หึ่ง!'กทม.'ประเคน สัมปทานBTS40ปี


เพิ่มเพื่อน    


    กทม.จ่อประเคนสัมปทานอีก 40 ปีให้ "บีทีเอส" ต่อสัญญาเหมาเข่ง 2 เส้นแลกหนี้ 1 แสนล้าน เอกชนยื้อปิดดีลค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท "อนาคตใหม่" แฉ คสช.ทิ้งทวนอนุมัติ 6 เมกะโปรเจ็กต์เอื้อกลุ่มทุนยักษ์ ปลุกสังคมร่วมจับตา-กดดันรัฐบาล
    เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงความคืบหน้าการบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ล่าสุดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เลือกใช้แนวทางต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้อีก 40 ปี แบบเหมาเข่งทั้งสองสัญญาสัมปทานเดินรถ ได้แก่ สัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสสายหลักช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสินนั้น จะหมดสัญญาลงในปี 2572 ขณะที่สัญญาสัมปทานเดินรถส่วนต่อขยายช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า จะหมดในปี 2585 เพื่อให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อระบบไม่ต้องลงจากขบวนเพื่อเปลี่ยนคัน หากจ้างเอกชนสองรายเดินรถ จะต้องมีการเปลี่ยนขบวน เพราะเป็นรถไฟฟ้าคนละระบบกัน
     อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้เดินรถรายเดิมคือบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ถึงช่วงเวลาการขยายสัญญาของทั้งสองสัมปทานออกไปอีก 40 ปี โดยแลกเปลี่ยนกับเงื่อนไข 3 ข้อ อาทิ เอกชนต้องลงทุนส่วนต่อขยายเองทั้งหมดและจ่ายส่วนแบ่งรายปีให้ กทม. ตามที่ตกลงกัน และรับภาระค่าโอนหนี้สินและทรัพย์สินของโครงการมูลค่า 1 แสนล้านบาท เป็นต้น แต่เงื่อนไขที่ทำให้การเจรจานั้น ล่าช้ามานานนับเดือน แม้ว่าฝ่ายนโยบายได้สั่งการให้เร่งรัด คือข้อเสนอเรื่องราคาค่าโดยสารตลอดสายที่ไม่เกิน 65 บาท ตั้งแต่ช่วง คูคต-สมุทรปราการ หรือช่วงคูคต-บางหว้า เป็นสิ่งที่ผู้เดินรถนั้นรับไม่ได้ เพราะมองว่าไม่คุ้มค่าต่อการทำธุรกิจเดินรถ ส่วนการเจรจาเรื่องค่าแรกเข้า บีทีเอสมีท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะยอมยกเลิกค่าแรกเข้าเมื่อเชื่อมต่อตั๋วร่วมระบบบัตร EMV แล้ว 
     แหล่งข่าวระบุว่า มีเสียงต่อต้านเรื่องค่ารถไฟฟ้าจากหลายภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะการเสนอให้รัฐบาลทบทวนต้นทุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าใหม่ ให้สอดคล้องกับบริบทการขยายตัวของเมืองหลวงเหมือนในต่างประเทศที่เจริญแล้ว มีค่ารถไฟฟ้าถูกกว่าไทยหลายเท่าตัว เนื่องจากต้นทุนการเดินรถไฟฟ้าของไทยคิดแค่เฉพาะต้นทุนประกอบการธุรกิจเดินรถพร้อมกำหนดราคาที่ตายตัวไว้ในสัญญาสัมปทาน แตกต่างกับในต่างประเทศ มีการนำตัวเลขมูลค่าผลประโยชน์ด้านอื่นมาคิดคำนวณด้วย อาทิ รายได้จากค่าธุรกิจสื่อภายในสถานี รายได้เชิงพาณิชย์จากตัวสถานี และรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทาง
    “ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลเกิดขึ้นพร้อมกับเส้นทางรถไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องนำมาคำนวณในการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าด้วย หากใช้แนวทางดังกล่าวมีโอกาสที่ค่ารถไฟฟ้าจะถูกลงกว่าเดิม ซึ่งบริษัทผู้เดินรถจะอ้างว่าเป็นเพียงรับจ้างเดินรถไม่ได้ เพราะว่าผู้เดินรถเองก็มีบริษัทลูกในการลงทุนในกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง โดยพบว่าเมื่อรถไฟฟ้าเกิดขึ้น ส่งผลให้ราคาพื้นที่ตามแนวเส้นทางเพิ่มสูงขึ้น 8-10 เท่าตัวจากราคาเดิม ผู้เดินรถจะมองแค่ว่าเป็นเพียงบริษัทเดินรถไม่ได้ เส้นทางครอบคลุมกรุงเทพฯ มากกว่า 30%" แหล่งข่าวกล่าว และว่า ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกใช้แนวทางดังกล่าวเพื่อลดภาระค่าโดยสารให้กับประชาชน ซึ่งประเทศไทยมีค่ารถไฟฟ้าแพงติดอันดับโลก ขณะที่ค่าครองชีพของประชาชนสวนทางอย่างที่มีการเปรียบเทียบกันไปแล้วในข้อมูลศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งพบว่าค่าโดยสารแพงกว่าอังกฤษและสิงคโปร์ 
เบรกสายสีเขียวส่วนต่อขยาย
    นอกจากนี้ยังได้รับรายงานว่า กทม.ได้ตัดสินใจชะลอแผนลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ส่วนต่อขยาย ช่วงสมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 1.37 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยาย ช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 1.19 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมองว่าอาจไม่มีบริษัทเอกชนสนใจลงทุน เพราะเป็นเส้นทางชานเมืองที่มีผู้โดยสารไม่มากนัก เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงชานเมือง ดังนั้นจึงต้องการรอให้รถไฟฟ้าสายใหม่ อาทิ สายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีส้ม เปิดบริการก่อน เพื่อประเมินทิศทางความต้องการของผู้โดยสารอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคมได้ชะลอโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกันนี้
    ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ รฟม.พร้อมด้วยผู้แทน กทม. บีทีเอส และผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะร่วมคณะนำสื่อมวลชนทดสอบระบบและการให้บริการของโครงการหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ช่วง 1 สถานี จากหมอชิตไปถึงสถานี 5 แยกลาดพร้าว ซึ่งความคืบหน้าในส่วนของงานโยธา ที่ รฟม.รับผิดชอบถือว่าเสร็จสมบูรณ์ 99.99% แล้ว ก่อนที่โครงการจะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการในวันที่ 11 ส.ค.นี้ และทราบว่า กทม.จะเรียนเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการเดินรถในวันดังกล่าว 
    วันเดียวกัน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงกรณีการเสนอญัตติด่วนเพื่อให้ที่ประชุมตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญศึกษาการต่ออายุสัมปทานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือค่าโง่ทางด่วน ว่าน่าจะได้อภิปรายและตั้ง กมธ.ได้ในวันที่ 10 หรือ 11 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ทราบมาว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้ทำหนังสือไปถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อให้ดำเนินการส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อหารือเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและปฏิบัติได้ถูกต้องก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และระหว่างรอผลการพิจารณาของ สคร. ให้ กทพ.นำข้อสังเกตของอัยการสูงสุดไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดความชัดเจน ซึ่งต้องขอขอบคุณนายอาคมและ ครม. ที่คำนึงถึงค่าเสียหายของประเทศชาติเป็นหลัก
    ที่อาคารไทยซัมมิท น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วยนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ร่วมแถลงข่าวกรณีการทิ้งทวนอนุมัติโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการอย่างผิดปกติให้แก่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ โดยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำลังจะหมดวาระ พร้อมขอให้สังคมช่วยกันจับตาโครงการเหล่านี้
คสช.ทิ้งทวน 6 โปรเจ็กต์ยักษ์
    น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ขอให้ประชาชนได้ร่วมกันจับตาโครงการต่างๆ ที่รัฐบาล คสช.กำลังทิ้งทวน ให้เกิดการประมูลหรือการให้สัมปทานอย่างรวดเร็วในช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาล เพื่อปกป้องงบประมาณแผ่นดินอันมาจากภาษีของประชาชน ไม่ให้ถูกใช้ไปเพื่อเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล คสช. โดยโครงการต่างๆ ในส่วนที่มีการอนุมัติผ่านไปแล้ว ประกอบไปด้วย 1.โครงการนำสายเคเบิลลงดิน หรือโครงการท่อร้อยสาย มูลค่า 20,000 ล้านบาท ที่รัฐให้สัมปทานกับบริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น จำกัด โดยเดิมโครงการนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม. โดย กทม.ได้ให้สัมปทานกับบริษัทกรุงเทพธนาคมฯ แต่ต่อมาบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ก็ได้เปิดประมูลให้สัมปทาน ซึ่งผู้ชนะคือบริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่นฯ ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรง
    โครงการนี้มีความน่ากังวลคือมีการผูกขาดถึงสองชั้น ชั้นแรกมีการผูกขาดให้กับบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ต่อมามีการเปิดประมูลอีก โดยมีบริษัทเดียวที่ยื่นซองประมูลอยู่ จากผู้แสดงความจำนงทั้งหมด 19 ราย ก็คือบริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่นฯ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่เคยมีการเปิดเผยถึงรายละเอียดโครงการ จึงขอเรียกร้องว่าควรต้องนำเอาโครงการนี้เข้าพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ให้บอร์ดพีพีพีได้พิจารณาถึงความเหมาะสม รวมทั้งเปิดเผยขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) ให้แก่สาธารณชนรับทราบด้วย 
    2.โครงการยืดหนี้ให้แก่กลุ่มทุนโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล เป็นเม็ดเงินกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้กลุ่มทุนโทรคมนาคมได้ประโยชน์ 20,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มทุนทีวีดิจิทัลจะได้ประโยชน์อีกประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยจะนำค่าธรรมเนียมที่ได้จากการให้ใบอนุญาต 5 จีมาชดเชยในส่วนนี้ ซึ่งเป็นการแจกให้โดยไม่มีการเปิดประมูล จึงขอเรียกร้องว่าควรต้องมีการประมูล ไม่ใช่การแจกแบบที่ผ่านมา
    3.การให้สัมปทานร้านค้าปลอดภาษีใน 4 สนามบิน ทั้งร้านค้าปลอดภาษีและพื้นที่ทางพาณิชย์ทั้งหมด ซึ่งได้ผู้ชนะการประมูลไปแล้วก็คือบริษัท คิงเพาเวอร์ฯ ซึ่งขอเรียกร้องว่าอีกไม่นานจะมีการประมูลพื้นที่รับสินค้า หรือ pick-up counter ในเมืองขึ้นอีก ที่ผ่านมามีปัญหาคือผู้ได้สัมปทานดังกล่าวเป็นเจ้าเดียวกันกับผู้ได้สัมปทานร้านค้าปลอดภาษี ดังนั้นเมื่อมีการเปิดประมูลเกิดขึ้น ผู้ที่ได้สัมปทานทำร้านค้าปลอดภาษีไม่ควรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอีก
    "ขอเรียกร้องประชาชนว่าอย่าจับตาเพียงอย่างเดียว แต่ขอให้ร่วมกดดัน ส่งเสียงให้ดังไปจนถึงรัฐบาล ให้แรงกดดันจากสังคมภายนอกนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ” น.ส.ศิริกัญญาระบุ
    นายสุรเชษฐ์แถลงว่า มีอีก 3 โครงการด้านคมนาคมที่กำลังจะเกิดขึ้น ประกอบด้วย 1.โครงการขยายสัมปทานทางด่วน มูลค่ากว่า 424,756 ล้านบาท ให้กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด ซึ่งสัมปทานทางด่วนดังกล่าวกำลังจะหมดอายุในต้นปีหน้า จึงมีความพยายามขยายสัมปทานนี้ออกไปอีก 30 ปีโดยมิชอบ เนื่องจากเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการนำกรณีพิพาทต่างๆ ที่รัฐต้องชดใช้ให้แก่บริษัททางด่วนกรุงเทพ ทั้งกรณีที่ศาลได้พิพากษาจนถึงที่สุดไปแล้ว และกรณีพิพาทที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา มามัดรวมในการอนุมัติขยายสัมปทานทางด่วนนี้เป็นก้อนเดียวกัน เป็นเงินจำนวนถึง 424,756 ล้านบาท และมีการเร่งรีบอย่างผิดปกติ อย่างไรก็ตาม โชคดีที่ประเด็นนี้มีการบรรจุลงเป็นญัตติในที่ประชุมสภาแล้ว โดยผู้เสนอเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลเอง ซึ่งหวังว่าจะไม่มีการกลับลำจากผู้เสนอในสัปดาห์หน้า 
    2.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้กับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประเด็นนี้เป็นญัตติเข้าสภาไปแล้วเช่นกัน ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าโครงการนี้มีการประมูลแบบไม่ปกติ เนื่องจากมีความพยายามพ่วงสิ่งต่างๆ เข้าไป เช่น แผนการพัฒนาที่ดินรอบสถานี ซึ่งเป็นหลักมากกว่าแผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟด้วยซ้ำ โดยรัฐต้องออกเงินช่วยเหลือเป็นเงินจำนวน 117,227 ล้านบาท จึงควรเรียกว่าเป็นโครงการเชื่อมต่อที่ดินซีพีด้วยภาษีประชาชนเสียมากกว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อระงับและดำเนินการตรวจสอบโดยเร็ว
    3.โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช มูลค่ากว่า 180,000 ล้านบาท ที่นำไปประเคนให้กับจีน รวมทั้งการอนุมัติทั้งรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และรถไฟความเร็วสูงอัดเข้าไปพร้อมๆ กันในพื้นที่เดียว แทนที่จะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเมืองหรือระบบขนส่งในด้านอื่นๆ ให้เพียงพอก่อน เช่น รถไฟรางคู่ หรือระบบรถเมล์ในเมืองโคราช ขณะที่รถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้จะถูกใช้น้อยกว่าระบบอื่น และรัฐต้องเอางบประมาณไปสนับสนุนทุกปี โดยคาดว่าโครงการนี้จะขาดทุนยิ่งกว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงด้วยซ้ำ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"