เส้นทางสู่ “Green City พื้นที่สีเขียวสำหรับทุกคนในเมือง”


เพิ่มเพื่อน    

ศูนย์ประชุมเมืองทองธานี/  ระหว่างวันที่ 5-7 กรกฏาคมนี้  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  หน่วยงานในสังกัด  และภาคีที่เกี่ยวข้อง  ร่วมกันจัดงาน ‘ไทยแลนด์โซเชียลเอ็กซ์โป 2019’ งานแสดงนวัตกรรมทางสังคมครั้งใหญ่ของประเทศไทย  ที่ศูนย์ประชุมเมืองทองธานี  มีการแสดงนิทรรศการ  ผลงาน  การออกร้านจำหน่ายสินค้า  ฯลฯ  ในส่วนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้จัดประชุมทางวิชาการ  เพื่อนำเสนอประสบการณ์การพัฒนาชุมชนในพื้นที่ต่างๆ   การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งในเมืองและชนบท   การจัดการสิ่งแวดล้อม  เมืองสีเขียว ฯลฯ  โดยมีผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมงาน

 

โดยในวันที่ 7 กรกฎาคม  มีการเสวนาเรื่อง    ‘Green City พื้นที่สีเขียวสำหรับทุกคนในเมือง’  ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ  รวมทั้งผู้แทนจากชุมชนในเมืองและชนบท  มีผู้เข้าร่วมการเสวนาประมาณ 170 คน  ในช่วงท้ายของการเสวนา  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศที่มาร่วมงานได้ร่วมกัน “ประกาศเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง”

การประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนเมืองสีเขียว

 

ทำที่ดินรกร้างใต้ทางด่วนเป็นแปลงเกษตร

นายอาสา  ทองธรรมชาติ  ผู้อำนวยการส่วนผังเมืองรวม   สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร  กล่าวว่า  คนไทยอยู่กับต้นไม้มานานแล้ว  จารึกสุโขทัยกล่าวไว้ว่า “มีป่าลาน ป่าหมาก” ส่วนนอกเมืองเป็นโซนที่เป็นป่าเหมือนกัน  แสดงให้เห็นว่าเมืองไทยมีลักษณะพื้นที่สีเขียวอยู่แล้ว  ในสมัยอยุธยาก็มีพื้นที่สีเขียว  ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้ปลูกต้นตะเคียน  โดยให้ปลูกไว้ในกำแพงเมือง  ปัจจุบันยังเหลืออยู่แต่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา  อยู่ใกล้กับคลองหลอด  ปัจจุบัน  กทม.ยังมีนโยบายสีเขียวอยู่เหมือนเดิม  ผู้ว่า กทม.คนปัจจุบันอยากให้ปลูกต้นไม้ 1 แสนต้น   โดยผู้ว่าฯ ลงไปปลูกด้วย  เพื่อทำให้เมืองมีพื้นที่สีเขียว   ผังเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวจะทำให้คนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ดร.ณัฐวุฒิ  อัศวโกวิทวงศ์  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยบูรณาการภาคพื้นที่และสังคม  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีปทุม  กล่าวว่า  ตนอยากเห็นกลไกที่จะทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น  เพื่อเป็นแหล่งผลิตออกซิเจน  เพื่อการสันทนาการและคุณภาพชีวิต เราจะทำอย่างให้พื้นที่สวนสาธารณะ 70ไร่ ทำให้กระจายไปในชุมชน 1 งาน 2 งาน พาลูกหลานออกมาเดินเล่นได้  ผู้สูงอายุสามารถใช้ออกกำลังกายหรือสันทนาการได้  ไม่ต้องใช้เวลานานในการเดินทางเพื่อออกมาทำกิจกรรม

“เราต้องมองเรื่องข้อจำกัดเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน  ทำอย่างไรที่ดินรกร้าง ที่ดินเอกชน  ให้เกิดการใช้ประโยชน์ หากตั้งเป้าหมายแบบนี้จะทำให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น   ตัวอย่างที่ประเทศสิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียวมากกว่าประเทศ 66 เท่า เพราะนับพื้นที่สีเขียวทั้งที่โล่งและไม่โล่ง  ส่วนประเทศไทย มีพื้นที่ว่างบนหลังคา  หากเราเห็นพื้นที่เปล่าๆ จะทำอย่างไรให้เกิดความคิดที่สามารถควบรวมและใช้พื้นที่สีเขียวให้มีกิจกรรมในเมืองได้” ดร.ณัฐวุฒิกล่าว  และเสนอความเห็นว่า  หากบริษัทเอกชนขออนุญาตก่อสร้างอาคารหรือเช่าที่ดินรัฐและกำหนดพื้นที่สีเขียวเอาไว้  รัฐควรสนับสนุน  เช่น  ลดเรื่องภาษี  หรือให้สิทธิพิเศษอื่นๆ  รวมทั้งท้องถิ่นต้องอุดหนุนส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สีเขียว

ดร.นพ.ไพโรจน์  เสาน่วม ผู้อำนวยการ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 5  กล่าวว่า  พื้นที่สีเขียว คือ พื้นที่ที่ให้เราสามารถใช้ชีวิตได้   สสส.พยายามที่จะให้คนมีสุขภาพดีทุกมิติ  เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เราสร้างได้  มีผลต่อเราทั้งนั้น  งานวิจัยหลายๆ เรื่องบอกว่า   คนที่อยู่ในพื้นที่สีเขียว อาชญากรรมลดลง 50%  อยู่ในพื้นที่สีเขียวทำให้เรายิ้มได้   

“สสส.เลือกทำโมเดลดี ๆ และส่งต่อเป็นพื้นที่ที่อื่นได้ เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน  เดิมเป็นที่จอดรถ  ตอนนี้ไปพัฒนาใหม่ทำเป็นลานกีฬาและแปลงเกษตร เช่น ที่ใต้ทางด่วนเพลินจิต  แถวเยาวราช ตลาดน้อย พยายามเชื่อมโยงให้เห็นประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ  มีบ้านคน ประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าตากสิน  ศิลปะเมื่อ 200 ปีที่แล้ว  เราเชื่อมวัฒนธรรมชุมชนกับเมือง  อยากให้เดิน ขี่จักรยานออกกำลังกาย  และมีกรณีโพธาราม จังหวัดราชบุรี จัดชมรมเชื่อมโยงกิจกรรมปั่นจักรยาน”  ดร.นพ.ไพโรจน์ยกตัวอย่าง 

 

เทศบาลตำบลนาอ้อ จ.เลย ลดขยะ-สร้างพื้นที่สีเขียวที่กินได้

นายก้าน  ฤณะวงษ์   นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนาอ้อ  อ.เมือง จ.เลย  กล่าวว่า  ประชากรนาอ้อผลิตขยะวันละ 4 ตัน  จึงควรนำมาใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่  เริ่มจากคิดคนเดียว  เริ่มจากใกล้ตัว  ขยะในครัวเรือนหากจัดการได้ ขยะที่จะทิ้งจริง ๆ มีไม่มาก เหลือเป็นขยะเปียก นำกลับมาใช้ได้  ทำเป็นปุ๋ย  ตอนนี้ลดขยะเหลือเพียงวันละ 2 ตัน  และมีเป้าหมายจะให้เหลือเพียง 1 ตัน  โดยนำวัสดุเหลือใช้  เหล็กเก่า เชื่อมเป็นแปลงยกพื้นที่  นำดินคลุกเคล้ากับวัชพืช ลงแปลงและปลูกผักทุกอย่างที่กินได้  ปลูกในกระถาง  ปลูกผักแนวตั้ง  ใช้ปุ๋ยคอก  ต้นไม้เมื่อนำมากินแล้วมีราก ใบ นำมาเป็นอาหารของไส้เดือน  ไส้เดือนกินแล้วจะถ่ายมูล เป็นปุ๋ยให้แก่พืชผัก  ทำให้สามารถปลูกผักได้ตลอดทั้งปี

 

“ผัก  ผลไม้บางอย่างนำไปทำน้ำหมัก  ผสมน้ำรดต้นไม้  ทำให้ผักกรอบ หวาน  ถั่วฝักยาวฝักใหญ่ขึ้น  ปลูกกล้วย 40-50 ต้น  เราปลูกเองรู้ว่าเป็นผักปลอดสารเคมี  นำมาทำกล้วยตาก  ทำให้ได้อาหารปลอดสารพิษ อาหารออร์แกนิคล้วนๆ  นอกจากนี้ยังทำกลุ่มเผาถ่าน  ได้น้ำส้มควันไม้   ผสมน้ำสะเดา ป้องกันแมลง  และส่งเสริมให้พี่น้องชุมชนปลูกผักสวนครัว  ผมทำเป็นตัวอย่าง  ทำที่บ้านให้ดูว่าปลูกต้นไม้บนพื้นคอนกรีตได้   ทำให้พี่น้องในชุมชนสุขภาพดี มีพืชผักปลอดสารพิษ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน  ร่ำรวยสุขภาพดี  ดีกว่าร่ำรวยเงินทอง” นายก้านกล่าว  และบอกว่า “ความมั่งคั่งที่แท้จริง คือการมีสุขภาพที่ดี มิใช่การมีเงินทอง” ดังคำกล่าวของมหาตมะ คานธี

 

‘หลุมพอเพียง’ ปลูกพืช 4 ชนิด  ทำให้มีอยู่มีกิน

พระมหาสุภาพ พุทธวิริโย  เจ้าคณะตำบลจุมจัง  จังหวัดกาฬสินธุ์  ผู้ริเริ่มการทำเกษตรแบบ ‘หลุมพอเพียง’ กล่าวว่า  แนวคิดหลุมพอเพียงเกิดจากความล้มเหลวในการช่วยเหลือคนมา 30 ปี แต่ล้มเหลวมาตลอด  จึงเปลี่ยนตัวเอง  เมื่อใดเราเปลี่ยน  คนอื่นจะเปลี่ยนตาม  เราล้มเหลวเรื่องการจัดการน้ำ  เราล้มเหลวเรื่องทัศนคติ  เราล้มเหลวเรื่องการจัดสรรเวลา  เช่น  เวลาในการทำการเกษตร  เราล้มเหลวเรื่องแสงแดด เราดัดจริตเอง ไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว  ล้มเหลวเรื่องระบบนิเวศน์  จึงมาทำเรื่องหลุมพอเพียง  โดยปลูกพืช 4 ชนิดผสมผสานกัน 

“มีกล้วยเป็นพี่เลี้ยง  มีพืชอ่อนแอหรือพืชปัญญาอ่อน  เช่น  พริก  มะเขือ ผักต่างๆ  มีพืชฉลาด  คือพืชที่เข้มแข็ง  เช่น  มะละกอ  ผักพื้นเมืองต่างๆ  และไม้ยืนต้นเพื่อการใช้สอย  เช่น  ยางนา  ไม้สักทอง  สะเดา  ฯลฯ  ถ้าเราไปรอไม้ยืนต้นอย่างเดียวต้องรอ 3-10 ปี  แต่ถ้าเราปลูกผสมผสานกัน  โดยมีกล้วยเป็นพี่เลี้ยง  ก็จะทำให้พืชทั้ง 4 ชนิดโตไปพร้อมกัน  และจะทำให้เรามีอยู่มีกินตั้งแต่ปีแรก” พระมหาสุภาพกล่าว  และบอกว่า  ตอนนี้ในตำบลจุมจังมีเกษตรกรทำหลุมพอเพียงไปแล้วประมาณ 700 ราย  และขยายไปสู่อำเภอต่างๆ ในจังหวัดกาฬสินธุ์  รวมแล้วกว่า 4,000 ราย  ผลผลิตบางส่วนได้นำไปจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่เป็นพืชผักปลอดสารพิษ

 

ทำพื้นที่สีเขียว  สร้างรายได้วันละ 500-3,700 บาท

นางชนิสรา  ละอองดี  ผู้แทนเครือข่ายชุมชนเมืองภาษีเจริญ  กรุงเทพฯ  กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมในปี 2554  ทำให้เกิดปัญหาขยะลอยน้ำ  เกิดปัญหาถูกน้ำล้อม  ทำให้เราขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม  จึงเกิดแผนร่วมกันในการปรับพื้นที่รกร้างเป็นแปลงเกษตร  โดยร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการทำพื้นที่รกร้าง  มีมหาวิทยาลัยต่างๆ  ร่วมด้วย  โดยการปลูกผัก สร้างระบบเศรษฐกิจของชุมชน  มีตลาดอาหารปลอดภัยที่ชุมชนสร้าง จำหน่ายศุกร์สุดท้ายของเดือน แปลงผักที่มาจำหน่ายต้องตรวจวัดความปลอดภัย และจำหน่ายในราคาถูก 

นายนิรันดร์  สมพงษ์ ประธานสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง จำกัด จังหวัดนครราชสีมา  กล่าวว่า   ตนมีความเชื่อว่า  การทำอะไรให้เกิดรายได้ จะมีแรงพลังในการทำ และที่สำคัญคือมีทุนในการดำเนินการต่อ  และเมื่อทำเรื่องพื้นที่สีเขียวแล้ว  ต้องทำให้เกิดรายได้   สิ่งที่ต้องคิดเริ่มแรก คือ ทำอย่างไรให้มีลูกค้าซื้อสินค้าเรามากกว่า เริ่มจากปลูกพืชผักกินเอง  ภายหลังจึงเริ่มขายผลผลิต  ตอนนี้ผลผลิตมีไม่พอขาย ปัจจุบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่องมีรายได้ตั้งแต่  500-3,700 บาทต่อวัน  นอกจากนี้ยังมีตลาดต่างประเทศเข้ามาติดต่อ  เช่น สิงค์โปร  ยุโรป  ผลผลิตที่ต้องการ เช่น มะเขือเทศ  ผักสลัดต่างๆ

นายจำนง  คำฤทธิ์  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านนาคา  จังหวัดน่าน  กล่าวว่า  เหตุผลที่มาจัดการเรื่องดิน  น้ำ  ป่าเพราะป่าหาย น้ำแห้ง เริ่มจากการปลูกข้าวโพด เพราะเป็นพืชที่ทำเงินได้ไวที่สุด ไม่ใช่แค่ชาวบ้านที่ทำให้ป่าหาย เป็นเพราะรัฐบาลเปิดสัมปทานป่าไม้   มีการตัดถนนเข้าป่า  ทำให้ชาวบ้านเข้าไปลากไม้ได้มากขึ้น

 

“ภายหลังเกิดกลุ่ม ‘ฮักเมืองน่าน’ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องดินน้ำป่า  จึงได้หารือร่วมกับชาวบ้าน กำหนดการใช้พื้นที่ที่ดินรายครัวเรือน  ได้ป่าเพิ่มมาประมาณ 400-500 ไร่  แบ่งที่ดินให้ครัวเรือนๆ ละ 20 ไร่  มีการจัดระบบนิเวศน์น้ำระบบการดูแล  ระบบบริหารน้ำประปา  ทำฝายมีชีวิต เก็บหลังคาละ 10 บาทต่อเดือน  ผลจากการบริหารจัดการน้ำ ทำให้วิถีชีวิตชุมชนฟื้นคืนกลับมาได้ เริ่มมีกุ้ง หอย ปูปลา  มีพิธีกรรม เลี้ยงผีต้นน้ำ  เพื่อรักษาป่า  รักษาแหล่งน้ำ”  นายจำนงกล่าวในตอนท้าย

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผอ.พอช. (ซ้าย) ร่วมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนเมืองสีเขียว

ทั้งนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้สนับสนุนโครงการ ‘พื้นที่สีเขียวทางด้านสุขภาพและอาหารปลอดภัยในเมือง’ ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา  มีวัตถุประสงค์เพื่อ  1.สร้างการตื่นตัว  ตระหนักรู้  และเกิดการรวมกลุ่มเพื่อเข้าถึงพื้นที่ปลอดภัยทางอาหารและสุขภาพ  2.สร้างพื้นที่กลางให้เป็นพื้นที่สีเขียวในระดับครัวเรือน  ชุมชน  และเมือง  3.เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้  และ 4.เกิดการเชื่อมโยงกลุ่มองค์กร  หน่วยงาน  ภาคี  เพื่อขับเคลื่อนเมืองสีเขียว    โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 70 เมือง  ขณะนี้อนุมัติโครงการแล้ว 27 เมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"