ยกภัยแล้งวาระแห่งชาติ วอนชะลอการเพาะปลูก


เพิ่มเพื่อน    


    "ธรรมนัส" ยกภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติ สั่งภาครัฐเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เตรียมประสานทำฝนหลวงพื้นที่โคราชแก้วิกฤติ "กรมชลฯ" วอนเกษตรกรชะลอเพาะปลูกจนกว่าฝนตกสม่ำเสมอ "สทนช." ปรับแผนลดการระบายน้ำหลายเขื่อนหลักบรรเทาภัยแล้ง "ผบ.ทบ." ตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์เป็นการเฉพาะ เสริมรถน้ำเข้าช่วยเหลือ ปชช. "อำนาจเจริญ" ลำห้วยแห้งขอด ชาวนาต้องยอมปล่อยต้นข้าวแห้งตาย
    เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.เกษตรและสหกรณ์) ลงพื้นที่ชุมชนวัดท่าตะโก เขตเทศบาลนครนครราชสีมา จ.นครราชสีมา เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและปริมาณน้ำในลำตะคอง ตั้งแต่ชุมชนวัดท่าตะโก-ชุมชนวัดสุสาน ระยะทาง 3 กม. พร้อมหารือกับนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ นครราชสีมา ในเรื่องแนวทางการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนลำตะคองที่ไหลผ่าน 5 อำเภอ คือ สีคิ้ว, สูงเนิน, ขามทะเลสอ, เมืองนครราชสีมา  เขตเทศบาลนครนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ โดย ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ใน จ.นครราชสีมา  พร้อมสั่งการลงมาให้ตนมาตรวจงานราชการและรับฟังปัญหาของทุกภาคส่วน เพราะสิ่งที่ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างยิ่งในเวลานี้คือวิกฤติภัยแล้ง ซึ่งได้รับทราบจาก ส.ส.พื้นที่เขต 8 ที่เวลานี้เกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ถือเป็นวิกฤติและเป็นวาระแห่งชาติ 
    "ในฐานะที่ผมเป็นตัวแทนท่านนายกฯ ตัวแทน รมว.เกษตรฯ มาบอกทุกภาคส่วนว่าขอให้เอาจริงเอาจังกับปัญหาของประชาชน ผมได้เดินทางไปตรวจราชการการบริหารจัดการน้ำหลายจังหวัดภาคเหนือ อาทิ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก, เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และ จ.พะเยา เวลานี้วิกฤติรุนแรง การแก้ปัญหาเราจะได้ 2 ทาง ทางแรกทางเร่งด่วนตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปยัง ผบ.เหล่าทัพและสำนักงาน ตร. ผมจะกลับไปคุยกับฝนหลวงในการทำฝนหลวงพื้นที่ที่แห้งแล้ง ซึ่งในพื้นที่ จ.นครราชสีมามีหลายอำเภอได้รับผลกระทบวิกฤติรุนแรง จะได้สั่งการให้อธิบดีกรมฝนหลวงฯ เพื่อที่จะมาทำฝนเทียมให้ประชาชนชาว จ.นครราชสีมา ถือเป็นเรื่องแรก ส่วนเรื่องที่สอง นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ  ประสานไปยังกรมทรัพยากรธรณีให้มีการเจาะน้ำบาดาล ผมจะประสานให้อธิบดีสั่งการให้มาทำน้ำบาดาลที่ จ.นครราชสีมา" ร.อ.ธรรมนัสกล่าว
    รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า หลังจากไปตรวจเยี่ยมจังหวัดทางภาคเหนือ ได้สั่งให้อธิบดีกรมฝนหลวงฯ เอาจริงเอาจังในการทำฝนเทียม เชื่อหรือไม่ว่าจนถึงวันนี้ฝนตกทั้งหมด 11 จังหวัดภาคเหนือ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าถ้าหากภาครัฐเอาจริงเอาจัง ดูแลทุกข์สุขของประชาชนจริงๆ ปัญหาต่างๆ จะถูกคลี่คลายไปทางที่ดี ฉะนั้นขอฝากทุกภาคส่วนของ จ.นครราชสีมาในเรื่องนี้
    ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งให้โครงการชลประทานทุกแห่งประชาสัมพันธ์เกษตรกรที่ยังไม่ได้เพาะปลูกให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน จนกว่าจะมีฝนตกสม่ำเสมอ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าฝนจะเริ่มตกอีกครั้งปลายเดือน ก.ค.-ก.ย. อีกทั้งคาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนอย่างน้อย 1 ลูกเข้าสู่ประเทศไทยในเดือน ก.ย. ส่งผลให้สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย รวมทั้งจะมีน้ำไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ ซึ่งกรมชลประทานจะได้นำมาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง 2562/2563
    "ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรักษากติกาการรับน้ำตามรอบเวรและใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้อย่างทั่วถึง" อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
    ขณะที่นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า  ปัจจุบันประเทศไทยมีน้ำต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 38,665 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 47 และมีศักยภาพน้ำบาดาล 1,228 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ถือว่ามีปริมาณน้ำต้นทุนมากกว่าปี 2558 จำนวน 2,293 ล้านลูกบาศก์เมตร เราจึงต้องจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำให้พื้นที่การเกษตรมากกว่า จนหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบเกิดภัยแล้ง 
    นายสมเกียรติกล่าวว่า ตามคาดการณ์ฝนจะตกประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. แต่ตกน้อยบริเวณชายขอบ ส่งผลกระทบให้น้ำเติมอ่างเก็บน้ำภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนไม่ดี เช่นเดียวกับช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.ฝนตกน้อยและเสี่ยงขาดแคลนน้ำ จึงให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรวางแผนขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนหลักและพื้นที่เกษตรกรรม 
    "ที่สำคัญให้ปรับลดแผนการระบายน้ำจากเขื่อนลง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อให้สามารถส่งน้ำช่วงฤดูฝนนี้ได้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศแหล่งน้ำได้รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 3,200 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วงฤดูแล้ง" เลขาฯ สทนช.กล่าว
    วันเดียวกัน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก  กองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ช่วยเหลือประชาชนและสนับสนุนทุกภาคส่วนในการแก้ไขวิกฤติฝนทิ้งช่วงอย่างเต็มที่และเร่งด่วน เน้นการช่วยเหลือในลักษณะแบบรวมการในพื้นที่วิกฤติ ด้วยการระดมศักยภาพของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเครื่องมือและข้อมูล เพื่อเร่งจัดหาแหล่งน้ำและส่งน้ำจากแหล่งน้ำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่เดือดร้อน ทั้งด้านอุปโภคบริโภค และพื้นที่ทางการเกษตร
    นอกจากนี้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบกได้จัดตั้ง ศูนย์ติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นการเฉพาะตั้งแต่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในขณะนี้ และเป็นส่วนประสานการปฏิบัติกับทุกส่วนราชการ ในการนำนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหมมาสู่การปฏิบัติให้เกิดผลโดยทันที และตรงกับความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งได้จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 279 คัน ที่ประจำอยู่ในหน่วยทหารของกองทัพบกทั่วประเทศ พร้อมให้การสนับสนุนผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อร่วมปฏิบัติการกับรถน้ำจากภาคส่วนต่างๆ ออกแจกจ่ายน้ำช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้งเร่งด่วน
    ที่ จ.อำนาจเจริญ ภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลาร่วม 2 เดือนในพื้นที่ อ.ชานุมาน ซึ่งเป็นอำเภอชายแดนมีแม่น้ำโขงไหลผ่าน ระดับน้ำลดลงอยางต่อเนื่อง คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาประมาณ 1 เดือน น้ำโขงก็จะถึงขั้นวิกฤติ 
    นางชูใจ สำเริง อายุ 40 ปี ชาวนาบ้านเมืองเก่า ต.คำเขื่อนแก้ว อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาฝนตกดีทำนา 15 ไร่ ปลูกข้าวเหนียวทั้งหมด ขายข้าวกำไรดี ส่วนหน้าฝนปีนี้แรกๆ ฝนตกลงมาดีจึงรีบทำนาหว่านและนาดำสลับกัน จนฝนทิ้งช่วงเกือบ 2 เดือนทำให้ต้นข้าวแห้งตายหมด  ครั้งนี้ทำนารอบสองลดจำนวนปลูกข้าวลงเหลือแค่ 1 ไร่ พอได้มีข้าวกินเท่านั้น ซึ่งลำห้วยน้ำก็เริ่มแห้งหมดแล้ว หากน้ำในลำห้วยแห้งไม่รู้จะเอาน้ำที่ไหนหล่อเลี้ยงต้นข้าว ถ้าอีกหนึ่งเดือนฝนยังไม่ตกลงมา  ต้นข้าวจะต้องแห้งตายรอบสองแน่นอน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"