นปช.ดิ้นขอความเป็นธรรม


เพิ่มเพื่อน    

  "ทนายแดง" สวน "ราเมศ" ยกคำพิพากษาฎีกาสั่ง 3 แกนนำ นปช.จ่ายค่าชดเชยคดีเผาเมืองช่วงชุมนุมปี 53 แค่บางส่วน ซัดกลับลืมเหตุใช้กระสุนจริงกับ ปชช.แล้วหรือ "จตุพร" ยอมรับคำตัดสิน ยันไม่หนีพร้อมชดใช้ เล็งหาช่องร้องขอความเป็นธรรม ระบุมาเป็นประธาน นปช.หลังเหตุการณ์หลายปี 

    เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ในฐานะทนายความแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงกรณีนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยผลคำพิพากษาศาลฎีกาส่วนคดีแพ่งที่ให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำ นปช. ชดใช้ค่าเสียหายคดีวางเพลิงเผาทรัพย์ ระหว่างการชุมนุมของ นปช.ในปี 2553 รวมกว่า 19.3 ล้านบาทว่า ฝากถึงนายราเมศในฐานะที่บอกว่าเป็นผู้รับมอบจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ให้ไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ว่าหากจะมาพูดถึงบางส่วนบางตอนในคำพิพากษาที่อ้างว่าถึงที่สุดแล้ว ตนถือว่าเป็นคำพูดของคนนอกคดี ศาลแพ่งก็ไม่รับฟ้องในส่วนของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ  อดีตรองนายกฯ ตั้งแต่แรก ส่วนในสำนวนนายราเมศรู้ข้อเท็จจริงอะไรบ้าง
    นายวิญญัติกล่าวว่า ลำพังเพียงผลคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยข้อเท็จจริง อันเป็นที่มาของเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยที่แตกต่างกับเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นั้น ตนมองว่ายังเป็นปัญหามากที่จะมาชี้วัดความจริงที่เกิดขึ้นได้เพียงใด เจ้าของอาคารและผู้เช่าอาคารเขารู้ดีว่ามันเกิดอะไรขึ้น การเผาทรัพย์หลายแห่งวันนั้นเป็นผลมาจากคำสั่งใคร ความเห็นตนต่อคำวินิจฉัยคดีนี้ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลฎีกา ตนน้อมรับแต่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถยึดเป็นข้อยุติสรุปเหตุการณ์ครั้งนั้นได้หรือไม่  
    "ผมและหลายท่านมีข้อโต้แย้งหลายประเด็น ทั้งจากข้อเท็จจริงในทางนำสืบของโจทก์ทั้งสี่ด้วย หากเข้าใจเอาว่าการเผาทรัพย์หลังยุติการชุมนุมเกิดจากผู้ชุมนุม นปช. จับใครได้หรือไม่ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมของเจ้าหน้าที่เป็นกองทัพ แล้วที่คนในประเทศรับรู้ว่ามีประชาชนตายร่วมร้อย บาดเจ็บนับพันคน จะทำไม่รู้ไม่ชี้ ทหารนับหมื่นที่มีการออกคำสั่งใช้อำนาจพิเศษให้มาควบคุมพื้นที่ มีการใช้กระสุนจริงกับประชาชนนั้น ความจริงเช่นนี้ไม่มีความหมาย หรือว่านายราเมศแกล้งลืม" ทนายความ นปช.กล่าว
    ขณะที่นายจตุพรกล่าวว่า ตนและพวกพร้อมยอมรับคำตัดสินของศาล หลังจากนี้จะหารือกับศาลและโจทก์ในคดีดังกล่าวเพื่อดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป รวมถึงจะหาช่องทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากข้อเท็จจริงในส่วนของตนนั้นตกเป็นจำเลยที่ 6 พยานทั้งของโจทก์และจำเลยพูดตรงกันว่าไม่ได้มีส่วนในการปลุกเร้าให้ประชาชนก่อเหตุ เพียงแต่บอกให้ไปรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัด 
    "เช่นเดียวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ตกเป็นจำเลยที่ 11 แต่ผมต้องชดใช้ค่าเสียหาย เพราะเป็นประธาน นปช. แต่ข้อเท็จจริงช่วงที่เกิดเหตุก็ไม่ได้เป็นประธาน นปช. มาเป็นในปี 2557 หรือหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 4 ปี จึงอยากหาช่องทางร้องขอความเป็นธรรมในส่วนนี้" นายจตุพรกล่าว
    ประธาน นปช.กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้พูดถึงเรื่องวิบากกรรมของ นปช.ยังไม่สิ้นสุด พูดไม่ทันขาดคำอย่างกับตาเห็น ในวันที่ 22 ส.ค.62 มีคำพิพากษาศาลแพ่งให้ร่วมชดใช้ค่าเสียหายในคดีแพ่ง  ซึ่งต่างคนก็ไม่ทราบว่าศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาเนื่องจากไม่ได้รับหมายศาล คดีนี้โจทก์ในฐานะเจ้าของอาคารพาณิชย์และผู้เช่าอาคารพาณิชย์ บริเวณถนนราชปรารภ ซึ่งเกิดเพลิงไหม้ได้ฟ้องไม่ใช่เพียงแค่ 3 คนเท่านั้น ยังมีจำเลยอีกหลายคน โดยคดีนี้มี 2 สำนวนซึ่งมารวมกันภายหลัง 
    ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 ชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำเลยที่ 2 ชื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยที่ 3  กระทรวงการคลัง จำเลยที่ 4 กระทรวงกลาโหม จำเลยที่ 5 กองทัพบก จำเลยที่ 6 ตน จำเลยที่ 7 นาย ณัฐวุฒิ จำเลยที่ 8 นายอริสมันต์ จำเลยที่ 9 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 10 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์  บริพัตร จำเลยที่ 11 นายทักษิณ ชินวัตร ในการวางเพลิงคดีดังกล่าวนี้ไม่มีการจับกุมผู้ต้องหาได้แม้แต่เพียงรายเดียวในคดีอาญา ส่วนในคดีแพ่งโจทก์ก็ไม่สามารถมายืนยันได้ว่าใครเป็นคนเผา และโจทก์ก็ไม่ได้ปรักปรำใคร ได้ฟ้องคนที่เกี่ยวข้องในการชุมนุมทั้งหมด ทั้งฝ่ายรัฐและผู้ชุมนุมร่วมกันเป็นจำเลย เรียกค่าเสียหายตามจริง
    "เมื่อผมได้ยินข่าวคำพิพากษานี้ด้วยว่าไม่ได้รับหมายจึงไม่ได้ไปฟัง เมื่อฟังข่าวนี้เราก็เลือกที่จะตั้งหลักแล้วก็เงียบ แต่ปรากฏว่านายราเมศเป็นคนออกมาแถลงเรื่องนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอธิบายด้วยเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง แล้วศาลฎีกาลงให้พวกตนทั้งสามคนร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 19 ล้าน 3 แสน รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 เป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาท" ประธาน นปช.กล่าว
    นายจตุพรกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลา 19.00 น.เศษของวันที่ 19 พ.ค.53 ภายหลังพวกตนได้ยุติการชุมนุมในเวลา 13.45 น. ซึ่งจากสาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลฎีกามีถ้อยคำให้การของโจทก์ที่น่าสนใจ ระบุว่าในวันที่ 19 พ.ค.มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมพื้นที่ชุมนุมในเวลา 14.00 น.  กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศสลายการชุมนุม จนกระทั่งเวลา 16.00 น.มีเจ้าหน้าที่ทหารวางรั้วลวดหนามไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าบริเวณถนนราชปรารภ และนำป้ายข้อความว่าพื้นที่ใช้กระสุนจริงวางไว้กลางถนน เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น.มีเจ้าหน้าที่ทหารกลุ่มหนึ่งมาเคาะประตูบ้าน แจ้งให้โจทก์ที่ 2 ออกจากบ้าน โดยอ้างว่าจะมีการดับไฟฟ้าเพราะต้องการให้ผู้อยู่อาศัยในบริเวณนี้ย้ายไปอยู่ที่อื่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมพื้นที่ จะได้ปฏิบัติการเคลียร์ผู้ชุมนุมออกไปจากสามเหลี่ยมดินแดง และหากไม่ออกไปจะไม่รับรองความปลอดภัย ต่อมาเวลาประมาณ 19.45 น.ก็ได้เกิดเพลิงไหม้บริเวณอาคารของโจทก์ที่ 2 ถึง 4 ได้รับความเสียหาย ซึ่งขณะนั้นพื้นที่อยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร
    "ส่วนหนึ่งของคำพิพากษามีใจความว่า ในการปราศรัยของจำเลยที่ 6 ได้ใช้คำพูดปราศรัยในทำนองปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมตอบโต้อำนาจรัฐด้วยการเผาบ้านเผาเมือง เหมือนจำเลยที่ 7 นายณัฐวุฒิ และจำเลยที่ 8 นายอริสมันต์ ซึ่งก็ได้อธิบายความกันแล้วว่าคำพูดดังกล่าวอยู่กันคนละห้วงเวลา จำเลยที่ 6  หมายถึงตน เพียงพูดในลักษณะให้มารวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดเหมือนคำพูดของจำเลยที่ 11 คืออดีตนายกฯ ทักษิณ แต่จำเลยที่ 6 เป็นประธานกลุ่ม นปช. แสดงบทบาทเป็นหลักเป็นแกนสำคัญในการชุมนุมครั้งนี้โดยตรง จำเลยที่ 6 อยู่ร่วมรับรู้การปราศรัยของจำเลยที่ 7 และ 8 และกล่าวอ้างกรณีที่ นายจตุพรให้การเบิกความแก้ตัวแทนจำเลยที่ 7 และ 8 ในทำนองพูดเพื่อป้องปราม มิให้รัฐใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาสลายการชุมนุม" นายจตุพรกล่าว 
    ประธาน นปช.กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ คดีนี้ตนอยากสื่อสารไปยังโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ว่า ไม่มีผู้ต้องหาสักรายเดียวที่ถูกจับกุมและซัดทอด โจทก์เบิกความชัดเจนว่าถูกเจ้าหน้าที่ให้ออกจากบริเวณอาคารดังกล่าว และอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่แบบเบ็ดเสร็จ มีการขึงลวดหนามเรียบร้อย และเขียนป้ายพื้นที่ใช้กระสุนจริง รวมทั้งระบุว่าเมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วก็เป็นที่ยุติ แบบไม่ทันตั้งตัว พวกตนก็เป็นหนี้กันได้ 19 ล้าน 3 แสนบาท สามคนบวกดอกเบี้ยเฉลี่ยคนละ 10 ล้าน ซึ่งก็ต้องปรึกษาหารือกันกับพรรคพวกอีกสองคน แม้เรื่องทั้งหมดไม่ได้กระทำการ ไม่ว่าอย่างไรเมื่อคำตัดสินออกมาเช่นนี้ พวกตนก็ต้องน้อมรับทุกประการ เพียงแต่ข้อเท็จจริงโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นเอกชน เขาไม่ได้ฟ้องในลักษณะปรักปรำ เขาจึงฟ้องทุกภาคส่วน ไม่ว่าฝ่ายรัฐ กระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร หรือผู้ชุมนุม จำเลยอีกสองคนทั้งนายณัฐวุฒิและนายอริสมันต์ ก็มีประเด็นที่ได้มีการหักล้างกันไปแล้วว่าพูดที่เขาสอยดาวและหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เป็นคนละบริบท 
    "ผมเกรงจะมีการขยายนำเอาคำพิพากษานี้มาหยิบใช้ทางการเมืองจนเกินงาม หลังจากนี้เราทั้งสามคนจะมานั่งคุยกันว่ามีขั้นตอนทางกฎหมายเรื่องชดใช้ค่าเสียหายอย่างไร ในกรณีจำเลยไม่ได้รับหมายศาลซึ่งก็พิสูจน์ได้" ประธาน นปช.กล่าว
       วันเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพแกนนำ นปช.นั่งรับประทานอาหารร่วมกัน พร้อมระบุข้อความมีเนื้อหาว่า "นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายเหวง โตจิราการ  นายอดิศร เพียงเกษ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อาชีพ : จำเลย นางธิดา ถาวรเศรษฐ  นางสิริสกุล ใสยเกื้อ อาชีพ : นายประกัน".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"