ลุ้นผลมาตรการกระตุ้น ศก.


เพิ่มเพื่อน    


    มาตการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล วงเงิน 3.16 แสนล้านบาทนั้น ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ บรรเทาภาระค่าครองชีพ และกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศนั้น ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีบัตรสวัสดิการจำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน ให้แก่ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.6 ล้านคน ซึ่งเริ่มจ่ายเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเลท) แล้วตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา
    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยืนยันว่า มาตรการที่ออกมานี้ เป็นเครื่องที่เตรียมไว้อยู่แล้ว สำหรับรองรับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจโลก และปัญหาสงครามการค้า ที่ส่งผลต่อการส่งออกของไทย หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2562 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศออกมาแล้วว่าขยายตัวได้เพียง 2.3% โดยเป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส
    โดย "อุตตม สาวนายน" รมว.การคลัง ชี้แจงว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นมาตรการเร่งด่วนและมีความจำเป็น โดยสิ่งที่รัฐบาลต้องทำในขณะนี้ คือ การประคับประคองความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้จ่าย และนักลงทุน เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้ความเชื่อมั่นในส่วนนี้อ่อนตัวเร็วและมากเกินไป เนื่องจากกังวลว่าอาจจะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างได้ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไทยหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภายนอกไม่ได้แล้ว ถ้าไทยไม่มีมาตรการออกมาประคอง เศรษฐกิจก็จะยิ่งทรุดไปมากกว่านี้ และส่วนตัวยังเชื่ออีกว่า ในระยะต่อไปหากประเทศขนาดใหญ่ที่มีปัญหากันอยู่ตอนนี้สามารถหารือจนปัญหาคลี่คลายได้ มาตรการตรงนี้ก็จะส่งผลดีให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าต่อได้ทันที
    ทั้งนี้ รมว.การคลัง มองว่าหากทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือกับชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ จะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดี โดยเบื้องต้นคาดว่ามาตรการนี้จะมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มได้อีก 0.5% จากเป้าหมายในปีนี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3% ดังนั้นโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 3.5% ในช่วงสิ้นปีก็มีความเป็นไปได้สูง
    ขณะที่ภาคเอกชน อย่าง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่า มาตรการดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่! แม้ว่ามาตรการจะมีเม็ดเงินดำเนินการสูงถึงกว่า 3 แสนล้านบาท แต่ EIC ประเมินว่าผลต่อเศรษฐกิจจะมีอย่างจำกัด เพราะมาตรการส่วนใหญ่เป็นมาตรการด้านสินเชื่อ
    ในส่วนมาตรการประเภทเงินโอนที่ให้กับเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการให้เงินเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว จะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านโยบายประเภทสินเชื่อซอฟต์โลน ที่มีประมาณ 2 ใน 3 ของวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อตามมาตรการส่วนหนึ่ง อาจเป็นสินเชื่อที่จะมีการจัดทำอยู่แล้วแม้ไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
    ประกอบกับสินเชื่อที่ได้ไปอาจเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์) ซึ่งทำให้เกิดการใช้จ่ายหรือลงทุนใหม่ในระดับต่ำ รวมถึงมาตรการสินเชื่อยังอาจมีข้อจำกัดจากนโยบายอื่น เช่น มาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) ที่ทำให้มีมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอาจจะไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร ขณะที่มาตรการที่อยู่ในรูปเงินโอนนั้นมีแนวโน้มเพิ่มการใช้จ่ายใหม่ได้ดีกว่า เพราะเป็นการเพิ่มความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนโดยตรง
    อย่างไรก็ดี EIC ประเมินว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตเพิ่มได้อีกเพียง 0.3% เท่านั้น และจากปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออก เป็นผลให้ EIC ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 3% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.1% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อน เพราะฐานต่ำ โดยในระยะต่อไปคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังมีทิศทางชะลอลงต่อเนื่องตามภาคการส่งออกที่ยังเป็นปัจจัยกดดัน 
    รวมถึงภาคเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออก โดยประเมินว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.4% จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้เพียง 2.6% เท่านั้น 
    คงต้องติดตามกันต่อไปว่า "ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 3.16 แสนล้านบาท" ของรัฐบาล จะเพียงพอในการช่วยประคองให้เศรษฐกิจของประเทศยังคงรักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องอย่างที่ตั้งเป้าหมายหรือไม่ เพราะปัจจัยลบจากนอกประเทศที่ยังคงส่งผลกดดัน "ภาคส่งออก" ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทยอย่างหนัก.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"