ถกหลังถวายสัตย์ฯ 'ประยุทธ์'ฟิตนัด35รัฐมนตรีประชุมครม.'16ก.ค.'ทันที


เพิ่มเพื่อน    


    ในหลวงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ครม.ประยุทธ์ 2/1 เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ 16 ก.ค. เวลา 18.00 น. ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ก่อนที่นายกฯ นัดถก ครม.ชุดใหม่ทันที โฆษก พปชร.เผยการแถลงนโยบาย 25 ก.ค.นี้รัฐบาลพร้อมทุกด้าน ส.ส.ปชป.ชงนโยบายประกันรายได้แรงงานแทนค่าแรงขั้นต่ำ 400 ห่วงรัฐบาลผสม 19 พรรคทำให้นโยบายแตกต่างกัน เผยร่างที่ส่งให้พรรคร่วมยังไม่ลงตัว ต้องถกกันอีกหลายรอบ ฝ่ายค้านรอชำแหละ จี้ส่งร่างมาให้โดยเร็ว "จตุพร" แนะฝ่ายค้านทำการบ้าน เหน็บ "ส้มหวาน" ทำเรื่องเสื้อผ้า หน้าผม ภาษา ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้  
    เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ วันที่ 16 ก.ค. เวลา 18.00 น. ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน
    ทั้งนี้ ได้มีหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงนามโดยนายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งรัฐมนตรีและการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ถึงรัฐมนตรีที่ทรงกระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
    โดยระบุว่า ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งท่านเป็นรัฐมนตรี บัดนี้ ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 เวลา 18.00 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน 
    ทั้งนี้ ขอให้ไปถึงทำเนียบรัฐบาล ณ ตึกภักดีบดินทร์ ก่อนเวลา 16.30 น. สำหรับการเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้จัดรถยนต์โดยสารตู้ เพื่อให้รัฐมนตรีเดินทางไปเป็นคณะ โดยจะออกจากทำเนียบรัฐบาลเวลา 17.00 น. และเดินทางกลับพร้อมกันเมื่อเสร็จพิธี
    โดยในหนังสือได้แจ้งการแต่งกายของคณะรัฐมนตรีคือเครื่องแบบขาวปกติ และติดเครื่องหมายแสดงสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ในหนังสือยังได้แนบเอกสารประกอบด้วย สำเนาเอกสารประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ขั้นตอนการปฏิบัติในการเข้าเฝ้าฯ รวมถึงแผนผังการเข้าเฝ้าฯ
    ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในวันจันทร์ที่ 15 ก.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะนำประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเก่านัดพิเศษเป็นการส่งท้าย เนื่องจากมีวาระสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนที่ ครม.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ 
    โดยมีรายงานว่า ในวันอังคารที่ 16 ก.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์จะนำ ครม.ชุดใหม่ประชุมนัดแรกทันที หลังเสร็จสิ้นการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้รับคำสั่งให้สแตนด์บายที่ห้องประชุม ครม. ตั้งแต่เวลา 16.00 น. โดยที่ประชุมจะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบายรัฐบาลที่จะมีการแถลงต่อสภา อย่างไรก็ตาม มีการแจ้งประสานจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการส่งนโยบายรัฐบาลที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. มายังสภาล่วงหน้า เพื่อเตรียมแจกจ่ายให้กับสมาชิกทุกคน คาดว่าจะเป็นวันที่ 19 ก.ค.นี้ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะได้แถลงนโยบายต่อสภาในวันที่ 25 ก.ค.นี้
รัฐบาลพร้อมทุกด้าน
     นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันที่ 25 ก.ค.นั้น รัฐบาลมีความพร้อมทุกด้าน ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายรัฐมนตรีบางท่านนั้น ตนมั่นใจว่ารัฐมนตรีแต่ละท่านสามารถชี้แจงได้ โดยเฉพาะในเรื่องคุณสมบัติต่างๆ เพราะมีการตรวจสอบมาแล้ว ส่วนกรณีที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ระบุว่าจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก่อนปิดสมัยประชุมสภานั้น เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่อยากให้รัฐบาลได้มีเวลาในการทำงานให้กับพี่น้องประชาชนก่อน เพราะมีหลายเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ อยากให้ฝ่ายค้านมาช่วยกันช่วยเหลือประชาชนก่อนจะดีกว่า
     "เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายเสร็จ ก็จะดำเนินนโยบายเร่งด่วนทันที โดยเฉพาะการแก้ปัญหาปากท้องให้กับพี่น้องประชาชน การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยเฉพาะการดูแลราคาพืชผลทางการเกษตร ในส่วนของรัฐมนตรีแต่ละท่านนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐมนตรีแต่ละท่านได้เตรียมความพร้อมไว้ทุกด้าน โดยเฉพาะบางท่านได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชนก่อนที่จะแถลงนโยบายด้วยซ้ำ รวมถึงการหารือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงที่รับผิดชอบ ดังนั้นเมื่อแถลงนโยบายเสร็จก็จะทำงานได้ทันที" นายธนกรกล่าว 
    นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเรื่องนโยบายรัฐบาล ระบุว่า ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ปัญหาของประชาชนดูจะรุมเร้ารอบด้าน ทั้งราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ นักท่องเที่ยวลด ค่าเงินบาทแข็ง ส่งออกมีปัญหา คนจึงรู้สึกถึงความยาวนานของการรอคอยรัฐบาลมาแก้ไขปัญหา จริงๆ หน้าตาของ ครม.ที่ออกมาต้องยอมรับว่ายังมีจุดที่ถูกวิจารณ์ แต่คนคาดหวังว่านโยบายคงออกมาดีและแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ อันนี้เรื่องใหญ่ เพราะรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม แถมผสมกันถึง 19 พรรคการเมือง น่าจะมากที่สุดตั้งแต่เมืองไทยเรามีรัฐบาลผสมกันมา นโยบายแต่ละพรรคจึงมีความแตกต่างกัน เช่น ด้านช่วยเหลือสินค้าเกษตร มีทั้งประกันรายได้ของประชาธิปัตย์และประกันราคาของพลังประชารัฐ บางพรรคเสนอแนวทางแบ่งปันกำไร เป็นต้น 
    "ด้านสวัสดิการสังคม ที่ดินทำกิน มีความต่างกัน น่าสนใจว่าจะลงตัวอย่างไร อีกทั้งทุกนโยบายต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลมาก แค่ประกันรายได้พืช 4 ชนิด คือ ยางพารา ปาล์ม ข้าว ข้าวโพด อาจต้องใช้ถึงหลายหมื่นล้านบาทต่อปี นี่ยังไม่นับสวัสดิการต่างๆอีก ดังนั้นงบประมาณปี 2563 ซึ่งรอรัฐบาลใหม่นี้เคาะส่งสภาน่าจะเป็นอะไรที่จัดยากเป็นพิเศษ ฟังมาว่าร่างนโยบายรัฐบาลรอบแรกที่ส่งถึงมือพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลยังไม่ลงตัว เพราะไม่ตรงกับที่พรรคหลักๆ ขอให้มีนโยบายไป คงต้องคุยกันอีกหลายรอบ อย่าลืมประชาชนเขาจับตามองอยู่ อะไรๆ ที่สัญญากันไว้ต้องเขียนเป็นนโยบายไว้ให้ชัดเจน ผมก็เช่นกัน จะขอทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนตรวจสอบนโยบายและทวงสัญญาแทนประชาชน เจอกันในสภาปลายเดือนนี้”นายสาทิตย์ระบุ
ปชป.ชงประกันค่าแรง
    ส่วนนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี กรรมการนโยบายพรรค ปชป. โพสต์เฟซบุ๊กว่า ปชป.หาเสียงประกันรายได้แรงงาน ไม่ได้หาเสียงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แตกต่างมโหฬาร ล่าสุดเดือนนี้ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2562 ลงจาก 3.8 เหลือ 3.5 และพระเอกคือการส่งออก หดเหลือร้อยละ 4 แปลว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง แต่รัฐบาลจะเอาง่ายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำงั้นหรือ นึกถึงนายจ้างรายเล็กรายน้อยด้วย ไม่งั้นจะเกิดการปิดตัวลงของเอสเอ็มอี ร้านอาหาร ร้านค้าเล็กๆ อีกมาก ป.ป.ช.เสนอประกันค่าแรงไม่ให้ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อปี หากหักวันหยุดแล้วก็จะเท่ากับค่าแรงวันละ 400 บาท คล้ายกับที่รัฐบาลเสนอ แต่ที่ต่างมโหฬารคือนโยบายของ ปชป.ไม่ใช่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ผลักภาระทั้งหมดให้นายจ้าง แต่เป็นการประกันค่าแรง หากพื้นที่ไหนได้ค่าแรงไม่ถึง 400 บาท รัฐจะชดเชยส่วนต่างให้จนครบ โดยไม่ต้องเป็นภาระนายจ้าง คล้ายกับกรณีศึกษาเทียบเคียง Workfare ของสิงคโปร์ ที่รัฐชดเชย โดยการจ่ายเงินให้ในรายจ่ายสำคัญๆ ของลูกจ้าง
    "เราสามารถจ่ายเงินส่วนต่างค่าแรงในรายการ เช่น การศึกษาเพื่อเพิ่มความสามารถของตนเองหรือบุตร การรักษาพยาบาล ชำระหนี้สิน ให้เป็นเงินออมในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และอื่นๆ ที่จำเป็น วิธีนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพแรงงานไปในตัว แถมเป็นรัฐสวัสดิการที่ให้เฉพาะคนสัญชาติไทยเท่านั้น วิธีนี้จะช่วยประคองนายจ้างเอสเอ็มอีรายเล็กให้อยู่รอดท่ามกลางเศรษฐกิจขาลง และขณะเดียวกันลูกจ้างก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยตามเป้าหมายของรัฐบาล" นายอรรถวิชช์ระบุ
    ทางด้านฝ่ายค้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาที่รัฐบาลต้องรีบเร่งคือการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชน เพราะเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่าเศรษฐกิจภายในประเทศถดถอย คนไทยส่วนใหญ่ขาดกำลังซื้อ เศรษฐกิจทั้งในระดับจุลภาคและมหภาคตกต่ำอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เกิดภาวะรวยกระจุกจนกระจาย ปัญหานี้อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมลักวิ่งชิงปล้น ดังนั้นรัฐบาลมีงานหนักที่รออยู่ข้างหน้า ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ตั้งใจทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้สำเร็จไปให้ได้ 
    น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า สำหรับพรรคเพื่อไทยและ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนสะท้อนปัญหาสำคัญให้กับรัฐบาลรับทราบ และจะดำเนินการตรวจสอบการบริหารอย่างเข้มข้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศ  สำหรับนโยบายขึ้นค่าแรง 400 บาทของพรรคพลังประชารัฐ ตอนหาเสียงพรรคการเมืองต่างๆ ได้ทำสัญญาประชาคมไว้กับประชาชน นโยบายเหล่านั้นคือความหวังทำให้เขาตัดสินใจเลือกท่านมา จึงอยากให้พรรคการเมืองพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อกำหนดแนวทางเดินหน้านโยบายที่หาเสียงไว้ ไม่เช่นนั้นผู้เสียประโยชน์คือประชาชน 
ฝ่ายค้านจ้องชำแหละ
    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และวิปฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการอภิปรายในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะได้มีการพูดคุยและปรึกษาหารือกันในเร็ววันนี้ โดยเบื้องต้นประชุมกันทุกวันอังคารของแต่ละสัปดาห์ โดยเราจะพิจารณาจากเอกสารนโยบายของทางรัฐบาล และจะต้องดูเอกสารชี้แจงนโยบายของทางรัฐบาลก่อน เพราะเวลานี้ยังไม่ได้เห็นและยังไม่ทราบรายละเอียดใดๆ ทั้งนี้ กรอบในการอภิปราย หลักๆ จะดูว่านโยบายของรัฐบาลเป็นไปตามที่ได้หาเสียงกับประชาชนหรือไม่ นอกจากนี้ การทำนโยบายครั้งนี้เป็นการทำนโยบายจาก 19 พรรคการเมือง ต้องดูว่าเมื่อหลอมรวมกันแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด
    นายชวลิตกล่าวว่า สำหรับกรอบเวลา 3 วัน ตั้งแต่ 25-27 ก.ค. มีความเหมาะสมแล้ว เพราะจะเลยจากวันที่ 27 ก.ค.ไม่ได้ เนื่องจากวันที่ 28 ก.ค. เป็นวันสำคัญของชาติ อย่างไรก็ตาม การจะอภิปรายตัวบุคคลตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา จะไม่เคยบอกก่อนว่าจะอภิปรายบุคคลใดและอภิปรายอย่างไร ทั้งนี้ การอภิปรายนโยบายถือว่าจะทำให้ฝ่ายค้านรับทราบข้อมูลเพื่อที่จะทำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจได้
     คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะมีการพูดคุยในวันจันทร์นี้ ซึ่งต้องตีโจทย์ว่าจะมีการแถลงนโยบายในประเด็นใดบ้าง ซึ่งต้องเรียกร้องให้ รัฐบาลเร่งส่งรายงานคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยเร็ว เพื่อประสิทธิภาพที่จะช่วย คิดช่วยนำเสนอ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ขออย่าเล่นเกมดึงเวลาจนถึงช่วงท้ายเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัวอะไรที่เป็นนโยบายที่ดีเราจะสนับสนุน ร่วมกันคิดร่วมกันทำ แต่อะไรที่เป็นนโยบายที่มีข้อบกพร่อง เราก็เห็นแล้ว เช่น เรื่องการแก้ไขภัยแล้งมันบกพร่อง ก็อย่าหาว่าฝ่ายค้านไปโจมตี ขอให้คิดว่าเป็นการเสนอแนะติติงเพื่อให้รัฐบาลใช้เงินน้อยลง ประชาชนเดือดร้อนน้อยลง และแก้ไขปัญหาได้ทันเหตุการณ์ 
    "ดังนั้นรายงานที่จะส่งมายังรัฐสภา ขอให้ดำเนินการโดยเร็ว และพรรคเพื่อไทยจะแบ่งการอภิปรายเป็นด้านต่างๆ เช่น ด้านสวัสดิการของรัฐ ด้านการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร ด้านเศรษฐกิจ หรือการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท ซึ่งจะอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล ขอให้ประชาชนร่วมติดตามและเสนอความคิดเห็นพรรคเพื่อไทยจะเปิดช่องทางให้ประชาชนได้ร่วมคิด ตามสโลแกนของพรรคเพื่อไทยยุคใหม่ "ประชาชนคิด เพื่อไทยทำ" ซึ่งจะเป็นการเปิดช่องทางให้ประชาชนได้ร่วมอภิปรายกับพรรคเพื่อไทยในรัฐสภา" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว 
    ที่ร้านกาแฟพีซคอฟฟี่แอนด์ไลบรารี่ อิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5 มีการจัดกิจกรรมต่อลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์ มีแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มาพบปะพูดคุย โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า รัฐบาลใหม่นี้ไม่ทันเก่าก็คงไปแล้ว ตนมีข้อเสนอแนะไปยังฝ่ายค้าน โดยมองว่าการที่รัฐบาลนี้ได้ตั้งรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่มีปัญหาในด้านคุณสมบัติหลายๆ คนนั้น ใช้ทฤษฎีเฉลี่ยความชิงชัง โดยเป็นการตั้งคนที่มีปัญหาให้ถูกอภิปรายหลายๆ คน เพื่อเบี่ยงเบนเป้าหมายจากแกนนำหลักของรัฐบาล ถ้าตั้งคนดีทั้งหมด คนก็พากันอภิปรายนายกรัฐมนตรีคนเดียว แต่เมื่อ ครม.มีปัญหาหลายคน ก็เฉลี่ยๆ อภิปรายหลายคน จนทำให้ประเด็นที่ต้องอภิปรายนายกรัฐมนตรีลดลงไป ที่เป็นข่าวเรื่องคุณสมบัติคนสองคนนั้น ความเป็นจริงอาจมีรัฐมนตรีที่มีปัญหามากกว่านั้นด้วยซ้ำ 
"จตุพร"เหน็บส้มหวาน
     ประธาน นปช.กล่าวว่า รัฐบาลลักษณะนี้ต้องเจอฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ ถ้าฝ่ายค้านทำหน้าที่เหมือนปัจจุบัน ก็คงได้แต่เป็นข่าว แต่คว่ำรัฐบาลไม่ได้ ด้วยเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม ภาษา เรื่องเหล่านี้ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ แต่เรื่องที่จะพูดถึงแล้วล้มรัฐบาลได้คือเรื่องปากท้องประชาชน เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องทุจริตคอร์รัปชัน 
    "ผมฝ่ายค้านต้องหยุดการพูดถึงเรื่องไม่เป็นเรื่องได้แล้ว ด้วยความเป็น ส.ส. สามารถอภิปรายรัฐบาลในสภาได้โดยไม่มีความผิด ไม่ต้องติดคุก แต่หากผมพูดนอกสภา ผมก็อาจจะติดคุกได้ อย่างไรก็ตาม สภาเป็นที่คว่ำรัฐบาล หากไม่คว่ำรัฐบาลในสภาแล้ว ก็ต้องมีการรัฐประหารอีกหรือ รัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำเช่นนี้ หาได้ยากในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เริ่มต้นที่การอภิปรายในวันแถลงนโยบายที่จะถึงนี้ ฝ่ายค้านต้องทำการบ้าน เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเป็นอย่างดี สู้กันที่ข้อเท็จจริง ฝ่ายค้านในตอนนี้ต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ มีเรื่องให้อภิปรายรัฐบาลมากมาย ทั้งเรื่องนโยบายที่ทำไม่ได้ เรื่องทีมเศรษฐกิจชุดเดิม ที่ทำงานมา 5 ปีแล้วไม่มีผลงาน เป็นต้น" นายจตุพรกล่าว 
    ขณะเดียวกัน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านลงพื้นที่มูลนิธิชีววิถี (Bio Thai) จ.นนทบุรี พบประชาชนและรับฟังปัญหาสารพิษตกค้างในอาหารและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการอภิปรายต่อสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินหน้าผลักดันให้เกิดเกษตรยั่งยืน และตั้งกรรมาธิการในสภาศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ
    พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านต้องการทำเพื่อประชาชน ไม่ใช่ทำเพื่อต้องการเป็นรัฐบาล โดยมีนโยบายดูแลสุขภาพของประชาชนให้ปลอดภัยจากสารพิษ เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครออกมาขับเคลื่อนในเรื่องนี้ โดยเห็นว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญของบริษัทนำเข้าสารเคมี ทั้งนี้ ในวันที่ 21 กรกฎาคม จะเชิญหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรคพบประชาชนและแสดงวิสัยทัศน์ โดยจะทำให้เห็นว่าความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนต้องได้รับประโยชน์
     ที่เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นำคณะทำงานจากพรรคเพื่อไทย รวมทั้ง ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาและผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ขอนแก่น โดยได้ทำการตรวจสอบปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ และหารือร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น ในการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้ง รวมทั้งการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น  
    คณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ทราบปัญหาและความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่พบว่าตอนนี้นั้นเดือดร้อนมาก ทั้งที่มีการคาดการณ์แล้วว่าปีนี้จะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง ซึ่งถือเป็นจุดที่บกพร่องในการทำงานของรัฐบาล จึงอยากเสนอปัญหาไปยังนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย ว่าต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้งทันที อย่าปล่อยให้เขาต้องไปหว่านข้าวอีก เพราะต้องไปควักทุนอีกรอบ วันนี้รัฐบาลต้องมาพูดความจริงว่าไม่สามารถทำนาในฤดูกาลนาปีปีนี้ได้แล้ว และให้ประกาศว่าในพื้นที่ไหนบ้างที่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้ง จากนั้นก็กำหนดอัตราชดเชย เพราะชาวนาจะได้ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพิ่ม รัฐจะชดเชยให้เท่านี้ ไม่ต้องทำนา เขาจะได้ไปจับปลา เขาจะได้ไปทอเสื่อ ไปใช้แรงงานในกรุงเทพฯ หรือในหัวเมือง เขาจะได้หาทางอื่น 
    "ขอให้รัฐบาลเข้าใจและพูดความจริงกับประชาชน และประกาศพื้นที่ภัยแล้ง สุดท้ายคือให้เร่งจ่ายเงินชดเชย เพราะสิ่งที่ประชาชนได้รับผลกระทบในขณะนี้ ก็ต้องโทษการบริหารจัดการของรัฐบาล ที่ไม่เอาความจริงไปพูดกับประชาชน เพราะถ้ารัฐบาลใส่ใจ ก็จะไม่มีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นกับประชาชน" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
      นอกจากนี้ คุณหญิงสุดารัตน์โพสต์เฟซบุ๊กว่า 21 ปีแห่งความภาคภูมิใจ 21 ปีแห่งความหวัง 21 ปีที่หัวใจคือประชาชน จากพรรคไทยรักไทยสู่เพื่อไทยยุคใหม่ ประชาชนคิดเพื่อไทยทำ เช้าวันนี้ปฏิทินเตือนว่า วันนี้คือวันที่ 14 ก.ค. อีกหนึ่งวันสำคัญในชีวิตทางการเมืองของตน หวนคิดถึงวันที่ 14 ก.ค.2541 อันเป็นวันแห่งการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ในวันนั้นพรรคของเราก่อตั้งขึ้นด้วยอุดมการณ์และวิธีคิดแบบนักบริหารยุคใหม่ของนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดจากการยึดราชการเป็นศูนย์กลาง มาเป็นการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อมุ่งแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน
    "อุดมการณ์ของเราคือทำให้คนไทยก้าวพ้นความยากจน ด้วยการคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อคนไทยทุกคน และไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อพรรคไปอีกกี่ครั้ง หัวใจของเราเหมือนเดิมเสมอ นั่นคือพรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชน เราเป็นพรรคที่ปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เรายืนสู้ได้จนถึงทุกวันนี้ อยากชวนพี่น้องประชาชนจับมือร่วมกับทีมเพื่อไทย เดินสู่เพื่อไทยยุคใหม่ไปด้วยกัน และขอสัญญาจากใจว่า พวกเราจะทำงานอย่างหนักทั้งในสภาและนอกสภา เพื่อดูแลผลประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่ และเราจะนำชัยชนะกลับคืนสู่พี่น้องประชาชนในเร็ววัน" คุณหญิงสุดารัตน์ระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"