เลือกตั้งท้องถิ่นยังไม่ชัด แต่พรรคใหญ่เริ่มวอร์มอัพ


เพิ่มเพื่อน    

      แม้ยังเหลือเวลาอีกนาน สำหรับดีเดย์วันเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ทั้งในระดับผู้บริหาร เช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือ บิ๊กเสาชิงช้า-ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือในระดับเล็กลงไปเช่น  สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร-นายกเทศมนตรี-สมาชิกสภาจังหวัด แต่เพราะการเมืองท้องถิ่นก็เช่นเดียวกับการเมืองในระดับชาติ คือห่างเหินจากการเลือกตั้งมาหลายปี อย่างการเลือกผู้ว่าฯ กทม. คนกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์ร่วม 7 ปีมาแล้ว จึงทำให้การขยับของบรรดาพรรคการเมือง ในการเตรียมหาแคนดิเดตลงชิงในนามพรรค เลยได้รับความสนใจจากประชาชนไม่น้อย แม้ยังเหลือเวลาอีกนานถึงจะเริ่มเห็นสัญญาณการเลือกตั้ง

      เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศจะเกิดขึ้นได้ ฝ่ายรัฐบาล-กระทรวงมหาดไทย จะต้องมั่นใจก่อนว่ามีความพร้อมจากนั้น ก็ไปหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อร่วมกันกำหนดงบประมาณและกรอบเวลาการเลือกตั้ง แต่เบื้องต้นก็คาดหมายกันว่า น่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ภายในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.ปีนี้ เมื่อโฟกัสไปที่สนามเมืองหลวง ศึกชิงเก้าอี้เสาชิงช้า พบว่า หลายพรรคเริ่มออกตัวแล้ว ทั้งการเล็งมองหาบุคคลที่พรรคจะส่งลงเลือกตั้ง-การเตรียมพร้อมด้านนโยบายที่จะใช้หาเสียงกับคนกรุงเทพฯ

      อย่าง พลังประชารัฐ พรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส.เขตใน กทม.มากที่สุด ร่วม 12 เก้าอี้ อีกทั้งยังเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ที่คนของเครือข่ายพลังประชารัฐก็คุมทั้งกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร จึงทำให้ย่อมได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ แน่นอน โดยก่อนหน้านี้ ก็มีกระแสข่าวว่า คนในพลังประชารัฐมีการคุยกันถึงเรื่องแคนดิเดตที่จะส่งลงเลือกตั้ง ที่ก็มีกันออกมาหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน แม้ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.อัศวินอาจจะเคยออกตัวว่าจะลงสมัครอิสระ นอกจากนี้ก็ยังมีชื่อของ สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน ที่เป็นหนึ่งใน ก๊วนจตุรเทพ-กปปส. น้องรักของสองคีย์แมนพลังประชารัฐที่รับผิดชอบพื้นที่ กทม. คือ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และ  พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลฯ ดังนั้น จึงมีการมองกันว่า หากพลังประชารัฐจะส่งใครชิงผู้ว่าฯ กทม. คนที่มีบทบาทในการตัดสินใจและผลักดันก็คือ ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์ นั่นเอง ผนวกกับช่วงนี้หลายคนเริ่มเห็นสกลธีลงพื้นที่ร่วมกับ ส.ส.กทม.และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพลังประชารัฐที่สอบตกในงานต่างๆ แล้ว จึงทำให้มองกันว่า สกลธีก็ต้องการลุ้นเป็นแคนดิเดตชิงผู้ว่าฯ กทม.ของพลังประชารัฐเช่นกัน ขณะที่กระแสข่าวพลังประชารัฐจะทาบทาม ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ พะเยา-อดีตผู้ว่าฯ เชียงราย ที่คนไทยรู้จักกันดีตอนช่วงช่วยเด็กๆ ทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำ ข่าวดังกล่าว ล่าสุด "ณรงค์ศักดิ์" กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า   "ผมไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนไปเขียนกันเอง อย่างไรก็ตาม ผมขอไม่แสดงความเห็นใดๆ ต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม."

      ด้าน "เพื่อไทย" ค่อนข้างจะแน่ชัดว่า เพื่อไทยจะส่ง  ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวลือว่าชัชชาติไม่ค่อยแฮปปี้หากจะต้องลงชิงผู้ว่าฯ กทม. โดยต้องไปอันเดอร์ เจ๊หน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค-เจ้าแม่ กทม.ของเพื่อไทย แต่ก็เชื่อว่า ชัชชาติคงไม่เสี่ยงจะไปลงผู้ว่าฯ กทม.ในนาม อิสระ อย่างที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้ เพราะยังไงการลงในเสื้อเพื่อไทยก็ย่อมมีโอกาสได้ลุ้นชนะมากกว่า ขณะที่แชมป์เก่า สนามผู้ว่าฯ กทม.หลายสมัย ประชาธิปัตย์ ที่ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มา 4 ครั้งติดกัน คือ อภิรักษ์ โกษะโยธิน สองสมัย และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อีก 2 สมัย ผนวกกับเป็นพรรคที่มีการทำพื้นที่ในสนาม กทม.อย่างเป็นระบบมาหลายปี จึงทำให้ประชาธิปัตย์หากส่งใครลงชิงผู้ว่าฯ กทม.ย่อมมีโอกาสสูง แต่รอบนี้เป็นศึกหนักที่ประชาธิปัตย์ก็ต้องสู้สุดตัว แพ้ไม่ได้ เพราะหากแพ้จะยิ่งทำให้ ขวัญ-กำลังใจของคนในพรรคสีฟ้ากระเจิงแน่นอน หลังก่อนหน้านี้ประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ในสนามเลือกตั้ง ส.ส.กทม.มาแล้ว

      เช่นเดียวกับ พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้คะแนน popular vote ในพื้นที่ กทม.มากที่สุดในสนามเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา เพราะได้คะแนนรวมทั้งคนที่สอบได้และสอบตก ร่วม 1 ล้านคะแนน จึงทำให้พรรคคาดหวังไว้กับสนาม กทม.ค่อนข้างมากว่าจะสามารถต่อยอดคะแนน 1 ล้านคะแนนดังกล่าว จนทำให้พรรคปักธงสนามผู้ว่าฯ กทม.ได้

       อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น หลังรัฐบาล-กกต.ส่งสัญญาณเตรียมเคาะวันเลือกตั้งท้องถิ่นออกมาอย่างเป็นทางการ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"