่ละคดีมาเทียบกันไม่ได้        

                ต่อให้คดีเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้วก็ใช่ว่าจะใช้เวลาเท่ากัน

                ตัวอย่างเช่น "ธนาธร" ขอขยายเวลาส่งเอกสารคำชี้แจงถือหุ้นสื่อกับศาลรัฐธรรมนูญ ๒ ครั้ง ก็ ๖๐  วันเข้าไปแล้ว

                ไม่ได้จบแค่นี้ ในศาลก็เลื่อนได้อีกอยู่ที่แทกติกของทนาย

                ถ้า "ธนาธร" ไม่ขอเลื่อน ตามที่ปากบอกว่าชี้แจงได้หมดทุกเวลา ป่านนี้อาจเข้าไปนั่งในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

                หรือแม้กรณีอ้างคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่ให้นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัครส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และนายคมสัน ศรีวนิชย์ ผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคประชาชาติ มีลักษณะต้องห้ามสมัคร ส.ส.เพราะถือหุ้นสื่อ

                อ้างว่าศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง วางแนวทางไว้แล้วว่าพิจารณาจากหนังสือบริคณห์สนธิ

                หากมีวัตถุประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งที่ระบุว่า เกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ ถือว่า คนนั้น ทำบริษัทสื่อจริง

                มันก็ใช่!

                แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยกรณี ๔๑ ส.ส. ที่พรรคอนาคตใหม่ตะโกนบอกว่า ถ้าข้าชั่วเอ็งต้อง

เลวด้วย ไปในทิศทางเดียวกันกับศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งหรือไม่นั้น ไม่มีใครรู้

                มีกรณีที่ "ปิยบุตร" ลองไปศึกษาดู

                กรณีศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทย พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ๕ ปี

                ในคำร้องยุบพรรคไทยรักไทย พล.อ.ธรรมรักษ์ ถูกระบุว่า เป็นผู้ให้เงินจ้างพรรคเล็กส่งผู้สมัคร ส.ส.

ลงแข่งกับผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักไทย เพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์คะแนนเสียงร้อยละ ๒๐

                แต่หลังจากนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ ไม่ผิดกรณีจ้างพรรคเล็ก เพราะไร้พยาน

                สมุนทักษิณเคยเอาไปเคลมว่าไทยรักไทยใสซื่อบริสุทธิ์ไม่เคยทำผิดกฎหมายเลือกตั้งมาแล้ว

                ฉะนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ๔๑ ส.ส.มีคุณสมบัติครบถ้วน แล้ว "ธนาธร" โดนฟัน อย่ามาพูดว่าศาล ๒ มาตรฐาน

                เพราะ "ธนาธร" ทำธุรกิจสื่อจริงและไม่มีหลักฐานที่เป็นทางการว่า ได้โอนหุ้นสื่อก่อนสมัคร ส.ส.จริงๆ.

                                                                                                                                            ผักกาดหอม 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"