แถลงนโยบาย25ก.ค. 'ชวน'เคาะแล้วไม่เกิน27นี้/'จุติ'ติงค่าแรง400มัดรัฐบาล 


เพิ่มเพื่อน    


     "ชวนล็อกเวลาแถลงนโยบายรัฐบาลลุงตู่  2 เริ่ม 25 ก.ค. ต้องจบในวันที่ 27 ก.ค. ยังใช้หอประชุมทีโอทีเหมือนเดิม ขณะที่นโยบายค่าแรงไม่ลงตัว "จุติ" ติงปรับวันละ 400 มัดตัวรัฐบาลมากเกินไป อาจสร้างปัญหาให้รัฐบาลได้ เตรียมถกใน ครม.นัดแรก ขณะที่ ครม.ลุงตู่ 1 จะประชุมนัดพิเศษจันทร์นี้ 
    นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการประชุมรัฐสภาเพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีการประสานเป็นการภายในแล้ว และได้หารือกับประธานวุฒิสภาว่าจะให้เวลารัฐบาลแถลงนโยบายในวันที่ 25 ก.ค.เป็นต้นไป โดยมอบหมายให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรประสานไปยังรัฐบาลเพื่อแจกเอกสารให้สมาชิกล่วงหน้า ซึ่งมีเวลาถึงวันที่ 27 ก.ค. ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ในวันที่ 28 ก.ค.2562 ส่วนจะใช้เวลากี่วัน ขึ้นอยู่กับวุฒิสภา วิปฝ่ายค้านและวิปรัฐบาลตกลงกันเรื่องกรอบเวลา 
    ประธานสภาผู้แทนฯ กล่าวว่า เดิมกำหนดให้วันที่ 24 ก.ค. แต่รัฐบาลติดภารกิจสำคัญ จึงทำให้ต้องเลื่อนมาเป็นวันที่ 25 ก.ค. โดยในวันแถลงนโยบายจะยังใช้หอประชุมทีโอที แจ้งวัฒนะ เพราะห้องประชุมรัฐสภาแห่งใหม่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ จะสามารถประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก หลังแถลงนโยบายที่รัฐสภาแห่งใหม่ได้หรือไม่นั้น ต้องดูวันที่ 19 ก.ค.นี้ ว่าระบบเสียงในห้องประชุมจันทราแล้วเสร็จหรือไม่เช่นกัน
    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างนโยบายรัฐบาลที่ต้องแถลงต่อรัฐสภาได้ส่งถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เรียบร้อยแล้วในวันนี้ ซึ่งถือเป็นร่างนโยบายรัฐบาลที่พรรคร่วมรัฐบาลได้สรุปมาในระดับหนึ่ง แน่นอนว่านายกฯ จะนำไปพิจารณาดูอีกได้ หากเห็นว่าต้องมีการปรับปรุง แต่อย่างน้อยเป็นร่างที่ได้พยายามรวบรวมนโยบายจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ทำร่วมกันอย่างดีที่สุด เพื่อให้ครอบคลุมนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้ร่วมกันคิดร่วมกันทำ 
    เขากล่าวว่า ขณะนี้ต้องถือว่าเป็นร่างนโยบายที่ได้รับความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด และการร่างนโยบายนี้ ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้อยู่ร่วมพิจารณา ดูเรื่องการปรับปรุงถ้อยคำและเนื้อหาเพื่อให้เกิดความถูกต้อง โดยร่างนโยบายจะจัดทำเป็นสองส่วน คือส่วนที่นายกฯ จะต้องแถลงต่อรัฐสภา ที่จะเอาเฉพาะประเด็นหลักๆ ที่ครอบคลุมในเบื้องต้น และอีกส่วนหนึ่งที่จะขยายลงรายละเอียด
     นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวถึงเรื่องนโยบายค่าแรงขั้นต่ำของพรรคพลังประชารัฐว่า เชื่อว่าจะสามารถหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลได้ เพื่อให้มีแนวทางร่วมกัน อยากฝากไว้ว่า เรื่องค่าแรงต้องไปควบคู่กับการยกระดับทักษะขีดความสามารถของผู้ประกอบการ เพราะเราไม่สามารถทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยตนเองได้ เนื่องจากโจทย์ใหญ่คือต้องการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยร่วมกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในอนาคต ดังนั้นเรื่องบุคลากรจึงสำคัญที่สุด ความยุติธรรมเรื่องรายได้จึงจำเป็นต้องดูแล แต่ความยั่งยืนต้องขึ้นอยู่กับฝีมือและทักษะของแรงงานที่ต้องไปพร้อมกัน ดังนั้นเชื่อว่าเรื่องแรงงานและค่าแรงทางรัฐบาลจะพิจารณาควบคู่กันไป เมื่อมีนโยบายรัฐบาลออกมา ไม่ใช่การทำด้านใดด้านหนึ่ง เพราะเรื่องการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานคือหัวใจสำคัญ
    นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ส่งให้แกนนำรัฐบาลไปบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลนั้น ยังมี 3 เงื่อนไข คือการประกันรายได้เกษตร การบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลแล้ว แต่เขียนไว้หลวมๆ ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ แม้แต่ข้อเสนอเงื่อนไขที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นการปรับแก้วิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ต้องขอเสียงสนับสนุนข้างมากจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ให้เปลี่ยนมาเป็นอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่งจากที่ประชุมร่วม 2 สภา
     ถามว่าควรจะต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจนมากกว่านี้หรือไม่ เพราะนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ระบุชัดเจนว่านโยบายที่เกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำจะมีการปรับขึ้นเป็นค่าจ้างวันละ 400 บาท รมว.พม.ตอบว่า การพูดอย่างนี้ค่อนข้างมัดตัวรัฐบาลมากเกินไป ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งอาจสร้างปัญหาให้รัฐบาลได้ ดังนั้น ตนเตรียมจะนำเรื่องไปพูดในที่ประชุม ครม.นัดแรกด้วย
    ด้านนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่าการจัดทำร่างนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของรัฐบาลผสม 19 พรรค ที่ได้ร่วมกันนำเสนอนโยบายของแต่ละพรรค เพื่อนำไปพิจารณาให้เกิดภาพรวมที่สมบูรณ์ของนโยบายรัฐบาล เพราะแต่ละพรรคก็มีผู้มีประสบการณ์ในการบริหาร และได้ออกไปพบปะพี่น้องประชาชนมาตลอดระยะเวลาในช่วงเลือกตั้ง ทำให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ในการบริหารประเทศ และรับทราบปัญหาที่ควรเร่งรัดในการแก้ไข ที่เป็นความต้องการของประชาชน
มิติใหม่รัฐบาลผสม
    รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เผยว่า การที่พรรคพลังประชารัฐได้ให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาลมาร่วมกันจัดทำนโยบายร่วมกันในลักษณะเช่นนี้ ถือว่าเป็นมิติใหม่ในการร่วมกันทำงานของรัฐบาลผสม และเป็นการตอกย้ำถึงการให้ความสำคัญของเสถียรภาพและความร่วมมือกันของพรรคร่วม ในภาวะเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพรัฐบาลเป็นอย่างดียิ่ง และจะทำให้ได้เห็นนโยบายที่ดีและสมบูรณ์ในทุกมิติ สามารถสร้างความมั่นใจให้กับภาพรวมทางเศรษฐกิจและนักลงทุน และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศให้สำเร็จตามความต้องการของพี่น้องประชาชน  
    เขากล่าวว่า ในส่วนของพรรคชาติพัฒนานั้น ได้นำเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้าของคนในชนบทและเกษตรกรอย่างเร่งด่วน การปรับนโยบายการศึกษาที่ให้ความสำคัญในด้านเทคโนโลยี และการให้เด็กไทยมีความสามารถด้านภาษาอย่างน้อย 2 ภาษา การนำระบบ smart farmer มาใช้กับภาคเกษตร การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การลงทุนและเร่งรัดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่  มอเตอร์เวย์ ถนน เป็นต้น ให้ทั่วถึงและเชื่อมโยงทุกภูมิภาค เพื่อกระจายความเจริญและรองรับการลงทุน
    นายเทวัญกล่าวอีกว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ การดูแลผู้สูงอายุและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การกระจายอำนาจและสวัสดิการต่างๆ ของผู้นำท้องถิ่น และการส่งเสริมด้านกีฬา เป็นต้น เมื่อมีการจัดทำนโยบายเสร็จเรียบร้อย ก็จะได้มีการแถลงต่อสภา หลังจากนั้นรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะได้เริ่มลงมือทำงานตามนโยบายต่อไป
    นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนที่จะพูดอะไรล้วงลึกเกี่ยวกับการทำงานใน ทส.นั้น ขอเวลาเข้าไปทำงานในกระทรวงก่อน เพราะสิ่งที่คิดกับความเป็นจริงอาจจะคลาดเคลื่อนได้ เพราะเหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งตนมีหน้าที่เข้าไปแก้ปัญหาให้ได้
     รมว.ทส.กล่าวว่า เท่าที่ได้รู้และเห็นมาแบบคร่าวๆ พบว่าการทำงานใน ทส.นั้นมีหลายมิติ ทั้งเรื่องกฎหมาย สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และเรื่องของคน เฉพาะเรื่องของกฎหมายก็เยอะมาก กฎหมายมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อปฏิบัติกลับไม่มีประสิทธิผล ข้าราชการทำงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่อาจจะมีบางเรื่องที่ยังติดขัดอยู่ แต่โชคดีอย่างหนึ่งก็คือ หลายๆ เรื่องที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเวลานี้ล้วนแล้วแต่เป็นวาระเร่งด่วนของโลก ซึ่งเมื่อเข้าไปทำ เข้าไปกระตุ้นให้ทำแล้วจะได้รับความร่วมมืออย่างดี
     เมื่อถามว่า ทราบหรือไม่ว่าภายใน ทส. โดยเฉพาะกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชนั้น มีขาใหญ่หลายคน นายวราวุธตอบว่า หากตนเข้าไปแล้วตนคงจะใหญ่สุด ขาใหญ่อาจจะหมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่เข้มแข็งใช่ไหม แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่น เมื่อเข้าไปทำงานก็คงจะรู้มากขึ้นว่าอะไรเป็นอะไร
ชาติไทยพัฒนาพอใจ
    ขณะที่นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชพท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ ชพท. กล่าวภายหลังการหารือเพื่อจัดทำร่างนโยบายของรัฐบาลว่า ผลถือว่าเป็นที่น่าพอใจ เพราะจากการที่พรรคได้ส่งนโยบายเร่งด่วน หรือแผนปฏิบัติการเร่งด่วน 7 ด้านตามที่ ชทพ.ใช้หาเสียงเลือกตั้งกับพี่น้องประชาชน ไปพร้อมนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานเต็มรูปแบบที่ชทพ.จัดทำขึ้นไปยังแกนนำพรรครัฐบาล ในฐานะที่พรรคได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในภาพรวมทั้งหมดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลปรากฏว่านโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคได้รับการบรรจุเป็นส่วนใหญ่ 
    โดยผสมผสานไปกับกรอบหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ การปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงกฎหมายยุทธศาสตร์ด้วย ถือว่าเป็นนโยบายที่มีรายละเอียดครอบคลุมเพียงพอในการที่จะใช้ดำเนินการดูแลงานทางด้านทรัพยากรธรรมชาติที่เราได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี ส่วนนโยบายด้านอื่นที่พรรคควรจะมีส่วนร่วม โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่มีพรรคมีรัฐมนตรีช่วยว่าเกษตรและสหกรณ์อีก 1 คน แม้ว่าจะเป็นส่วนใหญ่ในร่างนโยบายไม่ได้ แต่มีรายละเอียดที่ได้รับการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ เช่นเดียวกับนโยบายอื่นๆ ที่ครอบคลุมทุกด้าน เหลือเพียงแค่การดำเนินการให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายเท่านั้น
    นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย กล่าวภายหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น รมช.มท.ว่า สิ่งที่ตั้งใจหลังการรับตำแหน่ง หากได้รับโอกาสจาก รมว.มหาดไทย ซึ่งตนในฐานะที่มีประสบการณ์ทำงานด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาแล้ว จึงอยากดูงานในส่วนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพื่อนำมาขยายผลการกระจายอำนาจ และเน้นขยายกิจกรรมสาธารณะให้ อปท. สนองนโยบายของรัฐบาลเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ 
    อาทิ การใช้ยางพารามาทำถนนพาราแอสฟันติสคอนกรีต ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในการทำถนน ซึ่งแม้ส่วนท้องถิ่นจะไม่มีอำนาจโดยตรงในการแก้ไขเรื่องปัญหายางพาราตกต่ำ แต่ก็สามารถใช้เป็นกลไกในการแก้ไข จะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มรายได้ให้พี่น้องชาวสวนยาง และกระจายรายได้ถึงพี่น้องชาวสวนยางมากยิ่งขึ้น เป็นหากมีการส่งเสริมให้ทำถนนในหมู่บ้าน ตำบลและในเมือง
     เขากล่าวว่า ถ้าทำให้ อปท.เข้มแข็ง ประเทศก็จะเข้มแข็งขึ้นไปด้วย จะทำให้ อปท.ที่พึ่งของประชาชนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ปัญหาใดที่สามารถจบในส่วนท้องถิ่นได้ ก็ให้จบไป ส่วนท้องถิ่นไม่ต้องขึ้นมาที่กระทรวงหรือที่กรุงเทพ ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด
     นายนิพนธ์เผยว่า จะส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานรากเพื่อที่ให้ชุมชนมีการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าวจนใกล้สู่ภาวะปกติแล้ว กระทรวงมหาดไทยที่ดูแลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขจะเข้ามาดูแลเรื่องการส่งเสริมรายได้เพื่อพัฒนาชุมชนในพื้นที่นี้พร้อมดึงนักลงทุนเข้ามาให้เกิดการลงทุนว่าจ้าง สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ลูกหลานของคนในพื้นที่ทั้งเรียนจบในประเทศไทยและต่างประเทศสามารถมีงานทำที่มั่นคงในพื้นที่ได้ ไม่ต้องไปทำงานต่างประเทศหรือประเทศเพื่อนบ้าน จะสามารถลดปัญหาคนสองสัญชาติไปในตัว จะทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เข้าสู่โหมดการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ ภายใต้บริบทแนวทางพระราชดำริของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ได้อย่างเป็นรูปธรรม
สร้างตำบลปลอดภัย
    รมช.มหาดไทยกล่าวว่า การสร้างตำบลปลอดภัยโดยจะเน้นสร้างความปลอดภัยวินัยจราจรจากระดับตำบล หมู่บ้าน เพื่อแก้ไขและป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยสูญเสียเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ปัจจุบันไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนปีละกว่า 2 หมื่นราย เพราะกระทรวงมหาดไทยมีกลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่พร้อมที่จะบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและสาธารณสุข การแพทย์ฉุกเฉินเพื่อผลักดันทำให้เป็น “ตำบลปลอดภัย” ทั่วประเทศในการลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินโดยการเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายและรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เป็นงานสามเรื่องที่ตนอยากดำเนินการ
    ถามว่า มีชื่อติด 1 ใน 6 รัฐมนตรีที่ถูกฝ่ายค้านจองกฐินเตรียมการซักฟอก หนักใจหรือไม่ นายนิพนธ์ ตอบว่า ส่วนตัวไม่หนักใจแต่อย่างใด และเป็นสิทธิ์ของฝ่ายค้านที่สามารถทำได้ ถือเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ตนจะได้ใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎรชี้แจงถึงหลักฐานเอกสารต่างๆ ในข้อกล่าวหา หรือที่สังคมยังสงสัยผ่านกลไกของสภาผู้แทนราษฎร เพราะการที่มีชื่อของตนติดอยู่ในนั้น อาจเป็นเพราะเขาไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วนทุกด้าน ก็จะถือโอกาสนี้แสดงหลักฐานทางราชการให้กับคนที่ไม่เข้าใจได้เข้าใจเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการทุจริต แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ ที่สามารถทำได้หรือไม่ เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องของทางจังหวัดที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล อบจ. สั่งการว่าให้ระงับหรือให้กระทำได้ซึ่งทั้งหมดมีหลักฐานทางราชการพร้อมชี้แจงผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและให้สังคมได้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด
    พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ได้หารือกับกรรมการสมาคมผู้ค้ายาง และตัวแทน 5 บริษัทผู้ส่งออกยางพารา ถึงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่า การซื้อขายล่วงหน้าในตลาดต่างประเทศ มีผลกดดันให้ราคายางในประเทศตกลงมา ประกอบกับมีพ่อค้าต่างชาติเข้าปั่นราคายางในตลาดล่วงหน้าด้วย จึงทำให้ราคาผันผวน
    พล.ท.วีรชนกล่าวว่า รัฐบาลยืนยันประกาศว่าจะเดินหน้านโยบายการนำน้ำยางสดไปผสมทำถนนพาราซอยซีเมนต์ทั่วประเทศ โดยจะให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เข้าประมูลซื้อน้ำยางสดแทนการประมูลซื้อยางแผ่นเหมือนที่ผ่านมา และทางสมาคมผู้ค้ายางจะรับน้ำยางสดดังกล่าวไปปั่นผสมสารเคมีเก็บไว้ โดยไม่คิดค่าบริการ เพื่อส่งต่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะมาซื้อไปทำถนนต่อไป โดยจะเริ่มซื้อในจันทร์ที่ 15 ก.ค.62 เป็นต้นไป
"ดิสทัต"ประเดิม
    ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล หลังทีมงานรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทยอยเข้าดูห้องทำงานตั้งแต่วานนี้แล้วนั้น ล่าสุด เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 13 ก.ค. นายดิสทัต โหตระกิตย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและผู้ที่คาดว่าจะนั่งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล โดยสักการะพระพรหมบนตึกไทยคู่ฟ้า และลงมาสักการะศาลพระภูมิและศาลตาศาลยาย ก่อนขึ้นไปยังตึกบัญชาการ 1 เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยของห้องทำงานรองนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ 
    โดยนายดิสทัตกล่าวว่า มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล เพราะทำงานที่นี่มานานแล้ว และต้องมาดูแลอะไรต่างๆ มากขึ้นทุกวัน และวันนี้ตนมาดูแลความพร้อมห้องทำงานต่างๆ เนื่องจากนายกฯ เป็นห่วง เพราะเป็นช่วงรอยต่อ ครม.ชุดใหม่ และเพื่อรองรับการทำงาน ครม.ใหม่ให้เกิดความเรียบร้อย จึงต้องดูแลให้ดี เชื่อว่าไม่มีปัญหา 
    เมื่อถามถึงความพร้อมเอกสารนโยบายรัฐบาลที่ต้องแถลงต่อรัฐสภา นายดิสทัตตอบว่า ตนไม่ได้ดูแลด้านนี้ ต้องถามผู้ที่เกี่ยวข้อง และขณะนี้ตนเป็นที่ปรึกษานายกฯ ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการนายกฯ อย่างเป็นทางการ ซึ่งการแต่งตั้งน่าจะมีขึ้นหลังจาก ครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณฯ เมื่อถามว่าได้วางภารกิจหลักหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการนายกฯ อย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ นายดิสทัตตอบว่า ตนต้องทำทุกอย่างที่เป็นเรื่องสำคัญของนายกฯและรัฐบาลให้เรียบร้อย 
    มีรายงานข่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังเสร็จสิ้นพิธีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณฯ จะมีการเสนอ ครม.พิจารณาแต่งตั้งนายดิสทัตเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเสนอแต่งตั้งนางฐะปาณีย์ อาจารวงศ์ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร มาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในวันดังกล่าว
    ทั้งนี้ มีรายงานข่าวด้วยว่า ในวันจันทร์ที่ 15 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 น. จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเก่า นัดพิเศษ เนื่องจากมีเรื่องที่ต้องพิจารณา 
    ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคและกรรมการบริหารพรรค ต้องการให้ตนไปดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทางพรรคยังไม่ได้มีการหารือตำแหน่งทางการเมือง คงต้องรอหลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จเรียบร้อยก่อน 
    เขาบอกว่าตำแหน่งโฆษกรัฐบาลก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์และผู้บริหารพรรค ส่วนตนเองนั้นเคารพการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์และผู้บริหารของพรรค และพร้อมทำงานตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่
"บิ๊กตู่"แนะนำหนังสือ
    นายธนกรกล่าวด้วยว่า กรณีที่พรรคฝ่ายค้านจะอภิปราย 6 รัฐมนตรีในช่วงแถลงนโยบายของรัฐบาลนั้น ตนมั่นใจว่าทั้ง 6 ท่านสามารถที่จะชี้แจงได้ทุกเรื่อง และทางรัฐบาลไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร แต่ตนอยากให้ฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบพิจารณาเรื่องนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมากกว่า เพราะเรื่องนี้เป็นหัวใจหลักในการบริหารประเทศ เป็นสิ่งที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ส่วนการอภิปรายตัวรัฐมนตรีนั้น ควรที่จะให้รัฐบาลได้ทำงานไปสักระยะก่อน หากเห็นความไม่ชอบมาพากลค่อยยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมากกว่า
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าตำแหน่งทางการเมืองทั้งรองโฆษกรัฐบาล ผู้ช่วยรัฐมนตรี เลขานุการ และที่ปรึกษารัฐมนตรี ยังไม่มีการหารือเรื่องนี้ เพราะทุกตำแหน่งต้องผ่านความเห็นชอบในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคตามข้อบังคับพรรคก่อน และขณะนี้รัฐมนตรีทั้ง 7 คน กำลังเดินหน้าทำงานลงพื้นที่แก้ไขปัญหาเพื่อพี่น้องประชาชน    
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha @prayutofficial" เชิญชวนอ่านหนังสือ 2 เล่ม โดยระบุข้อความว่า...
     "ขอบคุณศาสตราจารย์เคลาส์ ชวาบ (Professor Klaus Schwab) สำหรับหนังสือ 2 เล่มนี้ ผมอ่านแล้วมีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย อยากเชิญชวนทุกท่านมาอ่านกันครับ"
     หนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ มีชื่อว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ และทางรอดในโลกใบใหม่ แห่ง อุตสาหกรรมครั้งที่สี่
    ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง สมาชิกเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า การแนะนำให้ประชาชนอ่านหนังสือดังกล่าว สะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนั้น หรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ เพราะ หัวใจของเรื่องการปฏิวัติสังคม คือรัฐบาลจะต้องเพิ่มบทบาทให้ประชาชนและภาคประชาสังคม เปลี่ยนแปลงสังคมให้ประชาชนอยู่รอด สร้างนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการสนับสนุน และตรวจปล่อยให้ประชาชนมีความพร้อมเป็นพลเมืองของโลก 
    แต่พฤติกรรมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สวนทาง กับแนวคิดของเคลาส์ ชวาบ คือรวมศูนย์อำนาจ ไม่ใช่การกระจายอำนาจ ทัศนคติของตัว พล.อ ประยุทธ์ ไม่เชื่อมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก เพราะบุคคล ที่นำเสนอแนวทางใหม่ๆ มักจะถูก ไล่ให้ไปอยู่ประเทศอื่น จนทำให้คนที่มีแนวความคิดเปลี่ยนแปลง สังคม ต้องลี้ภัย ไปต่างประเทศ เทคโนโลยีและเครื่องมือ ก็ถูกนำไปใช้เพื่อไปตรวจสอบและควบคุมประชาชน
ฝ่ายค้านที่ลงตัว
     ร.ท.หญิงสุณิสายังกล่าวภายหลังการเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมทั้งการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ว่า หลังได้เห็นคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งภายในพรรค แต่ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะต้องเลือกหัวหน้าพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำหน้าที่สภาเท่านั้น อีกทั้งเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ร่วมทีมเพื่อไทย แต่ก็ยังมีผู้อาวุโสรวมอยู่ด้วย เพื่อถ่ายถอดความรู้ให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคด้วย โดยหวังว่าจะสร้างความเชื่อมั่นในการทำงานให้กับประชาชน
    "แม้ว่าเราเป็นพรรคฝ่ายค้านก็ไม่เป็นอุปสรรค เพราะพรรคเราเป็นส่วนผสมที่ลงตัว เพื่อขับเคลื่อนศักยภาพของสมาชิกพรรคทั้งหมด เพื่อให้พรรคสามารถแก้ปัญหากับประชาชนได้มากที่สุด" ร.ท.หญิงสุณิสากล่าว
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกพรรคเพื่อไทย และเพิ่งได้รับเลือกเป็นโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์รูปภาพโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมข้อความผ่านทวิตเตอร์ Anusorn Eiamsaard โดยระบุว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน?"
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภา ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย เตรียมเปิดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ภารกิจในฐานะฝ่ายค้านในสภา ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ กรุงเทพฯ
     สำหรับงานนี้ใช้ชื่อว่า เสวนาเชิงวิชาการ “ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน” : วิสัยทัศน์ บทบาท ภารกิจ" โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย 1.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย 2.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ 3. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย 4.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ 5.นายสุภดิช อากาศฤกษ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ 6.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ 7.นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย
     โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พิธีกรรายการข่าวทางวอยซ์ทีวีของนายพานทองแท้ ชินวัตร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง เสียงของประชาชน ทวงสัญญานโยบายเร่งด่วน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,063 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ระหว่าง 10-12 ก.ค. พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา
ทวงนโยบายหาเสียง
     เมื่อถามถึงความต้องการต่อรัฐบาลทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.4 ระบุต้องการ ในขณะที่ร้อยละ 8.6 ไม่ต้องการ และเมื่อถามถึงนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลที่ประชาชนต้องการตามที่เคยหาเสียงไว้ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.3 ระบุนโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์ พืชผลทางการเกษตร เช่น ยางพารา กิโลละ 60 บาท ข้าวไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 10,000 บาท ปาล์ม 10 บาทต่อกิโลกรัม รองลงมาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.2 ระบุจบปริญญาตรีรับขั้นต่ำ 20,000 บาทต่อเดือน ของพรรคพลังประชารัฐ,  ร้อยละ 70.2 ระบุขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาทต่อเดือน ของพรรคพลังประชารัฐ, ร้อยละ 68.4 ระบุ พักหนี้เงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 5 ปี ผ่อนคืนเงินต้น 10 ปี ใช้ภาษีเงินได้หักลดยอดหนี้ได้ พรรคภูมิใจไทย
     นอกจากนี้ ร้อยละ 66.2 ระบุตั้งท้องรับ 3,000 บาท ค่าคลอด 10,000 บาท ค่าดูแลลูก 2,000 บาทต่อเดือนนาน 6 ปี ของพลังประชารัฐ, ร้อยละ 65.4 ระบุเพิ่มสิทธิประชาชนได้ลดค่าน้ำ 100 บาทต่อเดือน ค่าไฟฟ้า 230 บาทต่อเดือน เงินซื้อสินค้า 500 บาท พรรคพลังประชารัฐ และร้อยละ 59.1 ระบุกัญชาเสรี ให้ประชาชนปลูกหารายได้ได้ ของพรรคภูมิใจไทย
     นอกจากนี้ ประชาชนยังเสนอให้มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ต้องการเห็นในนโยบายรัฐบาลเพิ่มเติมอีก พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.5 ระบุค่าครองชีพสูง รองลงมาคือ ร้อยละ 55.2 ระบุปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน, ร้อยละ 51.4 ระบุความไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ, ร้อยละ 49.1 ระบุความไม่ปลอดภัยทางถนน อุบัติเหตุ หวาดกลัวแม้ข้ามทางม้าลาย, ร้อยละ 45.4 ระบุปัญหาคนไทย ตกงาน ถูกแย่งอาชีพ อาชีพไม่มั่นคง, ร้อยละ 37.8 ระบุอาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, ร้อยละ 35.7 ระบุความไม่มีวินัยของคนไทย, ร้อยละ 34.2 ระบุทัศนคติที่ไม่ดี การสร้างความเกลียดชังต่อกัน, ร้อยละ 31.5 ระบุหนี้นอกระบบ และร้อยละ 27.8 ระบุกฎระเบียบรัฐ อุปสรรคทำมาหากิน ตามลำดับ
     ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงรัฐมนตรีที่ประชาชนเชื่อมั่นมากที่สุด ตอบได้เพียงคนเดียว พบว่า อันดับที่ 1 ร้อยละ 73.8 เชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองลงมา, อันดับที่ 2 ร้อยละ 7.1 เชื่อมั่นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, อันดับที่ 3 ร้อยละ 4.8 เชื่อมั่นนายวิษณุ  เครืองาม, อันดับที่ 4 ร้อยละ 3.6 เชื่อมั่นนายอนุทิน  ชาญวีรกูล, อันดับที่ 5 ร้อยละ 3.2 เชื่อมั่นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, อันดับที่ 6 ร้อยละ 2.4 เชื่อมั่นนาย เทวัญ ลิปตพัลลภ, อันดับที่ 7 ร้อยละ 1.2 เชื่อมั่น ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และร้อยละ 3.9 เชื่อมั่นคนอื่นๆ เช่น คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นต้น
     อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.1 ต้องการเอาผิดพรรคการเมืองตามกฎหมาย ถ้าไม่ทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 7.9 ไม่ต้องการ
     ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวต่อว่า ผลโพลครั้งนี้ชี้ให้เห็นได้ว่า หลังจากมีความชัดเจนในการตั้งรัฐบาลและได้คณะรัฐมนตรี ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สูงขึ้นในระดับที่มากพอต่อการทำงานได้ระยะหนึ่ง แต่ให้เวลาพิสูจน์ผลงานไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น จึง “ไม่มีเวลาฮันนีมูน” ที่คณะรัฐมนตรีจะเสียเวลาไปกับการฉลองตำแหน่ง เพราะประชาชนส่วนใหญ่กำลังทุกข์และเดือดร้อน ทำมาหากินขัดสน
     “ความสำเร็จของนักการเมืองไม่ได้อยู่ที่ว่า ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีมาด้วยความยากลำบากเพียงไร แต่อยู่ตรงที่ว่า ต่อจากนี้ไปจะสามารถทนรับการโจมตีจากฝ่ายต่างๆ ด้วยความยากลำบากไปได้นานแค่ไหน ถ้าทำเพื่อประชาชนทั้งประเทศแท้จริง เสนอให้นิ่งๆ หนักแน่นมั่นคง ไม่ลงไปเล่นกับเกมที่ไม่สามารถควบคุมเกมได้ หรือให้เปลี่ยนเกมและเข้าควบคุมเกมนั้น” ผศ.ดร.นพดลกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"