'คสช.'หลอนพรรคฝ่ายแม้ว


เพิ่มเพื่อน    


    โฆษก กอ.รมน.แจง คสช.ไม่ได้ถ่ายโอนอำนาจเรียกคนมาปรับทัศนคติหรือกักขัง ลั่น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เปิดช่องเชิญบุคคลให้ข้อมูลได้ ปัดละเมิดสิทธิมนุษยชน "เพื่อไทย-เพื่อชาติ" ยังผวา คสช.แปลง ม.44 โอนหน้าที่ให้ กอ.รมน. ซัดคำสั่ง หน.คสช.ที่ 51/60 ยังเป็นมรดก คสช.ที่กระทบสิทธิเสรีภาพปชช.
    เมื่อวันอังคาร พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โอนอำนาจให้ กอ.รมน.สามารถเชิญบุคคลเข้ามาพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติได้ว่า ยืนยันว่า คสช.ไม่ได้โอนอำนาจดังกล่าวให้ กอ.รมน.สามารถเรียกบุคคลมาพูดคุย เพราะในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ แต่กฎหมายที่ กอ.รมน.ใช้อยู่คือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในการดูแลความเรียบร้อย เมื่อมีสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงเกิดขึ้น ก็จะประกาศเป็นพื้นที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เมื่อมีการประกาศแล้วก็จะต้องมีการใช้กำลังตามมาตรา 16 กอ.รมน.เลือกว่าจะใช้อำนาจหน้าที่อย่างไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงสอดคล้องกับหน่วยงานที่จะต้องเข้ามารับผิดชอบ คือทหารหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยผู้ที่จะตัดสินใจเลือกใช้กำลังจะต้องเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ที่ถูกแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี
    “กอ.รมน.ไม่สามารถเรียกตัวบุคคลมากักขังหรือพูดคุยได้ เพราะปัจจุบัน กอ.รมน.ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และเมื่อมีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นคงในพื้นที่ จึงจะสามารถเข้าไปดูแลได้ เพื่อแก้ไขปัญหาโดยการทำหน้าที่บูรณาการและประสานงานร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเมื่อ คสช.ยุติบทบาท กอ.รมน.ก็เข้ามาโดยไม่ได้มีการโอนอำนาจแม้แต่อย่างใด ส่วนที่มีการเชิญตัวก็อยู่ในมาตราที่ 13/1 ในข้อที่ 7 ใน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็มีอยู่ก่อนแล้ว โดยคณะกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผอ.กอ.รมน.จังหวัด และจะมีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเป็นคณะกรรมการด้วย เช่น กรณีมีโครงการจัดทำฝายระบายน้ำที่เสนอผ่านจังหวัดเข้ามา ทางคณะกรรมการชุดนี้ก็จะมาช่วยพิจารณา หากมีจุดไหนที่ไม่เรียบร้อยหรือต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม ก็จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล แต่ไม่ใช่การเรียกตัว ต้องใช้คำให้ถูกต้อง” พล.ต.ธนาธิปกล่าว
    พล.ต.ธนาธิปกล่าวยืนยันว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯไม่ได้เชิญตัวบุคคลที่สอบปากคำหรือกักขัง ซึ่งเป็นกฎหมายคนละอย่างกับ คสช. และ กอ.รมน.ก็เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับสำนักงานนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่กองทัพ กฎหมายตัวนี้ กอ.รมน.จะพยายามใช้กฎหมายที่ไม่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเน้นใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มากที่สุด ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ยืนยันว่าพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไม่ได้มีอำนาจเรียกบุคคลที่เห็นต่างทางการเมืองเข้ามาพูดคุย รวมถึงการเคลื่อนไหวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ขณะนี้เดินสายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับต่างประเทศด้วย
    นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ข่าวปฏิเสธว่า กอ.รมน.ไม่ได้เรียกบุคคลมาปรับทัศนคติ เหมือนกับ คสช.นั้นไม่เป็นความจริง จากการตรวจสอบพบว่าหัวหน้า คสช.ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 คำสั่งฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้มีคณะกรรมการในระดับจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ประการหนึ่งคือ “เชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลใดมาให้ข้อมูล หรือจัดส่งข้อมูลพร้อมหลักฐานประกอบ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของคณะกรรมการ” ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้บุคคลก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือ กระทบความมั่นคงของรัฐ
    โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาในยุค คสช.นั้น มีนักการเมือง นักศึกษา ประชาชน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย สื่อสารมวลชน ฯลฯ ถูกเรียกตัวให้ไปพบเจ้าหน้าที่รัฐและควบคุมตัวไว้ รวมทั้งการพูดจาหว่านล้อม ข่มขู่ ให้หยุดการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ที่เรียกกันว่าปรับทัศนคติ คำสั่งที่ให้อำนาจ กอ.รมน.ก็ไม่แตกต่างกัน การระบุไว้ในคำสั่งที่อ้างเรื่องความไม่สงบ หรือความมั่นคงของรัฐ ก็เป็นข้ออ้างที่ใช้มานานแล้วในยุค คสช.ที่ถือเอาว่าตัวเองคือประเทศชาติหรือรัฐบาล ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ใช่ อีกทั้งการแสดงออกทางการพูด การกระทำของบุคคลที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน หรือสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้ออ้างนี้ย่อมครอบคลุมไปถึง ส.ส.ด้วย หาก กอ.รมน.เห็นว่าการพูดและการแสดงออกนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐบาล ทั้งๆ ที่ ส.ส.ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบรัฐบาล
    "คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 ที่สามารถเรียกบุคคลมาพบและให้ข้อมูลนั้น กระบวนการออกคำสั่งเกิดขึ้นในยุค คสช. ไม่ได้ผ่านกระบวนการตรากฎหมาย ตามหลักประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น ยังถือเป็นมรดก คสช.ที่กระทบสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งพรรคฝ่ายค้านและประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจะต้องผลักดันให้มีการยกเลิกโดยเร็วต่อไป" นางลดาวัลลิ์กล่าว
     นายรยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า แสดงความยินดีกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ที่จะเข้าถวายสัตย์ฯ ในวันนี้ (16 ก.ค.) ในที่สุดประเทศไทยก็จะได้มี ครม.มาบริหารประเทศ แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนเสียที หลังผ่านเลือกตั้งมาแล้วกว่า 4 เดือน ถือได้ว่าเป็นการตั้ง ครม.ที่นานที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา อย่างไรก็ตาม หลังมี ครม.ทุกคนคงคิดว่าประเทศเราจะสิ้นสุดการใช้มาตรา 44 เสียที แต่ไม่ใช่เลย การมีอยู่ของ คสช.กว่า 5 ปีนี้ คงไม่จบลงง่ายๆ กว่าจะได้เข้าสู่อำนาจ กว่าจะรักษาอำนาจได้ จนกระทั่งกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในสมัยที่สองไม่ใช่เรื่องง่าย การมีอยู่ของเครื่องมือบริหารอำนาจ จะคงอยู่ต่อไปอย่างแน่นอน ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบ แปลงร่างวิธีการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ค่อนข้างชัดเจน และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ที่มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา ปรับโอนหน้าที่ของ คสช.ให้กับ กอ.รมน. โดยมีการจัดโครงสร้างไว้รองรับแล้ว 
    "โดยการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ขยายคำจำกัดความของการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรให้รวมถึงอาชญากรรมปกติที่เคยอยู่ในอำนาจของตำรวจ รวมถึงอำนาจเรียกตัวบุคคลมาควบคุมตัวในรูปแบบของการมาให้ข้อมูลคล้ายกับอำนาจของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจทหารสามารถเรียกบุคคลมาเพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคำ หากยังสอบถามไม่แล้วเสร็จ สามารถควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน ดังที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้เพิ่งกล่าวถึงไปเมื่อวันที่ 15 ก.ค." นายรยุศด์ 
     นายรยุศด์กล่าวอีกว่า ขอเตือนความจำไว้เพียงแค่นี้ ขอให้พี่น้องประชาชน พี่น้องสื่อมวลชน อย่าลืมม.44 จบไป คสช.จบไป แต่ คสช.ไม่มีวันตาย จะคงแฝงร่างอยู่กับพี่น้องประชาชน จนกว่าเราจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำลายผลพวงของการรัฐประหารได้ แม้เป็นเรื่องที่ยาก แต่หากเราร่วมมือกัน เผด็จการไม่มีทางต้านทานกระแสประชาชนได้อย่างแน่นอน และที่สำคัญ เรามาคอยดูกันว่าหากไม่มีเครื่องมือสำคัญอย่าง ม.44 แล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะจัดการและบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่มีพรรคร่วมมากมายขนาดนี้ได้นานแค่ไหนอย่างไร น่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"