จับตาทิศทางดอกเบี้ย


เพิ่มเพื่อน    

         หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน  (กนง.) เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.50% ต่อปี จาก 1.75% ต่อปี ซึ่งถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปี จากที่เคยมีการปรับขึ้นไปในช่วงเดือน เม.ย.2558  เนื่องจากประเมินว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคการส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรง และขยายวงกว้างมากขึ้น

                ซึ่งจากกรณีดังกล่าว เป็นผลทำให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่พาเหรดปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง เริ่มต้นที่ “ธนาคารกสิกรไทย” ที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% ต่อปี ขณะที่ “ธนาคารกรุงไทย” ก็ได้มีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MRR ลงเช่นกันที่ระดับ 0.25% ต่อปี เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงลูกค้ารายย่อยให้ประคองตัวและฟื้นตัวจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจและค่าเงินที่ผันผวน

                ตามมาด้วย “ธนาคารกรุงเทพ” ที่ตัดสินใจประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MOR และ MRR ลงเช่นกัน ที่ระดับ 0.25% ต่อปี และ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ก็ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MRR ลง 0.25% ต่อปี รวมถึงลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MOR ลง 0.125% ต่อปี พร้อมทั้งการันตีด้วยว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับต่ำที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดนั้น มีผลพร้อมกันเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา

                เมื่อธนาคารพาณิชย์เป็นผู้นำในการประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ไปแล้ว แน่นอนว่า “ธนาคารของรัฐ” ก็ไม่พลาดด้วยเช่นกัน ซึ่งธนาคารรัฐที่เป็นผู้นำในการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ได้แก่ “ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)”

                โดย “ฉัตรชัย ศิริไล” กรรมการผู้จัดการ ที่ประกาศเปรี้ยงกลางดึก ว่า เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้าและประชาชน รวมถึงเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ธอส. จึงได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.125% ต่อปี ประกอบด้วย ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) จากระดับ 6.250% ต่อปี ลดลงเหลือ 6.125% ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MOR ลดลงเหลือ 6.875% ต่อปี จาก 7.000% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MRR ลดลงเหลือ 6.625% ต่อปี จากระดับ 6.750% ต่อปี ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยที่ต่ำที่สุดในระบบสถาบันการเงินในปัจจุบัน โดยให้มีผลทันทีในวันนี้ (16 ส.ค.)

                ไม่รอช้า “ธนาคารออมสิน” ก็ได้ประกาศตามมาว่า จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MRR ลง 0.13% ต่อปี เหลือ 6.87% ต่อปี จากระดับ 7.00% ต่อปี และปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MOR ลง 0.13% ต่อปีเช่นกัน เหลือ 6.87% ต่อปี จากระดับ 7.00% ต่อปี พร้อมยืนยันว่ายังไม่มีแผนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

                ขณะที่ “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังขอเวลาในการประเมินสถานการณ์ หลังจากการประชุมคณะกรรมการสภาสถาบันการเงินของรัฐ ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ก่อน จึงตัดสินใจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด

                เรื่องนี้ในแง่ของผู้บริโภค ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อยของสถาบันการเงิน ถือว่าได้ประโยชน์ไปแบบเต็มๆ แต่หลังจากนี้คงต้องมาดูกันต่อว่า ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารของรัฐจะมีความอดทนได้มากน้อยแค่ไหนที่จะไม่มีการ “ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง” เพื่อรักษาภาพรวมกำไรไว้เท่าเดิม เพราะแน่นอนว่า หากลดดอกเบี้ยเงินฝากก็จะส่งผลกระทบกับผู้ฝากเงิน กลุ่มคนวัยเกษียณที่พึ่งพาเงินจากดอกเบี้ยให้มีรายได้ลดลง เมื่อรายได้ลดลง กำลังซื้อและการใช้จ่ายต่างๆ ก็ชะลอตัวลงไปด้วย สุดท้ายก็จะวนกลับมาที่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอาจเจอปัญหาอีกทางหนึ่ง

                แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า เรื่องดอกเบี้ยเงินฝาก-กู้นั้น มีต้นทุนทางการเงินอยู่ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ จะมีผลกับผลดำเนินงานของสถาบันการเงินเช่นกัน จุดนี้สร้างความวิตกกังวลให้นักลงทุนแน่นอน สะท้อนจากราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ปรับตัวลดลง โดยสิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้ คือ มีการคาดการณ์กันว่า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในปีนี้ นี่เป็นสิ่งท้าทายสำหรับธุรกิจสถาบันการเงินว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่ออย่างไร.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"