สเปกพรรค 'บิ๊กตู่' ต้องคิดแบบปชช.


เพิ่มเพื่อน    

    “ประยุทธ์” เผยยังไม่มีพรรคใดทาบทาม มีแต่พูดผ่านสื่อ ตีกรอบสเปกพรรคต้องคิดแบบประชาชน รู้จักงบประมาณดีและไม่ปล่อยคนทำผิดกฎหมาย “ปชป.” โอ่พื้นที่อีสานมีคนแห่สมัครลงชิงชัยเพียบ “จ้อน” คุยมี 3 กลุ่มทาบนั่งหัวหน้า ส่วน “ณัฐวุฒิ”  โวตั้งพรรคง่าย พร้อมเป็นแนวร่วมต้านนายกฯ คนนอก 
    เมื่อเวลา 12.30 น. ที่โรงแรมดุสิตธานี จ.เพชรบุรี  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ถึงกรณีคนรุ่นใหม่อย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารไทยซัมมิทกรุ๊ป จะตั้งพรรคการเมืองเพื่อสู้กับกลุ่มการเมืองที่สนับสนุน คสช. ว่าคนรุ่นใหม่ตั้งพรรคการเมืองก็ขอให้ตั้งไปเถอะ ตั้งขึ้นมาแล้วก็อยู่ที่ประชาชนจะเลือกหรือไม่ ขอให้พิจารณาท่าทีและนโยบายว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ ทุกฝ่ายไม่ว่าเป็นพรรคเก่าหรือใหม่ ประชาชนจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นเรื่องประชาชน   ส่วนตัวเคยเตือนแล้วว่าท่านต้องเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล
    เมื่อถามว่า มีความเห็นอย่างไรที่กลุ่ม กปปส.ซึ่งเคยประกาศสนับสนุนจะไม่ตั้งพรรคการเมืองแล้ว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เคยบอกแล้วว่าไม่ว่ากลุ่มใดที่บอกว่าจะสนับสนุนตนเองก็ต้องขอบคุณ เท่านั้นเอง ทำอย่างอื่นไม่ได้ เรื่องนี้ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะรักใครชอบใครก็แล้วแต่ เหมือนกับพวกเรา ที่รักใครชอบใครก็เชียร์คนนั้น ส่วนจะได้หรือไม่ยังไม่รู้
    “ผมเองยังไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้เลยว่าจะเป็นอย่างไร ไปอย่างไร ใครจะมาขอ ยังไม่เห็นมีใครมาติดต่อผมเลย เห็นแต่พูดกันผ่านสื่อเท่านั้น แล้วถ้าขอมา ผมจะรับหรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่าโจมตีผมมากนักเลย ให้เวลาผมทำงานเถอะ ปัญหามีมากมาย ทั้งนี้ พรรคการเมืองจะเสนอผมได้เพียงพรรคเดียวเท่านั้น วันนี้ยังไม่รู้เลย เพราะไปยังไม่ถึงตรงนั้น ยังปลดล็อกไม่ได้เลย”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 
    ถามต่อว่า ถ้าพรรคการเมืองติดต่อมาจะใช้หลักการอะไรพิจารณา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าตั้งคำถามด้วยการใช้คำว่าถ้า เพราะวันนี้ยังไม่รู้ ทั้งนี้ต้องดูนโยบายของแต่ละคน แต่ละพรรคการเมือง โดยต้องคิดแบบประชาชน และประชาชนเองก็ต้องคิดแบบนี้ โดยต้องดูทั้งนโยบายพรรค คนที่อยู่ในพรรค ว่าเป็นอย่างไร มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม รอบรู้แค่ไหน การเป็นรัฐบาลไม่ใช่เป็นเพียงแค่ ส.ส.ที่ไปรับฟังเสียงจากชาวบ้าน แล้วยื่นขออนุมัติโครงการจากรัฐบาล แต่ทุกคนต้องรู้ระบบงบประมาณของประเทศ ว่าเงินงบประมาณจะมาจากไหน รายรับรายจ่ายของประเทศมาจากไหน ไม่ใช่คิดแต่รายจ่ายอย่างเดียว ต้องหาเงินด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ปล่อยให้คนทำผิดกฎหมาย และได้เงินจากการทำผิดกฎหมายไปมากพอสมควร
    “การแก้ไขปัญหาต้องแก้ไขในภาพรวม และในพื้นที่ที่เดือดร้อน จึงต้องฝากไปถึงตัวแทนพรรคการเมืองด้วย เมื่อถึงเวลาจะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาพูดคุย โดยพูดถึงเรื่องของการจัดทำงบประมาณและอื่นๆ ด้วย เพื่อช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองต่อไป ยืนยันว่าผมไม่ได้ไปอะไรกับใคร แต่เพื่อจะได้เข้าใจตรงกัน ว่าการเข้ามาเป็นรัฐบาลนั้นต้องเข้าใจถึงระบบงบประมาณ การจัดทำแผนโครงการยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท เราจะคุยเรื่องนี้ ไม่ใช่เรียกมาคุยเพื่อกำหนดว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่แล้วกลับบ้าน มันไม่ใช่ ต้องคุยกันให้รู้เรื่องก่อนว่าต้องทำอย่างไร ขอให้เตรียมการให้ดี และขอร้องสื่อมวลชนให้ช่วยทำความเข้าใจด้วย” นายกฯ ระบุ
    เมื่อถามถึงกรณีผลโพลต่างๆ พบว่าคะแนนนิยมของรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ลดลง นายกฯ กล่าวว่า เห็นลงทุกวัน เดี๋ยวลงเดี๋ยวขึ้น ถ้าไปสนใจตรงนี้มากๆ ก็ไม่ต้องทำงานกันแล้ว ทำตามคะแนนโพลก็แล้วกัน แต่มันไม่ใช่ ถ้าโพลคะแนนนิยมตกแสดงว่าเราทำงานได้ผล เพราะมันต้องแก้ไขปัญหา แต่ถ้าทำตามใจคนทุกอย่าง โพลก็จะขึ้นทั้งหมด ยืนยันว่าจะไม่ทำงานด้วยโพล แต่ต้องขอขอบคุณผู้ที่ให้กำลังใจมาโดยตลอด และขอบคุณผู้ที่มองว่าด้อยค่า เพราะเปรียบเสมือนกระจกส่องให้ตน โดยไม่ถือว่าเรื่องนี้เป็นอารมณ์ เพราะบางเรื่องนั้นไม่ใช่สาระและข้อเท็จจริง แล้วจะไปสนใจทำไม เมื่อไม่ได้ทำเช่นนั้น ก็ต้องเชื่อมั่นในตัวเอง 
    “การทำงานวันนี้ไม่ได้ทำด้วยโพลหรือคะแนนนิยม แต่ทำด้วยข้อเท็จจริง มีหลักการและเหตุผล ปัญหาและอุปสรรคมีมากมายหลายอย่าง ต้องแก้ไขกันทั้งหมด ตามดูได้เลยว่าผมทำอะไรไปบ้าง เพราะถ้าไปฟังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ววิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียว จากนั้นมาตัดสิน มันไม่ดี ไม่ถูกต้อง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ปชป.โอ่อีสานแห่สมัคร
    ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลุ่มไทยธรรม นำโดยนายอโณทัย ดวงดารา ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยธรรม เข้าแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ต่อ กกต. เป็นพรรคลำดับที่ 45 โดยนายอโณทัยระบุว่า พร้อมชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เช่นเดียวกับพรรคประชาชนปฏิรูปประเทศ ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน  
    ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองเก่านั้น  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  (ปชป.) กล่าวถึงกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค กำหนดให้อดีต ส.ส.ภาคใต้ของพรรคแสดงตัวตนภายในวันที่ 9 มี.ค.ว่าจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคต่อหรือไม่ ว่ายังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้า และไม่ได้สั่งให้ตรวจสอบเรื่องนี้ ถือว่าเป็นเรื่องของนายนิพิฏฐ์ในฐานะรองหัวหน้าพรรครับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อม โดยพรรคยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จากอดีต ส.ส. ว่าจะยังอยู่กับพรรคหรือย้ายพรรค ต้องรอดูความชัดเจนในช่วงวันที่ 30 มี.ค. ถึง 1 เม.ย. หลัง คสช.เปิดให้พรรคการเมืองเก่าตรวจสอบสถานะ และสำรวจสมาชิก หลังจากนั้นจะชัดเจนเกิดขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีสมาชิกพรรคแสดงเจตนาจะลาออกแต่อย่างใด
    คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้า ปชป. ที่ดูแลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) กล่าวว่า ในส่วนของพรรคมีผู้ยื่นลาออก 2 คน คือ นายกริช คงเพชร อดีตผู้สมัคร ส.ส.มหาสารคาม และนายโชคสมาน ลีลาวงษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.อุดรธานี โดยได้ยื่นใบลาออกเมื่อเดือน ก.พ. และแจ้งว่าจะลาออกไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่น แต่ก็มีผู้สมัครเข้ามาขอเป็นผู้แทนกับพรรคเพิ่มขึ้นมากจนน่าแปลกใจ แตกต่างจากทุกครั้ง โดยมีทั้งระดับ นายกฯ อบจ.และ อบต. รวมทั้งดอกเตอร์ สะท้อนว่าพื้นที่ภาคอีสานของพรรคเป็นที่ยอมรับและจะได้คนคุณภาพเข้ามาเพิ่มอีก
    ด้านนายอัศวิน วิภูศิริ รองหัวหน้า ปชป. ดูแลภาคเหนือ กล่าวว่า ฐานเสียงของพรรคทางภาคเหนือยังอยู่ครบ ไม่มีใครมาแจ้งประสงค์ว่าจะลาออก และยังมีคนหน้าใหม่เข้ามาสมัครขอเป็นผู้แทนเพิ่มอีก
    ขณะที่นายนิพิฏฐ์เผยว่า มีสมาชิกในภาคใต้ยืนยันการมาเป็นสมาชิกพรรคต่อตนเองมากพอสมควรแล้ว แต่ได้ให้ทุกคนยืนยันไปทางพรรคอีกครั้ง ซึ่งต้องตรวจสอบก่อนว่ายืนยันกันครบหรือไม่ แต่มั่นใจว่าจะอยู่กันหมด
        นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การตั้งพรรคการเมืองใหม่ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับ นปช. และมั่นใจว่ามีความพร้อมไม่น้อยกว่าหลายกลุ่มขณะนี้ เพียงแต่โจทย์เฉพาะหน้าสำหรับองค์กรที่ยืนในสนามการต่อสู้มากว่า 10 ปี คือการสรุปบทเรียน จุดแข็งจุดอ่อนจากการขับเคลื่อนที่ผ่านมา คำว่าปฏิรูปแม้ดูเลื่อนลอยถ้าออกจากแม่น้ำ 5 สาย แต่สำหรับ นปช. เป็นคำที่จำเป็นต้องคิดและทำร่วมกันให้เป็นรูปธรรม รวมถึงการจัดการบาดแผลและสัมภาระที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ ซึ่งยังมีผลต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ด้วย
    นายณัฐวุฒิกล่าวว่า หลักการเบื้องต้นสำหรับ นปช.คือเป็นมิตรและแนวร่วมกับทุกกลุ่มทุกพรรคที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตย ไม่ยอมรับนายกฯ คนนอกและการสืบทอดอำนาจ ส่วนท่าทีที่ชัดเจนในสนามเลือกตั้งเห็นว่ายังมีเวลาแสดงออกหลังจากนี้ ทั้งนี้ ส่วนตัวยังเชื่อว่าพรรค กปปส.จะเกิดขึ้น และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะมีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังแน่ๆ เพียงแต่ที่ผ่านมาเกิดการผิดคิว เพราะนายธานี เทือกสุบรรณ ทำปืนลั่นไปตอบคำถามสื่อมวลชนว่านายสุเทพจะตั้งพรรค ทั้งที่ความตั้งใจเดิมคงอยากให้เป็นภาพว่ามาจากความคิดของประชาชนที่เป็นแนวร่วม แต่มาถึงขั้นนี้ไม่มีอะไรต้องเหนียม เพราะประชาชนเขารู้ทันหมดแล้ว 
        "พรรคประชาธิปัตย์ย้ำหลายครั้งว่าไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทย เพราะอุดมการณ์ต่างกัน แต่ไม่เคยฟันธงชัดๆ ว่าจะไม่จับมือกับ คสช.สนับสนุนนายกฯ คนนอก น่าสนใจว่าอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์คือร่วมสืบทอดอำนาจเผด็จการหรือไม่ ก่อนเลือกตั้งอาจยังไม่ชัด แต่หลังเลือกตั้งเชื่อว่าทุกอย่างจะชัดเจน” นายณัฐวุฒิกล่าว
จ้อนคุยมี 3 พรรคทาบ
     นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกระแสจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่ายังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ตามข่าว หรือไปอยู่พรรคการเมืองใด แต่ยอมรับว่ามีพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ และกลุ่มที่กำลังจะจัดตั้งพรรคอย่างน้อย 3 พรรคทาบทามให้ไปเป็นหัวหน้าพรรค เพราะเขาเห็นว่ามีประสบการณ์ทางการเมืองกว่า 25 ปี    ส่วนความคืบหน้าในการพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับในวันที่ 8 มี.ค.นั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ย้ำว่า อย่าให้ใครนำไปอ้างเรื่องคว่ำร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะไม่ใช่ความประสงค์ของรัฐบาล ส่วนมติสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะผ่านหรือไม่ ไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของ สนช.ที่จะพิจารณา แต่เชื่อว่าเขาพยายามรอมชอมกันอยู่แล้ว คนนี้ถอยนิด คนนี้ถอยหน่อย ไม่ต้องมีทิฐิมานะต่อกัน เชื่อว่าจะราบรื่น
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า เป็นห่วงในร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เรื่องการสมัคร ส.ว. 2 ประเภท แม้ปรับให้ไปอยู่ในบทเฉพาะกาลแล้ว แต่อดกังวลไม่ได้ว่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หวังว่าเมื่อ สนช.ให้ความเห็นชอบแล้ว จะทำให้เกิดความชัดเจนด้วยการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะหากปล่อยไปวันหน้ามีคนยกขึ้นมามันจะเกิดปัญหาได้ ซึ่งการส่งให้ศาลตีความไม่กระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง ยังคงอยู่ในกรอบเดือน ก.พ.2562 ที่เป็นการคำนวณแบบเต็มเหยียด
    วันเดียวกัน ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือ MBK39 เดินทางมายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน  ผ่านนายประจักษ์ธรรม โรจนะภิรมย์ เจ้าหน้าที่สอบสวนอาวุโส ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน   โดยเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในวงกว้างเกือบ 400 คนแล้ว โดยเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ  6 มาตรา  โดยเฉพาะมาตรา 44  ที่ระบุว่าพลเมืองไทยมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
    “เคยไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว และเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญควรรีบวินิจฉัย เพราะมีคนถูกตั้งข้อหาจากคำสั่งดังกล่าวเพิ่มขึ้นทุกวัน จึงมายื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถพึ่งได้และดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว” น.ส.ณัฏฐากล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"