ปมเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ทำ "บิ๊กตู่" เก้าอี้ร้อน อภิสิทธิ์-อนุทิน คิดยังไง?


เพิ่มเพื่อน    

    ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังเตรียมตัวเพื่อเดินเข้าห้องประชุมรัฐสภา ตึกทีโอที แจ้งวัฒนะ ในช่วง 25-26 ก.ค. เพื่อรับศึกหนัก การประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาล ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจ้องอภิปรายถล่มเต็มที่

    ก็ปรากฏว่าในช่วงเวลาต่อจากนี้ พลเอกประยุทธ์จะต้องใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งเพื่อหารือกับฝ่ายกฎหมายรัฐบาล ที่คงไม่พ้นวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในการเขียน คำชี้แจงชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในปมปัญหาเรื่อง การเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ คือหัวหน้า คสช. ในช่วงที่พรรคพลังประชารัฐส่งชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ลงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านและนักกฎหมายบางสำนักยังติดใจอยู่ว่ากระทำได้หรือไม่ เป็นเรื่องขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จน ส.ส.ฝ่ายค้าน 110 คนเข้าชื่อกันส่งคำร้องผ่านชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

    โดยข้อสงสัยทั้งหมด สุดท้ายจะได้ข้อยุติ สิ้นกระแสความกันเสียที เมื่อล่าสุด สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่

    โดยผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้รับคำร้องนี้ไว้พิจารณา และแจ้งผู้ร้องทราบพร้อมส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้อง เพื่อยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน

    อย่างไรก็ตาม แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณา แต่ก็ไม่ได้สั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ แต่อย่างใด โดยระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง

    ปมปัญหาดังกล่าวจะพบว่า ฝ่ายค้านโดยเฉพาะ ส.ส.เพื่อไทยและอนาคตใหม่ ได้หยิบยกมาเป็นประเด็นหลัก เรื่องหนึ่งในการอภิปรายตัวพลเอกประยุทธ์ ในช่วงการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อ มิ.ย.ที่ผ่านมา และเชื่อได้ว่าปมปัญหาดังกล่าว แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้แล้ว แต่ฝ่ายค้านก็จะยิ่งนำเรื่องดังกล่าวมาขยายผลต่อในช่วงการแถลงนโยบายรัฐบาล 25-26 ก.ค.นี้แน่นอน

    ทั้งนี้ ข้อกังขาดังกล่าวของฝ่ายค้านและนักกฎหมายบางสำนักชี้ประเด็นปัญหาดังกล่าว จนมีการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ สรุปความได้ว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. เป็นตำแหน่งที่มีการโปรดเกล้าฯ และแต่งตั้ง ตามรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราวปี 2557 และฉบับปี 2560 ที่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของหัวหน้า คสช.ไว้

    การอภิปรายและการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านในประเด็น คุณสมบัติของพลเอกประยุทธ์ จึงตอกหมุดไว้ว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช.ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย อีกทั้งยังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มรับเป็นรายเดือน ที่ให้กับหัวหน้า คสช. แบ่งเป็น  เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 75,590 บาท และได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 50,000 บาท รวม 125,590 บาทต่อเดือน ที่เป็นเงินภาษีประชาชน ตำแหน่งหัวหน้า คสช. จึงย่อมถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

    ที่สำคัญฝ่ายค้านย้ำประเด็นข้อสงสัยไว้ว่า ก่อนหน้านี้ เคยมี คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3578/2560 คดีที่อัยการสูงสุดฟ้องนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือหนูหริ่ง บ.ก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวการเมือง ที่ถูกคำสั่งหัวหน้า คสช.เรียกให้ไปรายงานตัวหลัง คสช.ทำรัฐประหาร แต่นายสมบัติไม่ยอมไปรายงานตัว จึงมีการเอาผิดนายสมบัติ ข้อหาขัดคำสั่งให้รายงานตัวตามประกาศ คสช. ซึ่งศาลได้วินิจฉัยสรุปว่าหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าพนักงาน มีอำนาจออกคำสั่ง คสช.ให้จำเลยมารายงานตัว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นการขัดคำสั่งของเจ้าพนักงาน เป็นความผิดประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง

    จากผลคำตัดสินของศาลฎีกาดังกล่าว จึงเป็นความมั่นใจของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยมาตลอดว่า ปมปัญหาเรื่อง การเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คือ หัวหน้า คสช. ที่ พลเอกประยุทธ์นั่งควบอยู่ในช่วงการลงเลือกตั้ง จะนำไปสู่การทำให้พลเอกประยุทธ์สะดุดขาตัวเองจนต้องพ้นจากการเป็นนายกฯ

    อย่างเช่นคำอภิปรายกลางห้องประชุมรัฐสภาเมื่อ 5มิ.ย.ตอนโหวตเลือกนายกฯ ของ ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ที่เป็นหนึ่งในแกนหลักในการล่าชื่อ ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ระบุตอนหนึ่งในการอภิปรายวันโหวตเลือกนายกฯ ว่า

    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560 ลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2560 ที่เป็นคำพิพากษา กรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ใช้อำนาจออกคำสั่งให้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนหนึ่งในฐานะจำเลยที่มีคดีความมารายงานตัวต่อหัวหน้า คสช. ศาลเคยชี้ว่าสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าพนักงาน มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมาย อีกทั้งมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน และได้รับเงินเดือนตามกฎหมาย

    กระนั้น ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่เห็นแย้งกับฝ่ายค้าน ก็ยังเชื่อและเทน้ำหนักว่า พลเอกประยุทธ์ จะรอด ด้วยเหตุผลหลักๆ ก็คือ ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 เกี่ยวกับความหมายของคำว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ที่อาจเป็นบรรทัดฐานกับกรณีของพลเอกประยุทธ์ได้ เพราะพลเอกประยุทธ์แม้จะมีอำนาจหน้าที่ มีเงินเดือน ค่าจ้างแบบเจ้าหน้าที่รัฐ แต่พลเอกประยุทธ์ได้รับแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้า คสช. มิใช่เป็นการได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ หากแต่เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ พลเอกประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. จึงมิได้มีสถานะเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐแต่อย่างใด

    อีกทั้งยังมองว่า ก่อนหน้านี้ สององคาพยพสำคัญใน องค์กรอิสระ คือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน-คณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็เคยมีมติการันตีแล้วว่า พลเอกประยุทธ์ สามารถให้พรรคพลังประชารัฐส่งชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯได้ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จน กกต.ที่มีนักกฎหมายใหญ่หลายคนนั่งเป็นกรรมการอยู่มีมติรับรองการประกาศชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ

    ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมาจึงทำให้ฝ่ายบิ๊กตู่และรัฐบาล ตลอดจนกองเชียร์ มั่นใจสูงว่าจะไม่สะดุดขาตัวเอง ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกฯ ง่ายๆ

    จุดสำคัญของคำร้องคดีนี้ก็คือ สุดท้ายหากศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง เรื่องก็จบ พลเอกประยุทธ์ก็ได้เป็นนายกฯ ต่อไป

    ทว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตำแหน่งหัวหน้า  คสช.เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ สิ่งที่จะตามมาก็คือ จะส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็หมายถึง ต้องพ้นสภาพจากการเป็น นายกฯ เพราะเข้ามาโดยกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง คือไปลงเลือกตั้งให้พลังประชารัฐส่งชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คือหัวหน้า คสช. นั่นก็หมายถึง ที่ประชุมรัฐสภาต้องโหวตเลือกนายกฯ กันใหม่ โดยพลเอกประยุทธ์ ไม่สามารถมีชื่อกลับมาให้ที่ประชุมโหวตเลือกได้อีก

    ถ้าสถานการณ์ไหลไปถึงจุดนั้น โดยช่วงดังกล่าวหากไม่มีการ ยุบสภา เกิดขึ้น พรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค หากยังกุมสภาพกันได้อยู่ ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดเสียงแตกไปจับมือกับขั้วเพื่อไทย ก็ต้องมานั่งตกลงกันว่าจะหนุนใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยที่จะมีเสียง ส.ว. 250 คน คอยเป็นฐานหลักให้ โดยพรรคที่จะได้ลุ้นดังกล่าว ต้องมี ส.ส.อย่างน้อย 25 คนในสภาฯ ซึ่งในบรรดาพรรคร่วม 19 พรรค ก็มีแค่สองพรรคคือ ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ที่ส่งชื่อแคนดิเดตนายกฯ ตอนเลือกตั้งคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-อนุทิน ชาญวีรกูล

    หรือไม่แน่ งานนี้อาจมีนักการเมืองหลายคนในบรรดา 19 พรรคร่วมรัฐบาล ลุ้นให้พลเอกประยุทธ์ไม่รอดในชั้นศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นได้!!!!

 

    "ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมาจึงทำให้ฝ่ายบิ๊กตู่และรัฐบาล ตลอดจนกองเชียร์ มั่นใจสูงว่าจะไม่สะดุดขาตัวเอง ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกฯ ง่ายๆ"


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"