หวั่นขยับค่าแรงSMEเจ๊ง เอกชนแนะผ่านไตรภาคี


เพิ่มเพื่อน    


    "เอกชน" แนะรัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต้องผ่านกรรมการไตรภาคีและยึดตามคุณวุฒิทักษะฝีมือ หวั่นขยับเองเสี่ยงกระทบเอสเอ็มอีเจ๊งต้องปิดกิจการเหมือนอดีต "คสรท." ชี้ควรปรับเพียง 360 บาทต่อวันเท่ากันทั้งประเทศกระตุ้นการจับจ่ายทั้งระบบมากกว่า "พิชัย" ซัดนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลพาประเทศถอยหลัง 
    เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาลมีแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันว่า ส.อ.ท.เห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวันนั้น ควรยึดทักษะฝีมือแรงงานตามหลักของคุณวุฒิวิชาชีพเป็นสำคัญ  และการพิจารณาควรผ่านกระบวนการของคณะกรรมการไตรภาคี เพราะหากให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  400 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)  ที่อาจทยอยปิดกิจการเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรม เพราะขณะนี้ไทยมีการขาดแคลนแรงงาน
    นายสุพันธุ์กล่าวว่า รัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบคอบต่อกรณีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน เพราะค่าแรงเหล่านี้หากไม่ได้กำหนดตามทักษะและคุณวุฒิวิชาชีพก็เท่ากับจะไปอยู่ที่แรงงานต่างด้าว ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะขนเงินกลับประเทศ ไม่ได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 
    "การขึ้นค่าแรงควรสะท้อนทักษะฝีมือ ยึดตามกลไกเศรษฐกิจและแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการพิจารณาอยู่ที่คณะกรรมการไตรภาคี" ประธาน ส.อ.ท.กล่าว
    ส่วนนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย  กล่าวว่า หากรัฐบาลจำเป็นจะต้องปรับขึ้นค่าแรงตามที่ได้หาเสียงไว้ก็ควรที่จะกำหนดเป็น 2 แนวทาง  คือ ค่าแรงขั้นต่ำก็ควรจะปรับขึ้นให้สะท้อนกลไกเศรษฐกิจที่แท้จริง แต่การขึ้นค่าแรงให้เป็น 400 บาทต่อวัน ควรวางไว้ให้เป็นตามกลไกทักษะฝีมือแรงงานและคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะทำให้ค่าจ้างเหล่านี้ไม่ตกถึงแรงงานทักษะฝีมือต่ำๆ หรือค่าแรงขั้นต่ำที่ปัจจุบันไม่ได้คำนึงถึงวุฒิการศึกษาและมีแรงงานต่างด้าวอยู่จำนวนหนึ่ง
    "ผมยังคิดในแง่บวกว่า รัฐน่าจะมีการพิจารณารายละเอียดถึงการปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงอีกพอสมควร  คงไม่ได้หมายถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยจาก 320 กว่าบาทเป็น 400 บาทต่อวันทันที เพราะหากขึ้นทันทีจริงเศรษฐกิจคงลำบากแน่นอน เรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่เองก็ยังไม่ได้พูดถึง  จึงอยากให้รอดูการตัดสินใจของคณะกรรมการไตรภาคีก่อน" รอง ปธ.สภาองค์การนายจ้างฯ กล่าว
    ขณะที่นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การขึ้นค่าจ้างเป็นผลดีกับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งปัจจุบันได้ไม่ถึง 400 บาทต่อวัน แต่ถามว่าจะมีการจัดการกับค่าครองชีพที่ปรับขึ้นอย่างไร เพราะก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง คณะกรรมการค่าจ้างมีการหารือเตรียมขึ้นค่าจ้างแต่ก็ไม่ได้ขึ้น แล้วรัฐบาลมาหาเสียงว่าจะขึ้น การออกมาพูด 2 รอบแต่ยังไม่มีการปรับค่าจ้างจริง  ทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าไปแล้ว ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบ ทั้งค่าสิ่งของเครื่องใช้ ค่ารถเมล์ ทุกอย่างขึ้นไปหมดแล้ว 
    นายชาลีกล่าวว่า ครั้งนี้หากจะทำก็ไม่ต้องพูด ไม่ต้องตีกระแส และต้องทำให้ได้ 2 เรื่อง คือ 1.ควบคุมราคาสินค้าให้เป็นธรรม ถ้าคุมไม่ได้ขึ้นค่าจ้างมาก็ไม่มีประโยชน์ และ 2.ต้องบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามนโยบายอย่างแท้จริงทุกราย เพราะตอนขึ้นค่าจ้าง 300 บาท นายจ้างส่วนหนึ่งก็อ้างว่าจ่ายไม่ได้  จ่ายได้เท่านี้ ถ้าไม่เอาก็ไม่จ้าง หรืออย่างคนจบปริญญาตรีเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท นายจ้างก็ไปจ้างคนที่จบ ปวช., ปวส.แทน ปริญญาตรีก็ไม่มีงานทำ
    "ถ้าพูดถึงขึ้นค่าจ้างเป็น 400 บาทต่อวันก็เห็นด้วย แต่อยากเห็นรัฐบาลแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ เป็นงูกินหาง ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ เสนอว่าให้ปรับค่าจ้างเป็นวันละ 360  บาทเท่ากันทั้งประเทศ แบบนี้คนทั้งประเทศมีเงินในกระเป๋าเท่ากัน กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ถือว่าคุ้มกว่าการปรับ 400 บาทที่ได้รับจริงๆ เพียง 3-4 จังหวัดเท่านั้น ส่วนที่บอกว่าปรับเท่ากันทั้งประเทศไม่ได้  เพราะแต่ละพื้นที่มีค่าครองชีพแตกต่างกัน เรียนว่าไม่จริง หากเป็นอดีตคงจริงที่คนสามารถเก็บผักเก็บหญ้ากินได้ แต่วันนี้สังคมเปลี่ยนไปแล้ว ทุกอย่างต้องซื้อหมด ร้านสะดวกซื้อมีทุกพื้นที่และขายในราคาเท่ากัน ตามตลาดสดต่างๆ ก็ขายราคาเท่ากัน" นายชาลีกล่าว
    รองประธาน คสรท.กล่าวว่า ที่บอกขึ้นค่าจ้างเป็น 400 บาทให้แรงงานเพิ่มพูนทักษะก่อน ตรงนี้ไม่ใช่เลย เพราะแรงงานมีฝีมือในปัจจุบันค่าจ้างที่ได้รับก็มากกว่า 400 บาทแล้ว แต่ว่าอยู่สายไหน เช่นยานยนต์ต่ำๆ ก็ 500-600 บาท ไฟฟ้า 400-500 บาทขึ้นไป ทางที่ดีคือรัฐควรเปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนนโยบายเป็นเดินหน้าทำอัตราค่าจ้างแรกเข้า และพิจารณาปรับขึ้นในแต่ละปี โดยพิจารณาจากเงินเฟ้อ  ประเมินการทำงานของแรงงาน ใครทำดีก็ได้เพิ่ม หากเป็นเช่นนี้จะได้ไม่ต้องมาพูดกันเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำทุกปี แรงงานต้องมีการพัฒนาตัวเอง เกิดการแข่งขันกันทำงานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น แบบนี้เป็นประโยชน์ทุกฝ่าย 
    "ขณะนี้กำลังทำหนังสือส่งไปกระทรวงแรงงานเพื่อขอเข้าพบ รมว.แรงงานคนใหม่และทีมผู้บริหาร  เพื่อขอทราบนโยบายและติดตามนโยบายเดิมๆ ว่าเป็นอย่างไร คาดว่าน่าจะเป็นช่วงปลาย ก.ค.นี้" รองประธาน คสรท.กล่าว
    ถามว่าการปรับ 400 บาท หรือ 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศ เป็นการเพิ่มในอัตราที่ค่อนข้างสูง อาจกระทบผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อย นายชาลีกล่าวว่าเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแน่อยู่แล้ว เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องออกมาตรการแก้ปัญหา เช่นเรื่องเงินทุน หรือก่อนหน้าที่มีการปรับลดภาษีให้ในจำนวนที่มากและยาวนานด้วย ถือว่าคุ้มต่อผู้ประกอบการ ส่วนข้อกังวลว่าจะทำให้การย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น เรียนว่าในส่วนของอุตสาหกรรมบางอย่าง เขาเตรียมที่จะย้ายฐานการผลิตแล้ว ถึงไม่ปรับเพิ่มค่าจ้างเขาก็ไป แต่ขณะเดียวกันก็มีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เข้ามาแทน ดังนั้นมองว่าไม่ใช่ปัญหา
    วันเดียวกัน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงานและอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า หลังจากที่มีการแต่งตั้ง ครม.ที่มีเสียงยี้ดังกันไปทั่ว และ ครม.เศรษฐกิจได้เริ่มเสนอนโยบายเศรษฐกิจแล้ว ซึ่งเกรงว่าอาจจะเพิ่มปัญหาทางเศรษฐกิจให้ประเทศมากกว่าจะแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะนโยบายที่พรรค พปชร.หาเสียงค่าแรงขั้นต่ำที่ 400-425 บาท ซึ่งได้เคยทักท้วงไว้ก่อนหน้านี้แล้ว  ค่าแรงขั้นต่ำควรจะต้องขึ้นและควรจะต้องทยอยขึ้นทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อและการพัฒนาของประเทศ  แต่ที่ผ่านมา 5 ปี รัฐบาลแทบไม่ยอมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเลยหรือขึ้นก็น้อยมาก อีกทั้งปัญหาทางการเมืองทำให้การลงทุนในประเทศไทยหดหายมาตลอด ขนาดคนไทยยังหันไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าจะลงทุนในไทย การขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดจะยิ่งทำให้การลงทุนยิ่งหายไปอีก เศรษฐกิจจะยิ่งทรุด ธุรกิจจะเจ๊งกันมากโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และแรงงานจะตกงานกันเพิ่มขึ้นอีกมาก ดังนั้นจึงอยากให้พิจารณาให้ดี  ซึ่งจริงๆ แล้วหากไม่ได้มีการปฏิวัติและมีการลงทุนเป็นปกติทุกปี ค่าแรงก็จะค่อยๆ ทยอยปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ป่านนี้ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 400 บาทแล้ว
     "อยากเห็นว่ารัฐบาลมีนโยบายจะเพิ่มราคาสินค้าเกษตรได้อย่างไร เพราะก่อนเลือกตั้ง พปชร.หาเสียงเรื่องราคาสินค้าเกษตรในระดับราคาที่สูงมาก เช่น ปาล์มกิโลกรัมละ 5 บาท ยางกิโลกรัมละ 65  บาท ข้าวตันละ 12,000 บาท อ้อยตันละ 1,000 บาท เป็นต้น ซึ่งหากทำจริงต้องใช้เงินอีกมหาศาล จะหาเงินมาจากไหน และรัฐจะต้องใช้จ่ายเสียหายมากกว่าการจำนำข้าวมาก" นายพิชัยกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"