วัดใจ บิ๊กตู่ คุมทำโผสีกากี


เพิ่มเพื่อน    

 วัดใจ 'บิ๊กตู่' คุมสีกากี-ปธ.ก.ตร. หลังทำเงินหล่น-สกัดนักวิ่ง

นับตั้งแต่เวลานี้ไปจนถึงเดือนกันยายนอยู่ในช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปีของข้าราชการทุกหน่วย โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง ซึ่งบางหน่วยงานเช่นกระทรวงมหาดไทยก็ได้เริ่มต้นจัดทัพไปแล้ว  และอีกหนึ่งหน่วยงานที่สำคัญและหลายฝ่ายจับตามองทุกปี ก็คือการแต่งตั้งโยกย้ายในวงการสีกากี-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งยุคนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงมาคุมและเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ด้วยตัวเอง ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเริ่มฝุ่นตลบกันแล้ว  เพราะปีนี้การแต่งตั้งตำรวจระดับรอง ผบ.ตร.-ผบก.ทั่วประเทศ มีตำแหน่งว่างจากผู้เกษียณอายุราชการรวมกับที่ขยับตำแหน่งสูงขึ้นและการโยกระนาบเดียวกันอีกจำนวนหนึ่ง รวมแล้วระดับ นายพล ครั้งนี้ก็น่าจะมีเฉียดๆ 300 ตำแหน่ง

โดยมีรายงานว่าเบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะมาเป็นประธานการประชุม ก.ตร.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในวันที่ 29 ส.ค.นี้

 ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สปยธ.) หรือ Institute for Justice Reform (IJR) ที่เป็นองค์กรซึ่งภาคประชาชน กลุ่มบุคคลจากวงการต่างๆ มารวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งองคาพยพ จะมาวิพากษ์และให้ทัศนะเกี่ยวกับวงการสีกากีในหลายบริบท เช่น ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ รวมถึงพูดถึงทิศทางการเคลื่อนไหวของสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อจากนี้ 

ทั้งนี้ ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร เคยเป็นตำรวจมานับสิบปี ตำแหน่งสุดท้ายเป็นสารวัตรอยู่กองบัญชาการตำรวจนครบาล จากนั้นได้ลาออกมาเป็นนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบันร่วมยี่สิบปี

ลำดับแรก ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา-ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม วิเคราะห์การที่พลเอกประยุทธ์ลงมาคุม สตช.และเป็นประธาน ก.ตร.ด้วยตัวเอง จากเดิมห้าปีก่อนหน้านี้ในยุครัฐบาล คสช.ที่ให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รับผิดชอบ โดยมองว่าสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 ถูกโจมตีว่าหลายเรื่องรัฐบาลทำไม่สำเร็จ ซึ่งจริงๆ ก็มีหลายเรื่องที่ทำไม่สำเร็จเช่นเรื่องเศรษฐกิจ แต่เรื่องเศรษฐกิจมันแก้ยาก และบางเรื่องดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย เช่นเรื่องปัญหาวินมอเตอร์ไซค์ หรือเรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาลขายเกินราคาก็แก้ไม่ได้ แต่ก็ยังพยายามแก้ ส่วนเรื่องตำรวจดูเหมือนจะยาก แต่ก็แก้ได้หากว่ามีความจริงใจ

ผมคิดว่านายกฯ คงมองแล้วว่า 5 ปีที่ผ่านมาตอนรัฐบาล คสช. ถ้านับแต้มแล้วคะแนนไม่ค่อยสูง  แต่นายกฯ มาจากการเลือกตั้งรอบนี้ก็ต้องหาความนิยมจากประชาชนให้ได้ ซึ่งความนิยมทางเศรษฐกิจหาได้ยาก ก็ต้องเอาความนิยมทางสังคม ก็คือปฏิรูปตำรวจที่เป็นประเด็นทางสังคม นายกฯ ก็ต้องเข้ามาปรับ เพราะหากอยากเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งสมัยที่สอง หรือหากมีการยุบสภาแล้วพลเอกประยุทธ์ลงอีกในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แล้วจะเอาประเด็นอะไรไปหาเสียง นายกฯ ก็ต้องเอาเรื่องปฏิรูปตำรวจเป็นเรือธง

...เรื่องนี้นายกฯ ต้องทำ เพราะหากนายกฯ ไม่ทำถามว่าพรรคการเมืองอื่นอยากทำเรื่องนี้ไหม ก็ไม่มีใครอยากทำ เรื่องปฏิรูปตำรวจไม่มีพรรคการเมืองไหนอยากจะทำ เพราะตำรวจมักจะเป็นเครือข่ายระบบอุปถัมภ์นักการเมือง ซึ่งเรื่องที่อยากให้ทำเป็นรูปธรรมก็เช่นระบบการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งการที่มีการออกกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจที่ให้ยึดระบบอาวุโสออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ หลังไปมอบนโยบายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อนหน้านี้ ก็คือก้อนหินก้อนแรกในการถมบึง เป็นบึงที่มีน้ำเน่าต้องถมบึง ตอนนี้นายกฯ ก็โยนก้อนหินก้อนแรกลงไปแล้ว อย่างไรก็ตามเราก็ต้องดูก่อนว่ากฎ ก.ตร.ที่กล่าวไว้ข้างต้นมันศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ ก็ต้องรอดูผลการแต่งตั้งโยกย้ายที่จะออกมาในเร็ววันนี้ 

-มองกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ที่ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ ในฐานะประธาน ก.ตร.ที่ให้การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจจะต้องยึดหลักอาวุโส ไม่ให้มีการแต่งตั้งข้ามหัวกัน คำสั่งดังกล่าวมีนัยสำคัญอย่างไร?

ข้าราชการที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ พลเรือน การแต่งตั้งโยกย้ายจะยึดหลักสำคัญคือระบบคุณธรรม หรือ Merit System กับระบบอุปถัมภ์

...ระบบคุณธรรมที่ตีเป็นรูปธรรมได้เรียกว่าระบบอาวุโส แต่คนยังเข้าใจผิดว่าคืออาวุโส แก่แล้วได้ขึ้น ซึ่งจริงๆ เขาดูจากปัจจัยหลายอย่าง เช่นคนไหนเงินเดือนมากกว่ากัน คนไหนครองยศก่อนกัน หรือคนไหนอยู่ในตำแหน่งก่อนขยับขึ้นก่อนกัน โดยหากคนไหนมียศเท่ากัน ก็ให้ดูที่ว่าใครขึ้นยศนั้นก่อนกัน  คนนั้นอาวุโสกว่า เป็นต้น เพราะฉะนั้นอาวุโสคือการเปรียบเทียบ ไม่ใช่ว่าดูที่อายุ คนอายุ 57 ปีต้องได้ขึ้นก่อนคนอายุ 54 ปี ไม่เกี่ยวกัน แต่อาวุโสคือเกณฑ์การเปรียบเทียบ ไม่ใช่แก่ กฎ ก.ตร.ดังกล่าวก็คือเช่น หากมีตำแหน่งว่างหนึ่งตำแหน่ง ก็จะมีการเรียงอาวุโสกันทั้งประเทศ กันทั้งภาค เรียงกันทั้งจังหวัด  หากมีตำแหน่งว่างที่ไหน คนอาวุโสสูงสุดจะได้ขึ้นตรงนั้นก่อน

...ยกตัวอย่างเช่น การแต่งตั้งตำรวจที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ อาทิตำแหน่งผู้กำกับสถานีตำรวจ หากตำแหน่งผู้กำกับสถานีตำรวจบางนาจะว่างลงในรอบนี้ ก็ต้องดูว่ารอบนี้มีว่างกี่ตำแหน่ง เช่นหากว่างห้าตำแหน่งก็ใช้วิธีไล่อาวุโส ใครเป็นรอง ผกก.สูงสุดห้าอันดับแรก อันดับหนึ่งก็จะได้เลือกก่อนว่าจะไปอยู่สถานีตำรวจแห่งไหน จากนั้นอาวุโสอันดับสองจะได้เลือกเป็นลำดับถัดไป แต่มันก็อาจเกิดปัญหาเช่น  หากมีอาวุโสห้าอันดับแล้วมีตำแหน่งว่างอยู่ห้าตำแหน่ง แต่ปรากฏว่าคนอาวุโสอันดับแรกไม่เคยอยู่บางนามาก่อน ส่วนใหญ่จะอยู่แต่พื้นที่นครบาล ฝั่งธนบุรี เราก็ต้องเอาเกณฑ์นั้น แต่คนอาวุโสอันดับสองอาจได้ไปเป็น ผกก.บางนา เพราะอันดับสองพบว่าอยู่แถบบางนามาตลอด แต่อันดับหนึ่งอยู่ฝั่งธนบุรีมาตลอด ก็ต้องให้ไปอยู่ฝั่งธนฯ เพราะหากจะเอาคนที่อยู่พื้นที่ฝั่งธนบุรีมาตลอดมาอยู่บางนา แล้วเอาคนอยู่บางนาไปอยู่พระประแดง แล้วคนอยู่พระประแดงไปอยู่นนทบุรี แบบนี้ไม่ได้เพราะคนเดือดร้อนคือชาวบ้าน

...เพราะผู้กำกับการที่ย้ายข้ามมาไม่รู้เหนือรู้ใต้ ถึงเวลาโดนจ่าโดนดาบหลอก รายงานไปว่าไม่ต้องมาตรวจแถวนี้เพราะไม่มีบ่อน แต่จริงๆ มันมีเปิด ทำให้คนที่ย้ายไปเป็นผู้บังคับการจังหวัดหรือผู้กำกับการจะเสียเวลาปีแรก ในการต้องไปสำรวจพื้นที่ของตัวเอง เพราะเขาไม่อยากโดนใครหลอกเลยต้องลงตรวจด้วยตาของเขาเอง แต่ถ้าได้คนที่เคยอยู่มาก่อนแล้วเป็นคนดี แค่หลับตาเขาก็รู้พื้นที่แล้วว่าตรงไหนเป็นอย่าง มีอะไรทำผิดกฎหมายเขาจะไปจัดการได้

ซึ่งระบบอาวุโสตรงนี้จะมีสองแบบคือ เรียงอาวุโสทั้งประเทศกับเรียงอาวุโสประจำภาค ที่เราเรียกร้องคือเรียงตามระบบอาวุโส ที่ก็คือระบบคุณธรรม เพราะระบบอาวุโสคือระบบคุณธรรม ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ที่เป็นเรื่องความเหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องนามธรรมและกำกวม โดยมักจะอ้างว่าแต่งตั้งโยกย้ายตามความเหมาะสม

                ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา และประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สังเคราะห์การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจที่จะเกิดขึ้นเชื่อมโยงไปถึงกฎ ก.ตร.ดังกล่าวว่า กฎ ก.ตร.ที่ออกมาเป็นการเขียนตามรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้แต่งตั้งตามระบบคุณธรรมหรืออาวุโสในการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งระบบอาวุโสมันดีกว่าระบบความเหมาะสมหรืออุปถัมภ์อยู่แล้ว หากไปถามตำรวจร้อยทั้งร้อยต่างก็ต้องบอกว่าชอบระบบอาวุโส พวกที่ชอบระบบความเหมาะสมก็พวกนายเวร -หัวหน้าสำนักงาน ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พวกใกล้ชิดนักการเมือง วิ่งตามนักการเมืองทุกวัน โดยอ้างว่าเหมาะสมเลยได้ขึ้นตำแหน่งสูงเร็วก่อนคนอื่น แล้วถึงเวลาก็ทำงานไม่ได้ ถามว่าใครเดือดร้อน นักการเมืองไม่เดือดร้อนเพราะเด็กเขาได้ขึ้นเป็นใหญ่เป็นโต แต่ประชาชนเดือดร้อน ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ทำงานเพราะเอาตำแหน่งเอายศ แล้วไปตามนักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพล

...หากถามว่าระบบอาวุโสกับระบบแต่งตั้งโยกย้ายตามความเหมาะสม ไม่ต้องพูดเลยมันต้องใช้ระบบอาวุโสร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากจะให้มีระบบความเหมาะสมมาร่วมพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายด้วย ก็ให้มีได้แต่ไม่มาก ยกตัวอย่างเช่นที่ภาคใต้ มีผู้กำกับคนหนึ่งโดนระเบิดขาขาด เขาควรได้รับรางวัลชีวิต  หรือตำรวจบางคนทุ่มเทในการสืบสวนจนชีวิตได้รับอันตราย ถูกลอบทำร้าย ความกล้าหาญของเขาเห็นเด่นเป็นที่ประจักษ์ ถ้าแบบนี้ใช้ความเหมาะสมมาพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายเลื่อนขั้นได้ แต่กรณีแบบนี้ ถามว่ามีไหม ก็มีน้อย

ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ให้ข้อมูลว่า ที่มีการออกกฎ ก.ตร.ดังกล่าวออกมาช่วงนี้ เป็นเพราะอยู่ช่วงแต่งตั้งโยกย้ายประจำปีในเดือนกันยายน พลเอกประยุทธ์ก็ให้เอาคำสั่งนี้ออกมาเพื่อสกัดนักวิ่ง

“บางคนบอกนายกฯ ทำเงินหล่นเยอะ ออกกฎนี้มา เพราะหากไม่ออกกฎนี้มา นักวิ่งทั้งหลายเตรียมวิ่งแล้ว ซึ่งจริงๆ เขาวิ่งกันก่อนแล้ว เพราะเขาคิดว่าคนคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเป็นคนเก่า แม้กระทั่งคนคุมเดิมก็คิดว่าตัวเองจะได้คุม แต่พอนายกฯ ไปพูดในที่ประชุมรัฐสภาตอนแถลงนโยบายว่าจะเข้ามาคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำเอาตกใจกันหมดเลย ทั้งคนที่เคยคุมและวงการสีกากี ที่นายกฯ บอกผมจะคุมเอง ผมจะดูตำรวจเอง ทำเอาช็อกกันทั้งหมด”

...ตอนนี้อยู่ในช่วงการทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้าย เขาออกกฎนี้มาเพื่อให้คนทำบัญชีไปรื้อบัญชีมาใหม่  ผมรู้ว่าท่านออกกฎนี้มาเพื่อกันตัวท่าน และคนที่ออกกฎมาก็เพื่อแสดงความจริงใจ ซึ่งผมก็ชื่นชมท่าน อันนี้ไม่ได้เชียร์เพราะไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แต่การที่ออกมาแบบนี้วงการตำรวจเขาเรียก..ท่านทำเงินหล่นเยอะแล้ว เพราะพวกคิดจะใช้เรื่องแต่งตั้งตามความเหมาะสม พอเจอกฎ ก.ตร.แบบนี้ก็ชะงักแล้ว ที่ใช้ระบบอาวุโสเป็นหลัก

...การแต่งตั้งโยกย้ายทุกครั้งก็มักจะมีข่าวทำนองเรื่องการวิ่งเต้น มีข่าวว่าราคาเท่านั้นบ้างราคาเท่านี้บ้าง ใครเป็นเด็กใคร มีการเก็งว่าใครจะขึ้นบ้าง เขารู้กันหมด แต่เที่ยวนี้มันพลิกล็อก ซึ่งการพลิกล็อกทำได้หลายอย่าง นายกฯ ก็ไปหยิบระบบอาวุโสที่อยู่ในรัฐธรรมนูญมา

"ในที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร. จริงๆ ผมก็ไม่อยากพูด แต่ว่าก็จะเป็นแบบเด็กใครเด็กมัน ก็แลกเด็กกัน ผมไม่ตีเด็กคุณ คุณก็อย่ามาตีเด็กผม ผมมีชื่อเด็กผมอยู่ในกระเป๋าห้าชื่อ หากท่านตีเด็กผม ผมก็รู้ว่าคนไหนเป็นเด็กท่าน ผมก็จะตีเด็กท่านบ้าง ก็เลยจะมีการถ้อยทีถ้อยอาศัยในระบบอุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน แต่หากใช้หลักอาวุโสอย่างที่บอก ที่ทำกันมันก็จะทำไม่ได้เพราะมีลายลักษณ์อักษรเขียนไว้ชัดเจน" ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมระบุ

ถามทัศนะว่า การที่พลเอกประยุทธ์ลงมาคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และประกาศตอนแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า จากนี้เป็นต้นไปจะดำเนินการปฏิรูปตำรวจให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น  ในฐานะประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คาดหวังไว้แค่ไหนว่าพลเอกประยุทธ์จะทำได้จริง ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร มีมุมมองว่า ความตั้งใจความจริงใจของผู้นำหน่วยเป็นเรื่องสำคัญ มนุษย์เรากฎหมายก็คือกระดาษเปื้อนหมึก แล้วระบบราชการเราเป็นระบบที่เชื่อหัว ที่เขาพูดกันหัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก เราเชื่อว่าการปฏิรูปเกิดจากหลายอย่าง เช่นกระแสสังคม ตัวผู้นำ หรือเกิดคดีบางคดีที่สังคมสนใจและนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงครั้งใหญ่ มันมีหลายปัจจัย แต่ปัจจัยสำคัญสุดคือตัวผู้นำ เบอร์หนึ่ง ซึ่งคำว่าผู้นำบางครั้งมีเอกภาพ บางครั้งไม่มีเอกภาพ หมายถึงการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จริงๆ แล้ว คนคนเดียวตัดสินใจได้เลยหรือว่ายังต้องไปฟังคนอื่นก่อน หรือตัวผู้นำกฎหมายบอกให้คือผู้นำหน่วย เช่น ผบ.ตร., รมว.มหาดไทย แต่เอาเข้าจริงมีคนใหญ่กว่านั้น

"อย่างกฎหมายบอกให้เป็นนายกฯ แต่เอาเข้าจริงมีใหญ่กว่านายกฯ บางครั้งคนเป็นนายกฯ ในบางช่วงก็อาจถูกแชร์อำนาจ พูดง่ายๆ คือมีอำนาจแต่ยังไม่มีบารมี บางครั้งก็เลยทำให้คนที่มีบารมีแต่ไม่มีอำนาจเข้ามาแทรกแซงได้ ที่พูดแบบนี้เพราะพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มาห้าปีแล้ว อำนาจท่านมีตั้งแต่วันแรกที่เป็นนายกฯ แต่บารมีการเป็นนายกฯ ต้องสะสม วันนี้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มาห้าปีแล้ว ก็หวังว่าจะมีทั้งอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือมาจากการเลือกตั้งและบารมีก็มีเยอะเพราะเป็นนายกฯ มาปีนี้เข้าปีที่หกแล้ว ก็หวังว่าภายใต้อำนาจและบารมีและคำพูดที่บอกจะปฏิรูปตำรวจ ก็หวังว่านายกฯ จะทำจริงๆ"

                ...นิมิตหมายที่เราคิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงก็คือ พลเอกประยุทธ์ลงมาคุมตำรวจเอง จากตอนสมัยแรกให้รองนายกฯ คุม (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เมื่อพลเอกประยุทธ์ลงมาคุมเอง มันมีจุดเปลี่ยน โดยเฉพาะเป็นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายและการสั่งการนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายให้มีการปฏิรูป ยกตัวอย่างเช่นการแต่งตั้งโยกย้าย หากมีการสั่งให้กองบัญชาการแต่ละภาคจัดการ ส่วนกลางไม่ต้องไปยุ่ง  แต่หากมีนโยบายให้รวมศูนย์ ทุกอย่างก็จะรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง ซึ่งที่ผ่านมามันเกิดขึ้นจริง สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เหมือนลูกตุ้ม เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด วันหนึ่งก็ให้ภาคจัดการ แต่ต่อมาก็มาเปลี่ยนให้ส่วนกลางจัดการ กลับไปกลับมาแบบนี้ ภายใต้รัฐบาลก่อนรัฐประหาร คสช. ก็ให้กองบัญชาการภาคจัดการ เซ็นคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายที่แต่ละกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดส่งมาที่ภาค

...แต่พอมายุค คสช.มีการใช้มาตรา 44 ไปสั่งให้การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นคำสั่ง สตช. ไม่ใช่คำสั่งภาค  ก็คือให้ ผบ.ตร.เซ็นแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจทั่วประเทศ ผบ.ตร.ก็เลยเหมือนเทวดาเลยเพราะแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจได้สองแสนกว่าคนทั่วประเทศ ใครๆ ก็ต้องเข้ามา เพราะย้ายตั้งแต่ ผบช. ตำรวจภูธรภาค-ผบก.จว.-ผกก.-รอง ผกก. เยอะแยะไปหมด ซึ่งหลักการบริหารสมัยใหม่เขาใช้วิธีกระจายอำนาจ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว เกิดความเป็นธรรมและแต่ละส่วนได้มีส่วนร่วม

ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ทัศนะว่า ระบบรวมศูนย์อำนาจมันเร็วก็จริง แต่ต้องมีระบบอุปถัมภ์เข้ามาเกี่ยวข้อง อันนี้คือตัวอย่างให้เห็นว่าที่มีการไปเปลี่ยนระบบ ก็เกิดจากเบอร์หนึ่งของยุค คสช.ตอนนี้ นายกฯ มาเป็นเบอร์หนึ่ง มาดูแล สตช. ก็ขอให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจต้องชัดเจน อย่าให้มีข้อครหา เรื่องนี้จะเป็นบทพิสูจน์อันแรกของพลเอกประยุทธ์

-แต่การที่รัฐบาลก็ยังมีรองนายกฯ คนหนึ่งซึ่งเคยคุมตำรวจ โดยเป็นคนที่ไม่มีแนวคิดสนับสนุนการปฏิรูปตำรวจ จะมีผลอะไรหรือไม่ต่อการผลักดันการปฏิรูปตำรวจของรัฐบาลจากนี้?

อันนี้สำคัญ ผมถึงแยกเรื่องอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกับเรื่องของบารมี ซึ่งบางครั้งไปๆ มาๆ  อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายมันแพ้บารมี คนที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกลับชนะ ตรงนี้สำคัญมาก  ผมถึงมองว่าอย่าไปตำหนินายกฯ อย่างเดียว ต้องให้กำลังใจเพราะท่านเป็นนายกฯ คนแรกที่ตั้งใจจริงในการปฏิรูป เพียงแต่ที่ผ่านมาท่านมีตำแหน่ง มีอำนาจตามกฎหมาย แต่อย่างว่าบารมีท่านยังไม่แกร่งกล้า แต่ผมคิดว่าตอนนี้บารมีท่านแกร่งกล้าแล้วท่านจึงต้องทำ แต่หากจะไม่ทำก็ไม่เป็นไร บารมีที่ท่านควรจะมีมากกว่านี้มันก็จะอยู่เท่านี้

"ห้าปีที่ผ่านมา นายกฯ มีอำนาจและได้สะสมบารมีจนถึงจุดหนึ่งแล้ว เวลานี้นายกฯ มีทั้งอำนาจและบารมีก็ควรต้องทำ ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ คำพูดที่สวยหรูต่างๆ ที่เคยบอกและเขียนไว้ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาในเรื่องการปฏิรูปตำรวจ นายกฯ อย่าให้ใครมาสบประมาสได้ว่าเขียนอย่างเดียวแต่ไม่ได้ทำ"

 โรดแมป จังหวะขยับ สป.ยธ.

'กระบวนการยุติธรรม เรื่องใกล้ตัว'

ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร-ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึงการรวมตัวกันของบุคคลต่างๆ เพื่อจัดตั้งสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และทิศทางการเคลื่อนไหวของสถาบันต่อจากนี้ว่า สถาบันเกิดจากการรวมตัวกันของคนที่มีความเห็นตรงกัน ซึ่งมีทั้งอดีตตำรวจ นักวิชาการ สื่อมวลชน อัยการ คนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ว่า ประเทศไทยทุกวันนี้กระบวนการยุติธรรมมีปัญหา ปัญหาที่เกิดมันเกิดมานานแล้ว แต่นับวันปัญหาจะหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปัญหาสิทธิเสรีภาพประชาชนที่ควรได้รับการคุ้มครอง ที่มีระดับการได้รับการคุ้มครองต่ำลง

...ที่ผ่านมาแม้เราจะมีกฎหมายออกมาใหม่ที่เน้นเรื่องการให้บุคคลได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การให้บุคคลเท่าเทียมกัน อย่างเช่น รธน.หรือการให้ประชาชนร้องทุกข์ต่างๆ ตลอดจนการให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานขององค์กรต่างๆ แต่แม้จะออกกฎหมายมาเยอะ แต่ในทางปฏิบัติไม่เป็นผลเพราะกระบวนการดำเนินคดีอาญา เพราะกฎหมายทุกฉบับหากไม่มีบทลงโทษก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่บทลงโทษมีหลายอย่าง เช่น โทษทางปกครอง อาทิ เพิกถอนใบอนุญาต ปรับเงิน แต่บทลงโทษทางอาญามันคือบทลงโทษที่ทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ต่างต้องระมัดระวังซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตามพบว่าในความเป็นจริงโทษทางอาญา คนที่จะนำคดีไปดำเนินได้คือ ตำรวจ แม้ประเทศไทยมีกฎหมายเยอะ และเป็นกฎหมายที่ดี แต่ของเราที่ผ่านมาคือปัญหาตัวบุคคล และตัวบุคคลที่มีปัญหา ก็คือ คนที่มีหน้าที่ดำเนินคดีอาญา เมื่อกฎหมายเขียนไว้ดีแต่คนที่ใช้กฎหมายในการดำเนินการไม่ดีก็ทำให้การดำเนินการเพื่อให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเกิดการชะงัก พอชะงัก คนเดือดร้อนก็คือประชาชน

...ปัญหาเหล่านี้มันก็คือขยะที่สุมอยู่ใต้พรม และนับวันจะมากขึ้นและเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่าช่วงสิบปีที่ผ่านมาโซเชียลมีเดียทำให้ขยะที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมันถูกเปิดขึ้นมาเยอะ จะเห็นได้จากคลิปข่าวต่างๆ มีคนที่เดือดร้อนนำเรื่องมาเผยแพร่ทางโซเชียล ทำให้ปัญหาถูกขยายเรื่อยๆ แต่ถามว่า ความไม่ถูกต้องในเรื่องเจ้าหน้าที่ประพฤติไม่ชอบมีอยู่นานหรือยัง ก็ต้องตอบว่ามีมาตลอด แต่ช่วงหลังถูกนำเสนอประเด็นปัญหามากขึ้นจากความเจริญของเครื่องมือสื่อสาร

ผมมองว่า สิทธิเสรีภาพประชาชนกับอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ หากอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ในทางทฤษฏีก็คือ สิทธิเสรีภาพประชาชนจะน้อยลง แต่ถ้าสิทธิเสรีภาพประชาชนมากขึ้น อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐจะลดลง เช่น จะไปเอาผิดประชาชนตาม พ.ร.บ.ว่า ด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แบบง่ายๆ ไม่ได้ หรือจะไปดักฟังโทรศัพท์ประชาชนไม่ได้

ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ย้ำว่า ควรต้องมีการเพิ่มสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่ไม่ได้เพิ่มโดยผิดกฎหมาย แต่ทำให้กฎหมายที่มีอยู่ใช้ได้อย่างจริงจัง โดยทำให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นธรรม เท่าเทียม มีประสิทธิภาพ เรื่องดังกล่าวเป็นความคิดของพวกเราที่ตรงกัน เช่น หากมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐหรือประเด็นใดที่เป็นที่สงสัยของประชาชน เราก็จะออกสื่อ เพื่อมุ่งหวังให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ควรได้รับการคุ้มครองกลับมาได้รับการคุ้มครองเช่นเดิมหรือมากขึ้น

ก่อนหน้านี้เวลาเราพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรามักพูดถึงแต่สิทธิเสรีภาพทางการเมือง เช่น การรวมตัวเรียกร้องกันทางการเมือง เช่น เรียกร้องปฏิรูปการเมือง แต่เราเห็นว่าทำแค่นั้นไม่พอ เพราะการปฏิรูปการเมือง เป็นเรื่องโครงสร้างระดับบนที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องกันมาหลายครั้ง เช่น ยุค 14  ตุลาคม 2516 หรือการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยธงเขียว ปี 2540 แต่สุดท้ายเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่ให้ความสำคัญ เป็นเรื่องลูบหน้าปะจมูก เราก็คิดว่าต้องทำคู่ขนานกัน

ผมในฐานะนักรัฐศาสตร์ ผมมองว่าการปฏิรูปการเมืองโครงสร้างด้านบนจำเป็นต้องทำ แต่ก็ต้องทำเป็นคู่ขนานกับการปฏิรูปด้านสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องพื้นฐานอย่างคดีอาญาที่สำคัญมาก

...ในทางคดีอาญา เขาบอกกันว่าคนทุกคนเกิดมาจนรวยไม่เท่ากัน มีโอกาสในชีวิตไม่เท่ากัน แต่โอกาสภายใต้กฎหมายเดียวกันมันต้องเท่าเทียมกัน เช่น คนขับรถฝ่าไฟแดง ต่อให้คุณรวยขับรถราคาแพงแค่ไหน แต่เมื่อทำผิดก็ต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือขับแท็กซี่ อันนี้คือพื้นฐาน คือทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายเท่าเทียมกันไม่ว่ารวยหรือจน แต่ถามว่าในความเป็นจริงมันเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เมื่อความเป็นจริงยังไม่ได้เป็นเช่นนี้ก็ไม่ต้องไปพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเขียนยังไงก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะแค่ พ.ร.บ.จราจรทางบกยังเลือกปฏิบัติเลย

...ทางเราก็คิดว่าบ้านเมืองจะเจริญได้ต้องทำกฎหมายพื้นฐานให้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งโทษที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์คือโทษทางอาญา ไล่ตั้งแต่ปรับจนถึงประหารชีวิต ซึ่งความยุติธรรมภายใต้กฎหมายอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจสำคัญที่สุด เพราะเขาบอกว่ากฎหมายใดที่มีโทษอาญา ให้ตำรวจเป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ซึ่งต้องถามต่อว่า แล้วตำรวจที่เป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรมตระหนักเรื่องนี้หรือไม่ ตำรวจก็บอกทำไมมาโทษแต่ตำรวจ ไม่โทษคนอื่น เช่น ป่าไม้ ศุลกากร สรรพสามิต อันนั้นก็ใช่ แต่ต้องไม่ลืมว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีอาญาชั้นต้น และทำได้เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ตำรวจเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่มีโทษทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทุกฉบับ สรรพสามิตไม่จับเหล้าเถื่อน ตำรวจ ก็ไปจับได้ ป่าไม้ไม่ไปจับคดีป่าไม้ ตำรวจก็ไปจับคดีป่าไม้ได้ ตำรวจเข้าไปแทรกได้ในทุกกฎหมายที่มีโทษทางอาญา แต่เจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ เช่น ป่าไม้ สรรพสามิต ศุลกากร เขาดูแลได้เฉพาะกฎหมายของเขา เราจึงให้ความสำคัญกับตำรวจเป็นพิเศษในเรื่องการทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในคดีอาญาในส่วนของตำรวจ

ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-อดีตตำรวจนครบาลเก่า เผยว่า หลังจากทางกลุ่มมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ ก็มีปฏิกิริยาจากบางฝ่ายเกิดขึ้น

“บางคนไม่เข้าใจ บอกว่าพวกเราบางคนเป็นอดีตตำรวจเก่า เลยกลับมา จะมาแก้แค้นจากการไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นตำรวจ ยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะเรามองว่าการประสบความสำเร็จในการรับราชการไม่ใช่ดูที่ดาวบนบ่า แต่อยู่ที่การได้รับใช้ประชาชนจนอายุหกสิบปี แล้วเกษียณอายุราชการโดยไม่มีปัญหาอะไรในชีวิต ไม่ต้องโดนตั้งกรรมการสอบ ไม่โดนริบทรัพย์ ติดคุกติดตะราง แบบนี้ต่างหากคือความสำเร็จ การจะได้เป็นเบอร์หนึ่งในองค์กรหรือไม่ก็เป็นโบนัสของชีวิต แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราไขว่คว้า เพราะหากไขว่คว้าแบบนั้นประชาชนจะไม่ใช่ตัวตั้ง”

...พวกเราที่มีความคิดแบบนี้ ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงก็เลยมารวมตัวกัน เพราะเขาเห็นกันว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะกระบวนการดำเนินการในคดีอาญาควรมีองค์กรเพื่อที่จะทำให้ต่อเนื่อง มีการแบ่งงานในภาคส่วนต่างๆ ก็เลยเกิดมาเป็นสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แม้จะไม่มีกฎหมายรองรับแต่เกิดจากการรวมตัวกันของคนที่มีความเห็นตรงกันในสังคม ที่อยากให้สังคมมีความเท่าเทียมกันในการดำเนินคดีอาญา

ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร กล่าวถึงรูปแบบการติดตามเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะด้านคดีอาญาว่า เวลานี้สังคมได้ตระหนักรู้ถึงความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ เราก็ต้องรวบรวมสิ่งที่กระจัดกระจายให้เป็นองค์ความรู้อย่างเป็นธรรม เช่น กระบวนการและพัฒนการของกระบวนการดำเนินคดีอาญาของภาครัฐและประชาชน และเราจะสร้างเครือข่ายต่างๆ เช่น กลุ่มเครือข่ายที่เห็นด้วยกับแนวทางของสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและประชาสังคม ซึ่งน่ายินดีที่มีภาครัฐก็เห็นด้วยกับเรา โดยเฉพาะประเด็นที่เราให้ความสำคัญก็ได้รับการสนับสนุนแนวทางการศึกษาจากภาครัฐ เช่น อำนาจการสอบสวนคดีอาญา

...คือก่อนหน้านี้เดิมทีตั้งแต่สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การสอบสวนคดีอาญากฎหมายให้อำนาจอยู่กับกระทรวงต่างๆ ที่มีอำนาจตามกฎหมายของเขา เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ เจ้าหน้าที่ของป่าไม้ก็มีอำนาจในการสอบสวนจับกุม และส่งอัยการฟ้องศาล ต่อมากระทรวงต่างๆ ก็รวบรวมฐานความผิดตามกฎหมายต่างๆ แล้วดำเนินการออกมาเป็นประมวลกฎหมายอาญา แต่ประมวลกฎหมายอาญาที่เป็นเรื่องการทำผิดทางอาญา ไม่ได้ครอบคลุมถึงพัฒนาการของสังคมมากนัก ที่ระยะหลังมีความหลากหลายและมีเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะ เลยมีการทำกฎหมายเฉพาะขึ้นมา เช่น กรมการขนส่งฯ ก็มีกฎหมายขนส่ง ป่าไม้ ก็มีกฎหมายป่าไม้ โดยมีการให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายมีอำนาจสอบสวนจับกุม เช่น เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไปตรวจยึดเอกสารของบริษัทต่างๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่เสียภาษี แต่ก็พบว่าการสั่งฟ้อง หน่วยงานเหล่านี้สั่งฟ้อง ยื่นฟ้องต่อศาลไม่ได้ ต้องส่งให้อัยการ ซึ่งเดิมก่อนหน้านี้สำนักงานอัยการฯ อยู่ในสังคมกระทรวงมหาดไทย ก็มีการทำข้อตกลงว่าการสั่งฟ้องเรื่องลักษณะแบบนี้ขอให้เป็นอำนาจของตำรวจ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานต่างๆ จะไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และไม่มีเทคนิคการสอบสวน พอเป็นแบบนี้ตำรวจ ก็เลยมีอำนาจสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางคดีอาญา

ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวต่อไปว่า ในอดีตสังคมไม่มีความสลับซับซ้อน ปริมาณคดีไม่เยอะ ตำรวจก็ทำได้ แต่ตอนหลังคนเยอะขึ้น คดีก็เยอะขึ้น ก็เลยเริ่มมีการคิดกันแล้วว่าการให้การสอบสวนคดีต่างๆ เช่น คดีป่าไม้-คดีสรรรพากรไปให้ตำรวจทำมันเหมาะสมหรือไม่ ตำรวจมีกำลังพลเพียงพอหรือไม่ และพนักงานสอบสวนของตำรวจมีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านต่างๆ เหล่านั้นหรือไม่ และถูกแทรกแซงการสอบสวนหรือไม่ รวมถึงมีแรงจูงใจที่จะทำเพื่อประชาชนหรือไม่ ซึ่งหากพนักงานสอบสวนที่ทำคดีเหล่านั้นไม่มีความรู้ ไม่ซื่อสัตย์ การสอบสวนคดีถูกแทรกแซง ถ้าเป็นเช่นนี้ประชาชนเดือดร้อน

ที่ผ่านมา การที่เราไปฝากความหวังเรื่องการสอบสวนดำเนินคดีอาญากับตำรวจทั้งหมด ถึงเวลาต้องกลับมาคิดแล้วว่า ตำรวจทำได้หรือไม่ และทำได้ดีหรือไม่ ในคดีประเภทต่างๆ เช่น คดีป่าไม้-คดีกรณีมีการต่อเติมอาคารสิ่งก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต-คดีที่เกี่ยวข้องกับตำรวจคนเข้าเมือง เราก็เห็นว่าอะไรที่ตำรวจทำได้ดีก็ทำต่อไป แต่อะไรที่ไม่ดีก็ควรแยกงานออกไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องป่าไม้ เขาก็อยากได้อำนาจการสอบสวน หรือการตรวจจับสถานบริการ หน่วยงานของกรมการปกครองไปจับ แต่ถึงเวลาดำเนินคดี คนที่ถูกจับกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยตอนจับมีทั้งอาวุธปืน ยาเสพติด แล้วทำไมคดีดำเนินช้า ทำไมพยานบางอย่าง เช่น พยานวัตถุหายไป หรือมีการกลับคำให้การ คือตอนสอบสวนก็ให้การ แต่พอไปถึงชั้นศาลกลับคำให้การ คดีก็หลุด คนที่เขาจับก็ท้อแท้ อย่างไปถามชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือชุดเฉพาะกิจของกรมการปกครองที่จับสถานบริการ ก็จะได้ความเห็นที่แตกต่างจากตำรวจ เขาก็อยากได้อำนาจการสอบสวน เป็นต้น

ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร-ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยืนยันว่า การเคลื่อนไหวของสถาบันไม่ได้คิดจะไปยุให้หน่วยงานต่างๆ ทะเลาะกัน แต่เรามองว่าอะไรก็ตาม ให้ใครทำก็เหมือนกัน แต่ขอให้ประชาชน สังคมได้ประโยชน์ เช่น ป่าไม้ ก็เพื่อให้ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ แล้วคนทำผิดก็ถูกจับดำเนินคดี มีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เราต้องการแบบนี้ ส่วนตำรวจหากต้องการทำงานต่อไป ก็ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของตัวเอง

..จะเห็นได้ว่า กระแสปฏิรูปตำรวจในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมากระแสแรงมาก โดยเฉพาะหลังรัฐประหารจะเห็นได้ว่า พลเอกประยุทธ์ก็อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่พยายามทำหลายอย่างที่เป็นปัญหาสังคม เช่น แก้ปัญหาวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาลขายเกินราคา การปราบปรามมาเฟียผู้มีอิทธิพล แต่ในความเป็นจริงสิ่งต่างๆ ที่พลเอกประยุทธ์พูดและต้องการทำ ถึงเวลาจริงๆ ทำได้ยาก ที่ทำได้ยากเพราะเรื่องพื้นฐานเลยคือ พลเอกประยุทธ์ไม่ได้ทำเรื่องปฏิรูปตำรวจ พลเอกประยุทธ์พูดว่าอยากปฏิรูปตำรวจ แต่ 5 ปีที่ผ่านมา ยุค คสช. น่าเสียดายมาก เพราะนายกฯ มีมาตรา 44 ที่ควรจะทำอะไรรวดเร็วหลายเรื่อง ซึ่งแม้พลเอกประยุทธ์จะใช้มาตรา 44 ทำหลายเรื่อง แต่เรื่องปฏิรูปตำรวจกลับช้า ทั้งที่เรื่องนี้หากทำจะได้ใจประชาชน แต่กระบวนการปฏิรูปตำรวจที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีของ คสช.เป็นการปฏิรูปแค่ในตัวหนังสือ

                 ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ตอนมีการเปิดตัวสถาบัน บางคนบอกพวกเราตั้งสถาบันขึ้นมาเพื่อจะมาด่าตำรวจ ด่ารัฐบาล ยืนยันว่าไม่ใช่ คือ เราเชียร์รัฐบาลที่ต้องเป็นรัฐบาลที่ตั้งใจจริงในการปฏิรูป โดยเฉพาะถ้ามีผู้นำรัฐบาลหรือหัวหน้าหน่วยที่ตั้งใจจริงในการปฏิรูป เราต้องให้กำลังใจ อันนี้เป็นหลักของเรา

                ...เราจึงบอกว่าเราจะเฝ้าดูการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจรอบนี้ว่ามันจะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติและเป็นไปตามกฎ ก.ตร.หรือไม่ ถ้าเป็นไปตามนั้นเราจะปรบมือให้ และเราจะช่วยรัฐบาลในการนำเสนอประเด็นการปฏิรูป ซึ่งมันมีหลายประเด็น มีเยอะมาก

-ในฐานะประธานสถาบันฯ มีข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจในระยะเร่งด่วนที่จะสื่อสารผ่านไปถึงนายกฯ ในฐานะประธาน ก.ตร.ว่าควรทำเรื่องใดบ้าง?

อันดับแรกก็เรื่องแต่งตั้งโยกย้าย อันนี้สำคัญมากและไม่ใช่เรื่องที่ทำยากเลย ก็คือยึดระบบอาวุโสในการแต่งตั้งโยกย้ายทุกระดับ ตั้งแต่สารวัตรขึ้นไปจนถึงรอง ผบ.ตร. ซึ่งนายกฯ มีกำแพงเหล็กพิงหลังได้ก็คือรัฐธรรมนูญ

เรื่องที่สอง คือ ต้องพยายามทำให้งานสอบสวนมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น อย่างที่เคยเป็นข่าว พนักงานสอบสวนยิงตัวตาย การแต่งตั้งพนักงานสอบสวนไม่ได้เป็นไปตามหลักความรู้ความสามารถ คือเอาใครก็ได้ที่จบมีวุฒินิติศาสตรบัณฑิตก็ให้มาเป็นพนักงานสอบสวน บางคนเขาเป็นสายสืบสวนมาทั้งชีวิต แต่ไปเห็นว่ามีวุฒินิติศาสตร์ ก็ย้ายมาเป็นพนักงานสอบสวน ทุกวันนี้พนักงานสอบสวนกลายเป็นสุสานของคนที่ไม่อยากทำงานสอบสวนแต่โดนจับไปอยู่งานสอบสวน แต่คนที่อยู่งานสอบสวนแล้ว อยากย้ายไม่ให้ย้าย เรื่องนี้ใน 1 ปีนายกฯ ควรแก้ไข เพื่อทำให้พนักงานสอบสวนมีความเป็นมืออาชีพในสายงานของเขา

เรื่องที่สาม คือปรับเทคนิคในกระบวนการสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะการสอบสวนต้องใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น เช่น ระหว่างการสอบสวนต้องมีการบันทึกภาพและเสียงเป็นส่วนหนึ่งในสำนวนการสอบสวน ซึ่งทำได้ง่ายมาก สั่งไปไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็ทำได้ทันที และพอถึงเวลา อัยการกับศาลจะดูสำนวน ก็จะมาดูตรงนี้ จากที่ทุกวันนี้ไปสอบปากคำผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย อัยการกับศาล ไม่มีสิทธิ์เห็น

สำหรับเรื่องที่สี่ก็คือ เรื่องการโอนส่วนงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจออกไป เช่น ตำรวจจราจร จังหวัดไหนมีความพร้อมให้จังหวัดเขาทำ เพราะเรามองว่าจราจรไม่ใช่เรื่องยาก หากไปดูเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ไม่มีเมืองไหนใช้ตำรวจจราจรเยอะเท่าประเทศไทย ต่างประเทศ เขาใช้ระบบกายภาพ เช่น ระบบกล้อง-ไฟแดง แต่เมืองไทยมีตำรวจจราจรยืนอยู่ทุกสี่แยก ก็ควรให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบ แต่หากเกิดคดีอาญาเกี่ยวกับการจราจร ถึงค่อยส่งโรงพักตำรวจทำ เช่นเดียวกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ทำงานตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ก็ควรให้ไปขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย หรือป่าไม้ เพราะก็มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้-อุทยานแห่งชาติฯ ดูแลอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีตำรวจป่าไม้ให้การทำงานซ้ำซ้อน ซึ่งมีการสำรวจแล้วว่ามี 10 หน่วยงานที่ต้องถ่ายโอนออกไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบแทน

เรื่องสุดท้ายคือ การผลักดันให้การแก้ไขประมวลวิธีพิจารณาความอาญาที่เป็นร่าง พ.ร.บ.ฯ อยู่ตอนนี้ ให้ผ่านสภา ส่วนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ที่คณะกรรมการชุดมีชัย ฤชุพันธ์ เคยศึกษายกร่างไว้ ผมมองว่ายังมีปัญหาอยู่บางจุด ยังไม่อยากให้ผ่าน

ส่วนระยะยาวก็คือ การให้ประชาชนต้องมีอำนาจตรวจสอบตำรวจได้มากขึ้น เช่น มีตัวแทนเข้าไปนั่งใน ก.ตร.หรือการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องในทุกระดับ ให้คุณให้โทษได้ เป็นต้น

ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ย้ำว่า การขับเคลื่อนของสถาบันเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องระยะยาว เปรียบไปก็เหมือนอย่างที่สำนักงาน สสส.รณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่-ไม่ดื่มสุรา เขาก็ทำกันมาเป็น 10 ปีก็ยังไม่สำเร็จ แต่ก็ต้องทำ ก็เหมือนกับเรื่องการปฏิรูปตำรวจก็ต้องทำเพื่อปลุกจิตสำนึก ต้องทำกิจกรรมต่อเนื่อง ซึ่งก็พบว่าหลายฝ่ายก็ให้กำลังใจ รวมถึงหน่วยงานรัฐอย่างตำรวจก็มีการให้กำลังใจพวกเรา แต่สิ่งที่เรายังขาดคือภาคการเมือง เขายังไม่เข้าใจ ก็ต้องทำให้พรรคการเมืองเห็นความสำคัญของเรื่องเหล่านี้แล้วนำไปใส่ไว้ในนโยบายพรรคการเมือง เพราะหากไม่มีพรรคการเมืองสนับสนุน หรือคนที่มีอำนาจหน้าที่ในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ คนที่มีอำนาจในการออกกฎหมายเห็นด้วยกับเรา ภาคประชาชนตามลำพังก็ทำไม่ได้

-ประชาชนอาจยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เขาอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว สังคมเลยไม่ค่อยตื่นตัว?

กระบวนการยุติธรรมไม่ได้หมายถึงการไปขึ้นโรงพักอย่างเดียว แค่คุณออกมาบนถนนก็คือกระบวนการยุติธรรมแล้ว การใช้รถใช้ถนนทำไมคนหนึ่งทำได้ แต่อีกคนทำไม่ได้ เช่น บางจุดมีป้ายห้ามจอด แต่ทำไมยังมีการจอดรถได้ หรือลูกหลานไปเที่ยวสถานบริการที่เปิดกันจนยันเช้า ทั้งที่ห้ามเปิด คนยังเข้าใจผิด ไปคิดว่ากระบวนการยุติธรรมคือเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องแค่ขโมยขึ้นบ้าน หรือถูกทำร้ายร่างกาย ต้องไปแจ้งความที่โรงพัก พบอัยการ ขึ้นศาล แต่กระบวนการยุติธรรมอยู่รอบๆ ตัวเรา เพราะเป็นเรื่องของสิทธิที่ประชาชนต้องได้รับการคุ้มครอง เช่น มีผับมาเปิดใกล้บ้าน รบกวนเวลานอนหลับ หรือสิทธิบนฟุตปาธที่ควรเดินไปมาได้ แต่กลับมีวินมอเตอร์ไซค์มาจอดบนฟุตปาธ แต่ทั้งหมดตำรวจกลับไม่ดำเนินการใดๆ จึงควรต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ของประชาชน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของ ผบ.ตร.

“การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนเราได้ทุกวัน เพียงแต่เราไม่เข้าใจ ไปมองว่ากระบวนการยุติธรรมคือตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งไม่ใช่ เพราะยุติธรรมคือความยุติธรรมในสังคม เราไม่ได้พูดแบบโลกสวย แต่มันอยู่ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐว่าจะทำให้มันเกิดหรือไม่เกิด”

..........................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"