วัดดวงประกันรายได้


เพิ่มเพื่อน    

 

             คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว วงเงินดำเนินการ 21,495 ล้านบาท สำหรับประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน, ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน โดยตามข้อมูลพบว่ามีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวในปี 2562 จำนวน 892,176 ครัวเรือน ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ ต.ค.2562-ต.ค.2563 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในภาวะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ

                นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน วงเงินดำเนินการ 13,378 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 300,000 ราย โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ส.ค.2562-ก.ย.2563 โดยผลปาล์มทะลายที่เข้าโครงการจะต้องมีคุณภาพน้ำมัน 18% กิโลกรัมละ 4 บาท ณ หน้าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ใช้เกณฑ์ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 3 บาท บวกค่าขนส่งกิโลกรัมละ 0.25 บาท และผลตอบแทนให้เกษตรกร 23% หรือกิโลกรัมละ 0.75 บาท ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ และเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้วอายุไม่น้อยกว่า 3 ปี เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างโอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยตรง หากราคาตลาดต่ำกว่าราคารับประกันรายได้

                ไม่เพียงเท่านี้ ที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ให้กับชาวนาไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมีวงเงินดำเนินการ 25,000 ล้านบาท พร้อมทั้งได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินโครงการดูแลราคาสินค้าเกษตรทั้งหมด โดยต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อไม่ให้การขับเคลื่อนโครงการเกิดข้อกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงราคาตลาดเหมือนที่ผ่านมา

                โดยก่อนหน้านี้มีนักวิชาการที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร เพราะกังวลว่าจะเดินซ้ำรอยนโยบายของรัฐบาลชุดเก่าก่อนจนเกิดเป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะมีช่องโหว่หลายจุด โดยมองว่าโครงการดังกล่าวอาจจะไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับพืชทุกชนิด อีกทั้งรัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดำเนินงาน จึงเสี่ยงที่จะถูกมองว่ารัฐบาลทุ่มเงินเพื่อซื้อใจเกษตรกรไว้ก่อน

                ขณะที่ก่อนหน้านี้มีตัวแทนเกษตรกรได้ออกมาติงนโยบายประกันรายได้ว่า จะไม่สามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะเกษตรกรไม่มีน้ำเพียงพอทำนาในฤดูกาลหน้า จากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมาผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลอุดหนุนปลูกพืชน้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าว ส่วนพื้นที่ที่ปลูกได้ ควรมีเงินชดเชยต้นทุนการเพาะปลูก ค่าเก็บเกี่ยว พร้อมทั้งดูแลราคาข้าวให้อยู่ที่ตันละ 10,000 บาท ตามที่มีการหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้งด้วย

                ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) มองว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะได้รับผลกระโยชน์จากโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลมากที่สุด จากเงินชดเชยส่วนต่างราคาข้าวที่เพิ่มขึ้น ประมาณ 30% จากราคาตลาดโดยเฉลี่ยในปัจจุบัน ขณะที่ผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวจะได้รับประโยชน์น้อยกว่า เนื่องจากราคาตลาดโดยเฉลี่ยในปัจจุบันใกล้เคียงราคาประกันแล้ว

                “โครงการประกันรายได้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนาได้บางส่วน! และในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการภาวะภัยแล้งยังคงเป็นประเด็นเร่งด่วนและสำคัญมากกว่า โดยต้องจับตาในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากสถานการณ์ภัยแล้งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จะส่งผลเสียหายต่อการผลิตข้าวนาปีในปี 2562/63 อย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวที่จะมาเข้าโครงการประกันรายได้ในรอบนี้อาจไม่สูงมากนัก ซึ่งจะทำให้โครงการนี้ไม่ได้ช่วยยกระดับรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างเต็มที่ ดังนั้นมองว่ารัฐบาลยังต้องให้ความสำคัญกับมาตรการดูแลในระยะยาวควบคู่กันไปด้วย”. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"