กระทรวงเกษตรฯ ยุค ปชป.คุมหางเสือ


เพิ่มเพื่อน    

ปชป.คัมแบ็ก คุม ก.เกษตรฯ

โฉนดสีฟ้า-โคล้านตัว จะเกิดไหม?

      กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ ประยุทธ์ 2/1 ที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีประยุทธ์ 2/1 เมื่อ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง เพราะเป็นยุคที่มีรัฐมนตรี 4 คน จาก 4 พรรคการเมือง โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการถึง 3 คน ซึ่งไม่ค่อยเห็นบ่อยครั้งนัก และรัฐมนตรีใน ก.เกษตรฯ แต่ละคนก็ไม่ธรรมดา เช่น ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา แกนนำพรรคพลังประชารัฐภาคเหนือ หรือ ประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เคยเป็น รมว.เกษตรฯ มาแล้ว แต่รอบนี้มาเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ ผนวกกับก่อนหน้านี้ตอนตั้งรัฐบาล ก.เกษตรฯ ก็ตกเป็นข่าวอย่างหนักว่าเป็นกระทรวงที่กลุ่มสามมิตร พลังประชารัฐ โดยสมศักดิ์ เทพสุทิน พยายามต่อรองเอาคืนมาจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ

      เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงการจะเข้าไปทำงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อจากนี้ หลังที่ผ่านมาหลายปีประชาธิปัตย์ไม่ได้ดูแลกระทรวงเกษตรฯ อย่างเต็มตัวมานาน ตลอดจนให้ทัศนะถึงเรื่องเสถียรภาพรัฐบาลที่ถูกมองว่าเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูพรรค ปชป.ให้กลับมามี ส.ส.จำนวนมากเหมือนในอดีต โดยเฉพาะการทำให้หัวหน้าพรรค จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีลุ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่เขาย้ำว่าเป็นภารกิจที่คนเป็นเลขาธิการพรรคต้องทำให้เรื่องนี้มีโอกาสเกิดขึ้นให้ได้

      เฉลิมชัย-เลขาธิการพรรค ปชป.พรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียง ส.ส.เป็นอันดับ 2 ใน 19 พรรคร่วมรัฐบาล มองว่า เรื่องข้อเป็นห่วงของหลายฝ่ายที่ว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มี ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งมาไม่กี่เสียง แต่เขามองว่า รัฐบาลจะมีเสียง ส.ส.มากแค่ไหน จะมีเสียงปริ่มน้ำ หรือมี ส.ส.เยอะ มันพร้อมที่จะไปได้ตลอด อยู่ที่ปัจจัยการบริหาร การพูดคุยทำงานร่วมกัน หลายครั้งที่รัฐบาลมีเสียง ส.ส.ไม่มาก เป็นเสียงปริ่มน้ำ แต่ก็อยู่ได้ยาว เกือบครบเทอม และหลายครั้งที่รัฐบาลแม้มีเสียง ส.ส.มาก แต่สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ การที่รัฐบาลจะอยู่ได้นานหรือไม่นาน จะบอกว่าอยู่ที่เสียง ส.ส.ฝั่งรัฐบาลทั้งหมด คงไม่ใช่ แต่อยู่ที่การบริหารงานมากกว่า

     ...อย่างผมก็มองว่า รัฐบาลจะอยู่ยาวหรือไม่ยาว อยู่ที่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าไม่มีตรงนี้ ผมเชื่อว่ารัฐบาลอยู่ยาว แต่ถ้ามีตรงนี้ ต่อให้มีเสียง ส.ส.มากแค่ไหน รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ หรือไม่ปริ่มน้ำ แต่อยู่ที่การแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องพี่น้องประชาชน และอย่าให้เกิดเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ทำได้ไหม หากทำได้ ผมว่ารัฐบาลก็อยู่ครบเทอมได้

     ...ในพรรค ปชป. เราก็พูดคุยกันว่า อย่าให้มีปัญหาตรงนี้ อย่าให้มันเกิดขึ้น เพราะถ้าเราไม่มีตรงนี้ ผมก็อยากรู้ว่าฝ่ายค้าน จะเอาอะไรมาโจมตี มาล้มรัฐบาล ไม่ใช่ว่ามีหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน แล้วมาทำหน้าที่แบบ ค้านดะ ค้านแบบไม่มีเหตุผล ผมว่าแบบนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่รุ่นใหม่ แต่เป็นรุ่นไดโนเสาร์ เอาอัตราตัวเองมาเป็นตัวตั้ง คือบ้านเมืองเป็นของทุกคน อะไรที่ทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ ไม่เสียหาย ก็ต้องช่วยกัน แต่อะไรที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย ก็ว่ามาเลย มาช่วยกันยับยั้ง

-ที่บอกว่ารัฐบาลต้องไม่ทุจริต หากอนาคตเกิดอะไรขึ้น เช่น มีข่าวทุจริตออกมา ถ้าสมมุติไม่ได้เกิดกับรัฐมนตรีของพรรค จุดยืนพรรคในเรื่องนี้อยู่ที่ระดับใด?

     ตรงนี้เมื่อถึงเวลาแล้ว สถานการณ์มันจะบอกเอง อย่าลืมว่าประชาธิปัตย์เคยมีรัฐมนตรีที่โดนข้อกล่าวหาแล้วลาออก แล้วสุดท้ายผลการตรวจสอบออกมา ไม่พบการกระทำความผิด แต่ด้วยสปิริตตรงนั้น เราก็รับผิดชอบ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องให้โอกาสคนที่เขาโดนกล่าวหา หากว่าถึงวันนั้นได้นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง หากเขานำเสนอแล้ว ถ้ามันไม่ควรเชื่อ แบบนั้นก็จบ แต่หากเขามีเหตุมีผลที่จะหักล้างได้ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา

     ถามถึงว่าการเป็นรัฐบาลผสมร่วม 19 พรรค ทุกเสียงมีความหมาย หากอนาคตมีบางพรรคมี ส.ส.แค่ 2-5 เสียง ออกมาเคลื่อนไหว เช่น ขู่จะไม่ยกมือให้รัฐมนตรีโดนเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมีปัญหาต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ เลขาธิการพรรค ปชป. ตอบว่า ผมว่าเขามีสำนึกพอ ผมยังเชื่อแบบนั้น แต่ละคนมาเป็น ส.ส.ได้ หากไม่มีสำนึกตรงนี้ ก็ไม่สมศักดิ์ศรีหรอก ผมไม่กังวลตรงนั้น อย่างตัวท่าน นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จุดแข็งของพลเอกประยุทธ์ ผมเชื่อมั่นในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตของนายกฯ ผมเชื่อมั่นตรงนี้ ท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาล แล้ววันนี้รัฐบาลเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่พร้อมจะให้ทุกภาคส่วนตรวจสอบ มันก็ไม่ง่ายเหมือน 5 ปีที่ผ่านมา มันแตกต่างกัน นายกฯ ก็ต้องกำกับดูแลให้ใกล้ชิด

-นโยบายที่พรรค ปชป.เคยหาเสียงและชูไว้ตอนเลือกตั้ง ที่เน้นเรื่องแก้จน สร้างคน สร้างชาติ พรรคจะเข้าไปขับเคลื่อนอย่างไร หลังพรรคได้ดูแลงานกระทรวงพาณิชย์-กระทรวงเกษตรฯ?

     กระทรวงพาณิชย์เป็นเรื่องการดูแลปัญหาประชาชนระดับรากหญ้า และในระดับธุรกิจ ส่วนกระทรวงเกษตรฯ ก็จะเป็น เช่น เรื่องของเกษตรกร เรื่องแหล่งน้ำ ซึ่งตรงนี้มันคือหัวใจของประเทศไทย ถ้าประชาชนที่เป็นเกษตรกรสามารถอยู่ดีกินดี ผมว่าเศรษฐกิจของประเทศก็จะขับเคลื่อนไปด้วยตัวของมันเอง

ปัญหาของประชาชนเป็นปัญหาหลักที่เราตั้งใจว่า เราจะไปแก้ไขและทำตรงนี้ให้ดีที่สุด นั่นคือเรื่อง ”แก้จน” แต่ขณะเดียวกัน ไม่ได้หมายถึงเราจะไปทอดทิ้งคนในภาคส่วนอื่นๆ เพราะอย่างกระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องดูแลเรื่องปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้า ราคาพืชผลการเกษตร รวมถึงการส่งออก มันก็เป็นภาพรวมที่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน ซึ่งไม่ใช่แค่กระทรวงพาณิชย์และเกษตรฯ เท่านั้น แต่กระทรวงอื่นๆ อย่างกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอื่นๆ ทั้งหมด เวลาทำงาน เราทำงานในฐานะรัฐบาล แต่เราจะโฟกัสไปที่ปัญหาของประชาชน เพื่อที่จะได้ทำตามนโยบายที่พรรค ปชป.ประกาศไว้ได้

      ...พรรค ปชป.ถึงได้ขอให้คนของพรรคไปอยู่เป็น รมช.ศึกษาธิการ รมช.มหาดไทย รมช.สาธารณสุข รมช.คมนาคม เพื่อที่การทำงานของเราจะได้สอดคล้องกัน คือ แก้จน สร้างคน สร้างชาติ แต่ขณะเดียวกัน ทั้งหมดก็คือการทำงานภายใต้การเป็นรัฐบาลร่วมกัน ที่ทุกกระทรวง ทุกภาคส่วนสำคัญหมดกับการขับเคลื่อนประเทศไทย

     เฉลิมชัย-รมว.เกษตรฯ ยังกล่าวถึงนโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตรฯ ที่พรรค ปชป.ชูมาตลอดตอนหาเสียง หลังเราถามว่านโยบายดังกล่าวจะมีความแตกต่างจากนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้เคยทำ เช่น การจำนำข้าว อย่างไร โดยเขากล่าวว่า  จำนำข้าว สิ่งที่ปรากฏคือไม่ใช่การจำนำจริง แต่เป็นการไปรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าตลาด โดยนำเม็ดเงินงบประมาณเข้าไปอัด แล้วก็เกิดการทุจริต โกงกินกันมโหฬาร ส่วนการประกันรายได้ อาจไม่ได้ทำให้ทุกคนร่ำรวย แต่มันมีหลักประกันที่แน่นอนว่ามีรายได้แน่ จะคุ้มทุนในการทำ สามารถที่จะอยู่ได้ แต่ว่าการปรับเปลี่ยนวิธีการก็ต้องติดตามตรงนี้ แต่ผมว่าต้องมีการปรับเปลี่ยน

     อย่างผมยกตัวอย่าง กรณีเกษตรกรที่เขาไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง โดยไปเช่าที่คนอื่น แล้วเมื่อนโยบายของเราทำออกมา บางทีส่วนราชการก็ไปดูว่าใครเป็นเจ้าของที่ ปรากฏว่าหลายเคส หลายกรณี เจ้าของที่เป็นคนได้รับส่วนต่างในราคาพืชผล แทนที่จะเป็นเกษตรกรตัวจริงที่ไปเช่าที่ดิน ตรงนี้เราก็ต้องไปดู ไปปรับเปลี่ยนว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้เม็ดเงินไปถึงเกษตรกรตัวจริง ก็เป็นรายละเอียดที่เราต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

-ยืนยันว่านโยบายประกันรายได้ที่จะออกมา จะไม่เกิดช่องโหว่ให้เกิดการใช้งบประมาณโดยไม่มีประสิทธิภาพ เกิดการทุจริต?

     ผมว่าไม่ใช่การทุจริต แต่มันเป็นการนำเม็ดเงินไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ผิดพลาด ผมใช้คำนี้ดีกว่า แต่ว่ามันก็ปรับปรุงได้ เมื่อทำมาแล้วรู้ว่ามีปัญหาตรงไหน ก็ปรับปรุงแก้ไขตรงนั้น แต่จะเป็นหลักประกันให้กับพี่น้องเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา คนทำงาน ได้ดีที่สุด

     เมื่อถามความชัดเจนถึงนโยบายที่พรรคเคยหาเสียงไว้อย่าง โฉนดสีฟ้า จะทำให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เฉลิมชัย-รมว.เกษตรฯ ยืนยันว่า โครงการต่างๆ เหล่านี้ เราต้องประสานกันหลายหน่วยงาน เราต้องคุยกัน เพราะวันนี้ประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว ถ้าประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลพรรคเดียว ผมฟันธงไปได้เลยว่า หนึ่ง สอง สาม สี่ ทำและเกิดขึ้นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าการทำงานในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล มันก็ต้องฟังความเห็นของพรรคการเมืองอื่น โดยนโยบายใดที่ตรงกัน เราก็มาทำร่วมกัน บางเรื่องอาจเป็นนโยบายที่เป็นชื่อของพรรคเรา บางเรื่องอาจไม่ใช่ชื่อที่เป็นนโยบายของพรรคเรา แต่ว่าเป้าหมาย คือเป้าหมายเดียวกัน เราก็ทำตรงนั้นได้ อย่างเรื่อง โฉนดสีฟ้า เป้าหมายคือต้องการทำให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน เราก็ไปดูว่าแต่ละพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลคิดอย่างไร แล้วก็มาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ให้เขามีที่ดินทำกิน

-นโยบายที่บางพรรคการเมืองหาเสียงไว้ เช่น โคล้านตัว จะทำอย่างไร?

     อันนี้ต้องพิจารณา เพราะว่าต้องยอมรับว่าในมุมมองของพรรคเราในเรื่องนโยบาย ณ วันนั้น มันแตกต่างกัน เพราะอีกพรรคเขาอาจมีมุมมองว่า จะช่วยแก้ปัญหาประชาชน จะเพิ่มรายได้ เพิ่มเงินให้ เขาก็มองในมุมของเขา ส่วนของเราก็มองในมุมอีกอย่าง เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำในวันนี้ ผมคิดว่าถ้ามันทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยไม่กระทบกระเทือนกับนโยบายของรัฐ สอง ต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน ผมว่าผมอยู่ตรงส่วนนี้ (กระทรวงเกษตรฯ) ก็พร้อมจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน

     ต่อข้อถามที่ว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ มักจะมีข่าวทางลบเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ เช่น งบก่อสร้างประมูลงานของกรมชลประทาน การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ เมื่อมานั่งเป็น รมว.เกษตรฯ แล้วจะมีแนวทางสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในกระทรวงได้อย่างไร เฉลิมชัย-รมว.เกษตรฯ การันตีว่า ผมก็มีหลักการทำงานของผม แล้วสมัยผมเป็น รมว.แรงงาน ผมไปอยู่ตรงนั้น ไม่มีเรื่องการซื้อขายตำแหน่งเด็ดขาด อันนี้ผมยืนยันได้เลย และการที่จะไปทำงานที่กระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของข้าราชการ ผมว่ารัฐมนตรีไม่มีโอกาสที่จะไปดูสัญญาหรือไปตรวจงานทุกอย่างว่าเป็นอย่างไร แต่เราก็ต้องมีหลัก มีการให้นโยบายที่ชัดเจนกับข้าราชการ ผมว่าถ้าหัวไม่ส่าย หางไม่กระดิกหรอก สิ่งที่ผมจะให้นโยบายกับข้าราชการก็คือ ต้องทำสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนสูงที่สุด

-กระทรวงเกษตรฯ เป็นกระทรวงที่มีข่าวออกมาตลอดตอนตั้งรัฐบาลว่า แกนนำกลุ่มสามมิตรในพลังประชารัฐ ต้องการดูแลกระทรวงเกษตรฯ มาตลอด แต่สุดท้ายมาอยู่ที่ประชาธิปัตย์ ในการเข้าไปนั่งเป็น รมว.เกษตรฯ รู้สึกอย่างไร เพราะเป็นกระทรวงที่มีข่าวการต่อรองสูงฯ?

     ผมไม่รู้ว่าเขามีการต่อรองกันอย่างไร ผมก็ดูแต่ข่าว แต่ผมรู้ว่าในส่วนของประชาธิปัตย์ เราชัดเจนมาตั้งแต่ต้น เพราะเราเอานโยบายเราเป็นตัวตั้งให้กับฝ่ายแกนนำรัฐบาล ว่านโยบายพรรค ปชป.เป็นแบบนี้ (แก้จน สร้างคน สร้างชาติ) ถ้าเราจะแก้ไขปัญหาของเราได้ แม้ไม่ทั้งหมด แต่ว่าหลักๆ ของเรา มันก็คือกระทรวงที่เราได้เสนอไป ซึ่งพูดคุยจบตั้งแต่ต้นแล้ว เพียงแต่ว่าในส่วนของพรรคการเมืองอื่น พรรคแกนนำ ผมไม่ทราบจริงๆ เพราะผมมีมารยาทพอที่จะไม่ไปก้าวก่ายกิจการภายใน

-คนของ ปชป.ไม่ได้ไปนั่งเป็น รมว.เกษตรฯ มานานหลายปี ในอดีตก่อนหน้านี้เคยมีกรณี สปก.4-01 การเป็น รมว.เกษตรฯ รอบนี้ ทำให้ถูกจับจ้องหรือไม่?

     คงไม่ เป็นเรื่องของแต่ละยุคแต่ละสมัย มันอยู่ที่ตัวคน ผมเองวันนี้ก็มาตามระบอบ ก็พร้อมให้ตรวจสอบ และขอให้เชื่อมั่นว่า ผมจะทำงานโดยยึดถือผลประโยชน์ประเทศและประชาชนเป็นหลัก และรักษาชื่อเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ผมเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ผมคงไม่ยอมให้ใครมาประณามพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ผมเป็นเลขาธิการพรรคหรอก สิ่งนี้คือนโยบายหลักที่เราพูดคุยกันในส่วนของคนที่จะไปเป็นรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ คือต้องช่วยกันสร้างพรรคประชาธิปัตย์

ยืนกรานต้องเดินหน้าแก้ รธน.

     แม้วันนี้ ครม.ประยุทธ์ 2/1 จะคลอดออกมาแล้ว แต่เมื่อถามย้อนไปถึงช่วงตั้งรัฐบาล เรื่องการเจรจาเพื่อขอดูแลงานกระทรวงต่างๆ พรรค ปชป.คุยกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐจบเลยครั้งเดียวเลย หรือว่ามีความพยายามจะมาขอต่อรองแลกเปลี่ยนอยู่ตลอด เฉลิมชัย-เลขาธิการพรรค ปชป.-มือเจรจาฟอร์ม ครม. บอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการเจรจา ก็ต้องมีการพูดคุยกันเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าจุดยืนของเราชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าเป็นแบบนี้ๆ ซึ่งจริงๆ แล้วการตอบรับมีมาตั้งแต่ต้นแล้ว ผมยืนยันได้ว่า มันจบตั้งแต่ต้นแล้ว ประชาธิปัตย์เราโดนวิจารณ์ตอนช่วงตั้ง ครม. ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ข้อเท็จจริงเลย ผมก็ไม่ได้ออกมาตอบโต้ ที่วิจารณ์กันว่าประชาธิปัตย์เรื่องมาก ต่อรองมาก เงื่อนไขมาก ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลย

     ส่วนที่พรรค ปชป.มีเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องการให้ผลักดันแก้ไข รธน.  ก็เพราะหลักของกฎหมายคือกฎหมายทุกฉบับแก้ไขได้ รัฐธรรมนูญก็เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งแต่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายทุกฉบับเมื่อมีการบังคับใช้แล้ว เมื่อพบเห็นข้อบกพร่องเห็นปัญหา  เมื่อวันนี้เราใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว จนเห็นว่าเกิดปัญหาตรงจุดไหน พรรคก็เสนอว่าควรมีการแก้ไขส่วนที่เป็นปัญหา ก็แค่นั้นเป็นเรื่องของหลักการที่กฎหมายทุกฉบับก็เป็นแบบนี้ เมื่อวันนี้เห็นปัญหาจริงๆ เมื่อเราจะเข้าไปเราก็มีข้อตกลงร่วมกันว่า เราต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญก็คือหนึ่งในปัญหานั้น

...จริงๆ เราเสนอเงื่อนไขหลายอย่าง ไม่ใช่รัฐธรรมนูญอย่างเดียวที่เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ แต่เราไม่ได้เสนอแก้ทั้งฉบับ เราไม่ได้ตีรวน เราคุยกันด้วยเหตุด้วยผล วันนี้หลายคนรู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหนบ้าง แต่ประเภทจะตีรวนก็คือจะให้ยกร่างขึ้นมาใหม่เลย แบบนี้ผมว่าไม่มีเหตุผล แต่ควรแก้ในส่วนที่เห็นร่วมกันว่ามีปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การจะแก้ไขได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกส่วนทั้งฝ่ายค้าน ส.ว. ไม่ใช่อยู่ดีๆ รัฐบาลอยากจะแก้ไขก็ทำได้ แต่ต้องตั้งประเด็นการแก้ไขไว้ก่อน โดยแก้ไขในส่วนที่ทำให้ประเทศเดินไปได้ แล้วนำไปพูดคุยกับทุกฝ่ายจนเห็นพ้องต้องกัน เรื่องนี้ต้องแยกกันระหว่างคนที่ต้องการจะล้ม กับคนที่ต้องการแก้ไข รธน.เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น เรื่องนี้ดูแค่ข้อเสนอก็รู้ว่าใครมีเจตนาแบบไหน ซึ่งพรรค ปชป.ก็รู้ว่าเรื่องแก้ไข รธน.มันไม่ง่าย เพราะต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน.

 

ประชาธิปัตย์ยุคใหม่

คุณภาพห้าง แต่สัมผัสง่ายขึ้น     

        เฉลิมชัย-รมว.เกษตรฯ ในฐานะ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการคัมแบ็กกลับมาเป็นเลขาธิการพรรครอบสอง หลังก่อนหน้านี้เคยเป็นมาแล้วครั้งหนึ่งยุคที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค โดยรอบแรกเขามานั่งเป็นเลขาฯ ปชป.สืบต่อจากสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่วนรอบนี้เข้ามาเป็นทั้งเลขาฯ และมือขวาคู่ใจจุรินทร์หัวหน้าพรรค ตั้งแต่ร่วมทีมเดียวกับจุรินทร์ในช่วงการหาเสียงเพื่อโหวตชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ปชป.

     เฉลิมชัย ย้ำถึงแนวทางการฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาถูกมองว่าแพ้แบบยับเยินมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยเขาบอกว่าวันนี้เราคิดว่าต้องทำให้พรรค ปชป.เดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยจะต้องมีการปรับปรุงปฏิรูปการทำงานของพรรค รวมถึงบทบาทของคณะผู้บริหารพรรคและ ส.ส.ของพรรคชุดปัจจุบันเพื่อเรียกศรัทธากลับคืนมา เพราะเรามั่นใจว่าหากเราทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ ก็จะทำให้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อ ปชป.กลับคืนมาได้ หลังจากนี้เราต้องทุ่มเทการทำงานให้มากที่สุด

     เฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนพรรค ปชป.ด้วยแนวทางเดินไปพร้อมกันสามทัพ คือรัฐมนตรีของพรรค-กรรมการบริหารพรรค-ส.ส.ของพรรค ปชป.ที่หัวหน้าพรรคเคยประกาศไว้ โดยแนวทางหลักๆ ก็คือสามทัพดังกล่าวต้องทำงานประสานร่วมมือกัน เพราะการที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติ ไปแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีและ ครม.ในการเข้าไปทำงานฝ่ายบริหาร เมื่อพรรคเราได้รับงานบริหารในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องของประชาชน ชีวิตความเป็นอยู่ ราคาพืชผล ตามนโยบายที่พรรคปชป.เคยประกาศไว้ และเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ต่างๆ ในการขับเคลื่อนพรรค จะกำหนดโดยกรรมการบริหารพรรคที่ต้องมีแนวทางนโยบายที่ชัดเจน สามารถนำนโยบายไปปฏิบัติได้จริง และต้องมียุทธศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน

     “ประชาธิปัตย์ต้องจับต้องสัมผัสได้ ประชาธิปัตย์ต้องไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนบอกว่าอยู่ไกลตัว  วันนี้ประชาธิปัตย์จะก้าวไปหาโดยวางยุทธศาสตร์นำข้อเสนอต่างๆ ของพรรคไปรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วทุกภาค ทุกกลุ่มอาชีพ นี่คือยุทธศาสตร์ที่วางไว้สำหรับกรรมการบริหารพรรค

     ขณะที่ ส.ส.ก็จะไปขับเคลื่อนงานในสภาฯ ทั้งการผลักดันการออกกฎหมายต่างๆ การเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน โดยสามส่วนดังกล่าวต่อไปต้องทำงานควบคู่กัน ทำไปพร้อมๆ กัน แต่จริงแล้วก็ยังไม่พอ ต้องมีสมาชิกพรรค ประชาชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนด้วย

     เฉลิมชัย มองพรรค ปชป.ที่ตั้งมา 73 ปี หลังเราถามถึงว่าการที่พรรคตั้งมานานขนาดนี้ มีจุดแข็งจุดอ่อนอะไรบ้าง โดยเขาให้ความเห็นว่า พรรค ปชป.ก็เหมือนกับคนที่ผ่านแต่ละยุคแต่ละสมัย ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ปชป.เราตั้งมา 73 ปี ถ้าเราไปนึกดูว่า 73 ปีที่แล้วกับวันนี้มันมีความแตกต่างกันแค่ไหน วันนี้กับอดีตมีการเปลี่ยนแปลงไปหมดทั้งความเจริญด้านต่างๆ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่สิ่งที่ทำให้ ปชป.ยืนอยู่ได้ในทุกวันนี้ก็คือ จุดยืนและอุดมการณ์ของพรรค จะกี่ปีผมก็มั่นใจว่าไม่ใช่แค่ 73 ปี แต่จะร้อยปีหลักการและอุดมการณ์ของพรรค ปชป.ก็จะไม่เปลี่ยน เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นจริงในสังคมในประเทศไทย แต่ว่าบางส่วนเมื่อสังคม วัฒนธรรม วันนี้มันเปลี่ยน ปชป.เราก็ต้องมีการปรับปรุง เราก็พยายามอยู่

การตัดสินใจที่ผ่านมาของ ปชป.ในครั้งนี้เราคำนึงอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลได้ผลเสียของประเทศและประชาชนเป็นหลัก เลยทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้สนับสนุนเรไปบอกว่าพรรค ปชป.เชื่องช้า  แต่จริงๆ การตัดสินใจที่รอบคอบของ ปชป. มันทำให้ ปชป.ช่วยประเทศชาติมาหลายครั้งหลายหน แต่เสียงวิจารณ์เราก็รับฟัง แต่กระบวนการตัดสินใจของ ปชป.ต่อจากนี้ก็ต้องรวดเร็วและแม่นยำขึ้น ปชป.ต้องกล้าตัดสินใจในสิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน ประเทศชาติ ตรงนี้ผมมั่นใจว่า ปชป.เปลี่ยแปลงแน่นอน สิ่งที่อยากพูดก็คือ มีคนไปพยายามสร้างภาพว่า ปชป.เราสัมผัสยาก ปชป.คบยาก เราก็ต้องรับฟัง ถึงแม้ในความเป็นจริงเราก็รู้ตัวเราว่า ปชป.คบได้ เพียงแต่เรามีหลักการของเรา ที่บอกสัมผัสยากผมก็ขอเถียงเลย อย่างผมที่เคยเป็น ส.ส.ต่างจังหวัดและคนอื่นๆ ในพรรคที่เขาเป็น ส.ส.จริงๆ ประชาชนสามารถมาพบได้ตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว แต่ว่าเมื่อมีเสียงสะท้อนมาเราก็ต้องปรับ อย่างมีคนบอกประชาธิปัตย์เป็นสินค้าบนห้าง ที่ใครอยากมาสัมผัสต้องเดินมาหา โอเคเรารับฟัง

     วันนี้เราก็จะเปลี่ยนแปลง วันนี้ ปชป.ก็จะยังเป็นสินค้าบนห้างเหมือนเดิม แต่เราจะนำไปเสนอให้ถึงพื้นที่ ไปเสนอให้ประชาชนสัมผัสเราได้ ให้ท่านได้รู้จักและไปบอกเขาว่าลองมาคบเราดู แต่คุณภาพยังเหมือนเดิม เพียงแต่เราจะพาตัวเราไปหาประชาชน

     เฉลิมชัย-เลขาธิการพรรค ปชป. ยังกล่าวถึงเสียงวิจารณ์ที่ว่า ปชป.เป็นพรรคสไตล์อนุรักษนิยมว่า เรื่องดังกล่าวก็มีทั้งจุดแข็งจุดอ่อน ในความเป็นอนุรักษนิยมยังไงวันนี้ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามโลกที่เปลี่ยนแปลง วันนี้เราจะบอกว่าอนุรักษนิยมร้อยเปอร์เซ็นต์เลยก็เป็นไปได้ยาก แต่หากเราไม่มีตรงนี้อยู่เลย ผมว่าก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน ดังนั้นการปรับให้มีการผสมผสานให้เหมาะสม เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

-พื้นที่เลือกตั้งซึ่งเคยเป็นฐานหลักของ ปชป.หลายสิบปี อย่างภาคใต้กับ กทม. วันนี้มีคู่แข่งมากขึ้น มีทั้งพลังประชารัฐ, ภูมิใจไทย, อนาคตใหม่ พรรคจะรับมืออย่างไร?

     พรรคก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน อย่างกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ซึ่งโหวตเตอร์จะมีการตอบรับกับตัวผู้สมัคร พรรคการเมืองที่ค่อนข้างไว พรรคก็ต้องตามสถานการณ์ตรงนี้ให้ทัน แต่ที่สำคัญคนจะเป็น ส.ส.ต้องพร้อมจะอยู่กับประชาชน พร้อมจะรับทราบและนำปัญหาประชาชนไปแก้ไข ผมก็ได้บอกกับทุกคนว่า ต้องอยู่พื้นที่รับปัญหา ต้องพบกับประชาชน สิ่งเหล่านี้เราจะทำทั้งในภาคใต้ กทม. และภาคกลางที่พรรคเคยได้ ส.ส.จำนวนมาก วันนี้เราต้องเดินไปพร้อมๆ กัน ยอมรับในข้อผิดพลาดที่ผ่านมา สิ่งไหนแก้ไขได้ก็ต้องแก้ไข

     ต้องยอมรับความจริงกันว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมามีหลายปัจจัยที่มากำหนดผลการเลือกตั้ง และบางปัจจัยมันไม่อยู่ในความคาดคิดของนักวิเคราะห์การเมืองทั้งหลาย ที่หลายคนวิเคราะห์กันผิดเกือบหมด  เพราะหลายคนไม่คิดว่ากระแสโซเชียลมีเดียจะรุนแรงขนาดนี้ มันก็เลยทำให้การวิเคราะห์ การดำเนินการต่างๆ ผิดพลาดไป พร้อมกับหลายปัจจัยที่เข้ามา ซึ่งบางเรื่องก็พูดได้ แต่บางเรื่องพูดไม่ได้ แต่วันนี้ ปชป.เรายอมรับผลที่เกิดขึ้น โดยเราก็กำลังดูว่าอะไรที่จะทำให้ภาพพจน์และศรัทธาของ ปชป.กลับคืนมาได้ เราก็จะทำตรงนั้นทุกวิถีทาง เรายอมรับ ไม่ปฏิเสธเลยสำหรับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา

     ถามถึงพื้นที่ซึ่งถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนของ ปชป.มาตลอดอย่างภาคอีสานและภาคเหนือ เฉลิมชัย-เลขาธิการพรรค ปชป. มองเรื่องนี้ว่า อย่างที่บอกวันนี้ ปชป.คนก็มองว่าเป็นสินค้าห้างจับต้องยาก วันหนึ่งเราถึงจะบอกว่าพรรคเรายังเป็นสินค้าห้าง แต่เราจะนำสินค้านี้ไปเสนอประชาชนถึงบ้านให้พิจารณา ได้มาสัมผัสได้มาคบกับเราพร้อมกับๆ การขับเคลื่อนเชิงนโยบายของผู้บริหาร เราก็จะพยายามทำตรงนี้ให้มากที่สุด เราอาจไม่ได้คลุกคลีไม่ได้สัมผัสมากนักกับภาคอีสานภาคเหนือ แต่หลังจากนี้ทั้งรัฐมนตรีและผู้บริหารของ ปชป.ต้องลงไปหา ต้องนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนให้เขารับทราบโดยตรง  อันนี้คือสิ่งที่เราจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในภาคเหนือ-อีสาน

     ...สำหรับเรื่องการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีบทบาทางการเมืองในพรรค ปชป. อย่าง Young  Democrat หรือยุวประชาธิปัตย์ เป็นสิ่งที่อยู่กับ ปชป.มาตั้งแต่เริ่มต้น เพียงแต่ว่าแต่ละยุคแต่ละสมัย อาจมีส่วนหนึ่งตรงนั้นแตกออกไปเพื่อให้ทันยุคสมัย แต่ผมขอบอกว่าทุกส่วนประกอบของ ปชป.มีส่วนสำคัญทั้งสิ้น อย่างนิวเดม ตอนเลือกตั้งก็เป็นส่วนหนึ่งของ Young Democrat แต่บทบาทหน้าที่ในการออกไปแสดงก็มีบทบาทแตกต่างกันไป แต่การจะบอกว่าคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ ไม่ควรใช้อายุเป็นตัวแยก  แต่ควรใช้แนวคิด มุมมองเป็นตัวแยกมากกว่า เพราะถ้าคนอายุ 60 ปี แต่มีแนวคิดยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และพร้อมจะเปลี่ยนแปลง แบบนี้ก็คือรุ่นใหม่ แต่หากบางคนอายุ 30-40 ปี แต่มาบอกว่า ปชป.เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ต้องเดินไปแบบนี้ ถ้าแบบนี้ถึงอายุสามสิบปีแต่ก็ถือว่ารุ่นเก่า ผมมองตรงที่ความคิดมากกว่า ก็ขอยืนยันว่าเราให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มภายในพรรค ปชป. ที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันบนความรักความสามัคคีกลมเกลียว

     เลขาธิการพรรค ปชป. ยังพูดถึงเสียงวิจารณ์ที่คนมักพูดกันว่า อยากเล่นการเมืองแต่ไม่อยากเข้า ปชป.เพราะต้องมาต่อแถว มาเรียงลำดับอาวุโส โดยยืนยันว่าระบบอาวุโสก็ยังมีส่วนในการขับเคลื่อน แต่ว่าในองค์กรใหญ่ๆ อย่าง ปชป.ที่เป็นสถาบันก็ต้องมีความหลากหลาย ก็ต้องมีทุกกลุ่มแนวความคิด  มีทุกวัย ที่จะมาบอกว่าไม่อยากมา ปชป.เพราะไม่มีโอกาสที่จะมีความก้าวหน้า ผมขอบอกเลยว่ามันไม่ใช่ เพราะหากคุณมีความรู้ความสามารถ มีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่น ขอบอกเลยว่าพรรค ปชป.ให้โอกาส

      ...ผมขอยกตัวอย่างตัวผมเอง ผมไม่ได้มีต้นทุนทางการเมืองอะไรเลย ก็เป็น ส.ส.ต่างจังหวัด แต่สิ่งที่ผมมีให้พรรคคือการทุ่มเทการทำงาน ผมก็ได้โอกาสจากพรรค ปชป.คนหนึ่ง ซึ่งวันที่ผมเข้ามาก็ไม่ได้คิดว่าผมจะได้โอกาสที่พรรคให้แบบนี้ เพียงแต่คิดตอนนั้นว่าหากเราตั้งใจทำงาน ทุ่มเททำงานให้พรรค  วันหนึ่งสิ่งที่เราทุ่มเทก็ต้องหวนกลับมา ดังนั้นคนที่จะเข้ามาพรรค ปชป. หากตั้งใจมุ่งมั่น ทุ่มเททำงาน ก็มีโอกาส เพราะโอกาสก็เปิดอยู่ แต่เรื่องระบบอาวุโสก็ต้องมีทุกวงการ เพราะอย่างเช่นระบบราชการ  เวลาเลื่อนตำแหน่งก็ยังต้องใช้หลักอาวุโสเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา การเมืองก็เช่นเดียวกัน แต่ยืนยัน ปชป.ไม่มีการปิดโอกาสแน่นอน

      เมื่อถามถึงกรณีที่ประกาศตอนงานสัมมนาพรรค ปชป.ที่ประจวบคีรีขันธ์ว่า จะทำให้หัวหน้าพรรคปชป.มีโอกาสได้เป็นนายกฯ เรื่องนี้ เฉลิมชัย  ขยายความไว้ว่า มันเป็นหน้าที่ซึ่งไม่ว่าใครมาเป็นเลขาธิการพรรค เป็นแม่บ้าน เขาต้องมีหน้าที่นำพาพรรคไปข้างหน้าให้ประสบความสำเร็จมากที่สุด ซึ่งการประสบความสำเร็จมากที่สุดก็คือ การทำให้หัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ ซึ่งไม่ว่าใครมาเป็นตรงนี้ก็ต้องมีหน้าที่ทำ ซึ่งผมตั้งใจและทุ่มเทที่จะทำตรงนี้ ซึ่งมีโอกาสทั้งนั้นเพราะอนาคตไม่มีใครรู้ แต่ถ้าไม่มีโอกาสผมก็คงไม่กล้าพูด แต่โอกาสจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในวันข้างหน้าที่จะเกิดขึ้น

-เคยเป็นเลขาฯ ปชป.ในยุคอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค วันข้างหน้าอภิสิทธิ์จะกลับมาช่วยงานพรรค ปชป.ได้อีกหรือไม่?

     คุณอภิสิทธิ์ช่วยพรรค ปชป.อยู่แล้ว ผมมั่นใจเลย ทั้งตัวและหัวใจของคุณอภิสิทธิ์คือประชาธิปัตย์  วันนี้เขาก็ช่วยพรรคอยู่แล้ว คุณอภิสิทธิ์ไปทุกที่ จะไปบรรยายให้ความรู้ ไปทำกิจกรรมต่างๆ ก็มีประชาธิปัตย์ติดตัวไปตลอด เขาเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะอยู่สถานะใดความมีคุณค่าก็ยังคงอยู่

-มีความเป็นไปได้ไหมที่ในวันข้างหน้าประชาธิปัตย์จะจับมือกับเพื่อไทย?

     ผมว่าวันนี้ยังไกลเกินไป วันนี้เราทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการแก้ปัญหาประเทศชาติ มันไม่ง่าย สำหรับปัญหาที่หมักหมมมาหลายปี และวันนี้การเมืองเข้ามาแล้วบอกว่าแวบเดียวจะให้แก้ไขให้หมด  ผมว่ามันไม่ง่าย ที่ก็ขอโอกาสให้เราได้ทำงานก่อน ส่วนอนาคตวันข้างหน้าเป็นอย่างไร ผมว่าไม่มีใครตอบได้หรอก ปัญหาเร่งด่วนตอนนี้ก็คือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องประชาชน ทางประชาชนคาดหวังมาก

     เฉลิมชัย-เลขาธิการพรรค ปชป. ให้ความเห็นหลังเราถามว่าในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล มองยังไงที่บางฝ่ายยังคงไม่หยุดที่จะพูดเรื่องการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์แม้จะผ่านการเลือกตั้งมานานแล้ว โดยมองว่าประชาธิปไตยสำหรับผมคือการรู้จักหน้าที่ของตัวเอง และการเคารพสิทธิคนอื่น  คุณจะบอกประชาธิปไตย เอาประชาธิปไตยมาหากินไปวันๆ เป็นวาทกรรม ผมว่าไม่ถูกต้อง ต้องมองถึงประเทศชาติ หลักความเป็นจริงด้วย วันนี้การกล่าวอ้าง การแยกฝ่ายเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง วันนี้รัฐบาลก็มาจากการเลือกตั้ง อย่าลืมว่าเมื่อคนที่เข้าสู่การเลือกตั้ง ก็คือการอยู่ภายใต้หลักกฎหมายเดียวกัน และสิ่งนี้คือฉันทามติของประชาชน ประชาธิปัตย์เราได้มาแค่ห้าสิบสามเสียง เราก็ไม่ได้ไปโวยวายอะไรเลย  เราไม่ได้ไปแสดงอิทธิฤทธิ์อะไรเลย เรายอมรับว่านี่คือการตัดสินของประชาชน แล้วเรากลับมาทบทวนตัวเอง พิจารณาบทบาทตัวเอง แก้ไขตัวเอง นี่คือสิ่งที่พรรคเราทำ แต่วันนี้ถามว่าประชาธิปไตยคืออะไร  ถ้าคุณมาบอกว่ารัฐบาลไม่ใช่ประชาธิปไตย นั่นหมายความว่าฝ่ายคุณต้องเป็นนายกฯ อย่างเดียวใช่ไหม ถึงจะเป็นประชาธิปไตย ผมว่าไม่ใช่หรอก อย่าเอาประชาธิปไตยมาหากินเลย มันไม่ถูก.

 

     ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำหรือไม่ปริ่มน้ำ แต่อยู่ที่การแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องประชาชน และอย่าให้เกิดเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ทำได้ไหม หากทำได้ผมว่ารัฐบาลก็อยู่ครบเทอมได้...ถ้าเราไม่มีตรงนี้ ผมก็อยากรู้ว่าฝ่ายค้านจะเอาอะไรมาโจมตีมาล้มรัฐบาล ไม่ใช่ว่ามีหน้าที่เป็นฝ่ายค้านแล้วมาทำหน้าที่แบบค้านดะ ค้านแบบไม่มีเหตุผล

 

     ประชาธิปัตย์ต้องจับต้องสัมผัสได้ ประชาธิปัตย์ต้องไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนบอกว่าอยู่ไกลตัว...วันนี้เราก็จะเปลี่ยนแปลง ประชาธิปัตย์จะยังเป็นสินค้าบนห้างเหมือนเดิม แต่เราจะนำไปเสนอให้ถึงพื้นที่ ไปเสนอให้ประชาชนสัมผัสเราได้ ได้รู้จักและไปบอกเขาว่าลองมาคบเราดู


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"