ศิลปาชีพสร้าง "ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี" พระราชชนนีพันปีหลวง


เพิ่มเพื่อน    

 

แฟชั่นผ้าชาวปกาเกอะญอในงานแถลงข่าว “ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี”
 

 

     กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลหรือคนชายขอบที่ต้องมีชีวิตไม่มั่นคง มาถึงวันนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีงาน มีอาชีพ ด้วยพระบารมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ส่งเสริมงานด้านศิลปาชีพแก่ราษฎรทั่วประเทศ ที่ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระราชโอรส ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของ “สมเด็จแม่” เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม และวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ “ใต้ร่มพระบารมี” อย่างยิ่งใหญ่
    งานแรก รวบรวมเรื่องราวหัตถศิลป์จากภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มาจัดแสดง พร้อมให้คนไทยได้สนับสนุนช่วยเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้ชื่องาน “ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี ครั้งที่ 2” ระหว่างวันที่ 8-12 สิงหาคม ณ ศูนย์การค้าดิเอ็มควอเทียร์ งานที่สอง “หัตถกรรมแห่งบรรพชนไทย ใต้ร่มพระบารมี” จุดเด่น คัดสรรผลงานหัตถกรรมชิ้นเอกของนักสะสมชั้นนำที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ และไม่เคยปรากฏสู่สายตามาก่อนมาแสดงจำนวนกว่า 500 ชิ้นอยู่ในงานครั้งนี้ ทั้งเครื่องถมปัด, งานศาสตราวุธล้านนา, งานผ้าโบราณ, เครื่องกระเบื้องเก่าแก่หายาก โดยยึดพื้นที่ทั้ง 5 ชั้นของหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ระหว่างวันที่ 8-30 สิงหาคมนี้ เปิดนิทรรศการวันที่ 8 สิงหาคม โดยท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

 

ตัวอย่างงานหัตถศิลป์กลุ่มชาติพันธุ์ในงาน “ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี ครั้งที่ 2” วันที่ 8-12 สิงหาคมนี้
 


    อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) กล่าวว่า เดือนกรกฎาคมต่อเนื่องเดือนสิงหาคมเป็นเดือนมหามงคล การจัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี” จะบอกเล่าพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งมั่นสืบสานงานศิลปาชีพสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ชนทุกกลุ่ม ทุกภูมิภาค โดยใช้งานศิลปหัตถกรรมสร้างรายได้ที่มั่นคง กลุ่มคนในพื้นที่ทุรกันดารได้รับพระมหากรุณาธิคุณมายาวนาน ทั้งกลุ่มคนบนที่สูง ชาวเขาเผ่าต่างๆ แม้ว เย้า มูเซอ ลีซอ ชาวปกาเกอะญอ อยู่ใต้ร่มพระบารมีอย่างมีความสุข สืบสานศิลปหัตถกรรมแต่ละชาติพันธุ์มีเอกลักษณ์และเสน่ห์แตกต่างกัน รวมทั้งกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่อยู่ตามที่ราบลุ่ม เช่น ไทยวน ไทดำ ไทลื้อ ได้พัฒนางานศิลปหัตถกรรมมากขึ้น และนำเอกลักษณ์มาเผยแพร่ให้คนได้รู้จัก เรายกย่องเชิดชูครูช่างศิลปหัตถกรรมทั่วประเทศ และเปิดโอกาสให้ครูช่างพบกับผู้ซื้อหรือตลาด เกิดการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้อง ตอบโจทย์การใช้งานทันสมัย ชุมชนช่างทอโดยรอบก็ได้ประโยชน์
    “ จากวิถีที่พึ่งพาเกษตร ราคาไม่แน่นอน ก็มีชีวิตใหม่ ยึดศิลปหัตถกรรมเป็นอาชีพหลัก มีตัวอย่างทั้งแม่สมศรี ปรีชาอุดมการณ์ ชาวปกาเกอะญอ พัฒนาผ้าทอปกาเกอะญอเป็นชุดเก๋ๆ เดิมใช้สีแดง ครีม เขียว ก็ปรับการใช้สีและลวดลายให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับย่ามหางยาวที่เป็นเอกลักษณ์ สร้างรายได้ให้กลุ่มปกาเกอะญอเกือบพันคน หรือแม่ศรีนวล พร้อมใจ จ.เชียงใหม่ ช่างทอเส้นใยกัญชง หลังจากศึกษาดูงาน SACICT แล้ว พัฒนาจนมีแบรนด์ของตัวเอง “ทรายทอง ใยกัญชง” ได้สืบทอด ต่อยอดองค์ความรู้” อัมพวัน กล่าว

 

อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการ SACICT ชมสาธิตการทอผ้าภูมิปัญญาปกาเกอะญอ
 


    ในงานด้านศิลปาชีพนั้น ผอ.SACICT เน้นย้ำว่า หลักในการขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนจะต้องรักษาคุณค่างานศิลปหัตถกรรม ทั้งเรื่องราว ความเป็นมา ตลอดจนทักษะฝีมือ และภูมิปัญญาดั้งเดิมยังคงอยู่ ไม่ทิ้งสิ่งเหล่านี้ให้สูญหายไป ส่งต่ออัตลักษณ์ให้คนรุ่นหลัง ทำให้ลูกหลานได้เห็น งานศิลปหัตถกรรมสร้างรายได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนตามพระราชดำริพระราชชนนีพันปีหลวง สำหรับ SACICT จะปฏิบัติงานสนองแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ โปรดเกล้าฯ ให้พระราชินีรับผิดชอบสานต่องานด้านศิลปาชีพ ถือเป็นคุณูปการใหญ่หลวง

 

สมศรี ปรีชาอุดมการณ์ ครูทอผ้าปกาเกอะญอ จ.เชียงใหม่



    จากช่างทอปกาเกอะญอสู่ครูช่างศิลปหัตถกรรม สมศรี ปรีชาอุดมการณ์ ครูทอผ้าปกาเกอะญอ จ.เชียงใหม่ วัย 50 ปี กล่าวว่า เดิมชาวปกาเกอะญอทอผ้าใช้ในครัวเรือนและมอบผ้าให้คนที่รัก ลวดลายที่ปักนำมาจากธรรมชาติและสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น ใบไม้ ดอกไม้ นาขั้นบันได จนกระทั่งแมงมุม ค้างคาว และรูปคน ลายผ้ายิ่งละเอียดก็แสดงถึงฝีมือคนทอ ส่วนสีใช้สีแดง เหลือง สีบานเย็น ที่ชาวบ้านดูว่าสวย จุดเด่นคือ ยังทอผ้าตามภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่เมื่อศึกษาดูงานศิลปาชีพ ได้เรียนรู้จากวิทยากรดีๆ ก็พัฒนาฝีมือมากขึ้น ประยุกต์ลวดลายต่างๆ ให้หลากหลาย ทำให้รู้คุณค่าการทอผ้าปกาเกอะญอยิ่งขึ้น สินค้าชุมชนจากเสื้อผ้าปกาเกอะญอแบบดั้งเดิมปัจจุบันมีชุดแฟชั่นที่ทันสมัย สวย เซ็กซี่ ดึงดูดให้คนต้องการสวมใส่ ดูแล้วไม่น่าเบื่อ ซึ่งผลตอบรับดีมาก อยากสืบสานไม่ให้สูญหาย ถ่ายทอดความรู้ให้สมาชิกกลุ่มทอผ้าชาวเขาแม่แจ่ม ทั้งยังรับเชิญเป็นวิทยากรอบรมให้หน่วยงานต่างๆ ด้วย
    “  รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระราชชนนีพันปีหลวง เคยเฝ้ารับเสด็จ ได้เห็นพระองค์ท่านไกลๆ ก็ปลื้มใจ และซาบซึ้งเป็นที่สุดได้รับพระราชทานทุน 20,000 บาท นำมาปรับปรุงบ้านพักและรักษาลูกที่ป่วยด้วยโรคหอบหืด ทำให้เรามีพลังใจ มีชีวิตที่ดี อีกทั้งได้ทอผ้าถวายพระองค์ทุกปี อยากตอบแทนพระองค์ท่าน จะสืบสานไม่ให้งานทอผ้าปกาเกอะญอหายไป ส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ เป็นภูมิปัญญาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของผู้สร้างสรรค์ แม้คนทอผ้าจากโลกนี้ไป แต่ลายผ้ายังคงอยู่” สมศรี ครูทอผ้าชาวปกาเกอะญอสุดปลื้มปีติ และชวนคนไทยร่วมกิจกรรม “ใต้ร่มพระบารมี" ทั้งสองงานในเดือนมหามงคลนี้

 

 

 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"