ส.ส.หนุนผ่าตัดมหาดไทย ชงผุด‘กระทรวงท้องถิ่น’


เพิ่มเพื่อน    

 คลองหลอด-มหาดไทยมีสะเทือน กรม เกรดเอ-งบเยอะ ปกครองท้องถิ่นอาจหลุดจากสังกัด  ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้านจับมือหนุนตั้งกระทรวงปกครองท้องถิ่น สเต็ปแรกก่อนยึดกรม เสนอสภาตั้ง กมธ.ศึกษาการจัดตั้งก่อน ส.ส.เพื่อไทยลั่น มท.ใหญ่โต อุ้ยอ้ายเกินไป ต้องผ่าตัด กระจายอำนาจ เชื่อแรงหนุนเพียบ 

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยจะผลักดันให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น การเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด, นายกเทศมนตรีจังหวัดต่างๆ, สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่ก็มีการคาดหมายกันว่าอาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จึงทำให้บางพรรคการเมืองเริ่มมีการขยับหาตัวผู้สมัครกันแล้วโดยเฉพาะนายกฯ อบจ., ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 
    อย่างไรก็ตาม การปกครองท้องถิ่นทุกระดับทั่วประเทศที่มีด้วยกันเวลานี้ประมาณ 7,852 แห่ง และได้รับการจัดสรรรายได้ในสัดส่วนร้อยละ 29.5 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ไม่รวมเงินกู้คิดเป็นประมาณ 752,250 ล้านบาท ก็พบว่ามีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกิดขึ้น เมื่อ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านมีการยื่นญัตติด่วนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้สภามีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งกระทรวงปกครองท้องถิ่น โดยพบว่าเวลานี้มี ส.ส.ยื่นญัตติเสนอเรื่องลักษณะดังกล่าวเข้าสภาถึง 3 ญัตติ 
    ประกอบด้วย ญัตติของฝ่ายรัฐบาล นำโดยนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย อดีตส.จ.-รองนายกฯ อบจ.กระบี่ ที่เสนอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่น โดยให้เหตุผลว่า หากมีการจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่น จะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอิสระในการเลือกผู้นำของตนเองได้โดยตรง เพราะผู้นำที่มาจากท้องถิ่นจะทราบปัญหาของประชาชนในพื้นที่ 
    โดยพบว่า ญัตติดังกล่าวมี ส.ส.รัฐบาล นอกจากพรรคภูมิใจไทย เช่น นายจักรกฤษณ์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ หลานชายนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ร่วมลงชื่อแล้ว ก็ยังมี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลร่วมลงชื่อสนับสนุนด้วยหลายคน เช่น พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร แกนนำกลุ่มกำแพงเพชร, นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย น้องสาวนายสมศักดิ์ เทพสุทิน หัวหน้ากลุ่มสามมิตร เป็นต้น 
    นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ญัตติที่เป็นของ ส.ส.เพื่อไทย ก็สนับสนุนให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการจัดตั้งกระทรวงการปกครองท้องถิ่น คือ ญัตติของนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย โดยนายครูมานิตย์ให้เหตุผลในญัตติดังกล่าวว่า เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ใกล้ประชาชน และเป็นการปกครองของคนท้องถิ่นกันเอง แต่เนื่องจากความเป็นอิสระของท้องถิ่นอาจทำให้มีแนวทางการพัฒนาไปหลายแนวทาง และเพื่อให้การจัดเก็บรายได้เข้าแผ่นดินเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน และเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ จึงขอเสนอให้สภาตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาการจัดตั้งกระทรวงการปกครองท้องถิ่น 
    นอกจากนี้ ส.ส.เพื่อไทย นำโดยนายกิตติศักดิ์คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ที่เสนอญัตติให้มีการศึกษาการจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่นเกิดขึ้น โดยระบุเหตุผลในญัตติไว้ว่า ปัจจุบันการปกครองท้องถิ่นยังติดขัดกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่ไม่มีความสอดคล้องกับการปฏิบัติงานท้องถิ่น หากจะให้การบริหารงานท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอเสนอญัตติด่วนให้สภาตั้ง กมธ.ศึกษาการจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่น 
    ซึ่งใน 2 ญัตติของ ส.ส.เพื่อไทย มี ส.ส.เพื่อไทย ร่วมลงชื่อสนับสนุนครบตามจำนวนข้อบังคับการประชุมสภารวมเป็น 44 คน ที่เห็นด้วยกับแนวทางให้ตั้ง กมธ.ศึกษาการจัดตั้งกระทรวงการปกครองท้องถิ่น 
    ด้านนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ เพื่อไทยให้สัมภาษณ์ว่า จากการพูดคุยกับ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน พบว่าก็เห็นด้วยกับแนวทางการตั้งกระทรวงปกครองท้องถิ่น 
    "วันนี้กระทรวงมหาดไทยใหญ่โตเกินไป ทำให้การบริหารงานอุ้ยอ้าย เป็นกระทรวงที่มีระบบการบริหารงานเยอะ มีหลายกรมอยู่ในสังกัดมหาดไทยมากมาย  ทุกวันนี้การบริหารงานท้องถิ่นมีความลักลั่นกันอยู่ ทั้งขอบเขตงาน ลักษณะเนื้องาน โดยเฉพาะการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกับองค์การบริหารส่วนตำบล อีกทั้งตอนนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก็ใหญ่โตมาก ครอบคลุมงานไปหลายอย่าง ก็ควรให้มีการตั้งกระทรวงปกครองท้องถิ่นแยกออกมา โดยการออกกฎหมายเพื่อยกสถานะจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มาเป็นกระทรวงปกครองท้องถิ่น แยกออกมาจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มาบริหารจัดการงานท้องถิ่นของตัวเอง เพราะเวลานี้งานของท้องถิ่น ทั้ง อบจ. เทศบาลใหญ่ๆ หรือกรุงเทพมหานคร พัทยา พวกนี้มีงานหลายอย่างเกี่ยวข้อง ตั้งแต่การศึกษา สาธารณสุข หากมีการตั้งกระทรวงท้องถิ่น ก็จะทำให้การบริหารงานท้องถิ่นมีความเป็นเอกเทศ" นายครูมานิตย์กล่าว 
    ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทยกล่าวอีกว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง เชื่อว่าแนวทางนี้ เท่าที่ได้คุยกับทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เขาก็เอาด้วย
    เมื่อถามว่า หากสุดท้ายเรื่องนี้มีข้อสรุปออกมาให้มีการจัดตั้งกระทรวงการปกครองท้องถิ่น ทาง ส.ส.เพื่อไทยพร้อมจะเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่นหรือไม่ เพราะเพื่อไทยก็มี ส.ส.ในสภามากที่สุด นายครูมานิตย์กล่าวว่า คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะเรื่องนี้ไม่ได้มีผลกระเทือนอะไรกับพรรคและเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ หากสุดท้ายมีการจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่นจริงๆ คงไม่มีผลกระทบอะไรกับ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน กระบวนการเรื่องนี้คงใช้เวลาไม่นาน โดยเฉพาะหากฝ่ายรัฐบาล ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเอาด้วย เพราะการตั้ง กมธ.ของสภาก็มี ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านอยู่ด้วยกันหมด ส่วนรูปแบบเมื่อมีการตั้งกระทรวงปกครองท้องถิ่น รายละเอียดการบริหารงานจะเป็นอย่างไร ก็เป็นขั้นตอนที่ต้องมาดูกันอีกที 
    วันเดียวกันนี้ ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ แถลงว่า พรรคประชาธิปัตย์เตรียมเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ฉบับที่. ... ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้กลับมามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) ในระหว่างที่มีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปี 
    นายองอาจกล่าวว่า จากกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านกฎหมายนี้เมื่อต้นปี 2562 และมีผลบังคับใช้ โดยมาตรา 24 ที่ระบุว่าให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพฯ ให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ โดยในระหว่างยังไม่มีการปรับปรุง ไม่ให้นำมาตรา 71-80 มาใช้บังคับ หมายความว่าจะยังไม่มีการเลือกตั้ง ส.ข. จนกว่าปรับปรุงกฎหมายเสร็จ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อไหร่ โดยข้อเสียของการไม่มีผู้แทนประชาชนระดับฐานราก ทำให้ขาดการร่วมทำงานกันในชุมชน และไม่มีตรวจสอบการทำงานของเขตต่างๆ ส่งผลอำนาจประชาชนลดลง โดยอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เน้นการกระจายอำนาจให้ประชาชนกำหนดวิถีชีวิตตนเอง การให้เลือกตั้งสมาชิกสภาเขต ทำให้ชุมชนได้เข้ามากำหนดวิถีชุมชนของระดับฐานรากได้ตรงเป้าหมายของแต่ละท้องถิ่นมากที่สุด ซึ่งนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่างกฎหมายระเบียบบริหารราชการกรุงเทพฯ ฉบับใหม่ ที่จำเป็นต้องมี ส.ข.ได้รับใช้ชาวกรุงเทพฯ และผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 
    นายองอาจเปิดเผยว่า ได้นำร่างนี้เสนอต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคและรองนายกรัฐมนตรี แล้วเสนอการพิจารณาในที่ประชุม ส.ส. เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมออกกฎหมายเพื่อชาวกรุงเทพฯ  และขณะนี้ทราบว่ามีกว่า 20 พรรคที่สนับสนุนเตรียมเสนอสภาแก้ไขให้มีการเลือกตั้ง ส.ข.
       
         
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"