จ่อตั้งกระทู้ถาม พัดลมไปรษณีย์ ค้านผังเมืองอีอีซี


เพิ่มเพื่อน    


    "หมอระวี" จี้ "รมต.-ผู้บริหารไปรษณีย์-ป.ป.ท." ตรวจสอบไปรษณีย์คูคตติดพัดลม 30 ตัว  เกินราคากลาง 3 เท่าตัว ข้องใจตู้ไปรษณีย์ขนาดยักษ์ 7 ล้านบาทคุ้มค่าหรือไม่ จ่อตั้งกระทู้สดถาม รมต.ที่เกี่ยวข้อง "ศรีสุวรรณ" ค้านทำผังเมือง EEC สามจังหวัด ชี้ขัด รธน.ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ลั่นไม่ทบทวนฟ้องศาลแน่ 
    นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวเมื่อวันจันทร์ถึงกรณีที่ทำการไปรษณีย์คูคต จ.ปทุมธานี ติดพัดลม 30 ตัวในห้องที่มีเจ้าหน้าที่เพียง 2 คน โดยพัดลมดังกล่าวราคาจัดซื้อสูงถึงตัวละ 6,000 บาท ขณะที่ราคากลางอยู่ที่ตัวละ 2,000 บาท ว่า นางสมร เทิดธรรมพิบูล  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ออกมาชี้แจงว่าคำนวณผิดพลาดและแก้ไขลดจำนวนลงเหลือ 12 ตัว พร้อมมีการตั้งกรรมการสอบแล้ว ซึ่งตนคิดว่าแค่คำชี้แจงดังกล่าวยังไม่เพียงพอ  เพราะมีลักษณะปกป้องการทุจริตครั้งนี้
     "จึงเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบหน่วยงานดังกล่าวต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง รวมทั้ง ป.ป.ท.ควรเข้ามาดูแลด้วย หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จะนำเรื่องนี้ตั้งกระทู้สดถามรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป"
    นพ.ระวีกล่าวว่า กรณีดังกล่าวสะท้อนถึงการทุจริตที่ชัดเจน ทั้งเรื่องวงเงินการจัดซื้อที่แพงเกินกว่าราคากลางถึง 3 เท่าตัว และยังมีปริมาณที่มากกว่าความต้องการที่แท้จริง จะชี้แจงเพียงแค่ว่าคำนวณผิดพลาดไม่ได้ เพราะก่อนที่จะขออนุมัติงบประมาณจะต้องมีการคำนวณแล้วว่าห้องขนาด 60 ตารางเมตรควรใช้พัดลมจำนวนเท่าใดจึงจะเหมาะสม 
    "ที่น่าสงสัยคือ ราคาจัดซื้อที่แพงกว่าราคากลางถึง 3 เท่าตัว ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างไร จะต้องมีการตรวจสอบคณะกรรมการทั้งชุด รวมถึงคณะกรรมการตรวจรับงานที่ต้องเห็นชัดเจนอยู่แล้วว่าพื้นที่ 60 ตารางเมตร กับพัดลม 30 ตัวมีปริมาณมากเกินไป โดยเรื่องนี้ไม่ควรปล่อยให้ไปรษณีย์ไทยตรวจสอบกันเอง รวมถึงการก่อสร้างตู้ไปรษณีย์ขนาดยักษ์ที่หน้าสำนักงานใหญ่ ที่มีความสูงกว่า 14 เมตร มูลค่าการก่อสร้างกว่า 7 ล้านบาท ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่และราคาแพงเกินจริงหรือเปล่า"
    นพ.ระวีกล่าวด้วยว่า ขอบคุณสหภาพแรงงานไปรษณีย์ไทยที่ออกมาเปิดโปงเรื่องนี้ต่อสาธารณะจนนำไปสู่การตรวจสอบ พร้อมเรียกร้องให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐในทุกหน่วยงานช่วยกันตรวจสอบ  หากพบความผิดปกติเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณควรแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการดำเนินการตรวจสอบและฟ้องประชาชนเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อเรื่องอยู่ในกระแสความสนใจของสังคมก็จะได้รับการแก้ไขที่รวดเร็วขึ้น
    ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคมฯ เรื่อง "คัดค้านการจัดทำผังเมือง EEC ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ" ระบุว่า ตามที่สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้มีการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยยกเลิกผังเมืองเดิมที่ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างถูกกฎหมายไปแล้ว โดยการนำกลับมาดำเนินการใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนหรือนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยการเปิดทางให้มีการบริหารจัดการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเสียใหม่ตามความต้องการของกลุ่มทุน ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีแต่การจัดตั้งจัดฉากเพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว อันเป็นการทำลายหลักสิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง
    ในการดำเนินการจัดทำผังเมือง EEC ขึ้นมาใหม่นั้น ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำผังเมืองทั้งระบบ ตาม ม.9 แห่ง พ.ร.บ.การผังเมือง 2562 ประกอบ ม.26 ม.43 ม.50(8) ม.57  และ ม.72 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีความพยายามที่จะเปลี่ยนสีผังเมืองในพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ให้กลุ่มทุนเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยละเลยหลักการทำผังเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นตัวอย่าง
    แถลงการณ์ระบุว่า สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงไม่อาจปล่อยผ่านให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดำเนินการจัดทำผังเมืองใหม่โดยขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญข้างต้นได้ จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบาย EEC ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้สั่งให้มีการทบทวนการจัดทำผังเมือง EEC ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการผังเมือง  โดยต้องจัดทำอยู่บนพื้นฐานที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของภาคตะวันออก และต้องจัดให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเพียงพอและครบถ้วน โดยต้องไม่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนบางกลุ่ม เพื่อขับไล่ประชาชนออกจากที่ดิน ทำลายระบบนิเวศเฉพาะ แหล่งความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญของภาคตะวันออกและทั้งประเทศ ทำลายวิถีชีวิต เศรษฐกิจของชุมชน และสร้างผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ 
     ทั้งนี้ หากข้อเรียกร้องนี้ยังไม่มีการนำไปสู่การทบทวนตามหลักกฎหมายที่ถูกต้อง สมาคมฯ จะร่วมมือกับพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดตะวันออกดังกล่าว ดำเนินการนำคดีขึ้นสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญต่อไปแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"