เอกชนหนุนรัฐกระตุกศก. คาดโอกาสฟื้นเพียง0.5%


เพิ่มเพื่อน    


    เอกชนฝากรัฐบาลใหม่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ หอการค้าฯ ชี้มีโอกาสฟื้น 0.5% หลังประเมินปีนี้โตต่ำกว่า 3.5% ส.อ.ท.ไม่ยี้ภาพรวม ครม.ประยุทธ์ 2 ขานรับ "สุริยะ" นั่ง รมว.อุตสาหกรรม 
    เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงภาพรวมของการเปิดรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ว่ารายชื่อส่วนใหญ่เป็น ครม.ที่มีทีมเศรษฐกิจชุดเดิมมานั่งทำงานต่อ ถึงจะมีมือใหม่มาผสมบ้าง แต่เชื่อว่าจะสามารถสานต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจของเดิมให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นข้อดี เนื่องจากจะสร้างความมั่นใจให้เอกชนที่เตรียมจะลงทุนในประเทศสามารถตัดสินใจได้ทันทีหากชัดเจนแล้วว่าประเทศไทยจะสานต่อโครงการในประเทศ
    ขณะเดียวกัน อยากให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาโดยด่วน หลังจากที่เข้าทำงานตั้งแต่สัปดาห์ เพราะเชื่อว่าขณะนี้ผู้ที่รู้ตัวว่าจะมีชื่ออยู่ในทีม ครม. โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ คงมีการหารือกันบ้างและว่าจะทำอะไรเพิ่มเติมหลังจากเข้ารับตำแหน่ง เนื่องจากต้องยอมรับว่าตอนนี้เศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างสะดุด และอาจจะส่งไปให้ซบเซาได้ในอนาคตอันใกล้ หากมีมาตรการช่วยเหลือออกมาโดยด่วน จะช่วยเหลือในส่วนนี้ได้บ้าง ซึ่ง ส.อ.ท.เองพร้อมที่จะให้ข้อมูลและพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทีมเศรษฐกิจของคณะทำงานชุดใหม่อย่างเต็มที่
    ส่วนกรณีที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ มีชื่อเป็นว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ส.อ.ท.มั่นใจว่านายสุริยะเมื่อเข้ามานั่งในตำแหน่งจะสามารถทำงานได้ทันที เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและทำธุรกิจอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ขณะเดียวกันยังเคยเป็น รมว.อุตสาหกรรมมาก่อน จึงไม่ต้องเสียเวลาในการศึกษางานมาก และสามารถสานต่อได้เลยโดยไม่ทำให้สะดุด
    ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันเราอาจจะได้เห็นความชัดเจนของหน้าตา ครม.แล้ว แต่ความรู้สึกถึงการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลยังอยู่ในมุมมองของประชาชน ทำให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตหดหายไป คนไม่มั่นใจว่าปัจจัยโลกที่ไม่ชัด และรัฐบาลจะสามารถเยียวยาหรือทำให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นได้จริงหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่อาจจะเป็นตัวพลิกผันให้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยมีภาพที่ดีขึ้นได้คือ การเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ที่กระทรวงการคลังได้เตรียมเม็ดเงินไว้แล้วราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งต้องติดตามว่ารัฐบาลชุดใหม่จะนำมาตรการใดออกมาใช้ และใช้กับกลุ่มใด ในช่วงระยะเวลาใด เพื่อช่วยดูแลเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น
    "คงดูว่ารัฐบาลใหม่โดยทีมเศรษฐกิจจะมีมาตรการดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้นหรือไม่อย่างไร ใช้วงเงินเท่าไร 5 หมื่นล้านบาท หรือใช้เต็มที่ 1 แสนล้านบาท และจะเริ่มต้นเมื่อไร ซึ่งหากเริ่มใช้หลังมี ครม.ใหม่ คือตั้งแต่ ส.ค.หรือ ก.ย.62 เม็ดเงินทุกๆ 5 หมื่นล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้ 0.2-0.3% แต่หากใช้เต็มที่ 1 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นได้ 0.5-0.7% ดังนั้นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่า 3.5% ในปีนี้ จึงมีทางแก้จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะออกมา" นายธนวรรธน์ระบุ
    อย่างไรก็ตาม ม.หอการค้าไทยยังคงประเมินว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับ 3.5% หรือในกรอบ 3.3-3.8% โดยเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก เติบโตได้ 2.9-3% ส่วนครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเติบโตได้ 4% ขณะที่มองว่าการส่งออกไทยปีนี้ จะเติบโตเพียง 0.5% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 1%
    นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย กล่าวว่า คาดว่ารัฐบาลใหม่ภายใต้การดำเนินงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบบเร่งด่วน แบบเห็นผลทันตา เพื่อถ่วงดุลภาพรวมการส่งออกและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยมาตรการกระตุ้นแบบ fast-moving นี้ จะถูกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศสำหรับเพิ่มรายได้และการบริโภคในครัวเรือนมากยิ่งขึ้น 
    ทั้งนี้ มาตรการหลักที่เราคาดว่าจะเห็นจากรัฐบาลใหม่ใช้คือ การสนับสนุนรายได้ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการรัฐ เงินชดเชยให้กลุ่มการเกษตรขนาดเล็ก การหักลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ค่าเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และค่าธรรมเนียมที่ลดลงสำหรับการจดจำนองของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย สำหรับในระยะถัดไปเราอาจมองเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้น เมื่อการบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่มีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลใหม่สามารถนำเสนอมาตรการที่มีระบบและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง 
    ในขณะเดียวกันอาจมีต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน ได้แก่ มาตรการกระตุ้นสำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับตัวเมืองในต่างจังหวัดเงินชดเชยราคาสินค้าเกษตรที่มีระบบมากขึ้น การสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างมีระบบ และความสามารถในการกู้ยืมระดับจังหวัด รวมทั้งรัฐบาลใหม่จะเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีการประมูลรออยู่อีกมาก และเร่งโครงการสำคัญในปัจุบัน เช่นอีอีซีและรถไฟฟ้าความเร็วสูง ส่วนประเด็นการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำรวดเดียวถึง 25-27% นั้น ยังไม่น่าเกิดขึ้น เนื่องจากอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ แต่อาจมีการปรับค่าแรงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากรัฐบาลมีเครื่องมือจำกัดในการบรรเทาผลกระทบดังกล่าว.    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"