'มหายาน-เถรวาท' ฉบับพิสดาร


เพิ่มเพื่อน    

      วันนี้ "มาฆบูชา"

      ตรงกับ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีระกา พฤหัสบดี ที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

      สนทนาภาษาธรรมกันอีกสักวัน ก็ไม่มีอะไรที่จะไม่เหมาะสม

      อ่าน fb พบ คุณ Pat Hemasuk โพสต์ไว้

      มีประเด็นน่าคุย หยิบมาให้อ่านกันต่อ ดังนี้

      "เรื่องเล่าทางศาสนานั้น บางเรื่องมีรายละเอียดที่ต่างกันออกไปตามนิกายและการตีความสั่งสอน

      ผมจะยกเอาเรื่องที่ 'พระพุทธเจ้า' เสด็จไปกุสินาราเพื่อปรินิพพานมาเล่าเทียบกัน

      ระหว่างเรื่องของ 'พุทธมหายาน' ของจีนและทิเบตกับ 'พุทธเถรวาท' ของไทย ที่เราคุ้นเคย

      ผมเชื่อว่า คนไทยส่วนใหญคงคุ้นตากับการอ่านเวอร์ชั่นนี้ ของพุทธประวัติ เมื่อครั้งเสด็จถึงกุสินารา ก่อนปรินิพพาน

      เสด็จถึงระหว่างทางแห่งหนึ่ง ซึ่งมีแม่น้ำเล็กๆ มีน้ำไหล พระพุทธเจ้าแวะลงข้างทาง เข้าประทับใต้ร่มพฤกษาแห่งหนึ่ง

      ตรัสบอกพระอานนท์ ให้พับผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้น แล้วปูลาดถวาย ประทับนั่งเพื่อพักผ่อน

      แล้วตรัสให้พระอานนท์ นำบาตรไปตักน้ำในแม่น้ำ

      'เราจักดื่มระงับความกระหายให้สงบ' พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์

      พระอานนท์กราบทูลว่า แม่น้ำตื้นเขิน เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มของพวกพ่อค้าเกวียนเพิ่งข้ามแม่น้ำผ่านไปเมื่อสักครู่นี้ เท้าโคล้อเกวียน บดย่ำทำให้น้ำในแม่น้ำขุ่น

      แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า 'อีกไม่ไกลแต่นี้ มีแม่น้ำสายหนึ่งชื่อกุกกุฏนที มีน้ำใส จืดสนิท เย็น มีท่าน้ำสำหรับลงเป็นที่รื่นรมย์ ขอเชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปที่แม่น้ำนั้นเถิด พระเจ้าข้า'

      พระพุทธเจ้าตรัสปฏิเสธคำทูลทัดทานของพระอานนท์ถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์จึงอุ้มบาตรเดินลงไปตักน้ำในแม่น้ำ

      ครั้นเห็นน้ำ พระอานนท์ก็อัศจรรย์ใจนักหนา พลางรำพึงว่า

      'ความที่พระตถาคตพุทธเจ้ามีฤทธิ์และอานุภาพใหญ่หลวงเช่นนี้ เป็นที่น่าอัศจรรย์มาก แม่น้ำนี้ขุ่นนัก เมื่อเราเข้าไปใกล้เพื่อจะตักน้ำ กลับใส ไม่ขุ่นมัว'

      ครั้นแล้ว พระอานนท์ก็นำบาตรตักน้ำนั้นไปถวายพระพุทธเจ้า

      --------------------------

      ลองอ่านเวอร์ชั่นมหายานดูบ้างครับ จะรู้สึกได้ถึงกระสวนความคิดและการสอนศาสนาพุทธในรูปแบบของเขา

      พระพุทธองค์ทรงเดินทางไปกุสินารากับสาวกไม่กี่รูป และตรัสว่า

      'ฉันกระหายน้ำมาก ไปตักน้ำมาให้ฉันดื่มเถิด'

      สาวกที่ร่วมติดตามรูปหนึ่งได้เดินไปตักน้ำที่บึงและพบว่าเพิ่งมีกองเกวียนข้ามน้ำผ่านไป และน้ำในบึงก็ขุ่นไปด้วยโคลนตม จึงไม่ตักน้ำมาถวาย ได้กลับมากราบทูลไปถึงสาเหตุนั้น

      หลังจากนั้นครึ่งชั่วโมง พระพุทธเจ้าก็ได้บอกให้สาวกรูปนั้นกลับไปที่บึงอีกครั้ง เพื่อตักน้ำมาถวาย

      แต่เมื่อกลับไปแล้ว น้ำก็ยังคงขุ่นอยู่ จึงได้กลับมาทูลอีกครั้งว่า ยังดื่มไม่ได้

      หลังจากนั้นไม่นาน พระพุทธเจ้าได้ทรงให้สาวกรูปนั้นเดินกลับไปที่บึงอีกครั้ง ก็พบว่าน้ำใสแล้ว จึงได้ตักมาถวาย

      พระพุทธองค์ได้ทรงมองไปที่น้ำในบาตรและได้ตรัสว่า

      'เห็นวิธีที่เธอจะได้น้ำที่ใสสะอาดไหม วิธีนั้นคือปล่อยให้น้ำมันเป็นไปตามนั้น อย่าไปยุ่งกับมัน แล้วโคลนตมก็จะนอนก้นลงเอง

      จิตใจของเธอเองก็เป็นแบบนั้น อย่าไปรบกวนมัน ปล่อยให้มันเป็นไปตามที่มันเป็น แล้วให้เวลากับจิตใจสักหน่อย มันจะสงบลงได้ด้วยตัวของมันเอง'

      -------------------------------

      *** คราวนี้ เรามาเทียบกันระหว่างสองเวอร์ชั่น สิ่งที่เราได้เรียนกันในสมัยเด็กจนแก่ในรูปแบบของเถรวาทคือ

      'ด้วยพระอานุภาพใหญ่หลวงเช่นนี้ เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ทำให้น้ำใส'

      แล้วเราก็จบเรื่องเพียงเท่านี้ ยกประโยชน์ให้ในเรื่องจบลงด้วยปาฏิหาริย์ แบบไม่ได้อะไรจากเรื่องนี้

      *** เรามาดูทางฝั่งมหายานกันบ้าง

      เรื่องนี้ไร้ปาฏิหาริย์ ไร้พุทธานุภาพ แต่ทรงสอนให้สาวกได้เข้าใจถึงธรรมชาติ และเทียบกับจิตใจของคนที่ไม่ต่างกับน้ำ ยิ่งไปยุ่งกับมันก็ยิ่งขุ่น

      แต่ถ้าปล่อยมันไว้ ทิ้งเวลาให้จิตใจบ้าง มันจะกลับไปสู่สภาพปกติของมันเอง

      นั่นคือ จบเรื่องนี้ด้วยคำสอนถึงวิธีที่จะรับมือกับจิตใจของตัวเอง

      บางครั้ง เมื่อผมอ่านพระสูตรหรือพระไตรปิฎกของมหายาน ผมก็เข้าใจครับว่า ที่ปราชญ์ราชบัณฑิตของไทยหลายๆ ท่านได้ออกมาพูดทำนองว่า

      'ถ้าไม่มีนิกายมหายาน ศาสนาพุทธคงไม่อาจจะอยู่ได้ยืนยาวในโลกได้นานขนาดนี้'

      และพุทธแบบเถรวาทของไทยและประเทศใกล้เคียง คือชนกลุ่มน้อยของผู้นับถือศาสนาพุทธทั้งโลก

      อย่าไปทะนงตนว่า เถรวาทนั้น มีดีกว่าผู้อื่น

      พุทธแบบมหายานนั้น ได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้วถึงสองพันกว่าปีว่าอยู่ได้ และอยู่แบบมั่นคงในแนวความคิดและคำสอนเสียด้วย"

      ครับ..........

      นี่คือที่คุณ Pat Hemasuk โพสต์ fb ไว้ ผมไม่มีความเห็นเป็นอื่น เพียงอยากเสริมว่า

      พุทธเถรวาทของไทยนั้น เป็น "แขนงต่อมาจากลังกา" และแต่ละอรรถกถาจารย์ต่างรจนาต่างๆ กันไป

      ต่างกับ "พุทธมหายาน" ในจีน.......

      "พระถังซัมจั๋ง" ท่านเดินทางจากจีน ย่ำทะเลทราย บุกป่า-ฝ่าภูเขา ไปศึกษาเล่าเรียนที่วัดหรือมหาวิทยาลัยนาลันทาในอินเดียโดยตรง

      คือ "ต่อกิ่ง-ทาบตา" มาจากต้นเลย!

      ๑๗ ปี ที่พระถังซัมจั๋งเรียนคัมภีร์พระธรรมและศาสตร์ต่างๆ ที่นาลันทา

      เหตุที่นาน เพราะท่านต้องการศึกษาจาก "ต้น-ราก" จริงๆ ตามที่ "พระอานนท์" ถ่ายทอดธรรมจากโอษฐ์พระพุทธองค์ให้บันทึกไว้

      นาลันทา มีหลายสำนัก-หลายคัมภีร์ ว่าด้วยศาสตร์ต่างๆ ให้เลือกเรียน เหมือนมหาวิทยาลัยมีหลายคณะ หลากวิชาให้เลือก

      แต่ในแต่ละคัมภีร์ศาสตร์ รวมถึงพระไตรปิฎก บันทึกไว้ด้วยภาษาสันสกฤต

      ท่านรู้แต่ภาษาจีน เพื่อการเข้าถึง จึงต้องเริ่มเรียนภาษาสันสกฤตก่อน

      แตกฉานในภาษาดีแล้ว จึงเรียนชนิดแทงทะลุคัมภีร์ศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะ "พระไตรปิฎก" ที่เป็นภาษาสันสกฤต

      ช่ำชองทั้งเนื้อธรรมทั้งภาษา สามารถถ่ายทอดพระไตรปิฎกจากต้นฉบับสันสกฤต เป็นภาษาจีนได้

      ไม่เพียงเท่านั้น ถึงขั้นแต่ง "คัมภีร์ธรรม" ด้วยสันสกฤตไว้หลายเล่ม จนนาลันทายกย่องให้ท่านเป็น "พระตรีปิฎกาจารย์"

      ตรีปิฎก=ซัมจั๋ง หมายถึงพระไตรปิฎก นั่นแหละ

      และนาลันทา ด้วยนักศึกษาเป็นพัน-เป็นหมื่น เลือกให้ท่านเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัย

      ไปขึ้นเวที "โต้วาทีธรรม" ในการชุมนุมเจ้าลัทธิ-นิกายธรรมครั้งใหญ่ด้วยคนเป็นหมื่น-เป็นแสน

      ท่านปราบเรียบ.........

      ท่ามกลางเมธีธรรมนับหมื่น-นับแสนในเวที ทุกสำนักสยบยอมยกให้กับพระถังซัมจั๋งเป็นหนึ่ง!

      จะว่าไปแล้ว พุทธเถรวาท ตั้งเป็นนิกายขึ้นมาเปียกๆ ตอนจากลังกาเข้ามาย่านสุวรรณภูมิ

      ส่วนมหายาน นั้น มีกล่าวอยู่ก่อนแล้ว และเป็นพุทธนิกายมหายานอยู่ในจีนก่อนจะเกิดประเทศไทยด้วยซ้ำ

      แต่คงเหมือนในบ้านเราตอนนี้........

      คือมากสำนัก มากอาจารย์ พุทธเหมือนกัน แต่เพี้ยนพุทธไปคนละหน่อ-ละแนว

      สำนักไหนจับหูช้าง ก็บอกว่า ตามคัมภีร์บอกช้างตัวแบนๆ สำนักไหนจับหาง ก็บอก ตามคัมภีร์บอกช้างตัวเล็กๆ ยาวๆ

      พระถังซัมจั๋งเห็นไม่เข้าท่า......

      ในสมัยราชวงศ์ถัง พ.ศ.๑๑๗๒ จึงเดินทางไปอินเดีย ณ วัดหรือมหาวิทยาลัยนาลันทา

      ทั้งศึกษาคัมภีร์ศาสตร์ พระไตรปิฎก รวมทั้งจาริกไปตามสังเวชนียสถาน

      รวมทั้งเวลาเดินทางไป-กลับ ทั้งหมด ๑๙ ปี

      ตอนกลับ พระถังซัมจั๋งนำพระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤตมาด้วย

      ถึงเมืองฉางอาน ในสมัยพระเจ้าถังไท่จง โปรดเกล้าฯ ให้แปลเป็นจีน แล้วยังทรงให้เขียน "บันทึกการเดินทางไปอินเดีย" ไว้ทั้งหมด เรียกว่า

      "จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง"

      คุยกันคร่าวๆ ที่สุดแค่นี้ ก็คงหมดสงสัย ที่ปราชญ์ราชบัณฑิตพูดว่า

        "ถ้าไม่มีนิกายมหายาน ศาสนาพุทธคงไม่อาจจะอยู่ได้ยืนยาวในโลกได้นานขนาดนี้"

      ก็มหายาน นั้น พระถังซัมจั๋ง ไปร่อนเอา "แก่นพุทธธรรม" มาจากต้นตอโดยตรง

      คำสอนมหายานจึง "สั้น-ง่าย-กระชับ"

      แต่ "ตรง-ลึก"

      ส่วนพุทธเถรวาทในไทย เหมือนคนร้อยคนยืนเรียงแถว แล้วไปกระซิบใส่หูคนแรกว่า "แมวตาย"

      จากนั้น ให้กระซิบคำว่า "แมวตาย" ใส่หูต่อๆ กันไป จากคนที่ ๑ จนถึง ๑๐๐

      ลองไปถามคนที่ ๑๐๐ ดูซิว่า เขากระซิบว่าอะไร?

      จะกลายเป็น "แม้แต้"........

      ใกล้เคียงหน่อยอาจจะ "แม้วตาย"!

      คือต่อๆ กันมา แล้วแต่ละอรรถกถาจารย์จะแต่งเติม เรียกว่ารจนาสำนวนใคร-สำนวนมัน

      มหายานแต่สองพันปี เขาแทงตรงถึงแก่น

      แต่เถรวาทในไทย แทงตรงกระพี้หรือแก่น ไม่ต้องดูไกล ในรัชกาลที่ ๔ ทอดพระเนตรวัตรปฏิบัติพระสงฆ์แล้ว

      ต้องแยกเป็น "มหานิกาย-ธรรมยุต"!

      แม้ถึงยุคนี้-วันนี้ก็เถอะ สงฆ์เถรวาทในบ้านเมืองเรา ก็ยังเน้นอภินิหาร ไปถึงขั้น

      เจ้าอาวาส "เมีย ๗"!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"