ชวนกรีดยุคทักษิณในไอปา ขาดถ่วงดุลโกงกัดกินสังคม


เพิ่มเพื่อน    

  ไทยเปิดประชุม "AIPA" นายกฯ หวังต่อยอดความเข้มแข็งทุกด้านของอาเซียน ขอความร่วมมือปราบยาเสพติด-กำจัดขยะพลาสติกทะเล รับกฎหมายเข้มแค่ไหนก็แก้ยากถ้าไม่ปรับจิตสำนึก  "ชวน" ย้ำทุกคนควรได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย ยกเหตุไทยทุกข์จากปัญหาความไม่ยุติธรรม หวังฝ่ายนิติบัญญัติปกป้องการเลือกปฏิบัติจากฝ่ายบริหารได้ หากขาดการถ่วงดุลสินบนฉ้อราษฎร์บังหลวงจะกัดกร่อนสังคม 

     เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 สิงหาคม ที่โรงแรมแชงกรี-ลา ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้าร่วมเป็นเกียรติและกล่าวต้อนรับคณะผู้แทน  AIPA ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 40 พร้อมกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า  ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีของ AIPA เป็นองค์กรคู่ขนานทำงานเคียงข้างกับอาเซียน ช่วยเติมเต็มการทำงานของฝ่ายบริหารผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เสาหลักที่ 3 คือเสาแห่งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งมีประชาชนเป็นรากฐานสำคัญ
     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ฝ่ายบริหารของอาเซียนจำเป็นต้องพึ่งพา AIPA ในการส่งต่อนโยบายไปถึงประชาชนให้ได้ รวมถึงการสนับสนุนจากภาคนิติบัญญัติ นโยบายต่างๆ จึงจะเกิดขึ้นได้และประสบความสำเร็จ ปัจจุบันอาเซียนเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องหลายประการ เช่น การค้ามนุษย์ อาชญากรรม หรือสิ่งแวดล้อม ทราบว่า AIPA มีความร่วมมือที่จะผลักดันภูมิภาคอาเซียนให้เป็นประชาคมที่ยั่งยืน โดยเฉพาะความพยายามที่จะสร้างอาเซียนให้ปลอดยาเสพติด เราต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้งในประเทศและความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อทำให้ปัญหายาเสพติดในอาเซียนนั้นหมดไป ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังมีความตื่นตัวเรื่องภาวะโลกร้อน การลดปัญหาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาเซียนก็ให้ความสนใจมาโดยตลอดและร่วมมือกัน ไทยในฐานะประธานอาเซียนมุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้นต้องช่วยกันจัดการขยะพลาสติกในทะเล หวังอย่างยิ่งว่า AIPA จะทำปฏิญญากรุงเทพฯ  เป็นกรอบในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไปอย่างเร่งด่วน
     "ในปี 2562 เราจะมีความร่วมมือระหว่างกันเพื่อสร้างความยั่งยืนในอาเซียน โดยประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนได้กำหนดแนวคิดหลักคือ ร่วมมือร่วมใจ ก้าวไปอย่างยั่งยืน ต้องสำนึกอยู่เสมอว่าเราต่างไม่สามารถจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียงลำพัง จำเป็นต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการทำงานร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมือของ AIPA จะสามารถอำนวยความสะดวกทางกฎหมาย ที่จะช่วยให้ข้อตกลงดังกล่าวที่เรามีส่วนร่วมกัน และลงนามโดยสมาชิกทุกประเทศ ร่วมผลักดันกฎหมายให้เกิดความสอดคล้องประสานงานกันเป็นอย่างดี และเป็นกรอบแนวทางเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของอาเซียนในทุกมิติสืบไป" 
    นายกฯ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราในบรรดาผู้นำอาเซียนต้องระลึกถึงอยู่เสมอคือ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง บริหารประเทศโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เอาความเดือดร้อนและปัญหามาแก้ไขปัญหาในทุกระบบ กฎหมายที่จำเป็นต้องปรับให้เป็นสากลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดภาระของประชาชนลงในทุกมิติที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน โลกกำลังเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีและดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ต้องนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เราต้องไม่แก้ปัญหาหนึ่งเพื่อไปสู่การเริ่มปัญหาใหม่ แต่ต้องแก้ทั้งสองอย่างไปด้วยกันคือกฎหมายและจิตสำนึก ความเข้าใจของประชาชน ถ้าเราไม่ทำไปด้วยกันมันจะไปไม่ได้ทั้งหมด 
     "ประเทศในอาเซียนต่างมีอัตลักษณ์ที่ต่างกัน แต่จะทำอย่างไรให้เรามีความร่วมมือเกิดขึ้นให้ได้ โดยทำงานร่วมกันในหลายมิติทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ กระทรวงการต่างประเทศ รวมไปถึงการประชุมระดับผู้นำด้วยกัน เชื่อว่าทุกประเทศในอาเซียนมีศักยภาพที่จะเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเข้มแข็งและอดทน  ภายใต้การสนับสนุนและร่วมมือของประเทศต่างๆ โดยสุดท้ายนี้ประเทศไทยพร้อมสนับสนุนและสร้างความก้าวหน้าให้อาเซียนในทุกมิติ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 
     จากนั้นนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธาน AIPA กล่าวเปิดการประชุมโดยได้ขออนุญาตนายกฯ กล่าวต่อสมาชิกอาเซียนเป็นภาษาอังกฤษว่า เป็นเวลา 42 ปีที่ไอปาได้ทำหน้าที่เป็นเวทีที่จะส่งเสริมความร่วมมือในหมู่สมาชิกรัฐสภาอาเซียน จากการเริ่มต้นแบบเรียบง่าย เราได้เติบโตขึ้นจนแวดล้อมไปด้วยสมาชิกรัฐสภา 10 ประเทศ รวมทั้ง 12 รัฐสภาสังเกตการณ์จากทั่วโลก สิ่งนี้คือความสำเร็จที่โดดเด่น คือบทพิสูจน์ถึงความใฝ่ฝันที่เรามีเหมือนกัน ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าเราแข็งแกร่งขึ้นอย่างมากเมื่ออยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคงของเรา เศรษฐกิจของเรา หรือความเท่าเทียมทางสังคมของเรา  
    "แต่ประวัติศาสตร์ยังคงถูกเขียนขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเราต้องระมัดระวังด้วยเกรงว่าเราจะถูกกลืนหายไปในกระแสของการเปลี่ยนแปลง การเกิดขึ้นของลัทธิหัวรุนแรง ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ภัยพิบัติจากการอพยพ และสภาวะเสื่อมโทรมจากการคอร์รัปชัน ได้เตือนพวกเราว่าโลกยังไม่หยุดหมุน และถึงแม้เราจะดิ้นรนที่จะอยู่รอด ความท้าทายใหม่ก็คุกคามที่จะบั่นทอนความสำเร็จของเรา ในช่วงเวลาที่สับสนวุ่นวายนี้ก็จะเกิดความอยากที่จะใช้การแก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วน แต่ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ โดยการทำเช่นนั้นเราจะไม่ประสบความสำเร็จใดๆ นอกจากทำให้สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ยิ่งล่าช้า ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นก็จะทับถมในระดับสูงสุดบนความยากจนที่สุด ความอ่อนแอที่สุด  และความเสี่ยงที่สุดของเรา"
    นายชวนกล่าวต่อว่า นั่นคือสาเหตุว่าหัวข้อของการประชุมใหญ่ในปีนี้คือ นิติบัญญัติร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล เพื่อประชาคมที่ยั่งยืน ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติของอาเซียน เราเป็นหน่วยงานการปกครองที่ใกล้ชิดกับประชาชนของเรามากที่สุด และอยู่ในตำแหน่งเฉพาะตัวที่จะเห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดกับประชาชนเหล่านั้น ด้วยการฟังเสียงของประชาชนบอกเล่า เราสามารถจะจัดการกับต้นเหตุที่แท้จริง และทำให้ประชาชนมั่นใจถึงความยั่งยืนของการกินดีอยู่ดี ตนเชื่อว่ามีสี่บทเรียนที่สำคัญที่ต้องระลึกไว้
    บทเรียนแรกคือ เราต้องจัดลำดับความสำคัญ มักจะมีอะไรให้เราทำเกินกว่าที่ความสามารถของเราจะทำได้เสมอ ในฐานะนักนิติบัญญัติ ก็ขึ้นอยู่กับเราที่จะตัดสินใจว่าปัญหาไหนของประชาชนต้องอยู่ในลำดับต้นๆ ดังนั้นเราต้องแน่ใจว่า ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของเราจะเกิดประโยชน์มากที่สุดสำหรับมวลชน สอง-เราต้องทำงานด้วยกัน ทั้งที่อยู่ในกลุ่มประเทศของเราหรือกับเพื่อนร่วมงานของเรา สาม- เราต้องให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนสิ่งอื่นใด ไม่ว่าเราจะมองไปยังคนในประเทศของเรา หรือผู้อยู่อาศัย 647 ล้านคนของอาเซียน หรือมากไปกว่านั้นที่พลเมืองของโลก สี่-เราจำเป็นต้องเคารพหลักนิติธรรม ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติ กฎหมายเป็นแก่นแท้ของเรา เรารักษาระเบียบของสังคมผ่านกฎหมาย แต่ในอีกด้านหนึ่งกฎหมายคือวิธีที่สังคมดูแลประชาชน"
    ประธานรัฐสภากล่าวด้วยว่า ไม่มีประเทศใดสามารถหยิบยื่นให้พลเมืองของเขามีความมั่งคั่งเท่ากันได้ แต่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครควรจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย ขอให้ตนได้เล่าถึงช่วงเวลาที่ประเทศไทยซึ่งแม้จะอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้ประสบกับความทุกข์จากปัญหาความไม่ยุติธรรมอย่างชัดเจน เมื่อฝ่ายบริหารได้เลือกปฏิบัติในทางต่อต้านต่อกลุ่มคนที่มีทัศนะทางการเมืองแตกต่างจากพวกเขา แต่ก็ยังคงมีความหวัง 
    "เมื่อสภานิติบัญญัติสามารถปกป้องการเลือกปฏิบัติของฝ่ายบริหารได้ และรักษาไว้ซึ่งความเท่าเทียมทางกฎหมาย ผมได้รับเกียรติในการทำหน้าที่ ทั้งการเป็นผู้นำฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หากขาดการถ่วงดุลอำนาจ สินบนและฉ้อราษฎร์บังหลวงจะกัดกร่อนสังคมจากภายใน ประชาคมที่ไม่รักษาหลักนิติธรรมจะไม่สามารถมีความเท่าเทียมกันได้อย่างแท้จริง" นายชวนกล่าว  
    ด้านนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ เลขานุการนายชวน ในฐานะกรรมการคณะกรรมการอำนวยการประชุมไอปา แถลงภายหลังเปิดงานว่า ปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่ 7 ของไทย โดยจัดงานระหว่างวันที่ 25-30 ส.ค. มีผู้เข้าร่วมจากประเทศอาเซียนครบทั้ง 10 ประเทศ มีตัวแทนจากประเทศสังเกตการณ์ 5 ประเทศ และตัวแทนจากองค์กรต่างๆ 5 ประเทศ รวมผู้เข้าประชุมทั้งสิ้น 440 คน งานประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กฎหมายของแต่ละประเทศในอาเซียนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน. 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"