ต้องทำหน้าที่ตัวเอง 'ชวน'บี้นายกฯมาตอบสภา จ่อใช้เสียงโหวตประชุมลับ


เพิ่มเพื่อน    


    “ประธานชวน” แจงทำหนังสือไปยังรัฐบาลในญัตติอภิปรายตามมาตรา 152 แล้ว เชื่อมั่น “นายกฯ” จะมาตอบเอง แต่ “ประยุทธ์” โนคอมเมนต์ วิษณุชี้ช่องใช้เสียงโหวตเปิดประชุมลับได้ “ไพบูลย์” หอบแคชเชียร์เช็คคืน กกต. หวังแต่งตัวเข้าพลังประชารัฐทันควัน “ต้อม ยุทธเลิศ” ปากกล้าขาสั่นลบบัญชีทวิตเตอร์แล้ว หลังถูกปารีณาแจ้งความหมิ่นศาล อึ้ง! ธนาธรทวีตให้กำลังใจ “สฤณี” ใช้คำถูกคุกคามทางกฎหมาย หลังศาลเรียกแจงเรื่องบทความ
    เมื่อวันพฤหัสบดี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ทำหนังสือไปยังรัฐบาลเพื่อให้ทราบถึงญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่งคิดว่าต้องมีการเปิดประชุมก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภาในวันที่ 18 ก.ย. เพื่อจะได้ไม่ต้องเปิดประชุมพิจารณาเรื่องนี้ในสมัยวิสามัญ
    นายชวนกล่าวว่า หากนับจากวันนี้ไปถึงวันปิดสมัยประชุมก็มีเวลาอีกประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งคิดว่าเป็นระยะเวลาที่เพียงพอในการประสานงานร่วมกัน ส่วนการกำหนดวันอภิปรายนั้น ปกติแล้วเวลานัดประชุมจะกำหนดไว้เบื้องต้น 1 วัน แต่ถ้าการอภิปรายไม่จบถึงจะขยายเวลาเพิ่มเติมออกไป ซึ่งได้หารือกับรองประธานสภาฯ ทั้งสองคนแล้ว ก็ควรต้องบรรจุวาระเรื่องดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ส่วนการประชุมสภาจะเป็นวันใด ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทุกฝ่าย ซึ่งในส่วนของสภาก็มีความพร้อม แต่รัฐบาลในฐานะที่มีหน้าที่ต้องมาชี้แจง สภาก็จะให้เกียรติกัน โดยขอให้รัฐบาลแจ้งวันมา
    "เชื่อว่ารัฐบาลจะมาตอบญัตติดังกล่าว ซึ่งทุกเรื่องต่อจากนี้ไปรัฐบาลต้องมาตอบ เพราะหลายเรื่องที่ผ่านมาเราอาจจะไม่เข้าใจกัน เช่น เรื่องกระทู้ถาม เมื่อมีการประสานงานไปแล้วไม่มีคนมาตอบ เราก็ตัดกระทู้นั้นไป และเอากระทู้ใหม่เข้ามา เพื่อไม่ให้เสียเวลา แต่ต่อจากไปนี้ สภาจะใช้วิธีประสานงานไป และรัฐบาลต้องส่งตัวแทนมาตอบกระทู้ของสภา หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมไม่สามารถมาตอบด้วยตัวเอง แต่ส่วนตัวเชื่อว่านายกฯ จะต้องมา เพราะนี่เป็นวิถีทางประชาธิปไตย ทุกคนต้องมาทำหน้าที่ของตัวเอง แต่จะให้ใครตอบก็เป็นสิทธิของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายที่นายกฯ จะมอบหมายรัฐมนตรีคนใดให้มาตอบ ผมเชื่อว่าในอนาคตทุกคนต้องมาทำหน้าที่ของตัวเองตามภาระหน้าที่" นายชวนกล่าว
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธให้สัมภาษณ์กรณีดังกล่าวภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) 
ปูดช่องประชุมลับ
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการอภิปรายตามมาตรา 152 สามารถขอเปิดเป็นการอภิปรายลับได้หรือไม่ หากเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคง ว่าตามข้อบังคับการประชุมสภาได้เปิดช่องไว้ว่า ในการขอเปิดอภิปรายตามมาตรา 152 สามารถขอเปิดประชุมลับได้ และเคยมีผู้เสนอว่าหากกังวลว่าจะก้าวล่วงในช่วงใดช่วงหนึ่งของการอภิปราย ครม.หรือสภาสามารถขอเสนอให้ประชุมลับได้
    สำหรับการร้องขอให้ประชุมลับมีบัญญัติไว้ใน มาตรา 127 โดยระบุว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมแต่ละสภา แต่ถ้าคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกของแต่ละสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา แล้วแต่กรณี ร้องขอให้ประชุมลับก็ให้ประชุมลับ 
    ทั้งนี้ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) จะประชุมในวันจันทร์ที่ 2 ก.ย. เกี่ยวกับกรณีที่ฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายทั่วไปในประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะหยิบยกเรื่องการร้องขอให้ประชุมลับขึ้นมาหรือไม่ เพราะในอดีตมีหลายครั้งที่ร้องขอให้ประชุมลับในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง
    นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาทและพรแก่ ครม.ว่า สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้ประทานพระโอวาทและพรว่า การที่เป็นรัฐบาล ข้อสำคัญคือมีหน้าที่ แต่คนเรานั้นเมื่อมีหน้าที่แล้วจะมีหน้าที่อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องมีอำนาจด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงอำนาจขึ้นมา ก็ต้องให้เข้าใจว่า ถ้าประมาท ไม่ระมัดระวัง ไม่มีสติ การใช้อำนาจนั้นก็อาจจะเกินขอบเขตไป ซึ่งท่านเตือนได้ดี เป็นหลักที่ควรต้องยึดถือ โดยท่านย้ำว่าการใช้อำนาจนั้น อันแรกคือต้องถูกกฎหมาย และอันที่สองคือต้องมีศีลธรรม แต่ทั้งหมดนี้ต้องมีสติเป็นตัวกำกับ และท่านได้ประทานพรให้ทำงานโดยประสบผลสำเร็จ
    “การเข้ากราบสมเด็จพระสังฆราชฯ ถือเป็นธรรมเนียม ต่อไปก็จะเป็นแบบแผนไปอีก ซึ่งเมื่อ 5 ปีที่แล้วตอนรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา ก็ได้เข้าไปพบกับมหาเถรสมาคมเช่นเดียวกัน ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความเห็นในหลายเรื่อง ในตอนนั้นจำได้ว่ามีการพูดคุยกันถึงเรื่องหมู่บ้านศีล 5 และครั้งนี้ท่านได้ฝากบางเรื่องเอาไว้ และท่านเห็นว่าเป็นการดีที่จะได้มาพบปะกัน และจะได้ถือเป็นธรรมเนียมต่อไป” นายวิษณุกล่าว และว่า แล้วแต่รัฐบาลนั้นๆ แต่เมื่อเราเริ่มมาแล้ว มันอาจถือเป็นธรรมเนียมได้ แต่รัฐบาลต่อไปเขาอาจไม่ชอบ ไม่สะดวก แต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี
    สำหรับกรณีการยุบพรรคประชาชนปฏิรูปของของนายไพบูลย์ นิติตะวันนั้น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร  อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า มีประเด็นที่ กกต.ต้องมีคำตอบให้ชัดเจนหลายเรื่องคือ การสมัครเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคใหม่จะเริ่มได้เมื่อใด เมื่อมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์เป็นหัวหน้าพรรคยังคงอยู่  และต้องมีภาระในการชำระบัญชีของพรรคการเมืองที่ถูกยุบให้เสร็จสิ้น และการเข้าไปอยู่ในพรรคใหม่มีสถานะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะอยู่ในอันดับใดของพรรคใหม่ เนื่องจากสถานะของ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะกระทบทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส.เขตใหม่ใน 1 ปี  หลังวันเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562
ไพบูลย์เร่งเคลียร์บัญชี
    “การวินิจฉัยของ กกต. จะเป็นคำตอบให้เกิดความชัดเจนในสังคม แต่ยังไม่เป็นบรรทัดฐาน เนื่องจากอาจมีผู้มีส่วนได้เสียร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวจึงถือเป็นที่สุด” นายสมชัยกล่าว
    ขณะเดียวกัน นายไพบูลย์ได้นำแคชเชียร์เช็คจำนวน 882,909.67 บาท ซึ่งเป็นเงินที่พรรคได้รับการจัดสรรจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองมาคืนให้กับ กกต. เนื่องจากหากรอ กกต.ประกาศให้พรรคสิ้นสภาพในราชกิจจานุเบกษา ก็จะไม่มีอำนาจนำเช็คดังกล่าวมาคืน เพราะถือว่าพ้นจากการเป็นหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคดังกล่าวแล้ว อีกทั้งต้องการสร้างบรรทัดฐานในทางการเมืองว่าเมื่อเลิกพรรคแล้วก็ควรคืนเงินอุดหนุนเป็นอันดับแรก และเมื่อมีประกาศ กกต.ในราชกิจจานุเบกษาให้พรรคสิ้นสภาพแล้ว ก็จะนำส่งงบการเงินมาให้นายทะเบียนพรรคภายใน 30 วัน จากนั้นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะเข้ามาตรวจสอบการชำระบัญชีให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน 
“ผมสามารถไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคอื่นได้หลังมีประกาศ กกต.ให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นการที่มีเจ้าหน้าที่ของ กกต.ออกมาแสดงความเห็นว่าต้องรอให้ชำระบัญชีเสร็จแล้วจึงไปสมัครได้ เป็นการให้ข้อมูลกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง กกต.ควรตักเตือน” นายไพบูลย์กล่าว
    นายไพบูลย์ย้ำว่า จะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งจะถือว่าเป็น ส.ส.ของพรรคและจะมาขอหนังสือรับรองจากนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อนำไปยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ไม่ต้องกังวลในเรื่องของลำดับที่ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยถือเป็นเพียง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค พปชร.เท่านั้น แม้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งต้องคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือถูกกระทบ รวมทั้งหากมีการคำนวณคะแนนใหม่จริงโดยที่พรรคประชาชนปฏิรูปยังไม่สิ้นสภาพ ก็อยู่ในเซฟโซน เพราะยังมีอีก 5 พรรคก่อนหน้าที่มีคะแนนน้อยกว่า
    นายไพบูลย์ยังเผยว่า จะฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทเร็วๆ นี้กับนายบุญยอด สุขถิ่นไทย สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่แสดงความเห็นในลักษณะกล่าวหาว่าทรยศต่อเสียงประชาชนที่เลือกพรรคประชาชนปฏิรูป และนายเจษฎ์ โทณวณิก ที่แสดงความเห็นว่ายุบพรรคเหมือนการเผาบ้านเพื่อเอาประกัน  เพราะสิ่งที่ดำเนินการไปตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ และการย้ายไปเป็นสมาชิกพรรค พปชร.ก็ไม่ได้เป็นการทรยศต่อผู้ที่เลือกมา เพราะพรรคประชาชนปฏิรูปได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และนโยบายพรรคก็สอดคล้องกัน โดยเฉพาะการนำคำสอนของพระพุทธเจ้าไปสู่การให้ประชาชนนำไปปฏิบัติ  
    “ยืนยันว่าเรื่องการยุบเลิกพรรคไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย และกรณีนี้ไม่ใช่การควบรวมพรรค เพราะไม่ใช่การนำสมาชิกและทรัพย์สินของพรรคมารวมแล้วตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ ดังนั้นที่วิพากษ์วิจารณ์กันตอนนี้จึงเป็นการสร้างวาทกรรม บิดเบือนข้อกฎหมาย โจมตีใส่ความให้เสียหาย จึงคิดว่าถึงเวลาที่ต้องมาตรวจสอบนักวิชาการที่ขอเรียกว่านักวิชาเกิน ที่แสดงความเห็นบิดเบือนกฎหมาย ทำให้สังคมเกิดความสับสน” นายไพบูลย์กล่าว และว่า จากนี้จะทำหน้าที่เหมือนซามูไรด้านกฎหมาย ใครอย่าเข้ามาใส่วงดาบก็แล้วกัน ถ้าหากพูดบิดเบือนกฎหมายไม่ถูกต้องก็จะฟ้องให้เป็นบรรทัดฐาน ส่วนใครอยากจะโดนฟ้องอีกก็เชิญวิพากษ์วิจารณ์ได้
    วันเดียวกัน ยังคงมีความต่อเนื่องจากกรณีนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำหนังสือเชิญ รศ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ บิดาของนายวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หรือจอห์น วิญญู พิธีกรชื่อดัง ได้โพสต์ทวิตเตอร์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วน โดยให้มาพบในวันที่ 30 ส.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และนายยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ได้โพสต์ทวิตเตอร์ในเรื่องดังกล่าวด้วยข้อความหยาบคาย จนทำให้ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี เขต 3 พรรค พปชร. เข้าแจ้งความเอาผิดนายยุทธเลิศต่อพนักงานสอบสวน สภ.จอมบึง จ.ราชบุรี ในข้อหาหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งล่าสุดทวิตเตอร์นายยุทธเลิศได้ลบข้อมูลจนเกลี้ยง และทำให้ผู้ที่เข้าบัญชีดังกล่าวจะเจอข้อความว่า "ไม่มีบัญชีนี้"
    สฤณีโพสต์ถูกเรียกแจง
    ขณะเดียวกัน น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ถูกศาลฎีกาดำเนินคดีในข้อหาละเมิดอำนาจศาลกับพวกรวม 2 คน โดยผู้กล่าวหาคือ นายสุประดิษฐ์ จีนเสวก ในฐานะเลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา หลังเขียนบทความหัวข้อ "อันตรายภาวะนิติศาสตร์ล้นเกิน (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส." ตีพิมพ์ลงใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 พ.ค.2562 ซึ่งหมายเรียกให้ไปให้การเกี่ยวกับคดีดังกล่าวในวันที่ 9 ก.ย. ที่ศาลฎีกา
    ต่อมา น.ส.สฤณีทวีตข้อความว่า กำลังใจดีอยู่นะคะ เพราะได้มาเยอะเลยเมื่อวาน ขอบคุณทุกท่าน คงเขียนอะไรเกี่ยวกับคดีตัวเองไม่ได้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ระหว่างนี้ก็จะโพสต์ เขียน บ่นเรื่องอื่นๆ ไปตามปกติ 
    นายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์เฟชบุ๊กว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเที่ยงธรรมและรวดเร็ว กฎหมายจึงให้อำนาจศาลสั่งไต่สวนและลงโทษผู้ที่ทำละเมิดได้โดยไม่ต้องผ่านการสอบสวนของตำรวจ และการฟ้องของอัยการดังเช่นคดีอาญาทั่วไป อำนาจของศาลดังกล่าวคล้ายกับอำนาจของประธานสภาที่มีสิทธิสั่งให้สมาชิกที่ประพฤติผิดระเบียบข้อบังคับการประชุมออกไปจากห้องประชุมได้ เพื่อให้การประชุมของสภาเป็นไปโดยเรียบร้อย ไม่เกิดความวุ่นวาย แต่หากการกระทำใดก็ตามที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดีของศาล เช่น การวิจารณ์คำพิพากษา แม้มีลักษณะดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทศาล แต่ก็ไม่ได้ขัดขวางการพิจารณาคดี เพราะขั้นตอนดังกล่าวเสร็จจนศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาแล้ว หากศาลเห็นว่าตนเองเสียหาย และประสงค์จะดำเนินคดี ก็ควรเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมปกติ ด้วยการร้องทุกข์เพื่อให้พนักงานสอบสวนและอัยการได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ หากอัยการสั่งฟ้องกฎหมายก็คุ้มครองจำเลย โดยห้ามศาลที่มีส่วนได้เสียเป็นผู้พิจารณาคดี
    “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 วรรคท้ายบัญญัติว่า การวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยที่กระทำโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคำที่มีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นกฎหมายที่ออกในยุคเผด็จการ คสช.ที่ขยายอำนาจศาลจนละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชน” นายวัฒนาระบุ
ธนาธรทวีตถูกคุกคาม!
    ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ทวีตข้อความว่า อำนาจเป็นของประชาชน ประชาชนย่อมตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ผู้ใช้อำนาจในนามของพวกเขาได้ คำถามที่สำคัญคือ ประชาชนจะตรวจสอบองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจได้อย่างไร ขอให้กำลังใจคุณสฤณี, คุณโกวิท, คุณพะเยาว์, คุณเพนกวิน และคุณจ่านิว ที่ถูกคุกคามทางกฎหมาย เพียงเพราะพวกเขาทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรอิสระแทนประชาชน
    น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค อนค. ทวีตเช่นกันว่า ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้คุณสฤณีเขียนบทความ ซึ่งเป็นการวิจารณ์โดยหลักวิชาการด้วยฐานะสื่อและประชาชน ในประเทศนี้ละเมิดอำนาจศาลเป็นเรื่องใหญ่ แต่ละเมิดอำนาจประชาชนกลับกลายเป็นเรื่องเล็ก
    นายสุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ขอแก้ต่างให้ น.ส.สฤณี ซึ่งไม่เหมือนกรณีของนายยุทธเลิศที่ด่าศาลด้วยความเกลียดชังล้วนๆ เพราะบทความที่ น.ส.สฤณีเขียนวิจารณ์ศาลนั้น ใช้ศัพท์ทางวิชาการแทบทั้งหมด ทั้งชื่อบทความและเนื้อหาส่วนใหญ่ จะมีก็แค่ถ้อยคำบางคำในบทความเท่านั้น ซึ่งตนเองก็เคยเป็นคอลัมนิสต์ ถือเป็นสิ่งที่นักวิชาการที่มีจิตสาธารณะควรทำ
    “สฤณีเป็นนักวิชาการอิสระและปัญญาชนอิสระที่อุทิศตนเองให้กับการให้ความรู้ประชาชนมาทั้งชีวิตของเธอ ด้วยความขยันขันแข็งและน่าทึ่ง ผ่านงานแปล งานเขียน และการสร้างเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งการเขียนบทความกึ่งวิชาการของสฤณีแล้วโดนศาลฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทนั้น สร้างความสะเทือนใจให้แก่ปัญญาชนในประเทศนี้แบบไม่เกี่ยวกับจุดยืนทางการเมือง เพราะมันจะบั่นทอนการเข้าถึงความจริงจากแง่มุมต่างๆ ของสังคมนี้ในระยะยาว” นายสุวินัยระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"