Coding ไม่ให้เด็กไทยถูกทิ้งไว้ข้างหลัง


เพิ่มเพื่อน    

 ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษา กับชีวิตจริง 'คุณหญิงกัลยา'

                ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาระหว่างคนมีเงินกับคนไม่มีเงิน เด็กในเมืองกับเด็กชนบท เห็นได้จากข้อมูลที่ว่าทุกปีมีเด็กกว่า 670,000 คนที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะความยากจน โดยมีเด็กและเยาวชนเพียง 5% จากครอบครัวยากจนที่สุด 20% แรกของประเทศเท่านั้นที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

ปัญหาดังกล่าวแม้หลายรัฐบาลจะพยายามแก้ไขผ่านนโยบายหลายอย่าง เช่น การปฏิรูปการศึกษา, การให้ทุนแก่เด็กและเยาวชนด้อยโอกาส อย่างการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุค คสช. แต่หลายฝ่ายก็มองว่าระดับปัญหายังรุนแรง และการแก้ไขต้องทำแบบต่อเนื่องและจริงจัง

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ล่าสุดเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่งยื่นใบลาออกจาก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โดยแม้คุณหญิงกัลยาจะมีนามสกุลดัง เป็นสะใภ้ตระกูลเจ้าของธนาคารกรุงเทพ แต่เส้นทางชีวิตจริงๆ แล้วเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวย ที่อำเภอสีคิ้ว นครราชสีมา ชีวิตในวัยเด็กเรียนหนังสือในโรงเรียนวัด ที่ไม่มีห้องเรียน ไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา ต้องเรียนในศาลาวัด จุดตะเกียงเรียนหนังสือ แต่ก็ขวนขวายศึกษาเล่าเรียนจนสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และจบปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ จนจบปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆ ของโลกที่ประเทศอังกฤษ คุณหญิงกัลยา จึงบอกระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า มีความตั้งใจอย่างมากที่จะเข้ามาทำงานเพื่อทำให้การศึกษาของไทยมีการพัฒนาขึ้น แก้ปัญหาเดิมๆ ในระบบการศึกษา และที่สำคัญต้องการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมด้วยการศึกษา เพราะหากเด็กและเยาวชนไทยมีการศึกษาที่ดี ก็จะช่วยทำให้พวกเขามีโอกาสในชีวิตมากขึ้น อย่างที่ตัวเองทำมาแล้ว

“ก็ตั้งใจ แล้วตัวเราเองคืออานิสงส์ของการศึกษาไทย เพราะเราอยู่บ้านนอก เราเรียนโรงเรียนวัด จนสุดท้ายได้ทุนไปเรียนที่ Imperial College London (มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และแพทยศาสตร์-กอง บ.ก.) ซึ่งการเรียนโรงเรียนวัดในวัยเด็กไม่ได้เป็นอุปสรรคให้เราไปเรียนที่อังกฤษ

 ตอนเรียนโรงเรียนวัด เราก็นั่งเรียนที่ศาลาวัด ไม่มีห้องเรียน ศาลาโล่งๆ แล้วเราก็นั่งเรียนบนพื้น แล้วเก้าอี้เตี้ยๆ ที่ผู้ใหญ่ คนชราไว้นั่งฟังพระเทศน์ ก็ใช้เป็นโต๊ะเรียน ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้าใช้ เราก็จุดตะเกียงเรียนหนังสือ อ่านหนังสือ อาบน้ำคลอง หาบน้ำคลอง อย่างภาษาอังกฤษกว่าจะได้เรียนก็ตอนเรียน ม.1 แล้วไม่เคยเรียนอนุบาล ป1.-ป.4 ไม่เคยเรียนภาษาอังกฤษเลย แล้วก็ไม่เคยเห็นตำราภาษาอังกฤษ จะได้เห็นภาษาอังกฤษก็จากกระดาษที่ห่อของส่งมาจากกรุงเทพฯ ถึงจะได้เห็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ

ม.1 เพิ่งจะได้เรียน เอ บี ซี แล้วเอ เราก็ต้องเขียน สระเอ อ.อ่าง เพื่อให้ออกเสียงได้ แล้วจะไปสู้ใครได้ คือขาดแคลนหลายอย่าง เช่น ขาดแคลนอุปกรณ์ ขาดแคลนครู แต่เราก็ทำได้ วิทยศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย เราก็เรียนได้ ทำคะแนนได้ดี แต่ภาษาอังกฤษไม่มี เราไม่มีเครื่องมือ ไม่มีครู เลยไม่ได้เรียน ไม่ได้รู้ แล้วสิ่งแวดล้อมก็ไม่เอื้อ วิทยุก็ไม่มี โทรทัศน์ก็ไม่มี แล้วจะไปฟังภาษาอังกฤษจากไหน พ่อแม่เราก็พูดไม่ได้ มีลูก 8 คน เราก็เห็นภาษาอังกฤษจากกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ห่อของ 

แม้จะเป็นชีวิตที่ยากลำบาก แต่ตอนที่เราอยู่ตอนนั้น เราเป็นเด็ก เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่รู้ว่าอยากไปหาเทปอะไรต่างๆ มาเรียนรู้ แต่เราได้อย่างอื่นเยอะเลย เช่น ความแข็งแกร่ง ความอดทน ความมุ่งมั่น ก็มาจากการเติบโตในวัยเด็ก

 เราเรียนรู้ เข้มแข็ง แข็งแกร่งกว่าคนอื่น เพราะเราเกิดบ้านนอก แล้วการศึกษาจึงทำให้เรามายืนอยู่ตรงนี้ได้ เราก็อยากทำให้เด็กคนอื่น เขาเลือกเกิดไม่ได้ แต่เขาเลือกที่จะเป็นได้ด้วยการศึกษา ตัวเราเองภาคภูมิใจที่เกิดบ้านนอก เพราะทำให้เราแข็งแกร่ง ทำให้เราอดทน ทำให้เราสู้ เพราะสิ่งแวดล้อมหล่อหลอมเรามาเป็นแบบนี้ เราถึงได้เปรียบคนอื่น“

คำกล่าวข้างต้นของ คุณหญิงกัลยา เกิดขึ้นหลังเราถามว่า งานด้านการศึกษาจะเป็นหนึ่งในผลงานของรัฐบาลชุดนี้ ที่ประชาชนจะได้เห็นหน้าเห็นหลังใช่หรือไม่

-กรณีของคุณหญิงกัลยาคือตัวอย่างที่ชัดเจนว่า การศึกษาจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้?

ใช่ (ตอบเสียงหนักแน่น) แล้วจริงๆ คนจีนเขาไม่ค่อยอยากให้ลูกเรียนหนังสือ แต่ครอบครัวเราที่เป็นคนจีน คุณแม่ท่านส่งเสริมสนับสนุน แล้วเราก็เรียนได้ เราก็เรียนดี

ถามถึงว่าในนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา เน้นย้ำเรื่องจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แล้วส่วนตัว มองเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของคนในสังคมไทยอย่างไร และจะแก้ปัญหานี้อย่างไร คุณหญิงกัลยา ย้ำว่าก็ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เช่นใครเก่งวิชาไหน ก็ให้มีการถ่ายวิดีโอการสอนของเขาไว้ แล้วส่งหรือสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ทางไลน์ ส่งเป็นแผ่นซีดี สมัยนี้ทำได้หลายช่องทาง ไปยังโรงเรียนต่างๆ ที่คนพูดว่าเป็นโรงเรียนหลังเขา เพราะเราต้องเน้นโรงเรียนในชนบทที่เขาเข้าถึงการศึกษาที่มีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น

...ยกตัวอย่างเช่น จะศึกษาเรื่องทำไมหูในร่างกายคนเราทำให้คนเราได้ยินเสียงต่างๆ ก็ทำเป็นแอนิเมชันให้ความรู้เรื่องการทำงานของระบบการได้ยินของ ”หู” สมัยตอนเป็นเด็กอยู่ชั้นมัธยม เรียนที่โรงเรียนในอำเภอสีคิ้ว ตอนเด็กเราก็คิดว่าโตขึ้น เพราะเราอยากเป็นครู เราก็คิดแบบนั้น เพราะอย่างเราก็สงสัยตั้งแต่เด็ก ทำไมรถยนต์มันวิ่งได้ ระบบลูกสูบ แรงอัด ทำงานอย่างไร เราไม่เคยเห็น ก็เคยคิดว่าจะไปขอวิดีโอขององค์กรต่างประเทศที่ส่งมาให้โรงเรียนเพื่ออยากรู้ระบบการทำงานของเครื่องยนต์ วิธีแบบนี้ก็จะนำมาใช้ในตอนนี้ คือทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ อย่างที่ยกตัวอย่าง เช่น ให้ความรู้เรื่องการได้ยินของหู  หากเรียนแบบนี้ก็สนุก ทำให้จำง่าย น่าสนใจ ต่อไปนี้ต้องเน้นเรื่องการให้เด็กนักเรียนต้องเรียนอย่างสนุก

ทั้งนี้ คุณหญิงกัลยา-รมช.ศึกษาธิการ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยเป็นอดีต รมว.วิทยาศาสตร์ฯ มาแล้ว สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยการเป็น รมช.ศึกษาธิการครั้งนี้ ได้รับมอบหมายงานให้รับผิดชอบหน่วยงานดังนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ งานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรในวิทยาลัยอาชีวศึกษา เป็นต้น

เมื่อถามว่ามองปัญหาการศึกษาไทยก่อนหน้านี้อย่างไร เพราะที่ผ่านมามีความพยายามปฏิรูปการศึกษาหลายอย่าง เช่น ผ่าตัดโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ แต่ผ่านมาหลายปี ปัญหาการศึกษาไทยก็ยังเป็นปัญหาเดิมๆ คุณหญิงกัลยา มองว่า เพราะกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงใหญ่ที่สุด ไม่รวมกองทัพ งบประมาณก็มากที่สุด คนก็มากที่สุด การจะปรับเปลี่ยน หรือปฏิรูปอะไร มันอุ้ยอ้าย ต้องมีองคาพยพที่หลายหน่วยงานต้องสอดคล้องกัน หากนับย้อนหลังไปช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา นับแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน 2562 แต่ดูเหมือนเวลาการปฏิรูปการศึกษายังไม่พอ อาจเพราะกระทรวงเก่า กระทรวงใหญ่ คนเยอะ ทำให้การปรับเปลี่ยนอะไรต่างๆ ทำได้ยาก ตลอดจนที่ผ่านมาเป็นกระทรวงที่มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีในกระทรวงศึกษาธิการบ่อย เลยเป็นปัญหาของการปฏิรูปเพื่อปรับให้การศึกษาของเราดีและทันสมัย

อีกทั้งขั้นตอนในการจะปฏิรูปทำให้ดีขึ้น ไปเกี่ยวข้องกับคนจำนวนไม่น้อย จึงทำให้เห็นอย่างที่เป็นอยู่ตลอดเวลา เลยเกือบจะเรียกว่า เดินไปหนึ่งก้าว ถอยกลับมาสองก้าว ที่ก็ไม่ได้อยากจะโทษใคร เพราะอย่างแค่บริษัทเอกชน การจะปรับเปลี่ยนอะไรก็ยังยาก แล้วกระทรวงศึกษาธิการใหญ่ขนาดนี้ ก็ยิ่งยากใหญ่ เมื่อรัฐมนตรีของกระทรวงมีการปรับเปลี่ยน ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงที่อยู่กันมานับสิบๆ ปี เราเขียนในกระดาษว่าให้ปฏิรูป ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่จริงๆ แล้วต้องไม่หวังผลอะไร แต่คนก็คาดหวัง เพราะการศึกษาคือหัวใจของทุกอย่างที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า และเป็นประตูด่านแรกที่ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม จึงเป็นจุดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดของประเทศอย่างเรา แต่ทุกคนก็เห็นว่าการศึกษายังไม่ได้เป็นไปอย่างที่พวกเราทุกคนอยากให้เป็น

สำหรับปัญหาใหญ่ของวงการการศึกษาไทยที่ถูกพูดถึงมาตลอดก็คือ เรื่องคุณภาพของครู เรื่องดังกล่าว คุณหญิงกัลยา มองว่าครูตามโรงเรียนต่างๆ  เขาผ่านการเรียนมานานแล้ว แต่กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็มีการอบรมให้กับครูมาตลอด แล้วครู ก็ต้องทำ paper work มากมายที่ก็อาจมาแย่งเวลาที่ครูต้องอยู่กับเด็ก การเรียนการสอนในต่างประเทศ เขาไม่ได้คาดหวังให้ครูสอนความรู้ แต่สอนเรื่องการเรียนรู้ชีวิต สอนให้อยู่กับโลกในอนาคตได้อย่างไร เช่น เรื่อง Coding คือเป็นพี่เลี้ยง เพราะปัจจุบันวิชาความรู้ เด็กเข้าไปหาในกูเกิลเมื่อใดเขาก็รู้ เพราะฉะนั้นการสอนในศตวรรษนี้ ก็คาดหวังให้ครูเป็นพี่เลี้ยงในการเรียนรู้ของเด็ก แม้เราจะส่งเทป ส่งอะไรไปให้โรงเรียน แต่ก็ต้องมีครูอยู่ด้วย ครูอาจสอนไม่เก่ง แต่ครูต้องอยู่เพื่ออธิบายให้เด็กเข้าใจ ทำให้ครูต้องได้รับการอบรม ก็ไม่อยากให้เป็นภาระ แต่อยากให้ครูเองก็สนุกกับการเรียนการสอน Coding เพื่อไปถ่ายทอดต่อ และเฝ้าดูว่าเด็กเขามีจินตนาการในการแก้ปัญหา ในการคิดอย่างเป็นระบบอย่างไร ตัว ครูเองที่จบมานานแล้ว เขาก็ต้องมาซึมซับ มาเรียนรู้วิชาใหม่ๆ ให้เข้าใจ ซึ่งหากครูมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เทคโนโยลีอยู่แล้วก็จะง่ายขึ้น

คุณหญิงกัลยา บอกว่า หลังพรรค ปชป.มีมติให้มาเป็น รมช.ศึกษาธิการ ความรู้สึกก็คือ ดีใจและตั้งใจที่จะทำงานเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้ แม้จะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ เพราะเป็นโอกาสสำคัญในชีวิตที่จะได้ทำงานเรื่องการศึกษาให้เห็นหน้าเห็นหลังบ้าง ที่บอกว่า ”บ้าง” เพราะคงไม่สามารถทำได้ทั้งกระทรวง เพราะไม่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ แต่ด้วยใจเต็มร้อย เพราะคิดและเชื่อว่าจะสามารถทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ในบางส่วน และได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า ทั้งที่ไม่ได้ทราบล่วงหน้าว่าจะได้รับผิดชอบงานส่วนไหนของกระทรวง เพราะแท่งงานของกระทรวงศึกษาธิการก็ถูกนำออกไปแล้ว อย่างงานของสถาบันอุดมศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย จากที่เคยแยกออกไป ต่อมามีการดึงกลับเข้ามา แล้วล่าสุดก็ออกไปอยู่กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็ทำให้การปฏิรูปทำอะไรก็อาจไม่ต่อเนื่อง เมื่อออกไปแบบนั้น ตอนนี้ก็เหลือ 4 แท่ง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีโรงเรียนในการดูแลร่วมสามหมื่นกว่าโรงเรียนแต่ไม่ว่าเราจะดูแลหน่วยงานอะไร เราก็สามารถพัฒนาเด็กในส่วนที่ทำให้เขาพัฒนาได้

เดินหน้านโยบาย Coding เตรียมเด็กไทยสู่ศตวรรษใหม่

                คุณหญิงกัลยา ย้ำว่า สิ่งที่ตั้งใจจะทำในการเป็น รมช.ศึกษาธิการ ก็จะมีงานด้านใหญ่ๆ ที่ต้องการทำก็คือ ให้เด็กเรียนรู้สิ่งที่ทันสมัย เตรียมตัวเด็กให้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของรัฐบาล ก็เลยผลักดันวิชาการเรียน Coding เข้าไปในนโยบายด้านการศึกษาของประเทศและของกระทรวง เพื่อให้เด็กชั้นประถมศึกษาน่าจะเริ่มเรียนวิชา Coding ได้เลย ที่สืบเนื่องมาจาก ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อต้นปี พรรคประชาธิปัตย์มีแนวนโยบายว่าเด็กไทยควรพูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาต่างชาติ ที่คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าเป็นภาษาอังกฤษ แต่เราในฐานะนักวิทยาศาสตร์ เพิ่มให้อีกภาษาหนึ่ง เป็นภาษาที่สาม ซึ่งเด็กไทยทุกคนต้องเรียนสามภาษาอย่างน้อย คือ ภาษาไทย ภาษาต่างชาติ และภาษาคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า Coding เราก็หาเสียงมาแบบนั้นตั้งแต่ยังไม่มีตำแหน่งทางการเมืองอะไร

...ต่อมาในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา จีนกับญี่ปุ่นได้ประกาศเป็นนโยบายแห่งชาติ ที่จะให้เด็กญี่ปุ่นเรียน Coding ตั้งแต่ชั้นประถมทั้งประเทศ เราก็เห็นว่าเรามาถูกทางแล้ว เพราะเคยพูดเรื่องให้เด็กไทยเรียน Coding ก่อนหน้านั้นแล้ว ที่ญี่ปุ่นคนที่ทำหลักสูตรการให้เด็กเรียน Coding เขาบอกไว้ว่า ปี 2020 คือปีหน้า จะเริ่มสอนทั้งประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้เขามาเมืองไทย ก็ติดต่อขอพบเขา ก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากคนญี่ปุ่น ซึ่งเขาก็บอกว่าเขาเตรียมตัวเรื่องนี้มา 2-3 ปี ก็คิดว่าเรื่อง Coding เป็นทักษะที่คนทุกคนควรจะมี เป็นทักษะสำคัญมากของอนาคตของโลกดิจิตอล เราก็เลยยิ่งมั่นใจว่าเราต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม

คุณหญิงกัลยา ย้ำว่าจะทำเรื่อง Coding และใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อช่วยเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คือใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มาทำให้กับเด็ก เกษตรกร เป็นเบื้องต้น จนได้รับผิดชอบงานด้านวิทยาศาสตร์ การเกษตรเทคโนโลยี คือวิทยาลัยการเกษตรฯ ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่นอกจากสอนนักศึกษาเป็นปกติแล้ว เราก็ตั้งใจว่าจะให้วิทยาลัยนี้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ของเกษตรกรและชุมชนเพิ่มเติม โดยนำคนและวิชาการไปช่วย เพื่อทำให้เกษตรกรที่ไม่ได้เรียนหนังสือหรือว่าเลิกราการเรียนนานแล้ว ก็สามารถกลับมาเรียนได้ ก็มีเรื่องราวต้องทำมากมาย อย่างไรก็ตาม การทำอะไร จะต้องมีสังคม พ่อแม่ ผู้ประกอบการ มาร่วมกับเรา เพื่อจะผลักดันสิ่งที่เราต้องการเห็นให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นแล้วทุกภาคส่วนก็จะได้หมด เพื่อใช้ผลิตผลการเกษตรของคนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งหลังจากเริ่มเข้ามาทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการและได้ลงพื้นที่ทันที ก็เห็นเลยว่าแต่ละส่วนมีการตื่นตัวกันมากในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน

-ต้องใช้บุคลากรและงบประมาณมากน้อยแค่ไหน ความพร้อมเป็นอย่างไร?

คงไม่ใช่นักวิชาการทีเดียว แต่หลักๆ เล่าให้ฟังได้ กระทรวงศึกษาธิการมีหน่วยงานในกำกับที่เรียกว่า สำนักงานส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท.มาหลายสิบปีแล้ว โดยเป็นหน่วยงานที่วิจัยพัฒนาสร้างองค์ความรู้ คิดและทำตำรา รวมถึงปรับปรุงตำราการสอนให้เด็กไทยทั้งประเทศมานานแล้ว โดยคุรุสภาจะนำตำราเหล่านี้ไปพิมพ์เพื่อเป็นตำราเรียนให้เด็กทุกชั้นปี

องค์กรนี้ได้มีการสอนและอบรมครูอาจารย์ที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมานานหลายสิบปีเช่นกัน ทำให้เราก็มีครูเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์อยู่ในองค์กรของ สสวท.ร่วมแปดพันคน ขณะเดียวกันตัวดิฉันก็เคยอยู่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มาก่อน ก็มี ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค ที่เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะมาช่วย  รวมถึงจะมีองคาพยพต่างๆ มาช่วย ทำให้เรามีบุคลากรที่มีความพร้อม

...เบื้องต้นยังไม่ต้องลงทุนเรื่องงบประมาณอะไร เพราะมีบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว  ก็อบรมเขาก่อน รวมถึงคนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เดิม และคนที่สนใจก็สามารถเสนอตัวมาได้ ทำให้กระบวนการก็จะเริ่มจากอบรมครู แต่ไม่ใช่ทีเดียวทั้งประเทศ สามหมื่นโรงเรียน เราจะเริ่มจากชั้นประถมที่ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูจะอาสาสมัครใจที่อยากจะสอนภาษาคอมพิวเตอร์ Coding ก่อนเลย  ซึ่งจำนวนเท่าใดเรายังไม่ทราบ แต่ช่วงปิดเทอมเราสามารถทยอยอบรมได้ ซึ่งเวลานี้หลักสูตรมีแล้ว และหลักสูตรที่เราเรียนรู้มาจากญี่ปุ่นก็คล้ายคลึงกัน

-มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทั่วๆ ไปอยางไร?

Coding คือการทำชุดคำสั่งที่อาจจะมีรูปแบบอย่างไรก็ได้ แต่ต้องทำให้คอมพิวเตอร์หรือปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ทำตามที่เราต้องการ ซึ่งจะแตกย่อยออกไปอีกสองส่วนก็คือ หนึ่ง-ใช้กับคอมพิวเตอร์เลย หรือจะทำในแบบกระบวนการคิดที่มีตรรกะ ทำให้เด็กคิดทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เป็นขั้นตอน เราจะเปลี่ยนเด็กจากผู้ใช้คอมพิวเตอร์มาเป็นผู้พัฒนาโดย Coding แต่เบื้องต้นจะทำให้เด็กรู้ว่าเราจะแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ปลูกข้าว ชงน้ำชา แต่ละอย่างมีขั้นตอนอย่างไร ทำให้เด็กรู้จักการวางแผน ให้คิดเป็นระบบเพื่อจะได้แก้ปัญหาเป็นเปลาะๆ แล้วก็นำสิ่งเหล่านี้มาร้อยเรียงกันเป็นคำสั่ง

คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อไปว่า ยกตัวอย่างเราจะออกจากบ้านไปตลาด ก่อนออกไปเราก็ต้องวางแผน ต้องคิดว่าเมื่อออกจากบ้านเราก็ต้องเลี้ยวขวา พอเลี้ยวแล้วผ่านไปอีกสองร้อยเมตร เมื่อเจอถนน เราจะเดินทางต่อไปอย่างไร จะนั่งมอเตอร์ไซค์หรือนั่งรถเมล์ คือการสอนให้เด็กคิดเป็นระบบเป็นตรรกะ  ว่าออกไปตลาดแล้วจากนั้นจะเดินทางต่อไปอย่างไร ไม่ใช่ออกจากบ้านก็เดินไปเลย หรือแม้แต่จะเล่น  สมมุติในบ้านพักมีของเล่นเต็มบ้านเลย เด็กก็ต้องวางแผนวันนี้จะเล่นของเล่นอะไร จะต่อหุ่นยนต์หรือต่อเลโกของเล่นในรูปแบบตัวต่อพลาสติก อันนี้คือการเรียน coding ในเบื้องต้น คือเรียนตรรกะในการแก้ปัญหาโดยผ่านคำสั่งคอมพิวเตอร์

...คือต้องคิดเป็นระบบในการแก้ปัญหาก่อน แล้วจึงใช้ภาษาคอมพิวเตอร์เป็นคำสั่งบอกหุ่นยนต์ให้หกคะเมนตีลังกา ให้ขยับซ้ายเอียงตัวไปฝั่งที่ต้องการ พอเล่นเสร็จแล้วก็นำกลับไปไว้ที่เดิม คือทำให้เด็กเริ่มคิดแก้ปัญหาและทำภารกิจต่างๆ ทั้งจะเล่น จะทำงาน ให้เป็นระบบโดยอาศัยภาษาคอมพิวเตอร์สั่งการให้ทำตามที่ต้องการ

สิ่งที่เด็กจะได้จากการเรียน Coding ก็คือ จะรู้วิธีแยกแยะปัญหา วิธีการแก้ปัญหาทีละขั้นตอน ที่จะร้อยเรียงกันเพื่อไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คือสอนให้เขาวางแผน เมื่อเขาได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เมื่อเขาเติบโตขึ้นไปพอเจอปัญหา เขาก็จะมองปัญหาออก และรู้วิธีการแก้ปัญหาแต่ละขั้นตอน ทำให้เมื่อเขาเจอปัญหาในอนาคต เขาก็จะปรับตัวและหาวิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้นได้  ถ้าเขาได้เรียน Coding ตั้งแต่เด็ก เพื่อทำให้เขามีตรรกะในการวางแผนที่ดีรมช.ศึกษาธิการระบุ

คุณหญิงกัลยา กล่าวถึงแนวคิดนโยบายเรื่อง Coding ต่อไปว่า วิธีการเรียนการสอนในหลักสูตรที่จะให้เด็กๆ ได้เรียนไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์เลย กับมาอีกขั้นหนึ่งคือใช้คอมพิวเตอร์ด้วย เราไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรมากมาย ใช้ card ในการเรียนการสอนก็ได้ เช่นที่บอกจะสอนให้เขารู้เรื่องการเดินทางออกจากบ้านไปยังตลาด แล้วต่อรถโดยสาร ก็ให้ card เด็ก แล้วให้เขานำบัตรมาเรียงกัน เป็นเหมือนคำสั่งเพื่อวางแผนให้ไปถึงเป้าหมายได้

...ก็คือใช้พื้นฐาน Coding เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา หรือจะใช้เพื่อการศึกษาภาษาอังกฤษก็ได้  เช่นเรื่องเดียวกันคือการไปตลาด ก็สอนว่าแต่ละขั้นตอนต้องพูดภาษาอังกฤษว่าอย่างไร เช่นออกจากบ้าน turn right แล้วเปิดประตู open the door ซึ่งคนปกติทั่วไปจะไม่คิดแบบนี้ แต่เราสอนให้เขาคิดเป็นระบบ เพื่อฝึกให้เขารู้วิธีการแก้ปัญหาไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งการสอน coding จะสอนให้เด็กเรียนรู้วิธีการสร้างชุดคำสั่ง ที่อาจจะเป็นชุดรูปภาพหรือกราฟิกก็ได้ แต่ไม่ใช่ภาษามนุษย์ ต้องเป็นภาษาเครื่อง ที่ก็จะส่งต่อให้คอมพิวเตอร์ทำอะไรบ้าง

-หากคนไทยหรือเด็กไทยไม่มีการเรียนรู้ ไม่มีทักษะเรื่อง Coding จะทำให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หรือไม่?

แน่นอน เพราะการเรียนเรื่อง Coding เป็นการสอนให้เขาปรับตัวให้เข้ากับโลกที่ผันผวน พอเขาเจอปัญหาก็จะรู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร เพราะเขาฝึกมา ปัจจุบันโลกมีความผันผวนมาก อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีซึ่งทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างกว่าเราจะเรียนจบมา พอจะเข้าไปทำงานในโรงงาน แต่ปรากฏว่ากระบวนการผลิตของโรงงานเขาเปลี่ยนไปหมดแล้ว สิ่งที่เรียนมาก่อนหน้านั้นก็ไม่ตรง แต่หากเรามีทักษะ มีตรรกะตรงนี้เป็นพื้นฐาน เราก็สามารถที่จะไปเผชิญกับสิ่งใหม่ ทำให้เราทันไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทำให้เรามีจินตนาการไปข้างหน้าว่าเมื่อเกิดสิ่งใดขึ้นแล้วสิ่งใดจะเกิดตามต่อมา

-รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแนวคิดนโยบายเรื่องนี้จริงจังมากน้อยแค่ไหน?

แน่นอน ก่อนหน้านี้เราทำการบ้านมาก่อน และพูดไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม ว่าต้องการอยากเห็นเด็กไทยได้เรียนภาษาคอมพิวเตอร์ เรียน Coding ชุดคำสั่ง เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้ เมื่อก่อนมีคนอื่นทำให้เราหมด เราก็เป็นเพียงผู้ใช้ แต่เราจะพัฒนาคนของเราให้เป็นผู้พัฒนา แทนที่จะเป็นแค่ผู้ใช้  หากต้องการทำให้เห็นผลโดยเร็วก็คือการทำให้มีการเรียนรู้เรื่องการใช้อุปกรณ์ การเรียนการสอนโดยใช้แพลตฟอร์ม ระบบดิจิทัล แต่เป็นเรื่องที่ต้องมีการลงทุน คงจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างได้ในบางโรงเรียน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร เพราะเด็กในเมืองเข้าถึงการศึกษาได้มากอยู่แล้ว โดยเฉพาะครอบครัวที่พ่อแม่มีการศึกษา มีเงิน ก็ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ ซึ่งหากไปถามโรงเรียนกวดวิชา เขาอาจสอนวิชา Coding ให้เด็กก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องไปส่งเสริมในพื้นที่ห่างไกล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยใช้การศึกษา ที่อาจไม่ได้ลงความเหลื่อมล้ำเรื่องความเป็นอยู่หรือทางด้านเศรษฐกิจ.

................................................

เหตุผลให้เด็กนักเรียน  ท่องอาขยาน-หน้าที่พลเมือง

ก่อนหน้านี้หลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ คุณหญิงกัลยา-รมช.ศึกษาธิการ เสนอแนวคิดควรต้องให้โรงเรียนระดับชั้นประถมสอนให้เด็กท่องอาขยาน ท่องสูตรคูณ ท่องหน้าที่พลเมือง จนมีการวิพากษ์วิจารณ์จากบางฝ่ายตามมา กับการผลักดันให้เด็กประถมเรียน Coding ที่เป็นเรื่องของสังคมดิจิทัล หลักสูตรสมัยใหม่ แต่อีกด้านจะให้เด็กท่องอาขยาน ท่องสูตรคูณในใจ           

คุณหญิงกัลยา-รมช.ศึกษาธิการ ขยายความถึงแนวคิดความตั้งใจในเรื่องนี้ว่า เป็นจิตวิทยาของเด็ก เป็นพื้นฐานที่อยากให้เด็กเรียนหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม เด็กๆ คุณเคยเรียนเคยท่องไหม หน้าที่พ่อแม่ต่อลูก หน้าที่ลูกที่มีต่อพ่อแม่ หน้าที่ครูต่อนักเรียน เราไม่ได้จับเอามานั่งสอน เราก็ให้เขาท่อง ให้เขาปลดปล่อยความเครียดที่เรียนมาทั้งวัน แต่เอาพวกนี้มาซึมซับให้เขาท่อง ให้เขาสนุก ได้ตะโกน เช่น ท่องสูตรคูณ 2 คูณ 2 เท่ากับ 4 ไม่ใช่ว่า 2 บวก 2 ก็ต้องใช้เครื่องคิดเลขคำนวณให้

...อันนี้คือหลักคิดเลยว่า เด็กเรียนมาแล้ว 5 ชั่วโมงทั้งวัน เขาควรได้ปลดปล่อย ภาษาอังกฤษเรียกว่า relief pressure ทำให้เด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิตคนไทยที่ไม่มีใครสอนแล้วตอนนี้ พ่อแม่ก็ไม่ได้สอน ครูก็ไม่ได้สอน แต่ให้เขาพูดเองออกจากปากเขา เสียงไปเข้าหูทุกๆ วันก็เกิดการซึมซับไป

...Coding คือการปฏิรูปการศึกษา เพื่อสร้างคนสู่ศตวรรษที่ 21 เพื่อเตรียมคนไทย เราไม่ได้พูดคำใหญ่ แต่ว่าเรากำลังจะทำให้มันเกิด ให้เด็กมีพื้นฐาน ให้เด็กมีความมั่นใจในการเดินไปสู่ศตวรรษที่ 21 ที่หากเขาเจอปัญหาอะไรก็แก้ได้ จะไปทำงานอะไรก็ได้ ใช้เครื่องมือเครื่องไม้อะไรก็ได้ แล้วการที่จะให้เขาท่องอาขยาน ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้วิชาข้างหน้า แต่ตรงกันข้ามจะส่งเสริมให้เด็กคนนั้นสมบูรณ์ด้วยศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของไทย ความภาคภูมิใจไทยที่เป็นคนไทย ก็มองว่าการสร้างเด็กแบบนี้ไม่ได้มีใครเสียหาย มีแต่ได้กับได้ แล้วใช้เวลาไม่มาก และในแง่จิตวิทยาก็เป็นการปลดปล่อยความเครียดที่เรียนมาทั้งหมดในตอนเย็น และตอนเช้าก็เพิ่มให้

เรื่องการให้เด็กฝึกการคิดเลขในใจ โดยเริ่มจากตอนเช้าสิบนาที ให้เด็กกอดอก เป็นกุศโลบายเพื่อให้เด็กมีสมาธิ ฟังและคิดตาม คุณจะมีโอกาสแบบไหนที่จะสอนเด็กแบบนี้ แม้จะเก่าแต่มีประโยชน์มาก  เด็ก ป.1 ถึง ป.6 ทุกเช้าสิบนาที ให้เขาได้ฝึกเรื่องสมาธิ คิดผิดคิดถูกไม่ว่า แต่ฝึกให้ฟังแล้วคิดตาม ในสมองก็คิดเลข เลขนี้บวกกับเลขนี้ สิ่งนี้คือการสอนให้เด็กมีสติ มีสมาธิ แต่จะทำได้ทั้งประเทศหรือไม่ ตรงนี้เป็นแนวคิดของดิฉันที่อยากเห็น

...บางคนถามว่าเสนอให้เด็กเรียนเรื่องในอนาคต ศตวรรษที่ 21 แล้วทำไมถอยหลังมาให้เด็กฝึกท่องอาขยาน คิดเลขในใจ ก็บอกว่าสิ่งนี้คือการทำให้เด็กมีความสมบูรณ์ และเราจะชนะคนอื่นได้ ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ที่ซึมซับและภาคภูมิใจที่เราเป็นคนไทย

เราชนะเทคโนโลยีใครไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยี แต่สิ่งนี้คือสมบัติของเรา ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายสะสมให้เรามานานแล้ว แต่ไม่ได้รับการถ่ายทอด ก็ต้องให้เด็กท่องได้ฝึกออกเสียงตะโกน หกปีในชั้นประถมก็ต้องซึมซับ ไม่เอาหรือเด็กไทยที่มีมารยาท มีวัฒนธรรม มีศีลธรรม รู้หน้าที่ ซึ่งในนโยบายรัฐบาลระบุไว้ว่าจะสร้างพลเมืองที่มีความดีและความเข้มแข็ง  ถ้าไม่ทำสิ่งเหล่านี้จะเข้มแข็งได้อย่างไร อันนี้คือหนทางหนึ่ง"

...เราไม่ได้พูดคำใหญ่ว่าจะปฏิรูปหรอก แม้จะเล็กๆ น้อยๆ แต่คุณค่ามันมากมายเลย ถ้าทุกคนรู้จักหน้าที่ การเป็นพลเมืองดี พลเมืองที่เข้มแข็ง ประเทศก็จะเข้มแข็งไปด้วย แล้วเราจะไม่สร้างขึ้นมาหรือ ก็กำลังสร้างเด็กเพื่อให้สมบูรณ์ แล้วเราจะชนะคนอื่นเพราะเราสั่งสมมานาน คนอื่นมาสร้างตอนนี้ก็ไม่ได้

เมื่อถามย้ำว่า รัฐบาลชุดนี้จะมีการเขย่าหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษาที่ทำให้พัฒนาดีขึ้นหรือไม่ คุณหญิงกัลยา ฟังคำถามแล้วตอบทันใด ก็หวังไว้เพราะทุกคนตั้งใจ โดยในส่วนที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ เช่น สภาการศึกษาฯ ซึ่งถือเป็นขงเบ้งของกระทรวงศึกษาธิการ อันนี้คือหัวใจสำคัญว่าการศึกษาจะเดินไปทางไหน คนในองค์กรคือขงเบ้ง ซึ่งคนภายนอกไม่รู้ เป็นต้น ก็ให้การบ้านกับคนในสภาการศึกษาฯ เขาไปว่าจะทำอย่างไรให้คนภายนอกรู้จักสภาการศึกษาฯ ที่เป็นขงเบ้งของกระทรวงศึกษาฯ เขาก็ต้องไปวางแผนว่าจะไปอย่างไรต่อไป เรื่องงบอะไรต่างๆ เราไม่ค่อยเป็นห่วง เพราะหากทำดีรัฐบาลและเอกชนก็ต้องสนับสนุน เพราะเรากำลังผลิตคนที่มีคุณภาพไปทำงานให้คุณ คุณก็ต้องมาสนับสนุนเราตั้งแต่ต้น มาคุยกันเรื่องหลักสูตร เรื่องเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อพัฒนาเด็ก เช่นบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจสร้างเครื่องกลอะไรต่างๆ ก็นำเครื่องมือเครื่องไม้มาให้เด็กวิทยาลัย เทคนิคต่างๆ ให้เขาได้เรียนรู้ทุกระบบ ยิ่งมากยิ่งดี ทำให้พอเด็กจบออกไปก็ไปทำงานให้กับเครื่องกลของบริษัทนั้นได้

ถามทิ้งท้ายว่า ในยุคที่เป็น รมช.ศึกษาธิการจะทำอย่างไรให้เด็กจากพื้นที่ต่างๆ มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น คุณหญิงกัลยา ยืนยันว่า อย่างน้อยต้องให้เขาได้มีโอกาส อย่างน้อยทำให้เขาไม่ต้องเสียใจว่าเกิดที่ไหน เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราจะต้องเป็นอะไรได้ด้วยการศึกษา เราจะเป็นครูเป็นหมอ เราก็ต้องมีการศึกษา ที่อยากทำก็คือให้ทุกคนได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ให้มีความเท่าเทียมมากที่สุด แล้วการเปลี่ยนแปลงของโลกในขณะนี้มันเกินกว่าที่ทุกคนจะจินตนาการได้ เราจึงต้องเตรียมเด็กของเราให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง สิ่งนี้คือเป้าหมาย และต้องพร้อมด้วยความเป็นไทย มีวัฒนธรรม  ประเพณี ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกัน การทำให้เขารู้จักหน้าที่ตั้งแต่เด็ก ทำให้เมื่อเขาไปทำงานก็จะรับผิดชอบงานใหญ่ได้ ถ้าเราไม่สอนเด็กแล้วโตขึ้นเขาจะเป็นจะมีได้อย่างไร อย่าว่าเราโบราณเลย แต่เรากำลังสร้างเด็กสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างสมบูรณ์ เราก็อยากทำอะไรให้กับเด็กด้วยความตั้งใจ.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร        

........................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"