“หัตถกรรมแห่งบรรพชนไทยใต้ร่มพระบารมี” มรดกเชิงช่างชั้นสูง หาชมยากกว่า 500 ชิ้น


เพิ่มเพื่อน    

ชุดเชี่ยนหมากสุดวิจิตรบรรจง อีกงานหัตถศิลป์ชั้นสูง 

 

     เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงให้ความสำคัญและส่งเสริม อนุรักษ์งานศิลปะและหัตถศิลป์ จนสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนคนไทย และเป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลก  ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จึงได้จัดนิทรรศการ “หัตถกรรมแห่งบรรพชนไทยใต้ร่มพระบารมี” โดยท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ร่วมเปิดงานและชมนิทรรศการ ภายในงานได้จัดแสดงผลงานหัตถศิลป์ชั้นสูงหลากหลายแขนง นับตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยามาถึงกรุงรัตนโกสินทร์กว่า 500 ชิ้น เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชม และได้เห็นถึงงานช่างชั้นสูงที่มีคุณค่า อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการสืบสานและอนุรักษ์สืบต่อไปด้วย โดยสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้-30 สิงหาคม 2562 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

 

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เยี่ยมชมนิทรรศการในวันเปิดงาน 


    นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT กล่าวว่า เนื่องในเดือนมหามงคลเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2562 ด้วยเห็นถึงความสำคัญในการทรงงานของทั้งสองพระองค์ ที่แสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชีวิตใหม่ให้อาณาประชาราษฎรมีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ด้วยงานศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
    “ นับเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นความภาคภูมิใจที่ได้รวมผลงานชิ้นเอกของนักสะสมชั้นนำหลากหลายวงการอาชีพให้เกียรตินำมาจัดแสดง เพราะผลงานบางชิ้นมีอายุเกินกว่า 200 ปี และสูญหายไปแล้ว สำหรับผลงานบางชิ้นเป็นของประจำตระกูลที่ได้รับพระราชทานเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น ผลงานบางชิ้นมีคุณค่าทางจิตใจและเป็นความผูกพันของผู้สะสม ไปจนถึงรายการของสะสมที่เป็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ แต่ละชิ้นก็เป็นของรักของสะสมอันเป็นทรัพย์สมบัติในครอบครองที่ล้ำค่า และไม่เคยปรากฏสู่สายตาสาธารณชนที่ใดมาก่อน ซึ่งอาจจะเป็นการจัดแสดงครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น” ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าว

 

ตื่นตาตื่นใจกับผลงานชิ้นเอกของนักสะสม 


    ด้านนักสะสม ครูวีรธรรม ตระกูลเงินไทย ที่ได้นำเครื่องถมปัด ของสะสมที่เปรียบเสมือนครูต้นแบบในการเรียนรู้งานหัตถศิลป์ ได้บอกว่า ตั้งแต่สมัยยังเรียนได้เริ่มเก็บสะสมของเก่าโบราณเพื่อนำมาศึกษาลวดลายและความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานของช่างในอดีต นำมาต่อยอดประยุกต์เป็นผลงานเขียนหรือลวดลายลงบนผืนผ้า อย่าง เครื่องถมปัดที่นำมาจัดแสดง ซึ่งอยู่ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-5 จะมีลวดลายหน้ากระดานและลายดอกไม้ต่างๆ แม้กระทั่งการ-วางคู่สี ที่นับว่ามีความสวยงามและเป็นงานชั้นครูทีเดียว นับว่าเป็นโชคดีของคนไทยที่พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงให้ความสำคัญในการอนุรักษ์และส่งเสริม อีกทั้งพระองค์ยังทรงมีรสนิยมที่ดีเยี่ยมในการผสมผสานความเป็นไทยได้อย่างร่วมสมัย
    อีกหนึ่งนักสะสม ปัญญา พูนศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานหัตถกรรมสิ่งทอและเครื่องปั้นดินเผาที่พบในเขตจังหวัดสงขลาและพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้เล่าว่า ในงานครั้งนี้ได้นำผ้าทอปะลางิงมาจัดแสดง และเครื่องถ้วยฮอลแลนด์ จานมลายู ซึ่งจะพบในจังหวัดสงขลาและปัตตานี เพราะในอดีตเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญ และยังบ่งบอกฐานะของผู้ใช้ด้วย ซึ่งแหล่งต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอังกฤษและประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่งเข้ามาขายในแถบเอเชีย อย่างจานที่เป็นรูปสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเล็มที่ 3 แห่งเนเธอร์แลนด์ และเจ้าหญิงโซเฟีย แห่งรัสเซีย ที่ทรงใช้เป็นของชำร่วยในงานอภิเษกสมรสมอบให้แก่ บาจินดาและบาจินดาราตู แห่งชวา ซึ่งปรากฏชื่อด้านล่างรูปเป็นภาษายาวี คาดว่าอยู่ในช่วงปี ค.ศ.1839 ประเมินค่าไม่ได้

     หรืออีกชิ้นเป็นจานอักษรมลายูสีแดงที่มีอายุราวๆ 150 ปี ไม่ได้มีไว้ใช้ แต่มีเพื่อประดับ เพราะบนจานเป็นอักษรของบทสรรเสริญพระเจ้าในศาสนาอิสลาม และยังระบุศาสนทูตของศาสนาอิสลามด้วย สำหรับนิทรรศการได้ถูกจัดแสดงแบ่งเป็น 4 ชั้น โดยนิทรรศการหัตถกรรมแห่งบรรพชนไทย ใต้ร่มพระบารมี จะจัดแสดงที่ชั้น 3 และชั้น 4 ที่มีผลงานสะสมเก่าแก่มากมาย อาทิ ชิ้นงานสะสมส่วนบุคคล ซึ่งเป็นฉลองพระองค์ครุยที่มีอายุประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ที่ได้แรงบันดาลใจมากจากเปอร์เซียและอินเดีย ทำจากผ้าบุหงาโปร่งจากยุโรป ตัดเย็บและปักเงินและทองปักนูนด้วยมือทั้งองค์ ส่วนด้านหน้าและด้านหลังเป็นลายพันธุ์พฤกษาที่มีความเก่าแก่แต่ยังคงงดงามด้วยลวดลายที่วิจิตรประณีต, ผ้าชั้นสูงที่ ศักดิ์ชัย กาย ได้สะสม เช่น ผ้าลายอย่าง นับว่าเป็นผ้าชั้นสูงที่นิยมอย่างยิ่งตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

 

จานอักษรมลายูสีแดง อายุ 150 ปี 

    และยังมีชุดเครื่องดินเนอร์เซตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นผู้สะสม แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมตะวันตกที่ได้เข้ามาเผยแพร่ในไทย และความนิยมของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงมาใช้เครื่องเคลือบกระเบื้องอีกด้วย, เครื่องเงิน-ในวัฒนธรรมกัมพูชาที่สะสมโดย ณัฐพร อุลปากร นับว่าเป็นเครื่องเงินที่สวยและมีรายละเอียด เพราะเป็นการทำจากช่างฝีมือชั้นสูงของไทยและกัมพูชา มีทั้งเทคนิคการฉลุ สลักดุนเป็นลายดอกไม้หรือลายสัตว์, เครื่องเขิน สะสมโดย โกมล พานิชพันธ์, กริชสกุลช่างสงขลา-นครศรีธรรมราช สะสมโดย สมพงษ์ พรหมมณี และอีกมากมาย

 

ชุดเครื่องดินเนอร์เซตของช่วง บุนนาค

    ในส่วนของชั้นที่ 1 ก็จะมีการถ่ายทอดเรื่องราวพระราชกรณียกิจของพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ส่วนชั้นที่ 2 นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ใต้ร่มพระบารมี และนิทรรศการความผูกพันที่น่ารักและน่าประทับใจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฐานะ สมเด็จแม่ ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะ พระราชโอรส ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมแขนงต่างๆ กิจกรรม เช่น การสาธิตการทำงานคร่ำ การสลักดุน การเขียนหน้าโขน การตอกหนังตะลุง เป็นต้น ส่วนกิจกรรมการแสดง เช่น การเชิดหุ่นกระบอกการแสดงโนรา-หน้าพราน (ศิลปะการแสดงของภาคใต้) และการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมอีกมากมายภายในนิทรรศการ
    ผู้ที่สนใจสามารถชมนิทรรศการ “หัตถกรรมแห่งบรรพชนไทย ใต้ร่มพระบารมี” ได้แล้วตั้งแต่วันนี้-30 สิงหาคม 2562 เวลา 10.00-19.00 น. (หยุดทุกวันพุธ) ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ถนนราชดำเนินบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าฯ) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"