จี้เปิดข้อเท็จจริง ปม‘อับดุลเลาะ’ เลิกใช้กม.พิเศษ


เพิ่มเพื่อน    

  เลขาฯ กสม.จี้ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของ "อับดุลเลาะ"  ด้าน "อนค." ข้องใจไม่มีการชันสูตรศพจาก 4 ฝ่าย ชี้กฎหมายพิเศษใน 3 จว.ชายแดนใต้รังแต่จะทำให้เกิดขัดแย้ง "ช่อ" บี้เจ้าหน้าที่เปิดกระบวนการคุมตัวทุกชั่วโมงในค่ายทหาร กห.ยันรัฐบาลไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรง เผย "บิ๊กตู่" ให้แจงตามข้อเท็จจริง ถามกลับ "วันนอร์" ทำอะไรให้คนพื้นที่บ้างหลังชงรื้อระบบคุมผู้ต้องหา

     เมื่อวันจันทร์ นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยถึงกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกเมื่อช่วงเย็นวันที่ 20 ก.ค.62 ไปยังศูนย์ซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ต่อมานายอับดุลเลาะหมดสติภายในค่ายและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ก่อนจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลปัตตานีในช่วงเช้ามืดวันที่ 21 ก.ค. และในวันต่อมาถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยรักษาตัวอยู่ในห้องผู้ป่วยวิกฤติเรื่อยมา กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า สำนักงาน กสม. ขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวและญาติมิตรของนายอับดุลเลาะ และขอให้คำมั่นว่าจะเร่งดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ภายใต้ขอบเขตหน้าที่และอำนาจตามที่ครอบครัวของนายอับดุลเลาะได้ยื่นหนังสือร้องเรียนมายังสำนักงาน กสม.เพื่อให้สามารถนำข้อเท็จจริงเสนอ กสม.พิจารณาในโอกาสแรกได้ในทันที เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ดำรงตำแหน่ง กสม.ไม่ถึงกึ่งหนึ่งและอยู่ระหว่างรอการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ กสม.ชั่วคราวให้ครบ 7 คนหรือรอ กสม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่
    นายโสพลกล่าวว่า ก่อนหน้านี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่านายอับดุลเลาะหมดสติเพราะเหตุใดจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าถูกทำร้ายหรือซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวเช่นเดียวหรือคล้ายคลึงกับนายอับดุลเลาะนั้น กสม.เคยมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างถูกควบคุมตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่ได้รับจากครอบครัว ญาติพี่น้อง ตลอดจนทนายความของผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ระหว่างเดือนธันวาคม 2559- พฤษภาคม 2561 จำนวน 100 คำร้อง 
    "สำนักงาน กสม.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 4 โดย กอ.รมน.ภาค 4 สน.จะได้พิจารณาข้อเสนอแนะดังกล่าวเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ อันจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือข้อกล่าวหาเรื่องการซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างถูกควบคุมตัวได้อีก" นายโสพลกล่าว
     ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง รองโฆษกพรรค อนค.แถลงว่า แม้โฆษกของกองทัพภาคที่ 4 ได้ออกมาชี้แจงว่า นายอับดุลเลาะเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมกับภาวะปอดอักเสบอย่างรุนแรง เป็นการบอกกลายๆ กับสาธารณชนว่าเป็นการเสียชีวิตตามธรรมชาติ เท่ากับเป็นการปฏิเสธไปในตัวว่าการเสียชีวิตไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยเจ้าพนักงาน ขอตั้งข้อสังเกตว่า หากมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีเหตุอันผิดธรรมชาติต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งเราไม่ทราบว่ามีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายอาญา มาตรา 148 วรรคแรกหรือไม่ และหากมีเป็นการชันสูตรพลิกศพจริง กรณีนี้สมควรที่จะมีการชันสูตรพลิกศพเป็น 4 ฝ่าย เพราะเรามีเหตุอันควรสงสัยว่านายอับดุลเลาะหมดสติและเสียชีวิตตั้งแต่การควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงานแล้ว ซึ่งขณะนี้ครอบครัวของนายอับดุลเลาะและประชาชน กำลังตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมนายอับดุลเลาะที่มีร่างกายแข็งแรงถึงไปหมดสติและเสียชีวิตในค่ายทหาร
    "กฎหมายพิเศษที่ใช้กันมากว่า 15 ปีนั้นสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ หรือรังแต่จะทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม ทำให้ประชาชนที่ถูกตั้งข้อสังเกตหรือสันนิษฐานความผิดไว้ก่อนตกเป็นผู้ต้องสงสัย หรือซึ่งทางภาครัฐได้ออกมาแจ้งว่ากล้องวงจรปิดเสียทุกตัว นายอับดุลเลาะถูกกระแสสังคมส่วนหนึ่งชี้ไปแล้วว่าเขาเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ยังไม่พบพยานหลักฐานเลย มีเพียงการตั้งข้อสังเกตของเจ้าหน้าที่เท่านั้น" นพ.วาโยระบุ
    น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค อนค.กล่าวว่า ในเบื้องต้นมีผู้ยื่นกระทู้สำหรับตั้งกรรมาธิการพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องการใช้กฎหมายพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เรายืนยันว่าเราต้องการให้มีการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะที่ผ่านมามีการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ได้แก้ปัญหา แต่เป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักข้อยิ่งขึ้น และทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น อย่างไรก็ตามเราต้องพิจารณาร่วมด้วยว่า หากมีการยกเลิกจริงจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วยหรือไม่
    "ในระยะเร่งด่วน ก่อนจะนำไปสู่การพิจารณาว่ายกจะเลิกกฎหมายพิเศษหรือไม่นั้น สิ่งสำคัญที่กองทัพสามารถทำได้เลยคือ การคืนความจริงให้ประชาชน ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง เพราะคำอธิบายว่านายอับดุลเลาะลื่นล้มในห้องน้ำนั้นไม่มีประโยชน์กับใครเลย รวมทั้งเป็นการดิสเครดิตรัฐบาลและกองทัพไปในตัว ในเมื่อคุณไม่สามารถให้คำอธิบายที่สังคมยอมรับได้ ย่อมไม่สามารถจะหลุดพ้นจากข้อกังขาของประชาชน สิ่งที่ต้องทำคือออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง ว่าการคุมตัวแต่ละชั่วโมงเกิดอะไรขึ้นบ้าง และหลังจากกรณีของนายอับดุลเลาะ เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เพราะฉะนั้นกระบวนการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องสร้างความไว้เนื่อเชื่อใจระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่" น.ส.พรรณิการ์กล่าว 
    ที่กระทรวงกลาโหม (กห.) พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กห.เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังและมีความรอบคอบในการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลังมีการก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ละเลยกระบวนการยุติธรรม ยึดหลักกฎหมายโดยไม่ให้ก้าวล่วงสิทธิมนุษยชน
    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมตั้งกระทู้ถามสดภายหลังนายอับดุลเลาะ  ผู้ต้องสงสัยที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตามกฎอัยการศึกไปยังศูนย์ซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ได้หมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.ท.คงชีพกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้กำชับเอาไว้ว่าให้ดูตามข้อเท็จจริง และให้ความยุติธรรมอย่างทั่วถึงโดยใช้ข้อกฎหมายเป็นหลัก หากมีการทำร้ายร่างกายจึงถือเป็นเรื่องกฎหมายที่ผิดทางอาญาและวินัย พร้อมทั้งให้สอบสวนตามความเป็นจริง โดยให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายทั้งญาติผู้เสียชีวิตและทหาร
    "รัฐบาลไม่มีนโยบายให้กระทำการรุนแรงกับผู้ต้องสงสัย หรือการก้าวล่วงสิทธิมนุษยชนหรือดำเนินการนอกกรอบกฎหมาย ซึ่งหากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐไปกระทำในลักษณะดังกล่าว ในช่วงที่รัฐมีนโยบายในเรื่องการธำรงความยุติธรรมในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็ต้องรับผิดทั้งทางวินัยและอาญา แต่ถ้าไม่ใช่ก็ต้องดูตามข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อให้ญาติของผู้เสียชีวิตได้รับข้อมูลตามความเป็นจริง" พล.ท.คงชีพกล่าว
    เมื่อถามว่านายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชาติ เสนอยกเครื่องระบบควบคุมผู้ต้องหา 3 จชต. ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากขึ้นหรือไม่ พล.ท.คงชีพกล่าวว่า สถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว วันนี้ก็ต้องถามว่าความรับผิดชอบของนักการเมืองในพื้นที่กับปัญหาที่เกิดขึ้นมานานจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกดขี่ รวมถึงปัญหาเรื่องผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ผลประโยชน์ทับซ้อน 
    "จึงต้องถามกลับไปที่นักการเมืองในพื้นที่ด้วยว่า มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างไร แล้วใครได้ประโยชน์ เพื่อให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขร่วมกันกับทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐแต่ต้องรวมถึงภาคประชาชนฝ่ายการเมือง" พล.ท.คงชีพกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"