น้ำแล้ง น้ำท่วม


เพิ่มเพื่อน    

 

            เมื่อช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้าน เกษตรกร ทั้งภาคเหนือและอีสาน ต่างก็โอดครวญกับปัญหาฝนทิ้งช่วง  และภัยแล้งที่ทำเอาพืชเกษตรหลายชนิดแทบจะยืนต้นตาย หรือไม่ออกผลิตผล และเรื่องนี้ร้อนไปถึงรัฐบาลที่จะต้องหาหนทางเข้ามาช่วยแก้ไข ทั้งเรื่องการทำฝนเทียม หรือการพักหนี้เกษตรกร รวมถึงการสั่งให้ธนาคารของรัฐ อย่าง ธ.ก.ส. เข้ามาช่วยดูแลสินเชื่อพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

                แต่หลังจากที่มีแนวทางช่วยเหลือออกมาไม่นาน ประเทศไทยก็เจอมรสุมประจำปี พัดผ่านเข้ามา ซึ่งก็คือพายุโพดุล ที่ทำเอาภาคอีสานเกือบทั้งภาคจมอยู่ใต้บาดาล ไร่นาเสียหาย น้ำท่วมที่พักอาศัย ถนนขาดอีกหลายแห่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ช็อกคนทั้งประเทศเช่นกัน จากน้ำที่กำลังเหือดแห้ง บางจังหวัด อย่างสุรินทร์ โรงพยาบาลถึงขั้นขาดแคลนน้ำ หรือบุรีรัมย์ที่จะไม่มีน้ำประปาใช้ กลับกลายเป็นฝนตกหนักมากเกินไป จนน้ำท่วมเมือง

                และล่าสุดเรื่องของพายุโพดุลยังไม่คลี่คลาย แต่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนภัยเรื่องพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) ลูกใหม่ที่อยู่ที่ทะเลจีนใต้ตอนบน ออกมาอีกแล้ว ซึ่งตอนนี้เจ้าดีเปรสชันตัวนี้อยู่ที่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีจุดศูนย์กลางอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน ประมาณ 700 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 17.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 117.5 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

                ซึ่งตอนนี้ก็กำลังพัดขึ้นชายฝั่ง แม้ว่าตอนนี้ยังไม่รู้ว่าทิศทางของพายุจะหมุนขึ้นไปทางประเทศจีน หรือจะหมุนลงมาทางเอเซียน แต่ก็ขออธิษฐานว่า อย่าพัดลงมาที่แถวบ้านเราอีกเลย ถ้ามาก็ขอแค่หย่อมความกดอากาศ ที่พัดฝนเบาๆ มาเติมความชุ่มชื่นก็พอ

                แต่ประเด็นเรื่องฟ้าฝน หรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เราจะไม่หยิบยกขึ้นมาพูด เพราะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ คาดการณ์ลำบาก แต่สิ่งที่อยากจะกระทุ้งภาครัฐก็คือ เรื่องของการบริหารจัดการน้ำมากกว่า ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัญหาของประเทศไทย ก็มักจะวนเวียนไม่รู้จบกับเรื่องปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้งแทบทุกปี จนเรียกได้ว่ามันคือปัญหารายปี ทั้งที่ในความเป็นจริง คนสามารถที่จะบริหารจัดการกับปัญหาเรื่องน้ำได้

                บางท่านอาจจะบอกว่าเพราะเรายังขาดเขื่อนใหญ่ในบางลุ่มน้ำ ที่ไม่สามารถจะก่อสร้างได้ อย่างลุ่มน้ำยม ที่ไม่มีเขื่อนมาช่วยในการบริหารจัดการ แม้จะไม่สามารถสร้างเขื่อนใหญ่ อย่างโครงการแก่งเสือเต้น แต่ก็ยังมีวิธีในการกักเก็บ และบริหารน้ำได้ อย่างเช่นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตามลำน้ำสาขา ซึ่งวิธีนี้อาจจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าการสร้างเขื่อนใหญ่ซะอีก

                หรือการสร้างเขื่อนทดน้ำ อย่างเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งก็จะมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการน้ำได้ด้วย รวมถึงภาครัฐเองก็จะต้องดูแลความเรียบร้อยของลำน้ำต่างๆ ว่ามีความตื้นเขิน หรือ จำเป็นต้องขุดลอก เพื่อให้น้ำสามารถไหลเวียนได้คล่องตัวขึ้น

                ทั้งนี้ เชื่อแน่ว่ากรมชลประทานมีข้อมูลแผงผังการไหลของน้ำ และความสามารถในการกักเก็บน้ำหมดทั้งประเทศแล้ว เหลือแต่เพียงว่าจะต้องมีการชี้เป้าไปว่า รัฐบาลควรจะต้องจัดทำแผนแบบไหน ลงทุนแบบไหน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการน้ำได้ดียิ่งขึ้น ทำแบบไหนที่จะไม่เป็นการไปทำลายธรรมชาติ ทำแบบไหนที่จะทำให้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมหมดไปเสียที

                ประเด็นนี้อยากให้ภาครัฐจริงจังกับการแก้ปัญหา เพราะน้ำคือชีวิต มันทั้งสร้างชีวิต และทำลายชีวิตได้  ฉะนั้นการบริหารจัดการที่ดี จึงน่าจะเป็นอีกสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะมันช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้น. 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"