ยืมนาฬิกาเพื่อนไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน! ปปช.แจงชัดมาก


เพิ่มเพื่อน    

26 มิ.ย. 62 - นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษก สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนว่าในงานสัมมนาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.62 ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสอบถามวิทยากรผู้แทนของสำนักงาน ป.ป.ช. ว่าการยืมของหรือยืมนาฬิกาเพื่อนจะต้องแจ้งทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่ ซึ่งต่อมามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในสื่อมวลชนและสาธารณชนว่าการยืมทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ต้องนำมาแจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น 

สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเรียนชี้แจงว่า การกำหนดให้เจ้าพนักงานของรัฐมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความโปร่งใสให้ระบบการเมืองและระบบราชการ เป็นการป้องกันการทุจริต และเป็นมาตรการเสริมในด้านการปราบปรามการทุจริต เพื่อตรวจสอบว่าระหว่างที่เจ้าพนักงานของรัฐดำรงตำแหน่งได้ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์จนร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมถึงทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. 

โดยบทบัญญัติของกฎหมายมีความมุ่งหมายให้แสดงทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลดังกล่าว นอกจากนั้นการยื่นบัญชีต้องยื่นตามแบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามแบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ประกอบไปด้วยรายการทรัพย์สินจำนวน 9 รายการ ได้แก่ 1.เงินสด 2.เงินฝาก 3.เงินลงทุน 4.เงินให้กู้ยืม 5.ที่ดิน 6.โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 7.ยานพาหนะ 8.สิทธิและสัมปทาน 9.ทรัพย์สินอื่น และหนี้สินจำนวน 4 รายการ ได้แก่ 1.เงินเบิกเกินบัญชี 2.เงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น 3.หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ และ4.หนี้สินอื่น

สำหรับประเด็นสอบถามเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ยืมบุคคลอื่นมาจะต้องนำมาแสดงในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณา คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 640 “กำหนดว่ายืมใช้คงรูป คือ สัญญาที่บุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว” และมาตรา 640 กำหนดว่า “ยืมใช้สิ้นเปลือง คือ สัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น” 

ดังนั้น กรณียืมใช้คงรูป กรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ให้ยืม เพียงแต่ผู้ยืมยังคงมีหน้าที่จะต้องคืนทรัพย์สินแก่เจ้าของตามข้อตกลงที่ให้ยืมหนี้ตามสัญญายืมใช้คงรูป จึงไม่ได้กำหนดไว้ในแบบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแสดงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่วนกรณียืมใช้สิ้นเปลือง โดยเฉพาะการยืมเงิน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืมมาได้โอนมาเป็นของผู้ยืม และผู้ยืมมีหนี้ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงกำหนดรายการหนี้สินดังกล่าวไว้ในแบบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องนำมาแสดงตามที่ปรากฏอยู่ในรายการหนี้สิน 4 รายการข้างต้น

ทั้งนี้ หากมีประเด็นการยืมทรัพย์สินระหว่างกันและมีการกล่าวหาร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นการยืมทรัพย์สินกันจริงหรือไม่ หรือเป็นการกล่าวอ้างของผู้ยื่นบัญชี คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป ดังเช่น กรณีมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับรถยนต์ยี่ห้อโฟล์กสวาเกน ที่พบอยู่ในบ้านพักอาศัยของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม โดยมีการกล่าวอ้างว่าบุคคลอื่นให้ยืมใช้ทรัพย์สิน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าเป็นทรัพย์สินของนายสุพจน์ ที่ต้องนำมาแสดงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. 

หรือกรณีที่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับนาฬิกาที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สวมใส่ในสถานที่ต่างๆ จำนวนหลายเรือน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า พล.อ.ประวิตร ได้ยืมเพื่อนมาใส่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วคืนกลับไป จึงไม่เป็นทรัพย์สินของพล.อ. ประวิตร ที่ต้องนำมาแสดงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่อย่างใด ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรบังคับใช้กฎหมาย การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องใด ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริง  พยานหลักฐาน และหลักกฎหมาย ที่ปรากฏในเรื่องนั้น ไม่อาจพิจารณาวินิจฉัยตามความรู้สึกหรือกระแสสังคมในทางใดทางหนึ่งได้  

นอกจากนั้น ในกรณีที่เป็นเรื่องไต่สวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ก็ต้องเปิดเผยเหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ด้วย และหากปรากฏพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่คดีซึ่งอาจทำให้ผลของคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็สามารถรับหรือยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อให้การปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สุจริต และเที่ยงธรรม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"