ฝ่ายค้านปรับขบวน วิปนัดคุยก่อนโหวตเรื่องสำคัญซัดเศรษฐกิจใหม่ไม่เข้าใจหน้าที่


เพิ่มเพื่อน    

 "สุทิน" เล็งปรับแนวทางทำงานวิปฝ่ายค้าน ชงนัดคุยก่อนโหวตเรื่องสำคัญ ซัด "เด็กเศรษฐกิจใหม่" ไม่เข้าใจหน้าที่ฝ่ายค้าน ยันเน้นงาน "ศก.-การเมือง" เท่ากัน "7 พรรคฝ่ายค้าน" ยื่นญัตติตั้งกมธ.ศึกษาแก้ รธน. ขีดเส้น 45 วันเสร็จ ลั่นไม่แตะหมวด 1-2 "พท." รับลูก "โจ้" สอบวินัย "ครูมานิตย์-ตี๋ใหญ่" อวยนายกฯ "ธรรมนัส" ลุยเองคุม ส.ส.ประชุมสภาทุกครั้ง มั่นใจรัฐบาลไม่มีเสียงปริ่มน้ำ "ไพบูลย์" เตรียมซบ พปชร. "อดีต กกต.-เจิมศักดิ์" ดักคอไม่ง่ายยุบพรรคแล้วย้ายค่าย 

    ที่รัฐสภา วันที่ 22 ส.ค. นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีพรรคเศรษฐกิจใหม่จะขอเอกสิทธิ์ในการลงมติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถูกมองว่าอาจมีผลต่อความเข้มแข็งของฝ่ายค้านว่า วิปฝ่ายค้านจะมีการประชุม หากพรรคเศรษฐกิจใหม่เข้าร่วมประชุมด้วย เราก็จะพูดคุยกับเขาถึงเหตุผลว่าเขามีความตั้งใจอะไร และคิดอย่างไร ซึ่งที่จริงแล้วในการลงมติเรื่องใดก็ตาม พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ได้มีการบังคับกันอยู่แล้ว
    นายสุทินกล่าวว่า การลงมติไปในทางเดียวกัน คือการแสดงความเห็นด้วยและมีเป้าหมายร่วมกัน ดังนั้นเราอาจปรับแนวการทำงานร่วมกันเล็กน้อยว่าจะให้เวลาหารือกันก่อนที่จะมีการลงมติในเรื่องนั้นๆ จะไม่ทำกระชั้นชิดเหมือนเดิม แต่จะไม่มีการบังคับกัน ดังนั้นถ้าพรรคเศรษฐกิจใหม่จะขอลงมติแบบอิสระ เราคงจะมีการพูดคุยกันเป็นรายกรณี
    "ไม่ได้เจาะจงเฉพาะกรณีของพรรคเศรษฐกิจใหม่ แต่ถ้ามีพรรคอื่นที่อยากทำลักษณะนี้ด้วย เราก็ยินดีใช้วิธีเดียวกัน โดยขึ้นอยู่กับเหตุผลและพูดคุยกันได้ เราไม่มีปัญหา" นายสุทินกล่าว
    ถามว่า ในการประชุมวิปฝ่ายค้านจะขอคำมั่นชัดเจนจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ในเรื่องการทำงานร่วมกันหรือไม่ ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวว่า ตนเชื่อมั่นว่าทุกพรรคที่มาร่วมอยู่ในฝ่ายค้านมีเป้าหมายเดียวกัน คือเราจะต้องเดินหน้านำพาประเทศออกจากความขัดแย้ง และออกจากระบบเผด็จการให้ได้ ทุกคนรู้และเคยถูกกระทำมาด้วยรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจรัฐอย่างไม่ชอบธรรมหรือระบบเผด็จการ ดังนั้นการเดินหน้าร่วมกันจึงไม่ต้องทำอะไรที่ตึงมากขนาดนั้น
    “ผมเชื่อว่าสังคมยังจับตาดูเขาอยู่ ถ้าพรรคใดคิดทำงานการเมืองนอกลู่นอกรอย หรือผิดสัญญาที่ให้กับประชาชน เขาก็จะถูกสังคมท้วงติงหรือลงโทษเอง ผมเชื่อว่าสังคมกำกับเขาได้ พรรคเศรษฐกิจใหม่ก็มีข้อจำกัดด้วยปัญหาภายในของเขาเองที่นำไปสู่การเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคมาแล้ว ซึ่งความไม่มีเสถียรภาพตรงนี้ อาจทำให้คนอื่นระแวงเขาได้ว่าจะแหกมติหรือข้อตกลง แต่ผมเชื่อว่าเขายังไม่ออกนอกลู่นอกรอย” ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าว
    ซักว่าวิธีนี้จะทำให้ถูกมองว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เป็นกลุ่มก้อน เดินตามทางใครทางมันใช่หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น ยังเชื่อว่าถ้าเป็นเรื่องที่ใหญ่จริงๆ พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดยังมีเป้าหมายเดียวกัน และเราจะมีการประชุมในประเด็นที่มีความเห็นไม่ตรงกันจนได้ข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เรามีทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าเรื่องใดที่เป็นเรื่องเล็กน้อยหรือมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เราสามารถให้อิสระกัน
    เมื่อถามว่า พรรคเศรษฐกิจใหม่อยากให้ฝ่ายค้านปรับการทำงานไปเน้นเรื่องเศรษฐกิจให้มากกว่าเรื่องการเมือง นายสุทินกล่าวว่า คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ทบทวนการทำงานของตัวเอง เพราะฝ่ายค้านคำนึงถึงตลอดว่าการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในยุคนี้จะไม่เน้นเรื่องของการเมือง แต่จะเน้นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง ปัญหาต่างๆ ของประชาชน โดยจะเห็นได้ว่าในการที่ฝ่ายค้านตั้งกระทู้ถามในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีทั้งเรื่องของการเมืองและมีเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ อาทิ ราคาพืชผลการเกษตร
    "ในส่วนงานนอกสภา พรรคร่วมฝ่ายค้านลงพื้นที่ โดยได้มีการสอบถามถึงเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจทั้งนั้น แต่ถ้าใครในพรรคฝ่ายค้านยังไม่เข้าใจหรือไม่ทบทวนเรื่องนี้ให้ดี ก็ขอให้ช่วยกันทบทวนอีกครั้ง เราก็รับฟังและพูดคุยกันได้ว่าอยากให้เพิ่มตรงไหนอีก ขณะเดียวกัน เขาก็เป็น ส.ส.ใหม่ ซึ่งอาจยังไม่เข้าใจว่าเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาลมีบทบาทได้มากกว่า แต่ฝ่ายค้านทำได้เพียงแค่ท้วงติงหรือเสนอแนะ” ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าว
ยื่นญัตติศึกษาแก้ รธน.
    ที่รัฐสภา  ตัวแทน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน อาทิ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค พท., นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน, นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และนายสุภดิช อากาศฤกษ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ยื่นหนังสือถึงนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เพื่อเสนอญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษากระบวนการ และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
    น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า การเสนอญัตติให้ตั้งคณะกมธ.วิสามัญศึกษากระบวนการและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 60 มีความผิดพลาดและบกพร่องหลายประการ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงเห็นพ้องกันว่าต้องมีการแก้ไขในหลายมาตรา แต่เนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ทาง 7 พรรคร่วมจะไม่แตะต้อง เพราะมีถ้อยคำและเนื้อหาที่ครบถ้วนสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว
    นายปิยบุตรกล่าวว่า เรายื่นญัตติโดยมีสมาชิกรับรอง 219 คน ซึ่งที่มาของการเสนอญัตติดังกล่าว เพราะกระแสจากทุกภาคส่วนของสังคมเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องเอาเสียงสะท้อนเหล่านั้นมาทำงานในสภา โดยเริ่มจากการตั้งคณะกมธ.ศึกษาฯ ก่อน หวังว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายรัฐบาลด้วย เพื่อแสวงหาฉันทามติร่วมกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
    ถามว่า จะเลื่อนญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณาก่อนญัตติอื่นๆ หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า หากเป็นไปตามกระบวนการต้องนำญัตตินี้ไปต่อท้าย แต่หากพรรคฝ่ายรัฐบาลยื่นประกบกัน เรามองว่าจะสามารถเสนอให้เลื่อนญัตติดังกล่าวขึ้นมาได้ เบื้องต้นทราบว่าพรรครัฐบาลหลายพรรคสนใจที่จะยื่นญัตติประกบในภายหลัง ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเราอยากจะให้ออกมาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เบื้องต้นอยากให้คณะ กมธ.ศึกษาภายใน 45 วันก่อน ซึ่งคิดว่าเป็นระยะเวลาที่เพียงพอ
    ซักว่า ส.ส.ฝ่ายค้านที่ลงชื่อรับรองญัตติเพียง 219 คน แสดงว่าขาดไปหลายคนใช่หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ไม่มีเจตนาขาด แต่อาจเป็นเพราะหลายคนขาดประชุมหรือไม่ก็มาไม่ทันบ้าง รวมถึงขณะที่เดินเอาเอกสารไปให้เซ็นชื่ออาจเดินไม่ทั่วถึง ทำให้ขาดไปบ้าง เพราะความจริงเราต้องการแค่ 20 เสียง ก็สามารถเสนอญัตติได้
    ถามว่า นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม และนายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้ร่วมลงชื่อในญัตติดังกล่าวหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ลงกันครบ
    ขณะที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พท. ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน เข้ายื่นหนังสือต่อนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าพรรค พท. เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยและจริยธรรม นายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล และนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม 2 ส.ส.สุรินทร์ ของพรรค โดยแนบคลิปวิดีโอเป็นหลักฐานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ จ.สุรินทร์ ในวันที่มีการต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่
    นายสมพงษ์กล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการเพื่อพูดคุยกับคณะกรรมการบริหารพรรคในสัปดาห์หน้า ขอยืนยันจะให้ความเป็นธรรมและความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งเราต้องพิจารณาเรื่องเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ว่าทำอย่างไรจะให้อยู่ในขอบเขต และแนวทางของพรรค หลายคนผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก แต่บางครั้งอาจจะพลั้งเผลอไปบ้าง ไม่มีใครสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ 
    "สิ่งสำคัญต้องดูที่ความตั้งใจของเขาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งในพรรคคนหมู่มากแบบพรรคเพื่อไทย อาจจะมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะกระทบต่อเสถียรภาพของพรรค และการดำเนินการเพื่อความถูกต้องก็ควรมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบถาม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์" นายสมพงษ์กล่าว
    นายคมเดช ไชยศิวามงคล ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคพท. เสริมว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาเนื่องจากพรรครัฐบาลใช้วิธีการซื้อตัว ส.ส.หรือช็อป ส.ส. เพื่อให้เข้าร่วมรัฐบาลให้มีคะเเนนเสียงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วครั้งหนึ่งในสภาที่เรียกได้ว่าเป็นงูเห่าภาค 1 และครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 2 
ไม่มี รบ.เสียงปริ่มน้ำ
    ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงข่าว ส.ส.ของฝั่งรัฐบาลอาจจะโหวตให้ฝ่ายค้านว่า ยืนยันพรรคร่วมรัฐบาลในฐานะที่ตนเป็นคนประสานนั้นไม่มี ไปเช็กกันได้ 
    "ช่วงสัปดาห์ที่มีปัญหานั้น ผมไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภา เนื่องจากขณะนั้นลงพื้นที่ แต่หลังจากนี้ผมก็จะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมทุกครั้งที่มีการประชุมสภา เรา 250 เสียง ซึ่งผมยืนยันมาตลอดว่าไม่มีรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ" ร.อ.ธรรมนัสกล่าว
    ถามว่า พูดอย่างนี้แปลว่าได้มีการประสานพูดคุยกับทางฝั่งฝ่ายค้านแล้วใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น แต่อะไรที่เป็นเรื่องประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งก็ย่อมตระหนักดี เขาก็ไม่ใช่ว่าจะค้านไปทุกเรื่อง
    กรณีคนที่เป็นรัฐมนตรีควรจะออกจากการเป็นส.ส.นั้น รมช.เกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ในส่วนของพรรค พปชร.นั้น เป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งในเวลานี้ยังไม่มีใครลาออก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ท่านได้เพียงเกริ่นเฉยๆ 
    วันเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ยืนยันจะเลิกทำพรรคการเมืองดังกล่าว เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคมีมติเอกฉันท์ให้เลิกทำพรรค เพราะเห็นว่าพรรคมี ส.ส.แค่คนเดียว และกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่ไม่มีเวลาในการร่วมจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง และประสานงานสร้างตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดอีก 69 พรรคตามกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และพรรคการเมือง นอกจากนี้ กรรมการบริหารพรรคจำนวนมากยังมีภารกิจส่วนตัวอื่นๆ ที่ต้องทำเป็นจำนวนมาก จึงเห็นว่าควรยกเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป โดยตนเองจะต้องหาพรรคการเมืองใหม่สังกัดเพื่อรักษาสถานภาพความเป็น ส.ส.ให้ได้ภายใน 60 วัน หลังยกเลิกพรรคการเมือง
    "เบื้องต้นได้คุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ว่าจะขอย้ายเข้าไปร่วมสังกัดกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่ง พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้มีความขัดข้อง โดยจะขอให้อยู่ช่วยงานกับพรรคพลังประชารัฐด้านกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐจาก 116 เสียง เป็น 117 เสียง ส่วนสมาชิกพรรคเดิมที่มีกว่า 14,000 คน ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขัดข้องและทราบถึงข้อจำกัดของพรรคเป็นอย่างดี" นายไพบูลย์กล่าว 
ไพบูลย์ยุบพรรคไม่ง่าย
    ถามว่า การย้ายไปเป็น ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ จะมีผลให้ต้องมีการคำนวณสัดส่วนจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมีใหม่หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า เป็นแค่การรักษาสถานภาพความเป็น ส.ส.เท่านั้น จึงไม่ต้องมีการคำนวณสัดส่วน ส.ส.ใหม่แต่ประการใด
    อย่างไรก็ตาม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (อดีต กกต.) โพสต์เฟซบุ๊ก Somchai Srisutthiyakorn ระบุว่า กรณีคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ยุบพรรคตัวเอง แล้วประกาศจะไปเป็น ส.ส.ของพลังประชารัฐ ถ้าเป็นสมัยก่อน บัตรเลือกตั้งสองใบ เขาได้เป็นบัญชีรายชื่อจากบัตรเลือกตั้ง ก็ถือว่ามีสถานะเป็น ส.ส.แล้ว เมื่อยุบพรรคก็ไปหาพรรคใหม่อยู่ได้ใน 60 วัน แต่กติกาใหม่ บัตรเลือกตั้งใบเดียว จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อผูกอยู่กับคะแนนเขตที่เลือกพรรคนั้น จึงมีความเห็นว่า 1.โอนคะแนนไปให้พรรคใหม่ไม่ได้ เพราะตอนประชาชนกาบัตร เขาไม่ได้กาให้พรรคใหม่ 2.กกต.ต้องคำนวณ ส.ส บัญชีใหม่ทั้งระบบ โดยตัดคะแนนพรรคคุณไพบูลย์ออก และจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก ส.ส.ที่พึงจะมีแต่ละพรรคใหม่ 
    นอกจากนี้ 3.คุณไพบูลย์ต้องเลือกไปอยู่พรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม (หากเขารับ) และคงสถานะเป็น ส.ส. (แต่หากไม่รับ ความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง) 4.ไม่ควรจบง่ายๆ ว่ายุบแล้วไปอยู่พรรคไหนก็ได้ทันที เพราะเช่นนั้น บรรดาพรรค 1 เสียงทั้งหลายจะทำตาม เพื่อหลีกความเสี่ยงในความไม่แน่นอนที่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งใหม่ใน 1 ปี หลังจาก 24 มีนาคม 2562 ว่าอาจถูก กกต.คำนวณใหม่ และหมดสภาพการเป็น ส.ส. เช่นเดียวกับกรณีพรรคไทยรักธรรม 
    "เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตามองและดูแนวการวินิจฉัยจาก กกต.ชุดปัจจุบันว่าจะมีมติอย่างไร" นายสมชัยกล่าว
    เช่นเดียวกับ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนหนึ่งระบุว่า  ปมปัญหาจึงมีอยู่ว่าพรรคใหม่ของคุณไพบูลย์จะนำส.ส.ไพบูลย์ นิติตะวัน ไปอยู่อันดับที่เท่าไรของบัญชีรายชื่อ คะแนน 45,374 ของพรรคประชาชนปฏิรูปจะนำไปรวมกับพรรคใหม่หรือไม่ ถ้ารวมกับพรรคใหม่จะทำให้สัดส่วนของ ส.ส.แต่ละพรรคการเมืองเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะจะมีการคำนวณใหม่ หากการคำนวณใหม่กระทบพรรคการเมืองอื่น หรือพรรคใหม่ของคุณไพบูลย์ จะเกิดเหตุโต้แย้งสิทธิ์หรือไม่ เพราะอาจมีบางคนต้องหลุดจากการเป็น ส.ส.
    "หากการเลือกตั้งซ่อมครั้งใหม่ทำให้เกิดการคำนวณใหม่ พรรคประชาชนปฏิรูปต้องเสียที่นั่ง ส.ส. ไป (เช่นเดียวกับครั้งก่อนที่พรรคไทรักธรรมเสียที่นั่งไป) คุณไพบูลย์ นิติตะวัน ที่เป็นหัวหน้าพรรคและเป็น ส.ส.คนเดียว จะยังเป็น ส.ส.ต่อไปได้อีกหรือไม่ คุณไพบูลย์จะโต้แย้งได้หรือไม่ ว่าได้ย้ายพรรคไปเป็น ส.ส. ของพรรคอื่นเรียบร้อยแล้ว" นายเจิมศักดิ์ระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"