ฝ่ายรบ.-ค้าน ตั้งกมธ.ศึกษา ค่าโง่แสนล้าน


เพิ่มเพื่อน    

 ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านประสานเสียงตั้งกมธ.วิสามัญฯ 39 คน ศึกษาสัมปทานทางด่วน-รถไฟฟ้าบีทีเอส "หมอระวี" ยันหากไม่ต่อสัญญากับ "บีอีเอ็ม" กทพ.จะมีรายได้ถึง 6.5 แสนล้าน หักค่าใช้จ่ายแล้วไม่มีความเสี่ยง ต้องจ่ายค่าเสียหายในอนาคต "ยุทธพงศ์" ชี้ต่อสัญญาบีทีเอส 40 ปี ทำให้ค่าโดยสารแพง คนกรุงเดือดร้อน "พีระพันธุ์" ซัดค่าโง่มักจะมาพร้อมกับการทำสัญญาที่ส่อทุจริตตั้งแต่แรก

    ที่หอประชุมบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ วันที่ 11 กรกฎาคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการต่อสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่, นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย และนายยุทธพงศ์ จรัส เสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ
    นพ.ระวีอภิปรายว่า กรณีที่คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. มีมติต่อสัญญาสัมปทานให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม อีก 30 ปี ใน 3 โครงการ เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาท 137,000 ล้านบาท โดยมีข้อเสนอให้รัฐดำเนินการเอง หรือประมูลสัญญาสัมปทานใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐและประชาชนนั้น เพราะหากการทางพิเศษฯ ต่อสัญญาสัมปทานให้กับบีอีเอ็มอีก 30 ปี การทางพิเศษฯ จะมีรายได้อยู่ที่ 326,856 ล้านบาท แม้จะแลกกับการไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย 137,089 ล้านบาท แต่ยังมีความเสี่ยงที่อาจมีการแก้สัญญาหรือจ่ายค่าเสียหายใน อนาคต 
    “แต่หากไม่ต่อสัญญากับบีอีเอ็มแล้วให้การทางพิเศษฯ บริหารจัดการเอง ก็จะมีรายได้ถึง 651,612 ล้านบาท ซึ่งหักจากการจ่ายค่าเสียหายแล้ว และไม่มีความเสี่ยงต้องจ่ายค่าเสียหายอีกในอนาคต อีกทั้งการบริหารจัดการพื้นที่จะเป็นของการทางพิเศษฯ ทั้งหมด ดังนั้นหากไม่ต่อสัญญาสัมปทานกับบีอีเอ็มจะเป็นการลดภาระให้กับประชาชนได้ เพราะหากต่อสัญญากับบีอีเอ็ม ค่าทางด่วนจะขึ้น 10 บาททุก 10 ปี แต่หากการทางพิเศษฯ บริหารจัดการเอง ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นค่าทางด่วน และไม่ต้องจ่ายค่าทางด่วนระหว่างทางซ้ำ สามารถเก็บค่าทางด่วน 30 บาทรวดเดียวทั้งเส้นทางได้" 
    นพ.ระวีกล่าวต่อว่า นี่จึงทำให้ตนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษากรณีนี้ เพราะสัญญานี้มีมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท จึงควรเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม โดยการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาข้อมูลจากทุกฝ่ายให้รอบคอบ เพราะมิเช่นนั้นรัฐบาลจะรับเผือกร้อนด้วยตนเอง หากมีข้อมูลชัดเจนแบบนี้ แล้วรัฐบาลยังจะต่อสัญญาสัมปทานให้บีอีเอ็มอีก 30 ปี ถ้าผมเป็นฝ่ายค้าน ก็จะนำเรื่องนี้ไปยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอน เพื่อรักษาผล ประโยชน์ทั้งของรัฐและเอกชนให้พอดีกัน
    ขณะที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กรณีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้ ม.44 ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อเจรจาขยายสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสออกไปอีก 40 ปี ทั้งๆ ที่ยังเหลือเวลาสัมปทานเดิมในช่วงสายหลักหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน อีก 10 ปี และเหลือสัมปทานเดินรถส่วนต่อขยายช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า อีกถึง 23 ปีนั้น ถือว่า ส่อความไม่โปร่งใสอย่างยิ่ง และไม่เปิดผู้ให้บริการ รายอื่นเข้ามาแข่งขัน เพราะเส้นทางการเดินรถที่บีทีเอสได้รับสัมปทานอยู่นั้นคือหัวใจของคน กทม. ผ่านใจกลางธุรกิจ และผู้อยู่อาศัยของชาว กทม.อย่างหนาแน่น 
    "การจะพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานยาวนานถึง 40 ปี แต่ความเดือดร้อนของพี่น้อง กทม.จากการให้บริการของบีทีเอสมีอยู่มาก ทั้งความเดือดร้อนจากแออัดของขบวนรถในช่วงเร่งด่วน และค่าโดยสารที่แพงมากถึงขนาดติดอันดับโลก จึงอยากให้สภาตั้งกมธ.ขึ้นมาเพื่อศึกษาข้อดีและข้อเสียก่อนที่จะมีการต่อสัญญา" นายยุทธพงศ์กล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและ ส.ส.ฝ่ายค้านต่างอภิปรายสนับสนุนญัตติเพื่อให้ที่ประชุมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาศึกษากรณีดังกล่าว อาทิ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การให้บริการด้านการคมนาคมเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ก็เป็นเรื่องธุรกิจด้วย เพราะมีการลงทุนมหาศาล ซึ่งในต่างประเทศเมื่อเก็บเงินจนคุ้มทุนแล้วก็เปิดให้บริการใช้ฟรีโดยไม่คิดค่าบริการ แต่กรณีของประเทศไทย มีการให้สัมปทานเอกชนเป็นผู้ลงทุน และกรณีนี้ก็มีการเก็บเงินจนคุ้ม ทุนแล้ว รัฐก็ไม่ควรต้องต่อสัมปทานให้เอกชนอีก 
    "ดังนั้น กรณีที่รัฐจะต่อสัญญาให้เอกชนต่อไปอีก 30 ปี โดยมีเงื่อนไขจากสัญญาครั้งที่แล้วว่า ถ้าไม่ต่อสัญญาให้รัฐจะต้องจ่ายค่าโง่จากการผิดสัญญาเป็นจำนวน 137,000 ล้านบาท ถามว่าถูกต้องหรือไม่  เพราะเรื่องค่าโง่มักจะมาพร้อมกับการทำสัญญาที่ส่อไปในทางทุจริตตั้งแต่แรก จึงขอสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวก่อนที่รัฐจะดำเนินการ" นายพีระพันธุ์กล่าว
    ด้าน นพ.ระวี ในฐานะเจ้าของญัตติ ลุกขึ้นขอบคุณ ส.ส.ที่ร่วมกันรักษาผลประโยชน์ประชาชน ก่อนที่ที่ประชุมจะมีเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 39 คน  เพื่อศึกษาต่อไป โดยใช้เวลาพิจารณาญัตติดังกล่าวนานกว่า 4 ชั่วโมง.   
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"