หมอธีระเกียรติตกเก้าอี้สว. เซ่นคู่สมรสถือหุ้นสัมปทาน


เพิ่มเพื่อน    

    ศาล รธน.ฟัน "หมอธีระเกียรติ" สิ้นสุดความเป็น รมต. ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี ตั้งแต่ 9 พ.ค.62 เหตุคู่สมรสซื้อหุ้น บ.ปูนซิเมนต์ไทยฯ คู่สัมปทานของรัฐเพิ่ม 800 หุ้นขณะเป็น รมต. ส่งผลพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.ทันที "อภิชาติ โตดิลกเวชช์" ส้มหล่นขึ้นมาเป็น ส.ว.แทน ส่วน "ปนัดดา-สุวิทย์-ไพรินทร์" รอด
    ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 27 สิงหาคม องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา,  นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ถูกร้องที่ 1-4 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวกรณีถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ 
    โดยนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยว่า ศาลได้กำหนดประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้ง 4 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ โดยประเด็นในเรื่องการถือหุ้นจะหมายรวมถึงการถือหุ้นที่มีมาก่อนเป็นรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ศาลมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการถือหุ้นอันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ไม่รวมถึงการถือหุ้นที่มีมาก่อนการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี  
    สำหรับการถือหุ้นของ ม.ล.ปนัดดา ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายไพรินทร์ ผู้ถูกร้องที่ 3 พบว่าเป็นการถือหุ้นที่มีมาก่อนได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรี จึงไม่มีเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว สำหรับประเด็นความเป็นรัฐมนตรีของนายสุวิทย์ ของผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายสุวิทย์ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท แฟมิลี่ บิสสิเนส โซไซตี้ จำกัด โดยมีหุ้นจำนวน 19 เปอร์เซ็นต์ และต่อมามีการประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้จดทะเบียนเลิกบริษัท จัดตั้งผู้ชำระบัญชี ในระหว่างดังกล่าวบริษัทไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ การที่นายสุวิทย์ยังมีชื่อถือหุ้นในบริษัทเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ก่อนรับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี แต่ก็อยู่ในช่วงการชำระบัญชีปิดบริษัท นายสุวิทย์จึงไม่ได้กระทำการในลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 
    ส่วน นพ.ธีระเกียรติ ผู้ถูกร้องที่ 4 พบว่าคู่สมรสถือหุ้นบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) โดยได้หุ้นมาก่อนเป็นรัฐมนตรี แม้จะถือหุ้นไว้ต่อไปก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ยังพบด้วยว่าคู่สมรสของผู้ถูกร้องซื้อหุ้นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยฯ เพิ่มเติมจำนวน 800 หุ้น ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ศาลจึงเห็นว่า บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยฯ รับสัมปทานจากรัฐ ทำเหมืองแร่ จึงมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ การถือหุ้นเพิ่มเติมจำนวน 800 หุ้น จึงเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ส่วนข้อโต้แย้งว่าคู่สมรสไม่มีเจตนาเพราะไม่ทราบมาก่อนว่าหุ้นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยฯ เป็นหุ้นสัมปทาน ศาลเห็นว่าก่อนการลงทุนผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการทำกำไร ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ หากรับฟังไว้มาตรการป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญจะใช้บังคับไม่ได้  
    สำหรับข้อโต้แย้งที่มีจำนวนหุ้นเพียงเล็กน้อย ไม่มีสิทธิร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและไม่มีอำนาจครอบงำกิจการนั้น ศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญเขียนห้ามไว้ชัดเจน แม้จะมีหุ้นเพียงหุ้นเดียว ก็เป็นการกระทำต้องห้ามตามความหมายของรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ต่อมาจะมีการขายหุ้นทันที หลังรับทราบการแจ้งข้อกล่าวหาก็ไม่อาจมีผลลบล้างการกระทำอันเป็นการต้องห้ามได้ ทั้งนี้ในประเด็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจะสิ้นสุดลงเมื่อไรนั้น เห็นว่าผู้ถูกร้องได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.62 ก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย แม้จะเป็นคนละเหตุกับคำร้องนี้ แต่เป็นการลาออกเป็นผลเพื่อระงับยับยั้งการขัดกันของผลประโยชน์ที่กำลังดำเนินการหรือจากการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งกว่าการที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่  
    "การจะวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง จึงต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง จึงวินิจฉัยให้มีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดผลเฉพาะตัวเป็นเวลา 2 ปี โดยให้นับแต่วันที่ 9 พ.ค.62  หรือนับตั้งแต่วันที่ลาออก ส่วนความเป็นรัฐมนตรีของ ม.ล.ปนัดดา นายสุวิทย์ และนายไพรินทร์ ไม่สิ้นสุดลง"
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวอาจมีผลต่อตำแหน่ง ส.ว.ของ นพ.ธีระเกียรติ ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ข. (1) ประกอบมาตรา 89 (17) ได้กำหนดลักษณะของการเป็น ส.ว.ไว้ว่า ต้องไม่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งตำแหน่งรัฐมนตรีเข้าข่ายเป็นตำแหน่งทางการเมือง และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคราวเดียวกันนี้ว่าให้ความเป็นรัฐมนตรีของนพ.ธีระเกียรติสิ้นสุดลง ตามมาตรา 170 ประกอบมาตรา 160 (8) ที่ต้องเว้นวรรคการเป็นรัฐมนตรีเป็นเวลา 2 ปี ขณะเดียวกันมาตรา 111 ได้กำหนดถึงเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น ส.ว.ไว้ใน (7) ว่ากระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 184 คือ ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน บริษัท ที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
    ขณะนี้ นพ.ธีระเกียรติดำรงตำแหน่ง ส.ว. แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.ทันที ทำให้นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ซึ่งอยู่ในรายชื่อ ส.ว.สำรองลำดับที่ 2 ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทน
    ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวภายหลังฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ตนได้เตรียมตอบคำถามทั้งหมดตั้งแต่ชั้น กกต. จนถึงศาลรัฐธรรมนูญ ตนรับราชการมา 39 ปี ก็ยึดมั่นในระบบระเบียบการทำงาน วันนี้ก็มีความรู้สึกว่าจะได้ตั้งใจทำงานต่อไป
    เมื่อถามว่ารู้สึกโล่งใจหรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ใครที่ได้ประสบกับเรื่องเช่นนี้ก็คงรู้สึกเช่นนั้น หลังจากนี้คงจะมีใจได้ไปคิดเรื่องอื่นและมุ่งมั่นทำงานอะไรก็ตามที่ได้รับผิดชอบ ขอขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจ ทั้งนี้ตนยังไม่ได้คุยกับอีก 3 รัฐมนตรี และตนไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะกล่าวถึง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"