สมศักดิ์สั่งด่วนยธ. ช่วยเหยื่อแพรวา


เพิ่มเพื่อน    


    “สมศักดิ์” สั่งด่วนถึงยุติธรรม เร่งช่วยเหลือเหยื่อแพรวา 9 ศพ ล่าสุดกองทุนยุติธรรม-บังคับคดี พร้อมอำนวยความสะดวก รองปลัด ยธ.แนะจำเลยเข้าไกล่เกลี่ยหนี้ เพิกเฉยโดนบังคับคดี ขายทอดตลาดทรัพย์ชำระหนี้ ไม่พอจ่ายโดนฟ้องล้มละลาย แม่ ดร.เป็ด เผยทุกวันนี้ยังต้องร้อยมาลัยเลี้ยงชีพ วอนผู้ก่อเหตุเห็นใจ
    เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมเข้าช่วยเหลือและอำนายความสะดวกในการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายกรณี “แพรวา 9 ศพ” หรือคดีอุบัติเหตุรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค เฉี่ยวชนกับรถตู้โดยสารบนโทลล์เวย์จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ในส่วนของผู้เสียหายที่มีฐานะยากจน กระทรวงยุติธรรมจะให้กองทุนยุติธรรมเข้าไปช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเป็นค่าทนายความและการสืบทรัพย์ ขณะที่กรมบังคับคดีพร้อมอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการบังคับคดีเช่นกัน โดยผู้เสียหายหรือฝ่ายโจทก์ต้องไปยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี แล้วนำหมายบังคับคดีไปตั้งเรื่องที่กรมบังคับคดี เพื่อให้มีอำนาจเข้าไปสืบทรัพย์  
    นายธวัชชัยกล่าวว่า เมื่อเริ่มต้นขั้นตอนการบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะสั่งอายัดทรัพย์ที่สืบพบแล้วนำออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาเฉลี่ยคืนตามความเสียหาย หากทรัพย์ที่นำออกขายทอดตลาดไม่เพียงพอต่อการชดใช้ค่าเสียหาย หรือมีมูลหนี้มากกว่า 1 ล้านบาท จะยื่นฟ้องขอให้ศาลสั่งให้จำเลยตกเป็นบุคคลล้มละลาย ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศหรือทำธุรกรรมทางการเงินได้เป็นเวลา 3 ปี แม้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยจะสบาย หรือ "ลั้ลลา" เพราะภาระความรับผิดก็ยังไม่หมดลง มูลหนี้ยังคงมีอยู่ จำเลยยังต้องทำงานชดใช้ค่าเสียหายจนกว่าจะครบตามคำพิพากษา หรือจนกว่าคดีจะขาดอายุความในการสืบทรัพย์เป็นระยะเวลา 10 ปี
    “ผู้เสียหายหรือโจทก์มีอาการมึนงง เดินไม่เป็น กรณีลูกหนี้ซึ่งไม่ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษา ทั้งนี้ เมื่อครบเวลา 30 วันหลังศาลมีคำพิพากษา หากลูกหนี้หรือจำเลยทำไม่รู้ร้อนรู้หนาว ทำหน้ามึน ผู้เสียหายจะต้องไปยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เมื่อได้หมายบังคับคดีมาแล้ว จึงจะมีอำนาจเข้าไปสืบทรัพย์ว่าจำเลยมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ซึ่งในชั้นนี้ยากที่สุด เพราะศักยภาพบุคคลทั่วไปนั้นยากต่อการเข้าถึงข้อมูล ต้องจ้างทนายความ คนจน คนด้อยโอกาสสามารถขอเงินค่าจ้างทนายความสืบทรัพย์ได้จากกองทุนยุติธรรมได้” รองปลัดกระทรวงยุติธรรมระบุ
    นายธวัชชัยกล่าวอีกว่า ขอแนะนำให้จำเลยควรเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยจะดีที่สุด  ส่วนผู้เสียหายหรือฝ่ายโจทก์ สามารถขอคำแนะนำช่วยเหลือได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด หรือศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม
    ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รายงานความคืบหน้าคดี "แพรวาชน 9 ศพ" ว่า ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำหน้าที่เป็นทนายทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งจนคดีถึงที่สุด สำหรับท่านที่สนใจและติดตามคดีที่ใช้เวลาถึง 9 ปี โดยสรุปคือศาลฎีกาพิพากษาในคดีอาญาว่าผู้ขับขี่รถฮอนด้า ซีวิค มีความผิดฐานขับรถโดยประมาททำให้มีผู้เสียชีวิต และพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 
    "ที่เรื่องนี้กลับมาสู่ความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง เนื่องจากทางฝ่ายจำเลยยังไม่มีการชดใช้เยียวยาความเสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้ช่วยเหลือติดตามในเรื่องนี้ต่อไปครับ"
    ในส่วนของคดีอาญา ผศ.ดร.ปริญญาระบุว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เป็นเวลา 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ประกอบกับความประพฤติทั่วไปของจำเลยยังไม่มีข้อเสียหาย เป็นการกระทำผิดครั้งแรก รู้สำนึกในการกระทำความผิด และได้บรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายบางส่วนแล้ว จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นคนดีสักครั้ง ให้รอลงโทษเป็นเวลา 3 ปี คุมประพฤติจำเลยเป็นเวลา 3 ปี กำหนดเงื่อนไขให้รายงานตัวทุกๆ 3 เดือน ให้ทำงานบริการสังคมดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ภายใน 2 ปี และห้ามขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ ส่วนข้อหาอื่นศาลพิพากษายกฟ้อง 
    ภายหลัง ทาง "แพรวา" ได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้ ให้รอลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี กับให้ทำงานบริการสังคมดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุปีละ 48 ชั่วโมง ส่วนโทษอื่นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
    ในด้านคดีแพ่ง  บัดนี้ คดีได้ถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297-308/2562 โดยศาลฎีกาได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในแต่ละคดี ซึ่งรวมค่าสินไหมทดแทนที่ศาลฎีกากำหนดให้ทุกคดีแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 25,261,164 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ซึ่งศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2562
    นางถวิล เช้าเที่ยง อายุ 71 ปี มารดา ดร.ศาสตรา เช้าเที่ยง หรือ ดร.เป็ด นักวิทยาศาสตร์ประจำสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หนึ่งในผู้เสียชีวิต 9 ศพ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุ คู่กรณีแค่มาร่วมงานศพเพียงวันเดียว หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการติดต่ออะไรอีกเลย แม้ว่าศาลจะตัดสินแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการติดต่อมา ตอนนี้รู้สึกอึดอัดมากเพราะอายุก็มากแล้ว ทางคู่กรณีจะเอายังไงก็ได้ ขอให้มาพูดคุยกัน ไม่ได้ไปเรียกร้องเขามากมาย 
    นางถวิลกล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเรื่อง ทางญาติๆ ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดได้รวมกลุ่มกัน และตอนนี้ก็รอให้ทางคู่กรณีติดต่อมา และรอทางทนายด้วย ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกับทางทนายแล้วว่าถ้าไม่มาเยียวยาก็ต้องให้มีการบังคับคดี เพื่อดูว่าเขามีทรัพย์สินอะไรบ้าง โดยทำตามขั้นตอนของศาล ซึ่งยังไม่รู้ว่านานแค่ไหน และไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงตอนนั้นหรือไม่ 
    "ในช่วงที่ลูกเรียนจบมา (จบปริญญาเอกจากอังกฤษ) ก็อยากให้แม่เลิกร้อยพวงมาลัยขาย แต่แม่ยังทำไหวก็ขอทำไปก่อน ถ้าเลิกร้อยพวงมาลัยในวันที่ลูกขอให้เลิก วันนี้คงลำบากกว่านี้ เพราะวันนี้ไม่มีลูกมาคอยเลี้ยงดูแล้ว และพี่น้องก็ตายหมดแล้ว เหลือเพียงแค่หลานสาวคนเดียวที่มาช่วยกันร้อยพวงมาลัยขาย แบ่งข้าวกินกันไป ก็อยากให้แพรวาได้เห็นใจบ้าง เพราะเวลาก็เนิ่นนานมาแล้ว"
    มีรายงานว่า ภายหลังเกิดเหตุชน 9 ศพ นางสาวแพรวาได้เปลี่ยนชื่อใหม่ จากแพรวา เป็นอรชร บัวบูชา และรวินภิรมย์ และล่าสุด น.ส.แพรวาได้แต่งงานกับอดีตอนุกรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
    พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ในฐานะสมาชิกตระกูล เทพหัสดิน ณ อยุธยา กล่าวว่า ต้นตระกูลเป็นนามสกุลพระราชทาน ที่ผ่านมาบรรพบุรุษหลายคนได้ทำคุณงามความดีรับใช้ให้ชาติบ้านเมืองมามากมาย กรณีคนในสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา ก่อเหตุดังกล่าว เป็นการกระทำส่วนตัว โดยไม่เกี่ยวกับนามสกุล การที่นำเหตุที่เกิดขึ้นของคนคนเดียวในตระกูลไปย่ำยีให้เกี่ยวข้องกับนามสกุลนั้นไม่ยุติธรรม 
    “อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยคนคนเดียว แต่เอานามสกุลไปวิพากษ์วิจารณ์ และโยงไปถึงต้นตระกูล อีกทั้งมีการพาดพิงไปถึง พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตรอง ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นบิดาของผม ท่านประกอบคุณงามความดี เป็นทหารรับใช้แผ่นดินไทยมากมาย อย่านำไปโยงเกี่ยว หากใคร สื่อ หรือโซเชียลมีเดียกล่าวพาดพิงเรื่องนามสกุลจนทำให้เสียหาย จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ โดยจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดในทุกกรณี” พล.อ.วิชญ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"