ปัญญาน้อยไปหน่อย'อ.วีระ'ย้อนอนค.ถ้าส.ส.บ้านผมอภิปรายภาษาเขมร กวย กูย เยอ จะรับไหวไหม


เพิ่มเพื่อน    

12 ก.ค. 62 - นายวีระ สุดสังข์  นักเขียนอิสระ อดีตครูสอนภาษาไทย เขียนข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ "การแต่งกาย, ภาษาถิ่นและพิธีการ" มีเนื้อหา ดังนี้

กระแสการแต่งกายและภาษาถิ่นในสภากำลังมาแรงโดยการจุดประกายของสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ผมได้หยิบประเด็นไปโพสต์แล้ว ๒ สเตตัส โพสต์ด้วยข้อความสั้นๆ แต่มิได้ขยายความให้ละเอียด จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ไปนอกเจตนาของผมบ้าง แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับผม

๑.การแต่งกาย
หากจะกล่าวถึงการแต่งกายของผม, ผมค่อนข้างมีเสรีภาพมาก ตลอดระยะเวลา ๔๐ ปีที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการครู ซึ่งมีระเบียบการแต่งกาย มีแบบเครื่องแต่งกายกำหนดให้ข้าราชการไว้อย่างชัดเจน แต่ผมแต่งกายถูกระเบียบน้อยมาก โดยเฉพาะเครื่องแบบตรวจการสีกากี ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ผมจะไม่สวมใส่เลย ยิ่งอยู่บ้านนอกยิ่งไม่อยากสวมใส่ เพราะคิดไปว่า “เสมือนเครื่องแบบข่มขู่ประชาชน” วางตัวอยู่เหนือประชาชน ทั้งๆที่รับประทานภาษีของประชาชน ยุคแรกๆผมแต่งกายโดยการสวมกางเกงยีนส์ สวมเสื้อตราสามทหาร(สีดำ) สะพายย่าม ไว้ผมยาว แต่สวมรองเท้าบู๊ท ยุคสุดท้าย (๑๐ กว่าปีหลังในระบบราชการ) ผมยังสวมกางเกงยีนส์ เสื้อลาย สวมหมวกและสวมรองเท้าบู๊ทแถมด้วยหนวดเคราเต็มใบหน้าไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ

นั่นคือความดื้อรั้นในการฝ่าฝืนระเบียบและถือเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนตัวของผม โดยคิดว่าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ดูคนอย่าดูที่การแต่งตัว แต่ควรดูและประเมินความคิด, การกระทำและผลงานของเขาเป็นหลัก ผมไม่เคยทำให้ระบบราชการเสียหาย ไม่เคยถูกสอบสวนทางวินัยและไม่เคยถูกลงโทษใดๆ แต่ผลงานทำให้ผมเป็นครูดีเด่นตั้งแต่ระดับโรงเรียนถึงระดับประเทศ ลูกศิษย์เจริญก้าวหน้า เป็นคนดีทุกคน

ถึงผมจะชอบการแต่งกายอย่างนั้นก็ตาม หากเมื่องานเป็นงานพิธีการ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาและงานวันสำคัญอื่นๆ เมื่อทางราชการกำหนดให้ทุกคนแต่งชุดปรกติขาวเข้าร่วมพิธี ผมก็เห็นชอบที่จะปฏิบัติตามระเบียบของพิธีการ แม้แต่งานแต่งงานซึ่งเป็นพิธีการมงคลสมรส ผมจำเป็นต้องสลัดหมวก ถอดเสื้อ กางเกงยีนส์ โกนหนวดเคราเข้าพิธีเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่บุคคลที่มาร่วมงาน พิธีการต่างๆนั้นมันมีระเบียบ มีวิธีปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณี

ในกรณีของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ซึ่งมาจากท้องถิ่นต่างๆภายในประเทศ มีอัตลักษณ์การแต่งกายในชีวิตประจำวันเป็นของตน ถ้าหาก ส.ส.จะเข้าประชุมสภาโดยการแต่งกายตามอัตลักษณ์ของท้องถิ่นน่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ ขอแต่เพียงให้สุภาพ ทุกคนคงเข้าใจความหมายของคำว่า “สุภาพ” ความสุภาพก็คือการไม่โชว์เนื้อหนังมังสาหรืออวัยวะอันควรแก่การปกปิด แต่ถ้าถึงขั้น “สวมเสื้อกีฬา กางเกงบอล” โชว์ขนขา ขนหน้าแข้ง ดูเหมือนจะคิดเลยเถิดไปสักหน่อย

๒.ภาษาถิ่น
ภาษาถิ่น เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นวัฒนธรรมอันงดงามของคนในถิ่นนั้น มีถ้อยคำสำเนียงเป็นของตนเอง ชาติพันธุ์ในประเทศไทยนั้น เฉพาะภาคอีสานมีไม่น้อยกว่า ๑๐ ชาติพันธุ์ หากรวมทุกภาคของประเทศก็น่าจะไม่น้อยกว่า ๓๐ ชาติพันธุ์ มันเป็นไปไม่ได้ที่คนหนึ่งๆจะสามารถพูด เข้าใจภาษาถิ่นได้ถึง ๓๐ ภาษา ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง เรื่องนี้ผมได้โพสต์ถึง อ.กุลธิดาไปว่า

“ถ้า ส.ส.บ้านผม อภิปรายด้วยภาษาเขมร ภาษากวย ภาษากูย ภาษาเยอ ท่านอาจารย์จะรับไหวไหมครับ ดูเหมือนว่าท่านอาจารย์ปัญญาน้อยไปหน่อยนะครับ คิดอะไร/พูดอะไรอยากให้สมกับคำว่า "อนาคตใหม่" หน่อยนะครับท่านอาจารย์ ผมอยากเห็นท่านก้าวหน้าและเป็นผู้นำประเทศอยู่นะครับ”

มีคุณสังคม ศรีมหันต์ มาแสดงความคิดเห็นว่า “นึกถึงตอนที่นักเขียนหญ่าย ชื่อดังท่านนี้ป้อง!นายกตู่ในกรณีด้อยทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ (แต่กลับไม่ยอมให้มีล่าม) ว่าอย่าไปห่าอะไรมากกับภาษาอังกฤษเว้าภาษาของเจ้าของเถอะท่านว่า แล้วกะอ้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอะไรเยอะแยะมากมาย ผมเลยคิดว่า ไม่รู้จะอธิบายหรือวิเคราะห์กรณี การอธิบายอัตลักษณ์ในลักษณะลักลั่นกลับไปกลับมาอย่างไม่มีระบบคิดอะไรที่ชัดเจนในกรอบคิดเรื่อง’อัตลักษณ์’ของเขายังไงดี”

ในกรณีของ อ.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ หากต้องใช้ภาษาถิ่นอภิปรายในสภา ผมเห็นผลกระทบว่า ๑.จะมีส.ส.ในสภาจำนวนไม่น้อยที่ฟังภาษาถิ่นของ อ.กุลธิดาไม่ออก ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ๒.ถ้าหาก ส.ส.ทุกคนต้องมีล่ามแปลเป็นภาษาไทย ในสภาแห่งนี้อาจจะมีล่ามอยู่ถึงกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งหมด ในสภาต้องเพิ่มที่นั่งให้ล่าม ต้องเพิ่มงบประมาณ เบี้ยประชุมให้ล่ามอีกด้วย และถามว่า “มันจำเป็นถึงขนาดนั้นเลยหรือ?”

ในกรณีคุณสังคม ศรีมหันต์ ซึ่งดูเหมือนจะมีน้ำเสียงกระแนะกระแหนผมว่า “นักเขียนหญ่าย” นั้น สาเหตุมาจากผมเคยเขียนและโพสต์เกี่ยวกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยในคราวประชุมสุดยอดกลุ่มอาเซียน ซึ่งนายกไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ(อาจจะพูดไม่ได้หรืออะไรก็แล้วแต่) ผมว่า ไม่จำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษก็ได้ขอแต่เพียงมีล่ามคนหนึ่งเป็นคนแปล ผมยกตัวอย่างนายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาให้สัมภาษณ์ด้วยภาษาเขมรและมีล่ามแปล

นั่นคือการพูดในระดับทวีปและระดับโลก ซึ่งเราจะเห็นว่า มีผู้นำหลายประเทศแม้จะพูดภาษาอังกฤษได้แต่เขาเลือกพูดภาษาของประเทศเพื่อธำรงค์อัตลักษณ์ของเขาไว้ กรณีนี้มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรไทย

ผมหวังว่าคุณสังคม ศรีมหันต์ จะเข้าใจระบบการคิดของผมเกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"